เรื่องของเรื่อง เริ่มจากคำว่า .. ครูคือมนุษย์
พจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เล่าให้เราฟังว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่าน ธนาคารกรุงเทพ เริ่มต้นและประสบความสำเร็จกับโครงการมากมายเกี่ยวกับการศึกษา ทั้งโครงการ SIP – Student Internship Program โรงเรียนธนาคารกรุงเทพ โครงการ Junior Achievement ให้ความรู้เรื่องการเงิน (Financial Literacy) แก่นักเรียนมัธยมศึกษา ล่าสุดกับโครงการ CONNEXT ED ในปีแรกเราให้การสนับสนุนโรงเรียนด้วยงบประมาณตามโครงการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนอ แต่เมื่อเราออกพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้า ปรากฎว่าบางโครงการก็สำเร็จเห็นผล แต่บางโครงการไม่ได้ตามเป้าหมาย นั่นทำให้คุณพจณีและทีมงานมองหาการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ที่มากกว่าการให้เงินทุน
เมื่อเป็นเช่นนั้น ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จึงมองว่า ควรถอดบทเรียนจากโครงการปีก่อน ๆ แล้วจึงค่อยวางกลยุทธ์ในการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
ด้วยแนวคิดนี้ทำให้พจณีได้มารู้จัก ‘ก่อการครู’ โครงการที่เชื่อว่า ครูคือมนุษย์ที่มีชีวิต มีความรู้สึก พลาดได้ ผิดได้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้
“เราเป็นธนาคาร เป็นนักการเงิน ไม่ถนัดเรื่องการศึกษา เราเลยมาดูว่า น่าจะไปจับมือกับมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ จนมาเจอที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ พอได้เข้าไปนั่งคุยกับอาจารย์อนุชาติ พวงสำลี ก็เห็นแพชชั่นของทีมของอาจารย์ เห็นวิธีการใหม่ ๆ จนได้เริ่มต้นโครงการบัวหลวงก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ค่ะ”

ก่อการครู ชวนพจณี คงคาลัย มาเล่าเรื่องราวและเผยแนวคิดการทำโครงการบัวหลวงก่อการครู โดยทำงานร่วมกับ ‘ครูโรงเรียน CONNEXT ED โรงเรียนร่วมพัฒนา’ และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการจัดกระบวนการด้านพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ผ่านตัวแปรการศึกษาสำคัญอย่าง ‘คุณครู’
การศึกษาที่ดีในฝันของคุณ เป็นภาพแบบไหน
ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปเยอะจริง ๆ ทุกสังคมเปลี่ยนไปเพราะว่าโลกมันเปลี่ยน ดิฉันว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลก ดังนั้นการศึกษาก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น จะทำอย่างไรให้คนเรามีการศึกษา การศึกษาที่ไม่ได้หมายความว่าต้องจบปริญญาเท่านั้น การศึกษาที่หมายถึงทักษะวิชาชีพ ทักษะชีวิต และการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด
เรื่องของการศึกษาควรจะสอนให้คนรู้จักวิธีการย่อยความคิด ต้องพัฒนาทั้ง EQ และ IQ ไปพร้อมกัน ที่สำคัญ เราอยากเห็นการศึกษาพัฒนาเรื่องจิตใจ เพราะเท่าที่เห็น เราสามารถให้ความรู้คนจนเป็นด็อกเตอร์ได้ มีดีกรี แต่เราไม่ค่อยมีกระบวนการพัฒนาจิตใจ ซึ่งสำคัญมาก เพราะกระบวนการนี้ จะทำให้ผู้คนในสังคมเคารพซึ่งกันและกัน เห็นสังคมเป็นเรื่องของส่วนรวม ไม่สุดโต่ง เราอยากเห็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องสมองและจิตใจไปพร้อมกัน
เป็นความฝันที่ใหญ่?
