ก่อการครู – Korkankru

บัวหลวงก่อการครู

ใกล้เกษียณ​ก็เปลี่ยนทัน ‘ธนาพร ก้อนทอง’ ครูวัย 56 ผู้พิสูจน์​ว่าไม้แก่ยังดัดได้

Reading Time: 3 minutes ‘ก่อการครู’ คือชื่อโครงการที่เธอเห็นผ่านตาบ่อยครั้งบนโลกโซเชียล กระทั่งวันหนึ่ง จดหมายที่จ่าหน้าซองด้วยชื่อโครงการที่คุ้นตาก็ถูกส่งมาที่โรงเรียน แวบแรกคืออยากรู้อยากลอง แต่อีกวาบหนึ่งในความคิด เธอก็แสนเบื่อหน่ายกับการอบรมครูที่เคยผ่านมานับครั้งไม่ถ้วน  Jul 20, 2022 3 min

ใกล้เกษียณ​ก็เปลี่ยนทัน ‘ธนาพร ก้อนทอง’ ครูวัย 56 ผู้พิสูจน์​ว่าไม้แก่ยังดัดได้

Reading Time: 3 minutes

เป็นเวลา 31 ปีแล้วกับการเป็นครู  
และเป็นเวลาอีกแค่ 4 ปี ที่เธอจะเกษียณจากการงานที่ทำมาทั้งชีวิต 

‘ก่อการครู’ คือชื่อโครงการที่เธอเห็นผ่านตาบ่อยครั้งบนโลกโซเชียล กระทั่งวันหนึ่ง จดหมายที่จ่าหน้าซองด้วยชื่อโครงการที่คุ้นตาก็ถูกส่งมาที่โรงเรียน แวบแรกคืออยากรู้อยากลอง แต่อีกวาบหนึ่งในความคิด เธอก็แสนเบื่อหน่ายกับการอบรมครูที่เคยผ่านมานับครั้งไม่ถ้วน 

ชั่งใจได้สักพัก ครูเจี๊ยบ-ธนาพร ก้อนทอง โรงเรียนวัดบ้านกล้วย จังหวัดสระบุรี จึงเขียนจดหมายแนะนำตัวมายัง ‘ก่อการครู’ และเธอได้รับคัดเลือก 

อบรมที่ไร้ปากกา สมุด หนังสือ 

“สามวันสำหรับการอบรมมันนานมาก อบรมอะไรสามวัน ปกติวันเดียวครูก็ไม่อยากอบรมแล้ว เพราะอบรมในความทรงจำของครูคือการดูหนังสือวิชาการและนั่งฟังวิทยากรพูด พอมาก่อการครูวันแรก กระด่งกระดาษ กระดาน สมุด ดินสอ ไม่มีเลย…” 

ครูเจี๊ยบเล่าถึงประสบการณ์วันแรกของการเข้าอบรม ที่ทำเอาเธอถึงกับฉงนงงงวยพร้อมกับเสียงบ่นอุบอิบในใจว่า ‘แล้วแบบนี้จะได้อะไรกลับไปวะเนี่ย จะเอาอะไรไปรายงานโรงเรียน’ 

 “วันแรกมาที่นี่ เหมือนเขาเอาครูมารู้จักคน มาแสดงออก แต่เอาจริงๆ เราวิ่งไม่ค่อยไหว เล่นเกมก็ไม่ค่อยทัน เขาสั่งอะไรมาครูก็พยายามที่จะทำให้ได้ อย่างโมดูลแรกที่มีชื่อว่า ครูคือมนุษย์ คุณน้อง-ธนัญธร เปรมใจชื่น ก็พูดถึงเรื่องของการรับฟัง พื้นที่ปลอดภัย ความรักที่มีให้กัน โอ้โห เป็นวิธีการที่ครูเอาไปเปลี่ยนตัวเองได้ทั้งหมดเลยนะ เพราะวิธีของคุณน้องไม่ใช่การมานั่งสอน คุณน้องแทบไม่ได้ทำอะไรกับครูเลยนะ คุณน้องเหมือนเอาครูมากอด มาเล่น มานอน มาคุยกัน มันทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในตัวเรา และเราต้องดึงออกมาใช้ในห้องเรียน”

ครูเจี๊ยบเล่าอย่างย่นย่อถึงความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเอง ตั้งแต่โมดูลแรกของก่อการครูที่มีชื่อว่า ครูคือมนุษย์ และความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น คือชนวนความสงสัยว่า กระบวนการอะไร ที่ทำให้ครูเจี๊ยบเปลี่ยนแปลง 

“หนึ่ง ครูได้ความรักจากครูน้องใน ‘ห้องเรียนแห่งรัก’ ตอนแรกไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร สิ่งที่ได้มันเป็นกิจกรรมง่ายๆ ครูน้องไม่ได้ให้ทำอะไร แค่ให้เข้ามากิน คุยกัน สอนโดยไม่รู้ตัวน่ะ เราชอบตรงนี้ เหมือนถูกสอนแบบเนียนๆ เป็นการสอนโดยไม่ต้องจำ ไม่ต้องเลคเชอร์ มันซึมเข้าไปเอง และครูน้องไม่ได้สอนว่าต้องจำให้ได้ทั้งหมด แต่ครูก็จะจำได้ในสิ่งที่เราสนใจ อย่างการคิดบวก เราก็จะมีความสุข จากนั้นครูน้องพาไปนอน นอนประมาณ 15 นาที ไม่ได้บอกว่าต้องหลับ แต่ครูก็หลับไปเอง ตื่นมาก็อยากเรียนรู้ อยากทำ 

“ซึ่งเป็นกิจกรรมง่ายๆ เช่นให้ไปเขียนสิ่งที่อยู่ในตัวเรา แล้วมาบอกเล่าให้เพื่อนฟัง ซึ่งบางอย่างเราก็พูดไม่ได้ แต่พอเราได้เขียนออกมา เราก็กล้าพูดมากขึ้น บางคนก็ร้องไห้ เพราะเขียนทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องการเรียน

“ครูชอบตรงที่เรียนเหมือนไม่ได้เรียน ครูก็เอาไปเปลี่ยนห้องเรียนที่โรงเรียน ตอนนี้ครูสอน ป.1 ซึ่งแต่ก่อนครูคาดหวังมาก เด็กต้องเขียนได้ อ่านได้ ตั้งแต่ครูมาเรียนรู้กับครูน้อง ครูเปลี่ยนการสอนหมดเลยค่ะ”

ยกตัวอย่างการสอนของครูได้ไหม? 

“อย่างในห้องเรียน ป.1 ของครู จะมีเด็กชื่อโลตัส เขาจะเขียนได้สองคำทุกครั้ง คือคำว่าตะปูกับกาแฟ คำอื่นถูกบ้างไม่ถูกบ้างปะปนกันไป แล้วกลายเป็นว่าสองคำนี้เป็นฮีโร่ของเขา พอเขียนเสร็จเขาจะต้องมาสะกดคำ 5 คำให้ครูฟัง พอสะกดเสร็จ ครูก็จะเอาคำ 5 คำนั้นมาขึ้นกระดานให้เขาคัดแล้วก็ให้เขาแต่งประโยค 

“แต่ครูไม่ได้บังคับให้แต่งทั้งหมด ครูจะให้เขาเลือก 1 คำไปแต่งประโยค คำที่เขามองว่าเป็นฮีโร่ของเขา ที่เขาถนัด เขาก็จะภูมิใจที่ทำได้ แล้วคำอื่นๆ เราก็ค่อยๆ สอนเขาต่อ สำคัญคือ ถ้าเขาผิดก็ไม่เป็นไร ตรงนี้แหละที่ครูเปลี่ยนที่สุด 

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน นักเรียนเขียนตามคำบอก 20 คำ ถ้าเด็กเขียนไม่ได้ ครูขีดเครื่องหมายผิดเลย เด็กผิด 4 คำครูตี 4 ที แต่ถ้าตอนนี้ ครูแจกกระดาษเปล่า 5 แผ่น แจกปากกา นักเรียนเขียนคำที่เขียนได้มา ผิดถูกครูไม่สนใจ แต่ถ้าคำไหนเขียนถูก ครูจะให้เขาอ่านแล้วเอาขึ้นกระดานให้เขาคัด เด็กก็ภูมิใจว่าเขาเขียนได้นะ แล้วตอนนี้เด็กก็เขียนได้มากขึ้น” ครูเจี๊ยบเล่า

อีกวิชาที่ครูเจี๊ยบเลือกเรียนใน โมดูล 2: ตลาดวิชา คือ วิจัยในชั้นเรียน ของ ครูเปี๊ยก-ผศ.ดร.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ ด้วยเหตุผลที่ว่า เธอเกลียดวิจัย แต่เธอมั่นใจว่าวิจัยในห้องเรียนนี้ ไม่ใช่วิจัยในแบบที่เธอเคยเจอ 

