'ปฐมบท' ใต้พรมแห่งความดีงาม : สำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย
Reading Time: < 1 minuteเมื่อเราต้องกล้าที่จะ ‘ยอมรับความจริง’
‘ปฏิรูปการศึกษา’ วาทกรรมคุ้นหูที่วนเวียนหลอกหลอนเราและผู้คนที่เกี่ยวข้องในสังคมไทยมาเนิ่นนานหลายทศวรรษ ปรากฏการณ์ความล้มเหลวทางการศึกษาปรากฏชัดให้เราเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนบนหน้าข่าวของสื่อทุกสำนักแทบจะทุกวัน โลกกำลังเปลี่ยนแปลงบนหนทางการวิวัฒน์ไปข้างหน้า ขานไปกับเส้นเวลาที่ไม่อาจถอยหลังกลับ แต่เพราะเหตุใดการศึกษาไทยกลับก้าวถอยหลังสวนทางกับนานาประเทศในสังคมโลก ปรากฏการณ์การศึกษาคือภาพสะท้อนสภาพสังคมไทยในปัจจุบันได้อย่างชัดเจนจนไม่อาจปฏิเสธ การศึกษาเป็นเช่นใดก็สร้างสังคมเช่นนั้น หรือเพราะสภาพสังคมเป็นเช่นใดก็จะสร้างการศึกษาเช่นนั้น
ปฏิสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งสอดคล้องบรรสานกันอย่างแนบแน่นดุจคำถามโลกแตก ‘ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน’ นโยบายการศึกษารายวันถูกผลิตขึ้นจากผู้กำหนดนโยบายที่หวังว่าการสร้างนโยบายเหล่านั้นจะเป็น ‘วัคซีน’ ที่ช่วยแก้ปัญหาโรคระบาด โดยที่ไม่เคยคำนึงว่า เรายังไม่เคยวินิจฉัยโรคอย่างถึงแก่น เพียงแค่นำเข้าเทคโนโลยีที่อาจใช้ได้ผลในประเทศอื่น ๆ โดยไม่ศึกษาบริบทของปัญหาและสภาพแวดล้อมอันเป็นลักษณะเฉพาะที่อาจมีวิธีการแก้ไขที่ตรงจุดได้มากกว่า แต่เราจะแก้ปัญหาใด ๆ ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องกล้าที่จะ ‘ยอมรับความจริง’
การกลับมาตั้งคำถามกับรากลึกของวิธีคิดของผู้คน ชุดคุณค่าอุดมการณ์ที่ฝังรากลึกผ่านการปลูกฝังระบบวิธีคิด ผ่านวัฒนธรรมจนกลายเป็นกรอบคิดในการกำหนดพฤติกรรม การกระทำ ความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคมไทยเปรียบเสมือนสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขานำ้แข็ง จึงเป็นฐานรากที่สุดของปัญหาการศึกษาที่ปรากฏเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาให้เราเป็นเป็นรูปธรรมทุกเมื่อเชื่อวัน
พฤหัส พหลกุลบุตร
เมื่อเราต้องสำรวจ ‘ความดีงาม’
เวลากล่าวถึงคำว่า ‘การศึกษา’ แน่นอนว่า ผู้คนอาจให้นิยาม ความหมาย และความสำคัญที่แตกต่างกันไป แต่หนึ่งในบรรดาองค์ประกอบที่ผู้คนมักจะเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการศึกษา ก็คือ การศึกษาน่าจะทำหน้าที่สร้างสรรค์และบ่มเพาะสิ่งที่ ‘ดีงาม’ ในสังคม แต่ปัญหาก็คือ นิยามความหมายของ ‘ความดีงาม’ ที่ควรจะสร้างสรรค์และบ่มเพาะนั้นควรเป็นอย่างไร? และใครสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนิยาม ‘ความดีงาม’ นั้นได้บ้าง
ไม่แปลกที่ในสังคมที่มีพื้นฐานอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน กระทรวงศึกษา ‘ธิการ’ (อธิการ ซึ่งหมายความว่า เป็นใหญ่) ซึ่งพยายามกำหนด ‘ความดีงาม’ เหล่านั้นขึ้นมา (ด้วยความปรารถนาดี) และพยายามใช้ความเป็น ‘อธิการ’ หรืออำนาจที่เป็นของตนเองในการกำกับควบคุมให้เป็นไปตามทิศทางที่ตนต้องการ แต่ปัญหาหลักของความเป็น ‘อธิการ’ ก็คือ ความอ่อนด้อยของกลไกในการตรวจสอบว่า ‘ความดีงาม’ ที่กำหนดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่? (เพราะการตั้งคำถามมักจะถูกมองว่าขัดแย้งกับความเป็น ‘อธิการ’ นั่นเอง)
และที่สำคัญกว่านั้น คือ เราก็มักจะขาดการตรวจสอบว่า สิ่งที่อยู่นอกเหนือจาก ‘ความดีงาม’ ที่ตนกำหนดนั้น ไม่ว่าจะในแง่ของเพศสภาพที่แตกต่างออกไป ในแง่ของทักษะความสามารถที่แตกต่างออกไป ในแง่ของการให้คุณค่าที่แตกต่างออกไป และในแง่ของทัศนคติที่แตกต่างออกไป เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจาก ‘ความดีงาม’ จริงหรือไม่? และทำไม? และเราก็ไม่ค่อยถามว่า การกำหนด ‘ความดีงาม’ โดยความเป็นอธิการ ที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงที่หลากหลายในสังคมนั้น กำลังทำร้ายหรือทำลายใครบ้าง?
เดชรัต สุขกำเนิด
บางตอนจากคำนิยมข้างต้น อาจนำมาสู่การตั้งคำถามบางอย่าง แล้วเหตุใดเราถึงต้องมาคลี่หรือตั้งคำถามต่อ ‘ความดีงาม’ เหล่านั้น ก่อการครูชวนท่านตั้งคำถามและหาคำตอบร่วมกันผ่านหนังสือ “ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม” โดยท่านสามารถอ่าน “ปฐมบท” ของการตั้งคำถามดังกล่าวได้ จากที่นี่ และติดตาม Live งานเสวนาเปิดตัวหนังสือได้ทางเพจ ก่อการครู วันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 19.00 น.