การศึกษาไทยไม่ไร้ความหวัง
Reading Time: 2 minutesจะดีแค่ไหนหากเมื่อเราหมดไฟแล้วยังมี “พื้นที่” เยียวยาเติมพลัง มีผองเพื่อนผู้ประสบชะตากรรมเดียวกันคอยหนุนเสริมเพิ่มกำลังใจ มีชุมชนที่ช่วยให้เราเริ่มต้นและร่วมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ร่วมกัน
โครงการโรงเรียนปล่อยแสงกำลังทำหน้าที่เป็นพื้นที่นั้น ให้กับครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และโรงเรียนหลากหลาย เพื่อร่วมกันสร้างภาพฝันของระบบการศึกษาที่ดีให้กลายเป็นจริง
บนถนนสู่การเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไปอย่างช้าๆ ขอชวนทุกคนมาอ่านมุมมองและความหวังของทีมบริหารโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนระบบนิเวศของโรงเรียนและระบบการศึกษาไปพร้อมกัน
“ระบบนิเวศที่มีความสุขและมีความหมายสำหรับทุกคน”
รศ.ดร. อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมบริหารโครงการโรงเรียนปล่อยแสง เล่าถึงสถานการณ์ที่พบในระบบการศึกษาปัจจุบันว่าสร้างความทุกข์ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้อำนวยการ ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา ฯลฯ
หมุดหมายหลักของโครงการฯ จึงมุ่งสู่การสร้างนิเวศการเรียนรู้ใหม่โดยให้ความสำคัญกับความสุขและสร้างความหมายแก่ทุกคนในระบบ
“เราคิดว่าระบบนิเวศที่ดีต้องเป็นระบบที่มีความสุขและมีความหมายสำหรับทุกคน โครงการโรงเรียนปล่อยแสงตั้งใจจะพัฒนาและฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีในระบบโรงเรียน ทำให้กระบวนการจัดการเรียนการสอน การดูแลผู้เรียนให้มีพัฒนาการและเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข มีความหมายและคุณค่า
“เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่สำคัญคือการเข้าไปร่วมกับโรงเรียน เพื่อพัฒนาสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้ระดับโรงเรียน’ ซึ่งมีองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งผู้บริหาร คุณครู หลักสูตร บรรยากาศในสถานศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง และที่สำคัญคือผู้เรียน
“และท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครองต้องจับมือหรือร่วมมือกัน แล้วสร้างระบบนิเวศไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าโรงเรียนบอกกับเด็กอย่างหนึ่ง ที่บ้านบอกอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นโรงเรียนกับชุมชนหรือผู้ปกครองต้องเชื่อมประสานกันทางความคิด
“นี่ประเด็นที่ยาก และในระยะยาวเราจะพยายามทำงานขยับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ทำอย่างไรให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีความเห็นอกเห็นใจโรงเรียนและครู และครูกับโรงเรียนก็เห็นอกเห็นใจผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กด้วยความยากลำบากและสลับซับซ้อนมากขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาระบบความสัมพันธ์นี้ เพราะระบบที่เป็นอยู่พลัดพรากคนออกจากกัน คล้ายเครื่องที่ส่วนประกอบหลุดออกเป็นชิ้นๆ เราต้องทำให้ทุกส่วนกลับเข้าสู่องคาพยพเดียวกันให้ได้”
“เมื่อผู้บริหารหนึ่งคนคลิกไอเดียแล้วขยับ จะสามารถขยับทั้งโรงเรียนได้จริงๆ”
อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการ
โรงเรียนปล่อยแสง เล่าถึงพลังการเปลี่ยนแปลงเมื่อผู้บริหารโรงเรียนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนระบบนิเวศที่มีความสุขและเปี่ยมความหมาย ว่าเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไปในระยะยาว
“ผู้บริหารเป็นปัจจัยสำคัญมาก ถ้าเขาเปิดใจรับฟัง เข้าใจ ก็เป็นเหมือนกำลังที่จะกล้าบุกเบิกและสนับสนุนให้ครูได้เปลี่ยนด้วย เช่น โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง ปราจีนบุรี เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูอยู่ประมาณ 20 กว่าคน ผู้บริหารรู้สึกกับเรื่องนี้มาก เขาเคยเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ก่อการครู แล้วก็พยายามกลับไปขับเคลื่อนในโรงเรียน สนับสนุนให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้กับโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ศรีรักษ์เป็นโรงเรียนหนึ่งที่มีพลังไปต่อได้ไกล เพราะทุกคนในโรงเรียนพร้อมใจกันไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
อาจารย์อธิษฐานย้ำว่า ผู้อำนวยการคือพลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แค่เขาขยับนิดเดียวก็สามารถขยับทั้งโรงเรียนได้จริง
“อยากให้ผู้อำนวยการกลับมาวางใจในศักยภาพของครูในโรงเรียนของตัวเอง รวมถึงวางใจในศักยภาพของตนเองว่าจริง ๆ เราทุกคนมีศักยภาพที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
“คนหนึ่งคนสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และตัวเราคือหนึ่งคนที่สำคัญต่อระบบทั้งหมดด้วยเช่นกัน”
“ถ้าเราไม่ปรับ โลกจะปรับเราเอง”
