ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู งานวิจัย งานวิจัยด้านการศึกษา ด้านการศึกษา บทความ / บทสัมภาษณ์ โรงเรียนปล่อยแสง

ก่อร่างสร้างนิเวศการเรียนรู้ บันทึกการทำงานพัฒนาโรงเรียนจากสายตานักวิจัย

Reading Time: 2 minutes คุยกับทีมวิจัยโครงการโรงเรียนปล่อยแสงผู้รับบทบาทเพื่อนร่วมทางบนถนนสายการเปลี่ยนแปลงของครู หลังจากเฝ้ามองโครงการมาตลอด 2 ปี นิเวศการเรียนรู้ที่พยายามสร้าง และความหวังของการศึกษานั้นมีหน้าตาอย่างไร Jun 11, 2023 2 min

ก่อร่างสร้างนิเวศการเรียนรู้ บันทึกการทำงานพัฒนาโรงเรียนจากสายตานักวิจัย

Reading Time: 2 minutes

2 ปีของ “โครงการโรงเรียนปล่อยแสง” คุณครูหลายคนได้เดินทางไปบนสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลง หลายคนได้เติมพลังไฟให้ลุกโชนจากใกล้มอดดับ หลายคนได้ฟื้นคืนความเป็นมนุษย์ พร้อมกับเรียนรู้ทักษะและเครื่องมือใหม่ๆ หลายคนได้ลงมือก่อการบางอย่างในห้องเรียนและเริ่มเห็นการผลิดอกออกผลของการเปลี่ยนแปลงนั้น 

คุณครูแต่ละคนจากหลายโรงเรียน ล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว ปล่อยแสงสว่างสดใสด้วยกันทั้งนั้น

วันนี้เราอยากชวนทุกท่านมารับฟังเรื่องราวเดิมในมุมมองใหม่ ที่เล่าผ่านสายตาของนักวิจัย ได้แก่ 

รศ. ดร. ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล (อาจารย์แต้ว), ผศ. ดร. ธิดา ทับพันธุ์ (อาจารย์ขวัญ),
ผศ. ดร. ลินดา เยห์ (อาจารย์หลิน) และผศ. ดร. ไอยเรศ บุญฤทธิ์ (อาจารย์ช้าง) 

สี่นักวิจัยผู้อยู่กับโครงการโรงเรียนปล่อยแสงมาตั้งแต่เริ่มแรก ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมดำเนินโครงการ และร่วมผลักดันให้เกิด “นิเวศการเรียนรู้”   

หากเรื่องราวในมุมของคุณครูคือการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อจะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนและการศึกษาให้ดีขึ้น แล้วโครงการโรงเรียนปล่อยแสงจากมุมของเหล่านักวิจัยล่ะเป็นแบบไหน

เริ่มต้นที่นิเวศการเรียนรู้

“โจทย์เริ่มต้นมาจากที่เรามองเห็นว่าโรงเรียนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แล้วชุมชนเองก็เริ่มจะไม่รู้จักโรงเรียนแล้ว” 

อาจารย์ช้างอธิบายปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาที่โรงเรียนกับชุมชน “รู้จักกัน” หรือ “ไม่รู้จักกัน” นั้นส่งผลกระทบต่อการนำวิชาความรู้ของผู้เรียนไปใช้ในชีวิต  ผู้เรียนจะสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง ชุมชน และสังคม ได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าวิชาความรู้ที่โรงเรียนถ่ายทอดนั้นสัมพันธ์กับโลกภายนอกห้องเรียนเพียงใดด้วย

โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงเริ่มต้นด้วยการพยายามนิยามการเรียนรู้ที่ไม่ได้มีแค่ครูกับนักเรียน แต่หมายรวมถึงผู้คนที่อยู่แวดล้อมนักเรียนและปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกันในมิติที่กว้างขึ้น เรียกว่า “นิเวศการเรียนรู้” 

“ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ผู้บริหาร ชุมชน ก็มีส่วนร่วมสร้างนิเวศการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เราทุกคนล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  การเรียนรู้ที่มีความหมายและการดูแลเด็กสักคนให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพจึงไม่ใช่แค่พ่อแม่ หรือแค่ครูคนเดียว นี่คือเรื่องของคนทั้งหมู่บ้าน คนทั้งเมือง ทั้งจังหวัด และทั้งประเทศ ที่จะร่วมกันเป็นระบบนิเวศที่ดี ช่วยกันดูแลเด็กของเราให้เติบโต” อาจารย์ขวัญขยายความสำคัญขององคาพยพในนิเวศการเรียนรู้

