เวทีเสวนาโรงเรียนปล่อยแสง นิเวศการเรียนรู้ที่มีความหมาย
Reading Time: 3 minutes“นิเวศการเรียนรู้” คือคำสำคัญที่โครงการโรงเรียนปล่อยแสงนำมาพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับโรงเรียน คงไม่มีใครคนใดคนหนึ่งขับเคลื่อนได้เพียงลำพัง แต่คำสำคัญนี้ยังเป็นแค่กรอบคิดหรือวิธีการทำงานในมุมมองของหลายๆ คน เพราะยังไม่เคยเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง
งานเวทีปล่อยแสงซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2566 จึงตั้งใจเปิดพื้นที่ให้ผู้คนจากโครงการโรงเรียนปล่อยแสงได้มาแลกเปลี่ยน บอกเล่าการทำงานของการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถบูรณาการความรู้สู่ชีวิตจริง
มาร่วมฟังทีมผู้จัด ผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครู รวมถึงนักเรียนที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนา “โรงเรียนปล่อยแสง นิเวศการเรียนรู้ที่มีความหมาย” ไปพร้อมๆ กัน
นิเวศที่ฉันเติบโต
“ตอนประถมฯ หนูเคยคิดว่านักเรียนที่ประสบความสำเร็จ คือนักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงๆ มีโล่รางวัลการันตี แต่การได้มาเข้าเรียนที่โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมในชั้นมัธยมฯ ทำให้หนูมองความสำเร็จของตัวเองต่างออกไป”
คือความในใจเริ่มต้นของ “แบม” นางสาวรัตนาภรณ์ พันธ์พิริยะ นักเรียนคนเก่ง ซึ่งพึ่งจบการศึกษาชั้นมัธยมฯ ปลายจากโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา
โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูแค่เพียงหยิบมือ นักเรียนส่วนมากเป็นลูกหลานเกษตรกรในพื้นที่ และเพื่อออกแบบห้องเรียนให้ตอบโจทย์เด็กๆ เหล่านี้ คุณครูจึงเปิดวิชาเรียนใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมากมาย ให้นักเรียนเลือกเรียนตามศักยภาพและความสมัครใจ
“ตลอด 6 ปีที่เรียน รูปแบบการเรียนการสอนไม่เหมือนกันเลยสักปี ตอนอยู่ ม.1 กับ ม.2 หนูได้ลงเรียนวิชาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจ ให้นักเรียนจากทุกระดับชั้นมาทำกิจการเล็กๆ ร่วมกัน กลุ่มหนูทำเรื่องการเกษตร ขายสินค้าผักออนไลน์ ได้ลองผิดลองถูก ทุกคนเปิดกว้างกับเรามาก ตัวเราก็ค่อยๆ ตอบตัวเองได้ชัดมากขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่อยากจะทำ”
แบมยังเล่าว่าหากนักเรียนชั้นมัธยมฯ ปลายต้องการเรียนรู้หรือทดลองด้านไหน ครูประจำชั้นเรียนก็จะเขียนหลักสูตรวิชาขึ้นมาใหม่สำหรับเด็กแต่ละคน ของเธอคือวิชาคณิตศาสตร์เพื่อการลงทุน สอนโดยครูสมเกียรติ แซ่เต็ง ที่ท้าทายให้แบมและเพื่อนๆ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ของโรงเรียนกับชุมชนเกษตรในละแวกใกล้เคียง หลังจากซบเซาไปในช่วงสถานการณ์โควิด แบมและเพื่อนตกลงกันว่าจะจัดตลาดนัดขายต้นไม้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ เปิดพื้นที่ให้ชุมชนมาตั้งแผง ดำเนินงานทุกอย่างโดยนักเรียน มีครูประจำวิชาคอยแนะนำช่วยเหลืออยู่ห่างๆ
ในวันถอดบทเรียน น้องแบมและเพื่อนแลกเปลี่ยนกันว่างานสำเร็จได้ด้วยดีเพราะทุกคนได้ทำงานที่แต่ละคนชื่นชอบแตกต่างกันไป บางคนชอบการประสานงาน บางคนชอบทำงานเบื้องหลัง บางคนชอบงานพิธีกร การจัดตลาดนัดทำให้เด็กได้นำศักยภาพของตนออกมาใช้ ไม่มีศักยภาพไหนเด่นด้อยกว่ากัน ทั้งหมดคือตัวตนของเด็กๆ ในแบบที่เขาเลือกจะเป็น
“ชั้น ม.6 ของโรงเรียนเขาน้อยมีกันทั้งหมด 22 คน ถ้าเราส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความแตกต่าง มีความชื่นชอบเป็นของตัวเอง และเปิดพื้นที่ให้ทุกคนดึงศักยภาพของตนเองออกมาทำงานร่วมกันได้ หนูเชื่อว่าเพื่อนๆ ทั้ง 22 คนจะสามารถดึงศักยภาพที่แตกต่างกัน 22 ศักยภาพ และเติบโตเป็นบุคลากรใน 22 อาชีพให้กับประเทศชาติได้ต่อไป”
เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการสอน ด้วยพลังใจจากคนใกล้ตัว
ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนคนที่สองคือครู “อิงอิง” – ศิริวิมล เวียงสมุทร จากโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ครูผู้เปลี่ยนแปลงการสอนของตนเอง จากเดิมที่ไม่กล้าสอนนอกเหนือจากในตำรา กลัวจะไม่เป็นไปตามหลักสูตรที่กระทรวงกำหนด ก็เริ่มกล้าคิด กล้าออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ มากขึ้น
“อิงเป็นครูสอนภาษาไทย ปีที่ผ่านมาสอนวรรณคดีเรื่องคัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์ในระดับชั้น ม.5 เกี่ยวกับตำรายา เราให้เด็กๆ ทำรายงานเกี่ยวกับโรคอะไรก็ได้ที่สนใจ แล้วจัดเป็นนิทรรศการเล็กๆ กลุ่มละประมาณ 8-9 คน รวมถึงให้คิดเมนูอาหารที่ใช้สมุนไพรรักษาโรคนั้นๆ นอกจากความรู้ในวิชาเรียน เราก็ได้เห็นเด็กๆ กล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้นด้วย”
กิจกรรมนิทรรศการเรื่องคัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์ของครูอิงอิง ไม่ได้สำเร็จด้วยตัวคนเดียว แต่มีทั้งเพื่อนครูและผู้บริหารโรงเรียนที่คอยสนับสนุน ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ผลัดเปลี่ยนแวะเวียนไปเยี่ยมชมนิทรรศการ สร้างบรรยากาศที่สนุกสนาน เสริมความมั่นใจให้กับเด็กๆ เจ้าของงาน และครูอิงอิงเอง
สำหรับครูอิงอิง นิเวศการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่โลกรอบตัวนักเรียนฝ่ายเดียว แต่โลกรอบตัวครูก็เป็นนิเวศที่ส่งผลต่อการสร้างการเรียนรู้อย่างมากเช่นกัน
“ที่ผ่านมาเราอยู่ในกรอบมาตลอด อะไรที่พ่อกับแม่บอก อะไรที่โรงเรียนสอน อะไรที่ครูพูด อะไรที่เราเคยได้รับมา เราก็เชื่อแบบนั้น แต่ถ้าเราคิดจะเปลี่ยนแปลง เราต้องกล้ายอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมให้ได้ สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจยืนหยัดขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเอง คือครอบครัวและคนรอบข้าง ซึ่งสำคัญมากๆ เพราะเมื่อเราได้รับความเข้าใจ กำลังใจ เราถึงกล้าที่จะเดินหน้าต่อ”
เรื่องราวของครูอิงอิงทำให้เวทีเสวนาไม่หลงลืมความเป็นมนุษย์ เตือนใจทุกคนว่าการจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงห้องเรียนนั้นต้องอาศัยความกล้าและพลังใจขนาดไหน ความรู้สึกไม่แตกแยกกับคนใกล้ชิด มีครูคนอื่นเป็นเพื่อนร่วมทาง ช่วยให้คนคนหนึ่งมั่นคงขึ้นได้มากเพียงใด
“ครูเป็นหนึ่งในคนที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด อิงเชื่อว่าถ้านักเรียนได้รับความรู้สึกแบบเดียวกันนี้ นักเรียนก็น่าจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกมากขึ้นเช่นเดียวกัน”
โรงเรียนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
สำหรับ สาลี่ เชิดชู ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี มองว่านิเวศของโรงเรียนจะสมบูรณ์หากยอมรับว่าความแตกต่างของครูเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะเป็นอายุ ทักษะ หรือวิธีคิด เพราะคือโอกาสที่ครูในโรงเรียนจะช่วยกันเติมเต็มนั้นเปรียบเสมือจิ๊กซอว์ที่ครูในโรงเรียนจะช่วยกันเติมเต็มและหล่อหลอมให้ลูกศิษย์เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของสังคม
“นิเวศในโรงเรียนศรีรักษ์ฯ คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกการสะท้อนคิดและการแสดงออก เมื่อครูรู้สึกปลอดภัย ความสุขจะเกิดขึ้นในหัวใจของครู ถักทอและส่งต่อถึงลูกศิษย์ในห้องเรียน ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างดี กล้าแสดงออก มีความภูมิใจในตัวเอง และเป็นความภูมิใจไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนในที่สุด”
ผอ. สาลี่ ผลักดันพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุกคนผ่านวิธีการตรวจประเมินแบบ “เพื่อนกับเพื่อน” มากกว่าแบบ “เจ้านายกับลูกน้อง” ซึ่งคำว่า “ทุกคน” หมายรวมทั้งครู เด็ก ผู้ปกครอง ชุมชน และส่วนรวมอื่นๆ ข้ามขอบรั้วประตูโรงเรียนไป ตลอดจนเป็นคนกลางในการออกประชาคมหมู่บ้าน ไปขออนุญาตรายงานผลการจัดการศึกษาให้กับคนในชุมชนที่ส่งลูกหลานมาเรียน สร้างความเชื่อมั่นที่ดีต่อกัน และขอความเห็นว่าอยากเห็นลูกหลานของคนในชุมชนเป็นแบบไหน แล้วนำข้อมูลนั้นมาวางแผนพัฒนาโรงเรียน
