‘ครูตุ๋ม’ วิภาวี พลตื้อ ครูเคมีผู้อยากสร้างเคมีที่เข้ากันกับเด็กๆ

Reduce-Reuse-Recycle!

เสียงของเด็กนักเรียนชั้น ม.1 ดังออกมาจากห้องเรียนคุณธรรมที่ตั้งอยู่กลางโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 

มุมหนึ่งของห้องเรียนคุณธรรม ถูกจัดสรรเป็นโซนร้านค้าไว้แลกของ เด็กๆ จะเอาขยะรีไซเคิลมาแลกเป็นคะแนนหรือข้าวของเครื่องใช้ เช่น กระบอกน้ำพลาสติก หมอนอิง ติดไม้ติดมือกลับไป

ห้องเรียนแห่งนี้ก่อตั้งและอำนวยการโดย ‘ครูตุ๋ม’ วิภาวี พลตื้อ หัวเรือใหญ่ในการผลักดันให้โรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อม (Eco-school) ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว นอกจากมีโซนร้านค้าแลกของแล้ว กลางห้องยังถูกจัดเป็นพื้นที่กว้างพอให้เด็กได้นั่งเล่นทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น เกม 3R ที่ครูตุ๋มและนักเรียนชั้น ม.1 จำนวน 10 คน กำลังนั่งล้อมวงเล่นกันอยู่

3R คือ Reduce-Reuse-Recycle

กติกาง่ายๆ ของครูตุ๋มมีอยู่ว่า เมื่อพูดคำว่า reduce ให้ตบมือไปที่พื้น 1 ครั้ง ส่วน reuse ให้ตบมือไปที่พื้น 2 ครั้ง ถ้าตบมือด้านซ้ายเพื่อนที่อยู่ด้านซ้ายก็เล่นต่อ แต่ถ้าตบมือด้านขวาเพื่อนที่อยู่ด้านขวาจะได้เล่นต่อ ส่วนคำว่า recycle ให้ตบมือไปที่พื้น 3 ครั้ง ส่งกันไปเรื่อยๆ หากใครตบมือผิดด้านคนนั้นจะเป็นผู้แพ้

เสียงหัวเราะเกิดขึ้นตลอดทั้งเกม เด็กๆ ทั้ง 10 คน ผลัดกันแกล้ง ผลัดกันเอาคืนเพื่อนที่อยู่ข้างๆ ครูตุ๋มอธิบายนอกรอบว่าเกม 3R เป็นเกมที่บูรณาการเรื่องการตั้งสติและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน

“เราใช้คำว่า reduce-reuse-recycle เข้ามาเป็นกิมมิค เพื่อเชื่อมให้เด็กรู้จักทั้งสามคำนี้ เด็กๆ มักพูดกันว่า ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ แต่เขาไม่รู้ว่ามันยังไงต่อ?”

เมื่อใส่คีย์เวิร์ดทั้งสาม R ลงในเกม จะช่วยกระตุ้นให้เด็กคุ้นเคยและจำได้ เมื่อจบเกมครูตุ๋มจะขมวดเพื่อโยงเข้าสู่เนื้อหาบทเรียนทันทีว่า reduce reuse recycle คืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร

เกมต่อมาคือ ‘เกมใบ้คำ’ ของวิชาพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยคำใบ้ต่างกันจะถูกนำไปติดด้านหลังของเพื่อน คำที่นำมาใบ้จะเป็นคำเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยครูตุ๋มปล่อยให้เด็กผลัดกันใบ้คำของกันและกันโดยห้ามใช้เสียง ทำได้แค่แสดงออกผ่านท่าทาง เช่น ‘คำว่าตัดไม้ทำลายป่า’ เด็กบางคนก็ยกมือขึ้นมาทำท่าฟันต้นไม้ และยังมีคำว่าอื่นๆ อีก เช่น โลกร้อน ขยะล้นโลก น้ำท่วม ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อสื่อให้เด็กตระหนักถึงภาวะที่มนุษย์ต้องเจออยู่ทุกวันนี้

เวลาแห่งความสนุกสนานผ่านไปร่วมชั่วโมง ดูจากสีหน้าเด็กๆ แววตาฟ้องอยู่ชัดเจนว่ายังไม่มีใครเบื่อ ทั้งทีเกมเหล่านี้จัดว่าเป็นเกมเน้นสาระทั้งหมด

ครูตุ๋มทำได้อย่างไร?