ใช่ค่ะ เราถึงมองว่าโครงการบัวหลวงก่อการครู ที่เรากำลังทำนั้น มุมหนึ่งทำให้ผู้เรียนได้รับมิติการเรียนรู้มากกว่ามุมมองด้านวิชาการ อีกด้านคือการทำงานร่วมกับครู โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาครูเป็นหลัก เรามองว่า อาชีพครูนั้นสำคัญ ถ้าครูช่วยกันเปลี่ยนห้องเรียนของตัวเองได้ นักเรียน ผู้ปกครอง และอะไรหลาย ๆ อย่างก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีด้วยกันได้
‘ครู’ สำคัญอย่างไร เป็นตัวแปรแบบไหนในการสร้างการศึกษาที่ดี
ช่วงแรกที่ธนาคารกรุงเทพเริ่มทำงานด้านการศึกษากับโรงเรียน นอกจากให้การสนับสนุนแล้ว เรายังเข้าไปทำงานคลุกคลีกับโรงเรียนด้วย ทำให้พบว่า เด็กในโรงเรียน สพฐ. จำนวนมากไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับ ปู่ ย่า ตา ยาย สถาบันครอบครัวของเขาไม่แข็งแรง พ่อแม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ หาเงินส่งกลับบ้าน ดังนั้น โรงเรียนจึงสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้มาก ไม่แพ้ครอบครัวเลย ซึ่งเรามองว่า ครูสำคัญมากในการดูแลนักเรียนที่ครอบครัวเปราะบาง ถ้าครูไม่มีกำลังใจ ไม่มีพลัง ไม่มีเครื่องมือ และไม่มีไฟในการทำงาน เด็ก ๆ ก็จะไม่ได้รับการดูแลที่ดี เท่าที่ทราบ ครูในระบบการศึกษาค่อนข้างมีภาระงานมาก เราไม่อยากเห็นเด็ก ๆ หรือครูรู้สึกว่า เช้ามา ไม่อยากตื่นมาโรงเรียน มันจึงมาสู่แนวคิดที่ว่า เราอยากทำงานกับครู กับผู้อำนวยการโรงเรียน ให้เป็นคนที่มีความคิดริเริ่ม (Initiative) ในการทำสิ่งใหม่ ๆ เรียกพลังและกำลังใจของพวกเขากลับคืนมา แล้วแนวคิดของเรา ตรงกับโครงการก่อการครู เพราะเขาพยายามทำสิ่งนี้อยู่

จากการทำโครงการที่ผ่านมาได้รับฟังเสียงสะท้อนของกลุ่มครูอย่างไรบ้าง เขาเหล่านั้นเผชิญความทุกข์ร่วมกันอย่างไร
ครูจะรู้สึกหมดพลัง ไม่มีกำลังใจในการทำงาน ครูขาดการพัฒนาเรื่องไอเดียการเรียนการสอน ซึ่งการที่ครูหมดพลังมาจากหลายกรณี เช่น หนึ่ง ปัญหาของเด็กที่ครูเจอ อยากมาเรียนบ้าง ไม่อยากมาเรียนบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คือไม่อยากมาเรียน เบื่อหน่ายห้องเรียน สอง คุณครูเองก็ไม่มีเครื่องมือและวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดการห้องเรียน ครูคนเดียวสอนหมดทุกอย่าง ทำให้ครูส่วนมากไม่มีพลัง ซึ่งจากโครงการบัวหลวงก่อการครู เราเห็นได้ชัดว่า พอครูได้พลังใจ ได้นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างบอร์ดเกม การออกแบบการเรียนการสอนใหม่ ๆ พอครูเปลี่ยนวิธีการ เด็กก็ตื่นเต้นอยากเรียนรู้ เหล่านี้ทำให้เราอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคุณครู
ก่อการครูมักใช้คำว่า “ครูคือมนุษย์” ในความคิดของคุณ ครูคือมนุษย์หมายความว่าอย่างไร