ผศ.ดร. อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และทีมบริหารโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ฉายภาพการมาถึงของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหยุดยั้ง สิ่งที่ดีที่สุดคือการเปิดใจฟังความต้องการที่เป็นไปตามกาลเวลาและเปิดโอกาสให้ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้ขับเคลื่อนระบบไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม
“เราต้องปรับตัวในแง่ของการรับฟังคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น ฟังเสียงความต้องการ ฟังเสียงความทุกข์ของเขาให้มากขึ้น เราต้องทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้นในฐานะคนทำงานในระบบการศึกษา
“ถึงที่สุดแล้วการเป็นครูคือการส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้น
ถ้าเครื่องไม้เครื่องมือหรือวิธีการแบบเดิมที่เราใช้ไม่ได้ผลแล้ว หมายความว่าเราเองก็ต้องปรับตัว ไม่ใช่เรียกร้องให้ผู้เรียนปรับเข้าหาเราอย่างเดียว เพราะว่าโลกกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า เราเองก็ต้องเคลื่อนไปข้างหน้าเช่นกัน
“สิ่งที่โครงการโรงเรียนปล่อยแสง ก่อการครู หรือโครงการอื่น ๆ กำลังทำ เราพยายามสร้างให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ถ้าเราเริ่มต้นกลับมาที่หลักการว่าเรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสังคมด้วย
“ไม่ใช่แค่เฉพาะโครงการของเรา ยังมีอีกหลายโครงการทั่วประเทศที่พยายามจะสร้างการเปลี่ยนแปลง เราต้องการจุดเล็ก ๆ อย่างนี้ทั่วประเทศ ที่จะค่อย ๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนที่กำลังจะหมดไฟในระบบได้เห็นถึงความเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าเราจะขยายโครงการลักษณะนี้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทั่วประเทศได้อย่างไร
“ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเราไม่ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ไม่สามารถจะเห็นอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มต้นลงมือ ชักชวนคนที่มีอุดมการณ์ คนที่มีความคิดความเชื่อ คนที่มองเห็นคุณค่าต่างๆ ร่วมกันมาช่วยกัน ก็จะกลายเป็นพลังมหาศาลที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง”
“ทุกธุรกิจขับเคลื่อนด้วยคน การพัฒนาเยาวชนให้มีความพร้อมในการเรียนรู้จึงสำคัญมาก”
สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP ผู้สนับสนุนหลักของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือกันขับเคลื่อนระบบการศึกษาโดยเฉพาะภาคเอกชน เพราะทรัพยากรคนที่ขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมให้เดินหน้าอย่างมีคุณภาพ ล้วนมาจากระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ
“ในภาคเอกชนเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือเรียกว่าสมรภูมิข้างหน้าเยอะที่สุด เพราะเราปะทะกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน เรารู้ว่าต้องการทรัพยากรประมาณไหนเพื่อให้เดินต่อไปได้ ทรัพยากรบุคคลหรือคนที่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาผลิตออกมา เป็นทรัพยากรที่สำคัญซึ่งภาคเอกชนเห็นว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราด้วย มีหลายองค์กรเข้ามาช่วยกันเยอะมาก ไม่ใช่ TCP บริษัทเดียว
“การช่วยเหลือไม่มีสูตรตายตัว ตราบใดที่ภาคเอกชนมีความมุ่งมั่นจะช่วยเรื่องการศึกษาก็คงต้องเริ่มไปคุยกับสถาบันการศึกษาที่ตัวเองใกล้ชิดว่ามีอะไรสามารถช่วยกันได้บ้าง
“ขอส่งกำลังใจคุณครู ผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงคุณพ่อคุณแม่และผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการศึกษาทั้งหมด ไม่อยากให้ท้อถอย วันนี้เรารู้สึกว่ามีแต่เสียงวิจารณ์ว่าการศึกษาไทยใช้ไม่ได้และแก้ไม่ได้ ถ้าเราคิดอย่างนี้ปัญหาจะอยู่กับที่ ขอให้เราเชื่อมั่นในพลังของตัวเองว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่มีทางออกเสมอ และไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกโดดเดี่ยวว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่มีใครเห็น ตอนนี้ TCP เป็นหนึ่งในคนที่เห็นความลำบากของทุกท่าน และมีองค์กรเอกชนอีกมากทั้งเล็กและใหญ่ที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้แล้วก็พร้อมเข้ามาช่วย
“ถ้าเราเชื่อมั่นในตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่เราทำมีมูลค่ามหาศาลกับประเทศชาติและกับอนาคตของเด็กทุกคน เราควรจะต้องเริ่มต้นด้วยความภูมิใจในสิ่งที่เราทำ มั่นใจ มองซ้ายมองขวาหาพาร์ทเนอร์หาเพื่อนฝูง แล้วเราก็จะฝ่าฝันปัญหานี้ไปด้วยกัน”
แสงความหวังต่อระบบการศึกษาจะยังคงฉายสู่โรงเรียนต่างๆ ตราบใดที่เราทุกคนยังไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้ใหม่และลงมือทำ เพื่อขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยให้เดินทางไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม