ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู บทความ บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

หันหลังให้กับไม้เรียว ด้วยจิตวิทยาเชิงบวกในห้องเรียน

May 29, 2023 2 min

หันหลังให้กับไม้เรียว ด้วยจิตวิทยาเชิงบวกในห้องเรียน

Reading Time: 2 minutes

“ถ้าไม่ทำการบ้าน จะโดนตี”

“ถ้าไม่อ่านหนังสือ เธอจะสอบตก”

“ถ้าทำคะแนนไม่ดี เธอจะไปแข่งกับใครได้”

“ถ้าทำงานไม่เสร็จ ห้ามออกไปเล่นเด็ดขาด นั่งทำไปจนกว่าจะเสร็จ”

การเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศเหล่านี้ นอกจากไม่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกกับการเรียนหรือเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ซ้ำร้าย แนวทางเช่นนี้อาจให้ผลในทางตรงข้าม และลงเอยด้วยความกลัว ความกังวลของผู้เรียน จากการที่ชีวิตถูกฝึกว่าห้ามผิดพลาดตลอดเวลา เช่นนี้แล้ว ห้องเรียนจึงไม่ใช่สถานที่อันพึงปรารถนาอีกต่อไป

‘ห้องเรียนจิตวิทยาเชิงบวก’ โครงการบัวหลวงก่อการครู โดยการดูแลของ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ที่ปรึกษาภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ผศ.สุรวิทย์ อัสสพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเริ่มต้นขึ้น โดยการพาครู 29 คน จาก 8 โรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี ไปพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เชิงบวกในห้องเรียน 

สร้างจิตวิทยาเชิงบวกในห้องเรียน 

ภายใต้หลักสูตรการอบรมห้องเรียนจิตวิทยาเชิงบวก ได้สรุปหัวใจสำคัญในการสร้างจิตวิทยาเชิงบวกที่คุณครูสามารถนำไปใช้กับการเรียนการสอนได้ โดยมีหลัก 5 ประการด้วยกันคือ 

1. Positive Emotion (อารมณ์เชิงบวก) คือการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกทางบวก เช่น สนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ชวนคิด อยากรู้ อยากเปลี่ยนแปลง ชื่นชมตนเอง ชื่นชมผู้อื่น รู้สึกดีต่อตนเอง ภูมิใจตนเอง รู้สึกดีต่อผู้อื่น ผ่านกิจกรรมที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสนทนา ถกเถียง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำงาน เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหา รวมถึงเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกัน กิจกรรมเช่นนี้จะทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและภูมิใจในตนเอง เกิดความอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมถึงเห็นคุณค่าของผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

อารมณ์เชิงบวกสามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้ 3 ระดับ คือ 

  • ทบทวนอดีต โดยออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนระลึกถึงคนที่มีคุณค่า ให้ขอบคุณคนที่ทำดี ให้อภัยผู้ที่ทำผิดพลาด ให้อภัยตนเอง ชื่นชมตนเอง โดยให้ย้อนเวลากลับไปบอกตนเองในอดีต
  • ทบทวนปัจจุบัน โดยฝึกการระลึกถึงความคิดความรู้สึกตนเอง ผ่านการเชื่อมโยงไปยังอดีตและอนาคต 
  • คาดหวังในอนาคต คือการให้ผู้เรียนมองเห็นคุณค่าและความคาดหวังด้านบวกในอนาคต โดยการนำประสบการณ์ไปใช้หรือประยุกต์ใช้ในชีวิต

2. Engagement (การมีส่วนร่วม) คือการออกแบบกิจกรรมให้เกิดความสนุก การใช้กระบวนการกลุ่ม และการแบ่งกลุ่มที่เสมอภาค ฝึกให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่าง เน้นกระบวนการ (Process) มากกว่าผลงาน (Product) และสังเกตพฤติกรรมกลุ่มร่วมกับการสอนงานกลุ่ม (Group Coaching) มีการประเมินกลุ่มและสะท้อนความคิดเห็นกันสม่ำเสมอ ผู้สอนควรมีการสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ และการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง คอยส่งเสริมให้ผู้เรียนที่แตกต่างหลากหลายได้สร้างความสัมพันธ์ และรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้นี้ร่วมกัน