งานผู้อำนวยการในมุมมองของเธอคือการเชื่อมประสาน เพราะถึงแม้เธอจะรักโรงเรียนนี้แค่ไหน แต่ก็คงอยู่ได้แค่จนเกษียณราชการ
“สายใยระหว่างชุมชนกับโรงเรียน ระหว่างบุคลากรในโรงเรียนต่างหากที่จะอยู่คู่ชุมชนตราบนานเท่านาน ผู้บริหารจึงต้องเชื่อมั่นและสนับสนุนทุกคนในโรงเรียนอย่างถึงที่สุด”
ผลักดัน ส่งเสริม ช่วยเหลือ ให้การพัฒนาตัวเองของเด็กๆ และการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนของครู ไม่ใช้เวลานานจนเกินไป
นิเวศการเรียนรู้ที่มีความหมาย
“เราอยากสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เด็กๆ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้เล่น ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ได้รับทักษะชีวิตที่จำเป็นในโลกอนาคต นี่คือความหมายที่เรากำลังพยายามสร้าง”
ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนคนสุดท้ายคืออาจารย์ “โจ้” – กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้ประเมินโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ซึ่งมานำเสนอข้อค้นพบจากการถอดบทเรียน เพื่อนำแนวทางนี้ไปขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ หลังการติดตามเฝ้าดูโรงเรียนนำร่องทั้ง 6 แห่งมาตลอดระยะเวลา 2 ปี
“ความท้าทายในการสร้างของเรื่องนิเวศการเรียนรู้ที่มีความหมาย คือการพยายามก้าวข้ามขอบข้อจำกัดที่โรงเรียนมี ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะเจอโจทย์หรือขอบที่ยากต่างกัน จากการถอดบทเรียนเราพบว่ามีขอบอยู่ 3 แบบหลักๆ”
ขอบที่ 1 คือการก้าวข้ามการเรียนรู้ที่อยู่ในห้องเรียนไปสู่นิเวศอื่นๆ ผ่านการสำรวจต้นทุนทรัพยากรในพื้นที่ชุมชนของตัวเอง โรงเรียนอาจต้องขยับบทบาทจากการสอนหนังสือ มาทำหน้าที่เป็นนักจัดการทุนชุมชน ออกแบบการเรียนรู้ดีๆ ให้เด็กไปเจอทุนข้างนอก ในพื้นที่จริงนอกห้องเรียน
ขอบที่ 2 คือ การสร้างทีมสปิริตภายในโรงเรียน ทำอย่างไรที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรในโรงเรียนใหม่ ให้เพื่อนครูเป็นทีมที่พร้อมจะเรียนรู้ร่วมกัน อาจต้องเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์ที่ตรงกันก่อนว่าโรงเรียนมีเป้าหมายพัฒนานิเวศการเรียนรู้ด้านใด แล้วก่อร่างสร้างเป็นวัฒนธรรมร่วมของสมาชิกทุกคนภายในองค์กรภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย อาจารย์โจ้เรียกสิ่งนี้ว่า “วัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning organization)”
ขอบที่ 3 คือ ครอบครัว เพราะเวลาอีกครึ่งหนึ่งในแต่ละวันของเด็กนั้นอยู่กับผู้ปกครอง ทำอย่างไรสถาบันการศึกษากับสถาบันครอบครัวจะทำงานร่วมกันได้ ภายใต้เป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาทักษะต่างๆของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคเรื่องเวลาไม่ตรงกัน ตลอดจนมายาคติที่พ่อแม่คาดหวังต่อลูกๆ
ทั้งสามขอบเป็นความท้าทายของนิเวศการเรียนรู้ที่มีนัยสำคัญมากต่อการพัฒนาชีวิตผู้เรียน ซึ่งโครงการโรงเรียนปล่อยแสงจะมุ่งมั่นหาทางก้าวข้าม เพื่อสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่มีความหมายให้เกิดขึ้นจริง
………..
เวลา 2 ปีนั้นอาจดูแสนสั้นหากนำมาเทียบกับความยาวนานของการก่อร่างสร้างระบบการศึกษาไทย แต่แนวทางของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงและตัวอย่างจากโรงเรียนนำร่องบนเวทีเสวนา คือการหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่พึ่งเริ่มต้น เราอาจต้องรอคอยการบ่มเพาะ การทำซ้ำ และความมุ่งมั่นไม่ท้อถอยกับปัญหาและอุปสรรคไปอีกระยะยาวๆ กว่าจะมั่นใจได้ว่านี่คือความยั่งยืน
เราอยากเห็นรูปแบบการศึกษาเป็นแบบไหน การสร้างคนรุ่นใหม่ในอนาคตเพื่อสังคมควรจะเป็นเช่นไร
เวทีเสวนาของโรงเรียนปล่อยแสงได้หยิบยกตัวอย่างนิเวศการเรียนรู้ที่เริ่มผลิดอกออกผล ยืนยันกับทุกคนว่าการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงได้ และเปลี่ยนแปลงแล้วไม่มากก็น้อย