วิภาวี พลตื้อ หรือ ครูตุ๋ม ย้ายมาโรงเรียนนี้ ได้ 2 ปีแล้ว เดิมทีครูตุ๋มเป็นคุณครูสอนวิชาเคมี ที่เคยสอนทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ในโรงเรียนก่อนหน้า จากนั้นจึงย้ายมาที่โรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม

ครูตุ๋มเริ่มสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ย้อนกลับไปถามความตั้งใจสมัยเรียนจบชั้นมัธยม ครูตุ๋มบอกว่ามีอยู่ข้อเดียวคือ ฉันจะเป็นครู

แต่พอถามต่อว่า ทำไมถึงอยากเป็นครู ครูตุ๋มกลับนิ่งคิดและลังเลที่จะตอบ

“น่าจะเป็นเพราะเราเคยเป็นคนที่มีความสุขในห้องเรียนล่ะมั้ง ก็เลยอยากเป็นครู เราไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง แต่จะทำได้ดีในวิชาที่ชอบ นั่นคือวิชาภาษาอังกฤษ เป็นวิชาเดียวที่เราเตรียมตัวก่อนเรียนทุกคาบเรียน เตรียมท่องคำศัพท์ อ่านเนื้อหาบทเรียนไปก่อน”

แต่อยู่มาวันหนึ่งความสุขของเด็กหญิงก็หายไป ครูตุ๋มเริ่มรู้สึกว่าความความตื่นเต้นที่จะเรียนรู้ในแต่ละวันเริ่มลดลง ตั้งแต่ตัวเองย้ายไปเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัดหลังจบชั้น ม.3

เมื่อโลกใหญ่ขึ้นย่อมเจอคนอื่นที่เก่งกว่า พร้อมกว่า ทำให้ความความกระตือรือร้นและความมั่นใจที่เคยสะสมมาค่อยๆ หายไป 

“คุณค่าของเราถูกลดลงเมื่อเราเรียนไม่เก่งเท่าคนอื่น ไม่ได้พูดพาดพิงครูนะ แต่ครูก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเรียนไม่เก่ง ทำให้เด็กถูกมองไม่เห็น

“พอย้ายมาโรงเรียนประจำจังหวัด เราเพิ่งรู้ว่าความเก่งของเรามันคือเบบี๋มาก ถ้าพูดตามตรงตอนนั้นเรารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจตัวเองนิดนึง เราเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับตัวคนอื่น พอเปรียบเทียบเราก็เริ่มไม่มีความสุข”

ครูตุ๋มในวัยมัธยมเริ่มเรียนรู้ว่าโลกไม่ได้สวยงามเหมือนเดิมอีกต่อไป แทนที่จะจม ครูตุ๋มตัดสินใจเปลี่ยนความทุกข์ตรงนั้นให้เป็นพลังขับเคลื่อนและเรียนรู้ว่า ‘โลกมันต้องแก่งแย่งแข่งขัน’ 

เมื่อความฝันคือการเป็นครูก็ต้องทำให้ได้ ครูตุ๋มจึงเลือกสอบเข้าเรียนต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ สาขามัธยมศึกษา วิชาเอกเคมี-คณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรจุเป็นครูคณิตศาสตร์ที่แรกที่โรงเรียนบ้านหนองเทา จังหวัดนครพนม จากนั้นก็ย้ายไปอีก 2-3 ที่ จนปัจจุบันมาเป็นครูสอนวิชาเคมีที่โรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม 

เดิมทีภาระชิ้นใหญ่ของครูตุ๋มคือการสอนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้เด็ก ม.1 และสอนวิชาเคมีให้เด็ก ม.4 แต่เนื่องจากห้วยเม็กวิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ขนาดกลาง มีเด็กทั้งสิ้นประมาณ 900 คน ภาระหน้าที่ต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นแบบที่ไม่ถามไถ่กันก่อนสักคำ แต่ครูตุ๋มยินดีรับมาอย่างเต็มใจ เพราะหนึ่งในความตั้งใจอีกอย่างนอกเหนือจากการสอนหนังสือ คือ การปลูกจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมให้โตในใจเด็กๆ ครูตุ๋มจึงควบตำแหน่งหัวหน้าครูฝ่ายสิ่งแวดล้อมและครูผู้ดูแลงานส่วนคุณธรรมไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในโรงเรียน ครูตุ๋มจึงพยายามทำให้โรงเรียนนี้ เป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ได้ โดยไปดำเนินการขอกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพื่อเสนอให้โรงเรียนเป็น Eco-school จนสำเร็จ 

ถ้าสิ่งแวดล้อมดีโรงเรียนก็จะดีไปด้วย

Eco-school คืออะไร?