3. Relation (ความสัมพันธ์เชิงบวก) คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ผ่านการร่วมมือร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียว รับฟังกันอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เข้าใจความรู้สึกตนเองและผู้อื่น (Empathy) แบ่งปันความสุขและความทุกข์ (Sharing) สามารถเป็นผู้นำ ผู้ตาม (Leadership) สื่อสารกันในเชิงบวก (Positive Communication) ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันตามมา เมื่อรู้สึกดี ก็ส่งผลถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงาน รวมถึงเห็นคุณค่าของการทำงานกลุ่ม ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ช่วยเหลือส่งเสริมกัน สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนถึงการทำงานหรือการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม

ปฏิสัมพันธ์ (Relationship) ที่ดี จะเกิดขึ้นได้โดย

  • สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน ผ่านการออกแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมและการทำกิจกรรมกลุ่ม เพื่อฝึกทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ การทำงานร่วมกันเป็นทีม (Collaboration) การสื่อสาร (Communication) การเป็นผู้นำ (Leadership) 
  • สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน โดยครูควรเข้าไปรู้จักหรือสัมผัสผู้เรียนเป็นรายบุคคล มีทัศนคติด้านบวกต่อเด็กทุกคน จำชื่อและรายละเอียดส่วนตัวเด็ก รู้ความชอบ ความถนัด จุดเด่น ภูมิหลังครอบครัวและปัญหา ให้ความเสมอภาค ให้โอกาสเด็ก รับฟัง ไม่กดดัน ไม่ใช้อำนาจ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้อย่างอิสระ พร้อมกับการ ให้เด็กได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

4. Meaning (ความหมาย) โดยเริ่มต้นได้ตั้งแต่การให้ผู้เรียนลองตั้งเป้าหมายตัวเองก่อนว่าต้องการอะไร เพื่ออะไร ซึ่งการแบ่งปันเป้าหมายร่วมกันในกลุ่ม จะช่วยให้เกิดเป้าหมายร่วม (Shared Meaning/Shared Value) ของกิจกรรมนั้น และให้ทบทวนอีกครั้งด้วย Reflection เมื่อจบการเรียนรู้

การสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย มีคุณค่า ตอบคำถามเป้าหมายในชีวิต สิ่งนี้จะสัมพันธ์กับการเรียนรู้ในอดีต ช่วยให้ผู้เรียนเชื่อมโยงการเรียนรู้แบบเดิมและปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ เกิดการสร้างแรงจูงใจและวางเป้าหมายสัมพันธ์กับอนาคต 

5. Accomplishment (ความสำเร็จ) คือการทำให้ผู้เรียนรู้สึกถึง ‘การเรียนรู้’ ที่ทำให้เกิดความสำเร็จในชีวิต แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ได้ความรู้ ข้อคิด ได้ทักษะ ได้ทัศนคติใหม่ เกิดความอยากรู้ อยากเรียน อยากอ่าน อยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม 

ตัวครูผู้สอนควรช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่า ตนสามารถประสบความสำเร็จได้ ผ่านบททดสอบความท้าทายที่ไม่ยากจนเกินไป เมื่อผู้เรียนทำสำเร็จ ก็จะเกิดความภูมิใจในตนเอง จากนั้นผู้สอนสามารถเพิ่มความยากของกิจกรรมขึ้นเล็กน้อย เพียงพอให้เกิดการกระตุ้นความอยากลอง และต้องเหมาะสมกับความสามารถของเด็กแต่ละคน เช่น เด็กที่เก่ง ควรมีกิจกรรมท้าทายที่ยากกว่าเด็กปกติทั่วไป มิฉะนั้นจะเบื่อหน่ายและหมดความสนใจในกิจกรรมได้

ทั้งนี้ แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ช่วยให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจจากภายใน ซึ่งทำให้เด็กอยากเรียนรู้มากขึ้น แทนที่จะคิดว่าการเรียนเป็นสิ่งที่ต้องทำ หรือเป็น ‘หน้าที่’ อันแสนเบื่อหน่ายที่เสมือนสิ่งจำเจในชีวิตประจำวัน และยังช่วยให้เด็กเปลี่ยนความคิดได้ว่า การเรียนเป็นสิ่งที่สามารถผิดพลาดได้ แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไปตามจังหวะของตนเอง 

ชื่นชมตนเอง ชื่นชมผู้อื่น 

ตัวอย่างกิจกรรมใน ‘ห้องเรียนจิตวิทยาเชิงบวก’ สำหรับคุณครู เริ่มต้นโดยการจับคู่และพูดคุย เพื่อละลายความรู้สึกแปลกหน้าของผู้ร่วมกิจกรรม ผ่านการสนทนา แลกเปลี่ยนความหมายของชื่อและงานอดิเรกของแต่ละคน 

“ได้ยินมาว่าเขาชอบปลูกไม้ประดับ พอได้ฟังเราก็คิดถึงความสุขตาม”

“ตอนนี้ชอบดูซีรีส์ เพราะจะได้คุยกับเด็กได้รู้เรื่อง”

จากนั้นกระบวนกรจะโยนโจทย์ให้คุณครูจับกลุ่ม 4 คน เพื่อแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ ‘สิ่งที่รู้สึกว่าประสบความสำเร็จ’ ก่อนนำมาบอกเล่าแก่กันในวงใหญ่ โดยให้ครูบอกเล่าเรื่องราวของเพื่อนครูที่ตนได้รับฟังเมื่อสักครู่ 

“ความรู้สึกจากที่ได้ฟังคุณครูอีกท่านหนึ่งเล่ามาคือ ความภูมิใจจากการขายข้าวโพด 1 ไร่ ขายได้ 9,000”

“ประทับใจครูมิ้นท์ ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ งานเยอะมาก แต่น้องสามารถสอบวัดระดับภาษาจีนได้ 250 แต้ม จาก 300 แต้ม เก่งมาก ๆ เลยค่ะ”

กิจกรรมถัดมา ชื่อว่า ‘ภาพแทนห้องเรียน’ จะมีการแจกจ่ายกระดาษและสี เพื่อให้ครูสร้างสรรค์ผลงานในหัวข้อ ‘ช่วงเวลาที่ชอบในห้องเรียน’ ก่อนนำภาพของตนมาบอกเล่าในวง 

“ห้องเรียนที่มีนักเรียนแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฉดไหนก็ทำให้ห้องเรียนนั้นมีความสวยงามเสมอ”

“ห้องเรียนที่ดีคือ ห้องเรียนที่ความตื่นเต้น ตื่นตัวตลอดเวลา ที่โรงเรียนของเราจะมีต้นมะฮอกกานี หลังจากเรียนวิชาการแล้ว เราจะมานั่งทำกิจกรรมกันใต้ต้นมะฮอกกานี มันคือห้องเรียนที่มีความสุข ได้ดูเขาเติบโตไปเรื่อย ๆ ”

“สำหรับดิฉัน การที่ได้นั่งล้อมเป็นวงกลมกับเด็ก โดยมีคุณครูอยู่ด้วย ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีกว่าการนั่งเรียนแบบหน้ากระดานค่ะ”

เรื่องราวความสุขในห้องเรียนของแต่ละคน ถูกผลัดเปลี่ยนเวียนกันเล่าจนครบวง ก่อนท้ายที่สุด ข้อสรุปหนึ่งที่ทุกคนค้นพบในกิจกรรมนี้ คือความสุขในห้องเรียน สามารถร่วมกันสร้างได้ ผ่านการแสดงออกบนพื้นที่ปลอดภัย การออกแบบกิจกรรมและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน โดยทิ้งหัวโขนของการเป็นครูและกรอบของห้องเรียนแบบเดิมไปบ้างก็ได้ 

มากกว่านั้น การเรียนรู้ในจิตวิทยาเชิงบวก จะไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนด้วยการลงโทษผ่านคำพูดรุนแรงหรือไม้เรียว แต่ใช้การสื่อสารผ่านถ้อยคำเชิงบวก สร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่ปลอดภัย ด้วยความเชื่อว่า ห้องเรียนที่ปราศจากความหวาดกลัว คือจุดเริ่มต้นทางการเรียนรู้ของมนุษย์ทุกคน 

Array