ผอ.ศรีสมร สนทา: ต่อรองมากกว่าศิโรราบ เพื่อรักษาหัวใจครูในโรงเรียน

“ถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนชอบวิชาการ ครูก็จะแข่งขันกันทำงานวิชาการ ถ้า ผอ. ชอบงานเลี้ยง ครูก็วุ่นวายกับการจัดอาหาร ถ้า ผอ. อยากให้บรรยากาศโรงเรียนดี ผอ. ก็ต้องทำเป็นแบบอย่าง เพราะเราให้คุณให้โทษครูได้ ให้พลังก็ได้ หรือบั่นทอนก็ได้”

ผอ.ศรีสมร สนทา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมา 21 ปีแล้ว 

เป็นที่รู้กันว่า คุณครูในโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน จังหวัดอุดรธานี มักเรียกเธอติดปากว่า ‘คุณยายหมอน’ ด้วยเพราะนิสัยใจคอที่เป็นกันเอง และการบริหารโรงเรียนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เธอไม่ชอบคำสั่ง เธอไม่อยากทำให้คุณครูต้องหวาดกลัว วิธีที่ ผอ.ศรีสมร เลือกใช้ในการตัดสินใจทิศทางการทำงานของโรงเรียน จึงมักประกอบด้วยความคิดเห็นและไอเดียของคุณครูร่วมด้วยเสมอ 

เพราะเธออยากสร้างการศึกษาที่ดีให้นักเรียน เธอจึงต้องสร้างบรรยากาศที่ดีให้คนทำงานเช่น ‘คุณครู’ 

“การศึกษาที่ดีในมุมมองของผู้บริหารอย่างเรา คือการศึกษาที่หลากหลายตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ และตอบสนองความต้องการของคนหลายกลุ่ม ไม่ใช่ว่า ต้องเหมือนกันทั้งประเทศ 

“เช่นว่าในพื้นถิ่นของเรามีอะไรที่น่าเรียนรู้ มีคุณค่ามากๆ แต่ส่วนกลางไม่รู้ และหลักสูตรไม่เปิดเวลาให้เราได้ทำ เพราะหลักสูตรถูกออกแบบลงมาครอบทั้งหมด กำหนดลงมาว่าต้องเรียนอะไร ต้องเรียนเท่าไหร่ แล้วให้เวลาเราได้จัดการเรียนรู้ท้องถิ่นเพียงสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงเท่านั้นเอง”

โรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน จึงออกแบบหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิชาและภูมิปัญญาในชุมชน ผ่านปราชญ์ชาวบ้านและครูภูมิปัญญาผู้เชี่ยวชาญวิชาทำมาหากินและศิลปะพื้นบ้านหลายแขนง ไม่ว่าจะทอผ้า ดนตรีพื้นเมือง กระทั่งวิชาชีวิต 

นั่นเพราะความฝันของครูหมอน คือการได้เห็นการศึกษาที่ไม่ผลักเด็กออกไปจากชุมชน และการศึกษาที่เป็นของคนทุกกลุ่ม ทุกชาติพันธุ์​ ทุกหมู่บ้าน อย่างแท้จริง 

‘ก่อการครู’ ชวนครูศรีสมรมาเล่าถึงกระบวนการทำงานในฐานะ ‘ผู้อำนวยการโรงเรียน’ หนึ่งในตัวแปรสำคัญของการสร้างการศึกษา ไปจนถึงโครงสร้างของระบบที่ ผอ.ศรีสมรมองว่า ‘ไม่มีที่ยืนให้คนเก่ง’ 

คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด

ในระบบการศึกษาของประเทศไทยที่นโยบายถูกส่งมาเป็นทอดๆ จากบนสู่ล่าง จากผู้บังคับบัญชาสู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ปัญหาเชิงประจักษ์หนึ่งที่ ผอ.ศรีสมรตั้งข้อสังเกต คือความไม่ต่อเนื่องของนโยบายการศึกษา ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตามแต่ผู้มีอำนาจในช่วงเวลานั้นๆ 

“เราพบว่า ผู้มีอำนาจในระบบการศึกษาไม่ได้เข้าใจปัญหาของการศึกษาจริงๆ เขาเห็นภาพที่สวยงาม แต่ไม่รู้ว่า คนทำงานต้องเจอกับอะไรบ้าง พอความต้องการที่ไม่รู้ปัญหาจริงๆ ถูกประกาศเป็นนโยบาย ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ ‘เหมาะสมครับพี่ ดีครับผม ดีครับท่าน’ พอนโยบายของรัฐมนตรีคนก่อนเพิ่งประกาศได้สองเดือน ยังไม่ทันได้ทำเลย เปลี่ยนใหม่อีกแล้ว มันก็เลยไม่เกิดความต่อเนื่องของโครงการอะไรต่างๆ”

แต่เมื่อเป็นนโยบาย ผู้อำนวยการและ ‘คุณครู’ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปฏิบัติตาม แม้โครงการต่างๆ ที่ถูกส่งลงมาจากส่วนกลางจะเบียดเบียนเวลาเรียนของเด็กและเวลาสอนของครูไปไม่น้อยเลย

“ความที่เรามีประสบการณ์พอสมควร อายุเยอะแล้วด้วย เราพยายามหลายอย่างมาก นโยบายอะไรที่เขาส่งลงมา เราพยายามสะท้อนให้ผู้บังคับบัญชารับทราบว่า สิ่งนี้บางทีมันซ้ำซ้อน มันเยอะมากไปนะ เราขอทำตามบริบทของเราได้ไหม เช่น โครงการประกวดโรงเรียนนู่นนี่นั่น ซึ่งก็เป็นที่หมายปองของเขตต่างๆ ที่อยากจะได้รางวัล  แต่ในมุมมองของเรามองว่า เหล่านี้มันไม่ได้ประโยชน์กับเด็กนักเรียน เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือตัวผู้บริหาร”

เธอเลือกต่อรองมากกว่ายอมศิโรราบ พร้อมๆ กับรักษาหัวใจของครูผู้น้อยในโรงเรียนให้ไม่หนักอึ้งเกินไปนัก การประชุมทุกๆ ครั้งของโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน ผอ.ศรีสมร จึงเลือกชวนคุยมากกว่าสั่งการ เพื่อให้คุณครูได้ออกแบบวิธีการทำงานและแสดงความต้องการได้อย่างเต็มที่ 

“เราจะไม่ออกคำสั่ง แต่จะเอาประเด็นต่างๆ มาคุยกับครู แล้วชวนคุยว่า อยากทำไหม ครู​และเด็กนักเรียนจะได้ประโยชน์อะไรไหม แล้วถ้าจะทำ เราจะใช้เวลาส่วนไหนมาทำกันบ้าง บางทีคณะครูมองว่า โครงการนี้มีประโยชน์กับเด็ก อยากทำ เราก็จะชวนคุยต่อว่า ‘ถ้าจะทำ จะทำยังไง ใครอยากช่วยทำส่วนไหน’ มาคุยกัน มาวางแผนกันตลอด เราไม่ชอบการสั่งการนอกเหนือจากว่า เรื่องนั้นๆ มันกระชั้นชิดและต้องดำเนินการเร่งด่วนจริงๆ แต่ส่วนมากเราจะให้ครูมาระดมไอเดียกัน สะท้อนกันก่อนจะดำเนินการใดๆ 

“เราไม่อยากขึ้นชื่อว่าเป็นผู้อำนวยการที่ไปรับโครงการนู่นนี่มาโดยไม่ถามครูสักคำ งานเขาเยอะอยู่แล้ว”

บรรยากาศที่ดีเริ่มต้นที่ผู้อำนวยการ

บรรยากาศในโรงเรียนจะเป็นเช่นไร หนึ่งในตัวแปรสำคัญ เธอมองว่า คือผู้อำนวยการโรงเรียน 

“เพราะว่าเราเป็นผู้อำนวยการ เป็นคนตัดสินใจสูงสุด งบประมาณที่ลงมาโรงเรียน สุดท้ายเราเป็นคนตัดสินใจอนุมัติให้ทำอะไร เพราะฉะนั้น ผอ. จึงสำคัญมากในการสร้างบรรยากาศที่ดี” 

ถ้าผู้อำนวยการชอบวิชาการ ครูจะแข่งขันกันทำงานวิชาการ
ถ้าผู้อำนวยการอยากให้กีฬาเด่น ครูจะเน้นไปที่กิจกรรมกีฬา
ถ้าผู้อำนวยการชอบจัดงานเลี้ยง ครูก็จะวิ่งวุ่นกับการเสิร์ฟอาหาร 

“ผอ. มีผลมาก คุณอยากให้สังคมโรงเรียนเป็นแบบไหน คุณต้องเป็นแบบนั้น ส่งเสริมตรงนั้น ผอ. คือคนที่ให้คุณให้โทษครูได้ ให้กำลังใจก็ได้ บั่นทอนก็ได้ ถ้าเราอยากให้โรงเรียนมีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ผอ. ก็ต้องสร้างบรรยากาศนั้น”

ตลอด 30 ปีของการเป็นครู และอีก 21 ปีของการเป็นผู้อำนวยการ เธอเข้าร่วมการอบรมนับครั้งไม่ถ้วน ทว่าในช่วงวัยใกล้เกษียณ ผอ.ศรีสมร เข้าร่วม ‘ก่อการครูใหญ่’ ด้วยความคาดหวังที่ว่า เธอจะได้บางสิ่งกลับไปทำประโยชน์กับโรงเรียนอีกครั้งในช่วงท้ายของชีวิตการทำงาน

“สิ่งแรกคือ เราได้กำลังใจ เราได้เจอว่า คนที่ทำบ้าๆ แบบเรา คิดบ้าๆ แบบเรา มันมีไม่น้อย คนที่ทำงานโดยการไม่ได้หวังผลตอบเเทนเป็นความดีความชอบ ก็ยังมีอยู่ เราก็แปลกใจนะว่าเข้ามาก่อการครูไม่กี่ครั้ง ทำไมเรารู้สึกไว้ใจ อบอุ่นใจ เรามีเพื่อน มีกำลังใจที่จะทำอะไรมากมาย เราไม่โดดเดี่ยว มีคนที่พร้อมซัพพอร์ตเรา 

“สอง เมื่อก่อนเราจะเป็นคนที่ ‘ผอ.ศรีสมร ต้องเป๊ะ’ เวลามีงานอะไรเราจะละเอียดมาก ต้องเรียบร้อยตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ แต่ตอนนี้ อะไรที่มันไม่ได้จริง ‘เอ้อ ช่างมันเถอะ นี่คือเรื่องธรรมชาติ’ เราได้ผ่อนคลาย ได้ยอมรับธรรมชาติของมนุษย์ที่ผิดพลาดได้ ครูก็ผิดได้ ครูคือมนุษย์คนหนึ่ง” 

This image has an empty alt attribute; its file name is bbl-supported.png

โครงการก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ก่อการครู ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ

เรื่องอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