“วิจัยนั้นยากมากนะ ครูเกลียดมาก เครียดมาก แต่ที่ครูเลือกวิชานี้ เพราะว่าครูอยากรู้ว่า ไอ้วิจัยจากที่ครูเคยใช้หรือเคยเรียนมานั้น จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปไหม เพราะขนาดโมดูลแรก: ครูคือมนุษย์ ยังสามารถเปลี่ยนครูได้เลย 

“มาเรียนวันแรกครูเครียดมาก โวยวายกับครูเปี๊ยกเลยนะว่า ‘อะไรเนี่ย ให้มานั่งทำแผนการสอนอะไรกัน’ แต่สุดท้ายมาเข้าใจว่า ไอ้การวิจัยนั้นไม่ใช่วิจัยแบบที่เคยทำมา ว่าเด็กทำข้อสอบได้ข้อนั้นข้อนี้ มันเป็นการวิจัยพฤติกรรมเด็กที่ครูเอาไปต่อยอดและบันทึกในแผนการสอน 

“ทุกวันนี้เวลาครูบันทึก ครูไม่ได้เขียนเป็นภาษาหนังสือนะ ครูเขียนภาษาเด็กๆ เลย บันทึกทุกอย่างที่เป็นพฤติกรรม ครูยอมรับว่าครูเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม แล้วมีความสุขในการสอนมากขึ้น

“ครูยังเสียดายว่า ถ้าคนที่อายุน้อยกว่าครูมาโครงการนี้ เขาจะได้เอาไปใช้กับเด็กได้มากกว่าครูนะ ครูเสียดาย เพราะครูเหลือเวลาอีกแค่ 4 ปีเอง ยอมรับตามตรงว่าเมื่อก่อนครูอยากเกษียณเร็วๆ เมื่อไรจะครบ 4 ปีที่เหลือสักที แต่ตอนนี้ 4 ปีมันน้อยไปสำหรับครู เพราะตอนนี้ครูมีพลัง มีไอเดียแปลกๆ มากมายที่เกิดขึ้นโดยที่เราก็ไม่รู้ตัวนะ” เธอเล่าพร้อมกับทิ้งท้ายว่า  

“สำคัญคือเราได้มาเจอสังคมของครูที่มีอุดมการณ์ มีไฟที่จะทำงานมากมาย ดังนั้น ไม่ควรเลยที่ไฟในตัวของเราจะมอดเร็วขนาดนี้” 

‘หนูเกลียดครูค่ะ’

“แต่ก่อนครูไม่ได้เป็นคนแบบนี้ แต่ก่อนเป็นคนเครียด ดุ จริงจัง” ครูเจี๊ยบว่า ซึ่งใช่ เราผู้เป็นคู่สนทนา แทบจะนึกถึงภาพครูเจี๊ยบผู้ดุดันไม่ออก ด้วยว่าเธอตรงหน้า คือสุภาพสตรีผู้ร่าเริง และมีรอยยิ้มระบายบนใบหน้าอยู่เสมอ

ดุขนาดไหนคะ? – เราถาม

“หนึ่ง เรื่องการเดินแถว เข้าแถว หรือการมาโรงเรียน ทุกคนต้องมาตรงเวลา ทุกคนต้องเข้าเรียน ต้องทำตามที่ครูสั่งได้ทุกอย่าง แล้วเด็กที่เรียนกับครูต้องมีความกล้าในตัว ครูสั่งให้ไปพูดอะไรกับใครต้องไป ถ้าไม่กล้าครูจะฟาด เช่น ถ้ามีคนถามเด็กว่า ‘หนูชื่ออะไรคะ’ แล้วเด็กนั่งเงียบ ไม่พูดไม่ตอบ เขาออกไปแล้วครูฟาดแน่นอน” 

แทบไม่ต้องขยายความ ความดุดันของครูเจี๊ยบเป็นที่ประจักษ์ในโรงเรียน แค่ครูเจี๊ยบเปล่งวาจาโดยไร้ไมค์ เด็ก 500 คนที่ยืนอยู่แถวหน้าเสาธงก็พร้อมจะสงบเงียบในทันที 

