ก่อการครู – Korkankru

การศึกษาไทย ดินแดนนิเวศการเรียนรู้ โรงเรียนปล่อยแสง

โรงเรียนที่เด็กสบายใจ ด้วยความเชื่อมั่นและคำพูดอ่อนโยน โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์

Reading Time: 2 minutes เริ่มต้นจากนักเรียนไม่กล้าพูดคุยกับคุณครูประจำชั้นของตัวเอง สู่การลุกขึ้นมาสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ด้วยกันทั้งโรงเรียน ตั้งแต่ผู้บริหาร ครูผู้สอน ไปจนถึงนักการภารโรงและคนขับรถรับ-ส่ง เพื่อร่วมกันเป็นพื้นที่ปลอดภัยและสื่อสารกับเด็กด้วยคำพูดอ่อนโยน Aug 7, 2024 2 min

โรงเรียนที่เด็กสบายใจ ด้วยความเชื่อมั่นและคำพูดอ่อนโยน โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์

Reading Time: 2 minutes

โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ เป็นโรงเรียนเอกชนในจังหวัดสงขลาที่มีห้องเรียนทางเลือกหลากหลาย ทั้งห้องเรียนมอนเตสซอรี ซึ่งเด็กจะได้เรียนแบบบูรณาการคละวิชาและระดับชั้น ห้องเรียนภาษาที่ได้เรียนทั้งภาษาที่ 2 และ 3 กับครูเจ้าของภาษาโดยตรง หรือแม้แต่ห้องเรียนหลักสูตรธรรมดาก็ยังเน้นการเรียนแบบ Open Approach ที่ให้เด็กเลือกทำโปรเจกต์ของตัวเองควบคู่ไปกับกิจกรรมพิเศษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและองค์ความรู้ของชุมชน

การพาเด็กไปทำกิจกรรมมากมายขนาดนี้ คุณครูจะต้องมีทั้งความเป็นนักกระบวนกรคอยออกแบบจัดการกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นเพื่อนที่เด็กไว้ใจเพื่อชักชวนเขาไปเรียนสิ่งใหม่ในเวลาเดียวกัน

“ปีที่แล้วเป็นปีแรกที่เด็กกลับมาเรียนหลังจากเรียนออนไลน์เพราะโควิด-19  หลายคนก็ยังไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวยังไง  เราพบว่าเด็กบางคนไม่กล้าเข้าไปพูดคุยขอคำปรึกษากับครูประจำชั้น เวลาไม่สบายใจก็จะมาคุยกับครูท่านอื่นแทน พอโครงการโรงเรียนปล่อยแสงให้เลือกหัวข้อการพัฒนาโรงเรียนที่จะทำร่วมกัน เลยเลือกเรื่องการลดช่องว่างระหว่างครูประจำชั้นกับนักเรียนค่ะ” ครูปาล์ม-จิตราภรณ์ สุวรรณรัตน์ เล่าถึงหัวข้อตั้งต้นที่อยากทำ

ในตอนเริ่มต้นครูปาล์มและคุณครูท่านอื่นคาดเดากันว่าสาเหตุหลักที่เด็กไม่กล้าเข้าหาคุณครูบางคนอาจเป็นเพราะความแตกต่างระหว่างวัย หรือวิถีชีวิตเด็กยุคใหม่ที่ไม่สอดประสานกับรูปแบบการสอนของครูอาวุโสผู้สอนมานานหลายสิบปี แต่เมื่อได้พูดคุยสอบถามมากขึ้น ก็พบว่าสาเหตุไม่ได้เรียบง่ายแบบนั้น

“พอเราเข้าไปพูดคุยกับครู ก็พบว่าเขาเป็นครูหัวสมัยใหม่มากเลยนะ ช่วงวัยไม่ได้เกี่ยวเลย เขารักและเป็นห่วงเด็กของตัวเองมาก แต่วิธีการและคำพูดที่เลือกใช้อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าครูโกรธหรือโมโหใส่ไปบ้างจนนักเรียนในห้องไม่กล้าเข้าหา เราก็เลยตั้งหัวข้อใหม่ ชวนทั้งโรงเรียนมาทำเรื่องการดูแลเด็กด้วยจิตวิทยาเชิงบวกและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก”