หากพ่อแม่และชุมชนผลักภาระการอบรมเลี้ยงดูเด็กๆ ไปที่โรงเรียนหรือครูฝ่ายเดียว การเรียนรู้ของเขาก็จะแยกขาดจากชุมชน ไม่สามารถประยุกต์หรือเชื่อมโยงความรู้กับโลกที่เป็นจริง

โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยแนวคิดการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ (School – based developmant) โดยขับเคลื่อนการศึกษาผ่านการทำงานร่วมกับ “ครู” เพื่อออกแบบการเรียนรู้ในสถานศึกษาของแต่ละโรงเรียนให้ห้องเรียนมีความสุขและมีความหมาย โดยไม่แยกขาดจากบริบทชุมชนและชีวิตจริง

อาจารย์ช้างบอกว่าทีมวิจัยเริ่มกันจากจุดเล็กๆ แต่สำคัญมากคือ 

“จะทำอย่างไรให้โรงเรียนกับชุมชนได้กลับมามีความสัมพันธ์กัน”

จากต้นทุนในพื้นที่ สู่เป้าหมายของโรงเรียน

งานในช่วงต้นของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงเป็นการลงพื้นที่จริง พูดคุยกับทุกคนในนิเวศโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเป็นผู้วางแผนนโยบาย คุณครูที่เป็นผู้ปฏิบัติ พูดคุยกับเด็กๆ นักเรียนว่าต้องการการเรียนรู้แบบไหน พูดคุยกับผู้ปกครองและผู้นำชุมชนว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการทำงานของโรงเรียนในรูปแบบใด 

การพูดคุยกันอย่างเรียบง่ายนี่เอง ที่ช่วยให้นักวิจัยได้เข้าใจระบบนิเวศของโรงเรียนแต่ละแห่งมากขึ้น มองเห็นสายใยความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ และนำไปสู่การมองเห็นต้นทุนที่โรงเรียนนำมาต่อยอดได้

“เริ่มต้นเราต้องชวนเขามาทำความเข้าใจก่อนว่าโรงเรียนเขาเองมีทุนอะไร อาจอยู่ในรูปของบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องมือ หรือแม้แต่ระบบต่างๆ ในโรงเรียน แล้วเราก็จะลองชวนเขาคิดต่อให้กว้างออกไปอีก ว่าทุนอย่างอื่นที่มีอยู่แวดล้อม ที่อยู่นอกเหนือจากตัวเขา มีอะไรอีกบ้าง” อาจารย์หลินเล่าถึงกระบวนการตอนเริ่มต้น

การย้อนมองทบทวนต้นทุนที่โรงเรียนมีอยู่นั้นเปรียบเสมือนการชวนโรงเรียนเริ่มต้นนับหนึ่ง ซึ่งในการทำงานกับนิเวศการเรียนรู้และค้นหาขุมทรัพย์ (ทรัพยากร) ที่รายล้อมโรงเรียน  หนึ่งบวกหนึ่งนั้นให้ผลลัพธ์มากกว่าสอง

อาจารย์หลินยกตัวอย่างการลงพื้นที่ทำงานกับโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ จังหวัดสงขลา หลังจากได้ทบทวนต้นทุนเดิมของตนเองแล้ว นักวิจัยได้ชวนทั้งโรงเรียนและชุมชนมาตั้งวงสนทนากัน มีตัวแทนจากโรงเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง สมาชิกกรรมการสถานศึกษา รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายของโรงเรียน  

ทุกฝ่ายได้มาแบ่งปันกันว่าต้นทุนเดิมของตนเองมีอะไรบ้าง รวมกันแล้วพื้นที่นี้ นิเวศนี้มีต้นทุนแบบไหน ชุมชนของพวกเขาเข้มแข็งในเรื่องใด  และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนกันว่า โรงเรียนต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนจากชุมชนในเรื่องไหน แล้วมีใครในวงสนทนานี้บ้างที่ยินดีจะช่วยสนับสนุนเรื่องนั้นๆ 