“เพราะลึกๆ แล้ว เด็กๆ กลัวครู ส่วนครูก็คิดว่า ‘ฉันเอาพวกเธออยู่’ แต่ว่าการเอาอยู่ ณ วันนั้น ครูเพิ่งมาเข้าใจว่า ใช่ เด็กศรัทธาครู รู้ว่าครูเป็นครู แต่ไอ้ความเป็นครูนี่แหละ คือหน้ากากที่มาสวมครูไว้ สิ่งที่ครูคิดมาทั้งหมดมันผิด การที่ครูสวมหน้ากากไว้แบบนี้ มันเป็นดาบสองคม

“ถึงแม้จะมีเด็กส่วนหนึ่งที่คิดเองได้ว่า ครูรักเขา ที่ดุเขาก็เพื่ออยากทำให้เขาได้ดี แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาไม่เข้าใจ จะยิ่งฝังเขาลงไป เขาจะยิ่งกลัว และนั่นไม่ใช่ความผิดของเด็กที่จะกลัว” ครูเจี๊ยบว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ เธอไม่เคยคิดว่า หน้ากากของความเป็นครูที่เธอสวมใส่นั้นเป็นปัญหาแต่อย่างใด จนกระทั่ง…

“มีคลาสหนึ่ง เขาให้พวกครูแบ่งกลุ่มแล้วลองสมมุติตัวเอง เป็นนักเรียน ผู้ปกครอง เป็นผู้อำนวยการ แล้วเขาก็บอกว่า ‘ในฐานะที่เราเป็นนักเรียน จะเขียนคำว่าอะไรลงในกระดาษ’ 

“ครูเขียนลงไปว่า ‘หนูเกลียดครูค่ะ’ คือคำที่ครูได้ยินมาจริงๆ จากเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เขาเป็นคนที่ครบทุกเรื่อง เที่ยวเตร่ มีแฟน ครูก็สอนเขากินยาคุม ทั้งตามเขาให้มาเรียน แต่กลายเป็นว่า การที่เราก้าวก่ายเขาเกินไป การที่เราคิดว่าพ่อแม่คงไม่อยากให้เขาเป็นแบบนี้ เราก้าวก่ายเขา เข้าไปในชีวิตแล้วพยายามดึงเขากลับมา หารู้ไม่ว่า การกระทำของเรามันรุกล้ำ มันเกินไป พื้นที่ปลอดภัยแบบที่ก่อการครูสอน มันไม่ใช่แบบนี้ ความปลอดภัยของเขาไม่ใช่เรา”  เสียงของเธอสั่นเครือ เราทั้งสองนั่งปล่อยให้ความเงียบใต้ร่มไม้ทำงานสักพัก เธอจึงเล่าต่อ

“ประโยคที่ว่าเขาเกลียดครู เขามาบอกกับครูในวันครูนะ เขากราบครูแล้วเขาเงยหน้ามอง แล้วเขาก็พูดว่า ‘ครูคะ หนูเกลียดครูมากค่ะ’ แต่ครูไม่โกรธเขาเลย ซึ่งตั้งแต่วันนั้น ตัวครูเองก็ไม่กล้าเข้าหาเขา ได้แต่มองเขา ในห้องเรียนขณะสอนก็ได้แต่มองกันไปมา จนเขาจบ ม.3 ก็ไม่มีการพูดกันเสียที

“จนได้มาเข้าห้องเรียนที่ก่อการครู มันถึงได้รู้ว่า… บาดแผลที่ครูกรีดไปในใจเด็กคนนั้นโดยไม่เจตนา มันฝังลึกอยู่กับเขา แล้วสุดท้ายเด็กคนนี้ติดคุก 8 ปี” 

แม้ความทรงจำนี้จะผ่านไปนานแล้ว แต่ครูเจี๊ยบบอกว่า กระบวนการของการอบรมครั้งนี้ ได้พาเธอไปสำรวจบาดแผลในอดีต นั่นทำให้ความทรงจำนั้นหวนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ เธอพิจารณามันอย่างตั้งใจ 

“ซึ่งครูก็ลืมมันไม่ได้เนอะ ความที่ครูผูกพันกับเขาก็เลยไปหาแม่เขาเพื่อถามไถ่ แม่เขาก็เอาไปบอกลูกในเรือนจำ จากนั้นเขาก็เขียนจดหมายออกมาจากเรือนจำว่า