โจทย์ใหม่ของโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์นั้นไม่ใช่แค่การสร้างห้องเรียนที่ปลอดภัยแก่เด็ก แต่อยากให้ทุกคนในโรงเรียนตั้งแต่ผู้บริหาร ครูผู้สอน ไปจนถึงนักการภารโรงและคนขับรถรับ-ส่ง เป็นพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน  จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ผ่านมาเกือบปี เราจึงชวนคุณครูมาทบทวนการเดินทางของตัวเองอีกครั้ง 

ครูของอิซาน

“จริง ๆ ก็มีกิจกรรมอบรมออนไลน์เล็ก ๆ อยู่เรื่อย ๆ โรงเรียนเรามีกิจกรรมเยอะก็จะใช้วิธีผลัดกันเข้า แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน แต่กิจกรรมหนึ่งที่ทุกคนจะต้องเข้าให้ได้คือการอบรมเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกที่อำเภอหาดใหญ่ เราเชิญอาจารย์สมิท จาก Life Education ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้มาเป็นวิทยากร ตั้งใจจัดขึ้นช่วงปิดเทอมพอดี ก็เลยนั่งรถไปร่วมกิจกรรมกันเกือบทั้งโรงเรียน ครูผู้ช่วยของชั้นอนุบาลหรือแม่บ้านที่ทำอาหารในโรงอาหารก็ไปด้วยกันหมดเลย”

ครูปาล์มเล่าว่ากิจกรรมครั้งนี้เป็นทั้งการอบรมเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาเชิงบวกและการทำความรู้จักเพื่อนร่วมงานในมุมใหม่ที่ไม่เคยเห็น ซึ่งคุณครูทุกคนเห็นตรงกันว่ากิจกรรมที่ส่งผลต่อความรู้สึกภายในมากที่สุดคือการล้อมวงดูภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Taare Zameen Par และพูดคุยกันหลังจากนั้น

Taare Zameen Par เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของ “อิซาน” เด็กที่มีปัญหาการเรียนในทุกด้าน ไม่พูดกับคนอื่น ไม่เข้าเรียน เขียนหนังสือก็ไม่ได้ สิ่งเดียวที่เขาชอบทำคือการวาดรูปอยู่เงียบ ๆ จนทั้งผู้ปกครองและโรงเรียนเองก็หมดหนทางเยียวยา และหมดความเชื่อมั่นในตัวเด็กคนนี้ แต่คุณครูวิชาศิลปะคนหนึ่งไม่ถอดใจ อยากให้อิซานมีความเคารพตนเอง และเชื่อว่าตัวเองนั้นมีด้านดี เขาจึงพยายามชวนอิซานเข้าร่วมประกวดวาดภาพเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

“ครูคนนี้ก็พยายามไปพูดกับพ่อแม่ของอิซานว่าน้องไม่ได้มีปัญหาหรือมีพัฒนาการบกพร่องนะ แต่มีบางอย่างที่เราไม่เข้าใจเขาจริง ๆ แล้วรู้ไหมผมก็เคยเป็นแบบนี้เหมือนกัน ทำให้คิดได้ว่าการที่เด็กทำบางอย่างไม่ได้หรือไม่เก่ง ไม่ได้แปลว่าเขาไร้ค่า เขามีสิ่งที่ทำได้และถนัด  เราเองต่างหากที่ไม่รู้และปฏิเสธมัน” 

เรื่องราวของอิซานทำให้คุณครูโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ได้ย้อนกลับมามองห้องเรียนตัวเองใหม่ เราเห็นอิซานในตัวเด็กบางคนไหม แล้วเราเผลอเป็นครูที่ไม่น่ารักของเขาหรือเปล่า 

“หนังเรื่องนี้ย้ำเตือนว่าทุกคนเป็นคนเก่งในรูปแบบของตัวเอง ทุกวันนี้ถ้าเราเจอเด็กในห้องที่รับมือยาก ก็จะยิ้มแล้วบอกว่า อ๋อ นี่คืออิซาน งั้นรู้แล้วว่าจะรับมือกับเขายังไง”