“Eco-school ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนสะอาดหรือโรงเรียนที่แยกขยะ แต่โรงเรียนนั้นจะต้องมีการเรียนการสอนหรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วย”

ครูตุ๋มบอกว่าหลังจากดำเนินการขอให้โรงเรียนเป็น Eco-school ได้แล้ว จะต้องเปิดรายวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาขึ้นมา โดยต้องจัดหลักสูตรใหม่และสร้างวิชาใหม่ขึ้นมา นั่นคือ วิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาและวิชาพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม

มูลเหตุที่ทำให้ครูตุ๋มดิ้นรนอยากจะสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา เริ่มมาจากการชอบไปอบรมและเข้าร่วมงานพัฒนาความรู้ตัวเองในด้านต่างๆ รวมถึงด้านเกษตรกรรม จนทำให้ตกตะกอนความคิดและเห็นประโยชน์ของการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะทำให้บรรยากาศโรงเรียนดีไปด้วย จึงคิดอยากนำความรู้หรือกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมชาติกลับเข้ามาสู่นักเรียน สู่ห้องเรียนให้ได้

ครูตุ๋มยกตัวอย่างให้ฟังว่า 

“ การอบรมด้านจิตตปัญญาครั้งหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล เราได้เห็นความกล้าของคนอื่น เขากล้าที่จะจัดการเรียนรู้ จัดกิจกรรมให้เกิดขึ้นจริงในห้องเรียน ซึ่งผิดกับเราที่ไม่เคยกล้าเลย เพราะคิดว่าจะสอนเนื้อหาไม่ทัน เราคิดแบบนี้มาตลอด ถ้าอยากจะทำกิจกรรมค่อยไปเสริมข้างนอกอย่างเดียว ครั้งนั้นมันเปิดโลกเรามากๆ”

โลกสองใบของครูตุ๋ม

กว่าครูตุ๋มจะกล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงการสอนรูปแบบเดิมๆ โดยนำเอากิจกรรมนอกห้องเรียนเข้ามาใส่ในห้องเรียนมากขึ้น ใช้เวลานานพอสมควร เพราะครูตุ๋มคุ้นชินอยู่กับสร้างโลกสองใบให้แยกขาดออกจากกัน ทำให้ ‘โลกของกิจกรรม’ และ ‘โลกของห้องเรียน’ ไม่ถูกรวมกันสักที

โลกใบที่หนึ่ง คือ โลกในห้องเรียน เจตนาเดียวของครูตุ๋มในโลกใบนี้ คือการทำให้เด็กมีความสุข จึงพยายามหาวิธีการสอนให้สนุก ได้เอาความรู้ไปใช้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่รู้ว่ากระบวนการสร้างความสุขนั้นทำอย่างไร จะทำอย่างไรให้เด็กกล้ายกมือถามถ้าเขาเรียนแล้วไม่เข้าใจ และจะทำอย่างไรให้เด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนกลับมาสนใจเนื้อหา

 โลกใบที่สอง คือ โลกนอกห้องเรียน ครูตุ๋มทุ่มเทให้โลกใบนี้อย่างมหาศาล โดยพยายามพานักเรียนไปทำกิจกรรมเรียนรู้นอกโรงเรียน-นอกห้องเรียน ให้ได้มากและหลากหลาย ทั้งการพาเด็กไปปั่นจักรยานรณรงค์การลดใช้พลังงาน ทำสวน ปลูกผัก ฯลฯ สำหรับโลกใบนี้ ครูตุ๋มทำมากว่าสิบปีแล้ว 

“อยากให้เด็กที่เรียนไม่เก่ง รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีตัวตน ถึงในห้องเรียนเขาอาจจะทุกข์ แต่นอกห้องต้องสุข แต่ก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่า กระบวนการที่ลดทอนความทุกข์ให้น้อยลงนั้นทำได้อย่างไร” 

เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงโลกทั้งสองเข้าด้วยกันได้ โลกทั้งสองใบนี้จึงเป็นปัญหาที่ครูตุ๋มแบกไว้ตลอด

“เคยคิดว่า หรือเราต้องออกไปทำศูนย์การเรียนรู้เลย เอาให้สุดโต่งไปเลย” ครูตุ๋มยิ้ม

ในเมื่อระบบไม่เอื้อ ติดกับดักตัวชี้วัดต่างๆ ทั้งคะแนนโอเน็ต ทั้งผลประเมินโรงเรียน ทั้งปัญหาสอนเนื้อหาไม่ทัน จึงทำให้ครูตุ๋มไม่กล้าที่จะเชื่อมโยงโลกของกิจกรรมและโลกของห้องเรียนเข้าด้วยกัน ครูตุ๋มไม่สามารถทำลายกำแพงความกลัวที่จะเอากิจกรรมต่างๆ มาใช้ในห้องเรียน 