‘ตอนนั้นหนูเกลียดครูจริงๆ ค่ะ เกลียดมาก ครูทำให้หนูเกลียดอาชีพครู เกลียดการเรียน เกลียดทุกอย่าง แต่ตอนนี้พอหนูมาอยู่ในคุก หนูถึงรู้ว่าลึกๆ สิ่งที่ครูทำกับหนูเพราะครูรักหนู แต่วิธีการที่ครูทำกับหนูมันไม่ใช่ มันไม่ได้ผล’

ถึงตรงนี้ เธอตั้งรับกับความทรงจำที่หวนกลับมาอย่างมั่นคง ที่กล่าวเช่นนี้ นั่นเพราะเธอสำรวจวิธีการที่ผิดพลาดในอดีต เพื่อหาทางแก้ไข 

“ตอนนั้นครูคิดเองทั้งหมดเลย เราพยายามจะดึงเด็กคนนั้นไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง โดยที่เราไม่ฟังเหตุผลเขาเลย จนกระทั่งครูมาอยู่ตรงนี้ถึงรู้ว่า สถานการณ์ของคนเรามันไม่เหมือนกัน การที่ครูเอาแต่ใจ มันทำให้เขาผิดพลาด จนชีวิตเขาเป็นแบบนี้ ซึ่งวันที่เขาออกจากคุกมา เขาก็มาหาแล้วก็มากราบ ครูก็กอดคอแล้วเราก็คุยกัน เหตุการณ์เหมือนจะคลี่คลายนะ แต่พอได้มาก่อการครู ในวันที่ครูได้มาเล่นบทบาทสมมุติ ครูถึงรู้ตัวว่า แผลนี้มันฝังลึกในใจครู

“ซึ่งตั้งแต่มาอบรมวันแรก ครูพยายามที่จะปรับตัวเอง จากที่ครูคิดเองเออเอง เป็นการลื่นไหลไปกับการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น เห็นว่าศักยภาพเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งสภาพและจิตใจ ครูใส่ใจเด็กมากขึ้น แล้วเด็กเล็กเขาจะละเอียดอ่อนกว่า ต่างกับเด็กโต เด็กโตเขาจะผ่านอะไรมามากกว่าแล้วเขาจะแยกแยะเป็น ทุกวันนี้ครูระวังแม้แต่คำพูด เพราะไม่รู้ว่า ความเคยชินในการใช้อำนาจของเรา จะสร้างแผลอะไรให้เขาไหม” เธอว่า 

‘อำนาจ’ คือคำที่ครูเจี๊ยบเอ่ยถึงหลายครั้งตลอดการสนทนา ด้วยเพราะเธอได้ประจักษ์แจ้งถึงวิธีการอันอบอวลไปด้วยอำนาจโดยที่เธอไม่รู้ตัว 

“การอบรมนี้ทำให้รู้ความแท้จริงในตัวครู ว่าครูมีความรัก และการที่จะใส่อะไรไปให้เด็กนั้น ไม่จำเป็นต้องหน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่จำเป็นต้องเสียงดัง การสอนแบบลื่นไหลโดยไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ และสอนให้ครูเข้าใจว่าตัวเราทุกคนมีอำนาจค่ะ อำนาจมันคือความคิดของเรา แต่อำนาจที่เราจะไปใช้กับเด็กนั้น เราควรรู้ว่า จะใช้อำนาจตอนไหนเมื่อไหร่อย่างพอเหมาะพอดีในสถานการณ์หรือสภาพเเวดล้อมนั้นๆ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นบ้าอำนาจ”

บทสนทนาครั้งนี้ คือการเปลือยชีวิตและบาดแผลตลอด 31 ปีของการเป็นครู โดยเธอหวังว่า เรื่องราวเหล่านี้จะเป็นกรณีศึกษา และเชื่อจริงๆ ว่า ‘ไม้แก่ก็ดัดได้’ เพียงเปิดหัวใจแล้วเรียนรู้ไปด้วยกัน ดั่งที่เธอทำ 

“ครูเป็นครูมาสามสิบกว่าปี ถึงจะรู้ตัวช้า แต่ก็ไม่มีอะไรสายไป ครูยอมรับว่า ถ้าครูเด็กกว่านี้ครูจะมีความสุขมาก แต่ถึงอย่างนั้น ครูมีความรู้สึกว่าโชคดี ที่ครูจะทำ 4 ปีที่เหลืออยู่ให้เต็มที่กว่าเดิม” ครูเจี๊ยบยิ้มกว้าง 

This image has an empty alt attribute; its file name is bbl-supported.png
Array