พลังงานที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ แตกต่างกันไปตามพื้นฐานของแต่ละโรงเรียน  

  

หากโรงเรียนกับส่วนอื่นในนิเวศมีความสัมพันธ์กันมาบ้างแล้ว เช่น บุคลากรของโรงเรียนกับคนในชุมชนสนิทสนมไว้เนื้อเชื่อใจกัน บทสนทนาแลกเปลี่ยนเพื่อร่วมกันสร้างนิเวศการเรียนรู้ก็จะราบรื่น และใช้เวลาไม่นาน  ขณะที่โรงเรียนซึ่งยังไม่เคยผูกสัมพันธ์กับเครือข่ายหรือชุมชนโดยรอบ นักวิจัยก็ต้องทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป

งานอีกส่วนหนึ่ง คือการค้นหาความต้องการเฉพาะของโรงเรียน เพื่อหาทางช่วยสานฝันของโรงเรียนให้เป็นจริง

“เราให้ครูในโรงเรียนมาคุยกันว่าอยากเห็นโรงเรียนเป็นอย่างไร ตอนนี้โรงเรียนมีอะไรอยู่ แล้วพวกเขาอยากเห็นโรงเรียนพัฒนาไปในทิศทางไหน นักวิจัยก็จะเอาข้อมูลทั้งสองส่วนมาประมวลดูว่าโรงเรียนมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ถ้าจะช่วยให้เขาเข้าใกล้ภาพโรงเรียนในฝันนั้นได้อีกสักนิด จะช่วยเติมตรงส่วนไหนให้ได้บ้าง โดยออกแบบเป็นกิจกรรมใหม่ที่ทำขึ้นเฉพาะสำหรับโรงเรียนนั้นๆ” อาจารย์แต้วอธิบายถึงบทบาทของนักวิจัยในโครงการปล่อยแสง

 

ความต้องการเฉพาะของโรงเรียนที่เหล่านั้นวิจัยได้พบเจอนั้นแตกต่างกันไป เช่น บางโรงเรียนมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนโดยรอบ จึงสนใจด้านการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน บางโรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีทั้งครูหน้าใหม่หน้าเก่า จึงสนใจด้านการพัฒนาการทำงานร่วมกันแบบเป็นทีม บางโรงเรียนกำลังเผชิญปัญหาครูลาออก ก็มาสนใจที่เรื่องการเสริมพลังใจแก่เพื่อนครู

โจทย์แต่ละอย่างเกิดจากเงื่อนไข ปัจจัย สภาพแวดล้อมเฉพาะในแต่ละโรงเรียน ซึ่งมองอีกมุมหนึ่ง ก็เปรียบเสมือนห้องเรียนทดลอง (experimental area) ให้คุณครูได้เรียนรู้ และนำไปพัฒนาห้องเรียนในแบบฉบับของตนเอง 

เธอยังเล่าย้อนถึงความเป็นมาของโรงเรียนปล่อยแสงที่มาช่วยตอบโจทย์จากข้อจำกัดของโครงการก่อการครู ซึ่งเปิดรับคุณครูจากหลากพื้นที่ หลายโรงเรียน มาเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นหลักสูตรกลางร่วมกัน  

“ครูจากแต่ละโรงเรียนที่มาเข้าร่วมมีความต้องการ บริบทปัญหาหน้างาน ต้นทุนของพื้นที่และองค์ประกอบในนิเวศที่แตกต่างกัน เป็นรายละเอียดเฉพาะที่หลักสูตรกลางของโครงการก่อการครูอาจยังเอื้อมไปไม่ถึง  ในโครงการโรงเรียนปล่อยแสงก็เลยเกิดงานใหม่ให้นักวิจัยเข้าไปทำงานกับโจทย์เฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละโรงเรียน  ชื่อตำแหน่งอาจเป็นนักวิจัย แต่งานจริงๆ เหมือนเป็นเพื่อนร่วมทางในการทำงานเชิงพื้นที่กับคุณครูมากกว่า”