เราฟังคำว่า ‘ครูคือมนุษย์’ ครั้งแรก มันโดนใจมาก เพราะครูก็คือมนุษย์จริง ๆ มีความรู้สึก มีทุกข์ มีเศร้า มีดีใจ เสียใจ พอทางก่อการครูใช้คำนี้ สำหรับดิฉันเอง ถ้าดิฉันเป็นครู เรามีความรู้สึกว่ามีใครคนหนึ่งเข้าใจเรา พอได้ยินคำนี้ปุ๊บ โอ้โห มันอยากจะร้องไห้ เพราะครูเขากดดันมากนะ การทำให้ครูยอมรับความผิดพลาด ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบได้ มันทำให้เขาเปิดใจกับเรา มาร่วมเรียนรู้กับเรา
โครงการบัวหลวงก่อการครูตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เห็นผลลัพธ์อะไรบ้าง
ดิฉันได้ไปเปิดการอบรมเองในวันแรกเลย เราเห็นว่า ครูหลายคนคิดว่า ‘อีกแล้ว อบรมอีกแล้ว!’ แต่พอเริ่มกระบวนการปุ๊บ ‘เอ๊ะ ทำไมไม่ต้องนั่งอบรมแบบเดิม ๆ มันกลายเป็นนั่งกับพื้น นั่งวงกลม พูดคุยกัน’ แววตาของคุณครูก็เริ่มเปลี่ยน ซึ่งตลอดการอบรม 3 วันในโมดูลแรก จากความรู้สึกว่าคงไม่ได้อะไร กลายเป็นว่า คุณครูเริ่มมีรอยยิ้ม ดูสีหน้าและแววตามีประกาย เริ่มสนุกสนาน และมีการเชื่อมโยงกันระหว่างคุณครู
พอคุณครูเริ่มมีพลัง เขาก็เปิดรับอะไรใหม่ ๆ เริ่มแรกมันก็เหมือนการปรับ Mindset ของคุณครู และ ผอ. พอเข้าโมดูล 3 เริ่มมีการแบ่งปัน เริ่มแชร์กันว่าแต่ละคนมีไอเดียอะไร กลับไปเปลี่ยนห้องเรียนของตัวเองอย่างไร จนโมดูลสุดท้าย Ed talk ครูปล่อยแสง ดีมาก โดยเฉพาะครูเจี๊ยบ-ธนาพร ก้อนทอง โรงเรียนวัดบ้านกล้วย จังหวัดสระบุรี ที่พูดไปก็น้ำตาไหลไป เราเข้าใจเลยว่า มันยากมากสำหรับคุณครูที่อีก 1 ปีจะเกษียณ แต่แล้วอยู่ ๆ ก็ออกมายอมรับว่าที่ผ่านมาเค้าอาจจะเคยพลาด แต่ตอนนี้ครูเจี๊ยบได้เรียนรู้ ปรับ Mindset และวิธีการสอนของตัวเอง ดีมาก ๆ เลย
การสร้างการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาผ่านบทบาทของภาคเอกชนตลอดโครงการบัวหลวงก่อการครูคุณมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆอย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมาเรามักมองว่า หากเด็กขาดทุนการศึกษา ก็ให้ทุนการศึกษา หรือโรงเรียนอยากได้เครื่องคอมพิวเตอร์ เราก็ให้เครื่องคอมฯ ไป ซึ่งโอเค มันเหมือนกับการที่เราไม่สบายก็จ่ายยา แต่เราไม่ได้ไปวิเคราะห์เลยว่า จะทำยังไงให้เขาไม่เป็นโรคอีกต่อไป
จากการทำงานตรงนี้ สิ่งที่เราเห็นก็คือ การสนับสนุนเงินทุนอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ อยากให้ดูว่าปัญหาการศึกษาบ้านเรามันคืออะไร เราต้องเข้าไปช่วยตรงจุดไหน ทำให้เราเห็นว่าภาคเอกชนมีบทบาทมากในการศึกษา และอยากให้ภาคเอกชนผนึกกำลังแล้วช่วยกัน เพราะมีโรงเรียนอีกมากมายที่อยากได้ความช่วยเหลือ ที่สำคัญคือ เราจะช่วยอย่างไรที่ทำให้การพัฒนานั้นยั่งยืน

โครงการก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ก่อการครู ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