เชื่อมโลกได้ในก่อการครู

‘โครงการก่อการครู’ จึงกลายเป็นทางออกที่เข้ามาช่วยให้โลกทั้งสองของครูตุ๋มเชื่อมโยงกันได้จริง

นอกจากความคาดหวังในการหาวิธีการเชื่อมโลกของตัวเองแล้ว สิ่งที่โครงการก่อการครูให้ครูตุ๋มคือ ‘พลังงาน’

“เราได้รับพลังจากคนอื่น เหมือนไปเจอกับคนที่คุยกันรู้เรื่องแล้วมันช่วยเสริมพลังกันมาก”

ก่อการครูทำให้ได้เห็น ‘อาวุธ’ ที่ครูแต่ละคนมีติดตัว ครูตุ๋มรู้สึกชื่นชมในความพยายามแลกเปลี่ยน พยายามส่งต่ออาวุธที่ต่างครูต่างมี ผลัดกันเติมสิ่งที่ขาด ช่วยถมในส่วนที่พร่อง

วิธีนี้ครูตุ๋มบอกว่าทำให้เห็นตัวเองมากขึ้น ได้สำรวจตัวเองว่ายังต้องพัฒนาตรงไหนอีกบ้าง

“โครงการนี้ช่วยเติมความเป็นครูตั้งแต่โมดูล 1 เพราะพาไปเห็นความหลากหลายของคนอื่น ได้เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลก พอเข้าห้องเรียนสร้างสรรค์ ก็ดีมากๆ เพราะได้นำมาใช้จริง เช่น การใช้กล้องถ่ายรูป นำรูปถ่ายมาเล่าเรื่อง”

ใน ‘ห้องเรียนสร้างสรรค์’ ที่ครูตุ๋มได้เข้าไปหาความรู้ สิ่งที่ได้เรียนและได้รับประโยชน์เต็มๆ คือ ความรู้ในกระบวนการถ่ายภาพและการนำภาพเหล่านั้นมาถ่ายทอดเป็นเรื่อง

ครูตุ๋มเล่าย้อนวันนั้นให้ฟังว่า “เราถ่ายภาพรอยเท้าของตัวเองที่เปื้อน ขณะเดินเข้ามาในตึกธรรมศาสตร์” จากนั้นก็เอารูปที่ถ่ายได้มาสื่อสารกับเพื่อนครูในห้อง โดยเล่าให้เป็นเรื่องสั้นประมาณว่า ‘บางคนอาจจะดีใจว่าฝนตก แม่บ้านอาจจะเศร้าใจ เพราะต้องทำความสะอาด’ เปรียบเทียบให้เห็นว่าอย่างน้อยๆ โลกนี้ก็มีสองมุม

“วันนั้นเรารู้สึกว่าตอนได้เล่าเรื่องจากภาพ มันมีพลังอะไรบางอย่างเกิดขึ้น เลยเอามาปรับใช้ในรายวิชาสิ่งแวดล้อม อย่างกิจกรรมปั่นจักรยาน เราก็โยนโจทย์ให้เด็กฝึกถ่ายภาพสิ่งที่อยู่ข้างทางแล้วนำกลับมาถ่ายทอดให้ฟัง”

แน่นอนว่าจุดประสงค์คือการได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการฝึกวิธีสื่อสาร เปิดความคิดสร้างสรรค์ ฝึกให้เด็กหาธีมหรือหาแก่นของเรื่อง ไปจนถึงการสร้างเป็นภาพยนตร์สั้นหรือสื่อสร้างสรรค์ที่สะท้อนจิตสำนึกของเด็กๆ ออกมา

แม้ความรู้จากห้องเรียนสร้างสรรค์ในโครงการก่อการครู อาจไม่ได้ใช้ในวิชาเคมีมากนัก แต่กลับเอามาใช้ในสิ่งแวดล้อมศึกษาได้เป็นอย่างดี ผ่านการเล่าด้วยภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว

จนถึงวันนี้ ครูตุ๋มพาเด็กทำหนังสั้นไปแล้ว 3 เรื่อง

หนึ่งในนั้นคือ ‘ สารคดี ที่นี่ ดินจี่บ้านฉัน’ ให้เด็กๆ เล่าเรื่องของตัวเอง เพราะในอำเภอคำม่วง กาฬสินธุ์ เกษตรกรใช้ยาฆ่าหญ้าจำนวนมาก แต่มีหมู่บ้านดินจี่เพียงแห่งเดียวที่ไม่ใช้สารเคมีร้ายแรงทุกชนิด 