ความหวังที่จะปล่อยแสงกว้าง อย่างยั่งยืน

ตลอด 2 ปีที่โครงการโรงเรียนปล่อยแสงได้ดำเนินมา คุณครูจากแต่ละโรงเรียนได้เดินทางผ่านโมดูลการเรียนรู้ทั้งสี่ มีการจัดกิจกรรมเฉพาะที่ต่างกันไปตามต้นทุนและเป้าหมายที่แต่ละโรงเรียนอยากไปให้ถึง ระหว่างทางคุณครูหลายท่านได้ค้นพบศักยภาพใหม่และคุณภาพใหม่ในตัวเอง 

ตลอดการเดินทางนั้น เหล่านักวิจัยในฐานะเพื่อนร่วมทางของคุณครู ก็มีข้อค้นพบ มีสิ่งที่ได้เรียนรู้ และยังมองเห็นความหวังเล็กๆ ดวงใหม่ ส่องสว่างขึ้นในใจเช่นเดียวกัน 

“สิ่งที่ทีมเราประทับใจมาก คือเราพบว่าหลายครั้ง สิ่งที่คุณครูบางคนทำอยู่แล้วเป็นปรกติในห้องเรียนทุกวัน เป็นสิ่งที่ดีมาก  คุณครูของเราไม่ได้แย่เลย แต่บางครั้งเขาแค่ไม่รู้ หรือขาดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเป็น สิ่งที่ตัวเองมี  เขามองไม่เห็นว่าตัวตนเดิมของเขาเป็นต้นทุนที่มีศักยภาพจะต่อยอดได้  สิ่งที่เราทำคือแค่ไปชวนเขาคิด ไปสะกิดนิดเดียว ปรับเสริมบางเรื่องเข้าไป ครูเขาก็พรั่งพรู เกิดไอเดียการสอนใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย” อาจารย์แต้วเล่าอย่างมีความสุข 

ส่วนอาจารย์ช้างสะท้อนถึงเรื่องราวตรงกันข้าม เมื่อบางโรงเรียนที่เข้ามาร่วม แต่ถึงจุดหนึ่งต้องขอหยุดพักโครงการไว้กลางทาง ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาที่คุณครูแบกภาระงาน ทำเอกสารสำหรับตอบการประเมินและตัวชี้วัดต่างๆ ตามหลักสูตรและกระทรวง ซึ่งโครงการก็อาจยังตอบโจทย์ความต้องการนี้ให้คุณครูได้ไม่ดีพอ  

การหาจุดสมดุลระหว่างการสร้างนิเวศการเรียนรู้กับการตอบตัวชี้วัดในระบบการศึกษา จะเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนากระบวนการของทีมวิจัยต่อไป เพื่อให้เส้นทางของทีมวิจัยและโรงเรียนมีความต่อเนื่องและยั่งยืน

นักวิจัยทั้งสี่ท่านพูดแบบเดียวกันว่ามีหลายครั้งหลายหนที่คุณครูต้องพบกับเงื่อนไขที่ยาก เจอกับภาระงานที่หนัก จนอาจจะไม่สามารถดำเนินแนวทางการสอนแบบใหม่ที่ครูรู้แน่ชัดว่าดีกับผู้เรียน  ขณะที่นักวิจัยก็ไม่อาจอยู่ช่วยสนับสนุนคุณครูในโรงเรียนได้ตลอดเวลาและตลอดไป  

หนึ่งในความฝันของทีมวิจัยที่อยากเห็น จึงเป็นการช่วยให้มีคุณครูสักคนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปลงลึกถึงวิธีคิด คอยเป็นไฟดวงเล็กปล่อยแสงนำทางให้คนอื่นๆ ต่อ แม้ในวันที่นักวิจัยต้องถอนตัวออกมา

หากว่าคุณครูคนหนึ่ง โรงเรียนหนึ่ง ทำสำเร็จ เรื่องราวดีๆ นั้นก็จะไม่หยุดอยู่แค่พื้นที่นั้น  มันจะกระจาย เผยแพร่ แบ่งปันสู่โรงเรียนรอบข้าง  อาจเริ่มต้นจากโรงเรียนในหมู่บ้านเดียวกัน ตำบลเดียวกัน ขยายออกไปถึงโรงเรียนในเมือง จังหวัด ภูมิภาค เกิดเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งในเชิงวิธีการและวิธีคิด 

นั่นคือความหวังของการศึกษาที่เหล่านักวิจัยเชื่อมั่นและฝันถึง

Array