“ครูตุ๋มพาเด็กๆ เหมารถเข้าไปลงพื้นที่จริง ให้เด็กออกไปเรียนรู้ โดยเข้าไปถามกฎและข้อมูลต่างๆ จากชาวบ้าน จากนั้นมาเขียนธีม วางพล็อต และลงมือถ่ายทำ โดยครูตุ๋มจะพาถอดบทเรียนทุกครั้งว่า ‘อยากจะเล่าอะไร ทำไปเพื่ออะไร ต้องการสื่อถึงอะไร ทำไปแล้วดีอย่างที่คิดไว้ไหม’ ซึ่งเป็นพลังทำให้พวกเขาฝึกคิดวิเคราะห์แบบเนียนๆ” 

อีกหนี่งห้องเรียนที่ครูตุ๋มได้เข้าร่วม คือ ‘ห้องเรียนออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้’ ที่นี่ครูตุ๋มได้ทำความรู้จักกับบอร์ดเกมเป็นครั้งแรก 

ก่อนหน้านั้นความสัมพันธ์ระหว่างครูตุ๋มและบอร์ดเกมคือคนแปลกหน้าระหว่างกัน ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เอาไปใช้สร้างกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างไร 

“แต่พอได้เรียน มันสนุกมาก ในใจคิดว่าต้องได้เอาไปใช้แน่ๆ”

และครูตุ๋มก็ได้เอาบอร์ดเกมไปใช้ในคาบเรียนจริง ยิ่งในวิชายากๆ อย่างเคมี เมื่อก่อนครูตุ๋มสอนนักเรียนเรียนโดยการท่องจำตารางธาตุ แต่พอได้เรียนรู้บอร์ดเกมได้ให้เด็กทดลองออกแบบเกมขึ้นมา จุดประสงค์คือเพื่อโละวิธีเรียนแบบเดิมๆ ให้น้อยลง ยกตัวอย่างชัดๆ ในคาบเรียน ม.4 เด็กกลุ่มหนึ่งช่วยกันคิดเกม ‘ลูกเต๋าตารางธาตุ’ โดยวิธีเล่นคือผลัดกันโยนลูกเต่าแล้วทายว่าเลขที่หงายขึ้นมานั้น เป็นเลขอะตอมของธาตุตัวใด หมู่ไหน ตามตารางธาตุ แม้วิธีท่องจำกับการเล่มเกมจะได้ผลลัพธ์เหมือนกันคือเด็กได้ความรู้ แต่วิธีสอนผ่านเกมทำให้เด็กมีความสุขมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด 

“นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่นำไปใช้ได้จริง เด็กกับเราก็มีส่วนร่วมออกแบบด้วยกัน เด็กสนุกเพราะเขาได้ขยับร่างกาย เราได้ทำหน้าที่ครูเพราะสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปในเกม” ครูตุ๋มบอก

หัวใจหลักของแต่ละห้องเรียนที่ได้เข้าอบรมกับก่อการครูครั้งนั้น ทำให้ครูตุ๋มได้ย้อนกลับมาตั้งหลักและตั้งธงว่าจะดึงเด็กเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการเรียนรู้ให้มากขึ้น

“บางครั้งครูออกแบบกิจกรรม แต่เอาตัวเอง อย่างบอร์ดเกมคิดเอง สร้างเอง ลงมือเล่นเอง ไม่ได้เชื่อมโยงความรู้คู่กับเกม ไม่เอามาผนวกกัน สนุกอยู่คนเดียว (หัวเราะ)”

ครูตัวเล็กหัวใจใหญ่

 “ก่อนที่จะเป็น Eco-school โรงเรียนมีปัญหาเรื่องขยะ เด็กไม่แยกขยะ ไม่ทำอะไรเลย เรารู้สึกว่านั่งอยู่ท่ามกลางกองขยะแบบนี้ไม่ไหวแล้ว จึงเอาความเป็นครูสิ่งแวดล้อมนี่แหละเข้ามาคลี่คลายปัญหา”

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่หลายๆ ครั้งครูก็อ่อนแอและเยียวยาจิตใจตัวเองไม่ได้ ในเมื่อความยืดหยุ่นและความไม่เอาจริงเอาจังของระบบโรงเรียนกลายเป็นปัญหา จนถึงขั้นอธิษฐานขอทางออกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

“แม้ว่าจะเพิ่งย้ายมาและพลังเรามันเยอะมากๆ แต่ครูท่านอื่นๆ ไม่ได้คิดหรือมองไปในแง่นั้น มีปัญหาบางอย่างที่ทำให้จิตตก บางคนคิดว่าพลังของเราที่ทุ่มทำลงไปเพราะยากได้ความดีความชอบ เราก็พยายามลืมมันไป เอาความทุกข์มารีไซเคิลใหม่ ไม่เอากลับมาใช้ซ้ำ”

ด้วยความเป็นคนแอคทีฟชอบทำนู่นทำนี่ ยิ่งเป็น Eco-school ด้วยแล้ว ครูตุ๋มมีงานที่ต้องทำมากมายเพื่อรักษามาตรฐานไว้ให้ได้ และเพื่อให้ผ่านการประเมินที่มีเข้ามาเป็นระยะๆ แต่ปัญหากลายเป็นว่าครูตุ๋มขับเคลื่อนอยู่คนเดียว เกิดเป็นความเหนื่อยกาย ท้อแท้ แต่ก็พยายามไม่เก็บมาเป็นอุปสรรค ถึงแม้จะรู้สึก ‘ตัวเล็กมากๆ’ ก็ตาม

“จิตสำนึกปลูกยากที่สุด แต่ตายง่ายที่สุด” ครูตุ๋มบอก

ถึงแม้จะเหนื่อยกาย แต่ใจต้องไปต่อ ครูตุ๋มพยายามค้นหาวิธีการปลูกจิตสำนึกด้านงานสิ่งแวดล้อมให้เด็ก โดยผ่านการทำกิจกรรมในโครงงานคุณธรรม มีทั้งจัดอบรมนักเรียนชั้น ม.1-ม.6 และที่สำคัญครูตุ๋มเอารูปแบบกระบวนการจากโครงการก่อการครูมาเป็นต้นแบบในการทำกิจกรรมต่างๆ จนเด็กบอกว่า ‘สนุก และไม่คิดว่าค่ายคุณธรรมจะได้เล่นเกมหรือได้ทำอะไรแบบนี้’

“เราก็เอาปัญหาในโรงเรียนมาพูดตะล่อม จนเด็กเห็นประเด็นที่จะไปแก้ไข ส่วนใหญ่ครูตุ๋ม เน้นให้เด็กๆ จัดการเรื่องขยะ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและทำไม่ยาก”

นอกจากเป็นหัวหน้าครูสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ครูดูงานส่วนคุณธรรมด้วย ซึ่งแพลนต่อไปในเทอมหน้า ครูตุ๋มบอกว่าอยากใช้วิธีการเจริญสติเข้ามาช่วยดูแลใจเด็ก

“พอเลิกแถวหลังเข้าแถวเคารพธงชาติเสร็จ เด็กเหมือนมดแตกรัง” ครูตุ๋มบอกต่อว่า

“อยากเอาการตีระฆัง 14 จังหวะ เข้ามาฝึกให้นักเรียนรู้จักรอ รอเพื่อนๆ คนอื่นกำลังเลิกแถว ค่อยๆ เดินไปทีละแถว ให้เขาสงบจากภายใน ดับความเจี๊ยวจ๊าว ครูจะได้ไม่ได้ต้องมาเกรี้ยวกราด คอยจัดแถว ดุด่า จนทั้งครูและเด็กไม่อยากทำกิจกรรมหน้าแถว พอเด็กไม่ชอบการเข้าแถว ปัญหาต่อมาคือนักเรียนจะมาโรงเรียนสาย

“อยากให้ระบบเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของ soft power มากขึ้น ให้เด็กฝึกคิดได้เอง สั่งกันเอง โดยที่ไม่ต้องให้ครูมาคอยกำกับซ้ายหัน-ขวาหัน ทุกขั้นตอน เรียกสติให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวตั้งแต่ช่วงเช้า จะได้มีสมาธิพร้อมเรียนในคาบต่อไปด้วย”

นี่คือหนึ่งในลักษณะงานของโครงการจริยธรรมคุณธรรม ที่ครูตุ๋มรับผิดชอบ

หรืออีกปัญหาโลกแตกของทุกๆ โรงเรียน คือ การแต่งกายไม่เรียบร้อย โดยเด็กผู้ชายมักปล่อยชายเสื้อออกนอกกางเกงทั้งวัน  

“ซึ่งการที่เด็กทำแบบนั้น เพราะเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ไม่มีใครว่า แต่ครูตุ๋มเห็นแล้วปล่อยไปไม่ได้ ต้องเข้าไปบอกด้วยประโยคทีเล่นทีจริงทุกครั้ง ‘เอาเสื้อเข้าเถอะ มันจะหล่อมากเลย’ ในใจเขาคงคิดแหละว่าทำไมครูคนนี้ถึงจุกจิกวุ่นวายอยู่คนเดียว” ครูตุ๋มคุณธรรมอธิบาย 

แล้วทำไมถึงปล่อยเด็กไปไม่ได้ – เราถาม?

“จริงๆ ก็ปล่อยไปได้ ทำเป็นหลับหูหลับตาไป แต่ครูก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมเราถึงทำแบบนั้นไม่ได้ ปล่อยไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราทำให้ระบบมันสร้างความคิดให้เขารู้สึกว่า เขาต้องแต่งตัวเรียบร้อยด้วยตัวเอง เอาเสื้อเข้าในกางเกงด้วยตัวเอง มันน่าจะดีกว่า”

นอกจากการเจริญสติ 14 จังหวะด้วยวิธีตีระฆังแล้ว ไอเดียต่อไปที่ครูตุ๋มอยากเล่นอยากลองโดยใช้ในวิชาคุณธรรมจริยธรรมคือ การพาเด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน

“ยิ่งนอกห้องเรียน ยิ่งสัมผัสเขาได้อีกเยอะ” ครูตุ๋มชี้ไปที่หย่อมหญ้าเล็กๆ หน้าห้องเรียนสิ่งแวดล้อม ครูบอกว่านี่คือผลงานของครูและนักเรียนที่ช่วยกันปลูก นอกจากช่วยเติมความมีชีวิตชีวาให้โรงเรียนแล้ว ยังเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ทำให้เด็กๆ สนุกสนานไปกับมัน 

“เด็กๆ หลายคนตั้งใจปลูกมาก บางคนอาสามาช่วยถึงขั้นขับรถไถจากบ้านมาก็มี การขนดิน ขนทราย หรือพาไปปั่นจักรยาน ทำครูให้ใกล้ชิดสร้างความสนิทสนมมากกว่าในห้องเรียน” 

ที่สำคัญสุดๆ กิจกรรมกลางดินกลางหญ้าแบบนี้ทำให้ครูตุ๋มเห็นเด็กในมุมอื่น ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

“แค่เราจำชื่อเล่นเขาได้ และเรียกชื่อเขาขณะขนดิน ขนทราย เด็กๆ ก็ดูมีความสุขมากแล้ว ต่างจากนั่งเรียนในห้องมากนะ”

การที่ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ด้วยกันผ่านกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่นั่งอ่านสไลด์ นั่งท่องหนังสือ จะช่วยทำให้เจตคติของเด็กๆ ที่มีต่อครูเปลี่ยนไป 

“ครูเองก็เปลี่ยนด้วย เรามองเขาอย่างธรรมดา ไม่มีเรื่องของผลการเรียนมาเป็นกรอบ มีแต่พื้นที่ให้เล่นสนุก”  

สำหรับครูตุ๋มอาจจะไม่มีตัวชี้วัดที่เป็นตัวเลขเป๊ะๆ เพราะพยายามบูรณาการหลักสูตรมาตั้งแต่แรก ตัวชี้วัดมีแค่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องในเนื้อหาวิชา ยังคงยึดเอาตัวเด็กเป็นสำคัญ แต่ครูตุ๋มยอมรับว่าตัวเองยังตกร่องอยู่ ถึงแม้จะมีไอเดียพาให้เด็กเล่นเกมหรือทำกระบวนการต่างๆ มากมาย แต่ก็ยังคงมีความกลัวสอนไม่ทันตามเวลาอยู่ เพราะมีเกณฑ์ชี้วัดต่างๆ ที่เป็นกรอบ ถึงครูจะออกแบบเองได้ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เช่น ผลการสอบโอเน็ตเพื่อประเมินอันดับของโรงเรียน ดังนั้นครูตุ๋มจึงต้องสมดุลน้ำหนักในการใส่กิจกรรมให้ได้มากที่สุด หากใกล้สอนไม่ทันก็ต้องจำยอมสอนเนื้อหาตามสไลด์ ตามตำรา แบบเดิมๆ อยู่บ้าง

มาตรวัดจากแววตาบอกได้ว่าเรามาถูกทางแล้ว

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าการเอากระบวนการนอกห้องเรียนต่างๆ เข้ามาปรับในใช้ในการสอน เป็นสิ่งที่มาถูกทางแล้ว? 

ครูตุ๋มตอบว่า หนึ่ง วัดจากชิ้นงาน เช่น การเริ่มบทเรียนเทอมสอง ครูตุ๋มจะให้นักเรียนสะท้อนว่า เทอมแรกที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ให้แต่ละคนเขียนออกมาว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีข้อดีหรือเสียอย่างไร แล้วถ้าไม่ได้เรียนกับครู จะเป็นอะไรไหม

สอง วัดจากการบ้านที่มอบหมายให้ แต่การบ้านแบบครูตุ๋มไม่ใช่การท่องหนังสือ

“เอาให้เขาจับต้องได้มากที่สุด ให้รู้ว่าเคมีอยู่ตรงไหนในชีวิตของเขา”

ในคาบเคมีที่เต็มไปด้วยสูตรและสมการยุ่งยาก ครูตุ๋มให้เด็กไปดูสารคดีกัมมันตภาพรังสี Chernobyl แล้วให้ถอดบทเรียนว่าเขาเห็นและได้อะไรบ้างจากสารคดีเรื่องนั้น

ยิ่งในกาฬสินธุ์เป็นพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะก่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

คำถามของครูตุ๋มคือ แล้วนักเรียนในฐานะคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้น มีภูมิคุ้มกันเพียงพอหรือยัง? 

“ครูไม่ได้ฉีดวัคซีนต่อต้านให้เด็กไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ในเมื่อเราเรียนวิชาเคมีมาแล้ว คุณจะบอกข้อมูลญาติพี่น้อง หรือคนในครอบครัวได้ไหมว่าการที่เอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีผลอย่างไร ครูเคมีไม่ใช่คนบอก แต่เป็นเขาเองต่างหากที่จะเป็นคนตัดสินจากการเรียนรู้ผ่านโลก ผ่านสิ่งที่ครูแนะนำ หรือข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ต จนตกผลึกได้ด้วยตัวเอง” 

นอกจากสร้างความใกล้ชิด สิ่งที่ครูตุ๋มให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ความสุขของเด็ก

สิ่งที่สัมผัสได้ ครูตุ๋มไม่ได้ทำหน้าที่ครูผู้สอนหนังสือตามตำราเรียน

ห้าวันในหนึ่งอาทิตย์ที่ครูตุ๋มมาทำงานตามเวลาราชการ ครูตุ๋มทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ลามไปถึงกำลังทรัพย์ โดยหวังผลตอบรับกลับเพียงแค่ ‘เพราะแววตาของเด็กนักเรียนกลายเป็นเส้นวัดความสำเร็จของครู’ ทำให้ครูตุ๋มย้อนภาพกลับไปวันที่ตัวเองตัดสินใจมาเป็นครู ครูตุ๋มก็เคยเป็นเด็กที่มีความสุขในห้องเรียนมาก่อน และมันค่อยๆ ฝ่อลงเมื่อโตขึ้น – ครูตุ๋มไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากบทเรียนและเนื้อหา ‘ตัวครู’ คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เด็กอยากเรียนหนังสือ แต่จะทำอย่างไรให้เขาไม่ยึดติด ถ้าวันหนึ่งครูต้องลาออกหรือย้ายไปสอนที่อื่น เขาต้องมีความสุขกับการเรียนด้วยตัวเองให้ได้ 

“โจทย์นี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ คิดว่ามันต้องอาศัยกระบวนการ ถ้าสมมุติเรามีกระบวนการอะไรสักอย่างทำหน้าที่เป็นส่วนกลาง ให้ครูคนอื่นๆ ได้เข้ามาเล่นกับเด็ก ได้นำไปใช้สอน มันน่าจะดีกว่าการยึดติด” ครูตุ๋มบอก

เท่าที่ผ่านมา ครูตุ๋มสังเกตเห็นว่า เพื่อนครูหลายคนดูสนใจกระบวนการที่ครูตุ๋มพยายามสร้างขึ้น เวลาพาเด็กไปเล่นกิจกรรมกลางแจ้ง ครูฝึกสอนหรือเพื่อนครูอื่นๆ ก็จะเข้ามาถามถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ ถือเป็นสัญญาณดีๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นภาพที่ครูฝันให้เกิดขึ้นจริงมาโดยตลอด

 “เราเป็นครูที่เคยสนุกอยู่คนเดียว พอเรามีของ เราก็อยากปล่อยของใส่เด็ก โดยที่ไม่รู้ว่าเด็กจะอ้วกไหม เด็กจะอยากรับไหม แต่วันนี้ผ่านไป 20 ปี ครูตุ๋มเปลี่ยนตัวเองจากจุดนั้น กลายเป็นครูที่พาเด็กมาสนุกด้วยกันได้แล้ว ครูท่านอื่นๆ ก็ต้องทำได้” ครูตุ๋มทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ภาพประกอบในบทความนี้ ถ่ายก่อนสถานการณ์ COVID-19

เรื่องอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