กำแพงที่หายไป จากคำพูดอ่อนโยน

ครูปาล์มสลายกำแพงระหว่างครูกับเด็กโดยเริ่มจากการวางตัวเอง ความคิด และการตัดสินลงก่อน แล้วเริ่มรับฟังเด็กด้วยทุกอย่างที่มี ไม่ใช่แค่ใช้หูฟังสิ่งที่เด็กพูด แต่มองในตาเขาว่าอยากจะสื่ออะไร ใช้ใจเข้าถึงความรู้สึกว่าเบื้องหลังพฤติกรรมบางอย่างเกิดจากอะไร และเขาต้องเจออะไรมาบ้าง

“คำว่าพื้นที่ปลอดภัยคือ ให้เขาได้มีพื้นที่คุยบ้าง อธิบายบ้าง อย่าตีตราว่าสิ่งที่เขาอธิบายคือการโกหก การปิดกั้นตัวเอง หรือการโต้แย้ง เราต้องสร้างความสบายใจโดยการวางใจและรอคอยการเติบโตของเขา”

เมื่อเด็กรู้สึกว่ามีคนรับฟัง และเคารพในตัวตนและความคิดของเขา ไม่มองว่าไร้สาระ เขาก็สบายใจจะสื่อสารและแสดงศักยภาพตนเองออกมา ความรู้สึกปลอดภัยนี้จะเป็นก้าวแรกของความรักและความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความอยากเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีความหมาย

“พื้นที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนเด็กในทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเป็น ทั้งความต้องการภายในจิตใจ อยากเรียนที่ไหน อยากพูดอะไร อยากระบายอะไร ปาล์มคิดว่านั่นแหละคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในทุกเรื่องค่ะ”

หลังจากการอบรมในวันนั้น คุณครูแต่ละคนได้นำมุมมองและวิธีการใหม่ไปปรับใช้ตามสไตล์การดูแลเด็กของตัวเอง แต่หากถามว่าสิ่งใดเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนที่สุด คุณครูต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคือวิธีการพูดของบุคลากรในโรงเรียน 

จากเดิมที่คุณครูวิชาพละจะต้องตะโกนด้วยเสียงดุดันเพื่อกระตุ้นเด็กในคาบเรียน ก็เปลี่ยนมาใช้คำพูดเชิงบวกเสริมสร้างกำลังใจมากขึ้น  จากที่คนขับรถโรงเรียนคอยดุเด็กว่า “นั่งให้เรียบร้อยหน่อยได้ไหม” เขาก็เข้าใจธรรมชาติความซุกซนของเด็ก เปลี่ยนน้ำเสียงและพูดกับเด็กอย่างใจเย็นว่า “ลุงรู้ว่าลูกอยากเล่น แต่มันอันตรายนะ ถ้าเกิดลุงเบรกรถกะทันหัน” กลายเป็นบรรยากาศใหม่ในโรงเรียนที่อ่อนโยนกว่าเดิม

“ตอนนี้เด็กกลุ่มที่ไม่กล้าเข้าหาครูประจำชั้นของตัวเอง เข้าไปกระโดดกอดและหอมแก้มครูได้แล้ว เขารักคุณครูของเขามากเลยนะ และคุยกับคุณครูสูงอายุเหล่านี้มากพอ ๆ กับที่คุยกับเพื่อน ตอนนี้ครูที่เราเคยคิดว่าเป็นห่วงเด็กมากไปแต่ยังจัดการตัวเองไม่ถูก กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้แล้ว”

วัฒนธรรมใหม่ของโรงเรียน

ทุกวันนี้การพูดกันอย่างอ่อนโยนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรใหม่ของโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ เป็นวิถีปฏิบัติใหม่ที่แม้กระทั่งคุณครูต่างชาติซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการอบรมจิตวิทยาเชิงบวกก็รับรู้ได้ เพราะเมื่อทุกคนในโรงเรียน สร้างมาตรฐานใหม่ในการดูแลและการพูดกับเด็กไปด้วยกัน เขาก็ปรับตัวตามไปด้วย

วัฒนธรรมนี้ไม่ได้ใช้เพื่อดูแลเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คุณครูด้วย

“พูดแบบไม่สวยงามมาก แม้ว่าเราจะพยายามพูดกับเด็กอย่างใจเย็นตลอดเวลา แต่ครูก็เป็นมนุษย์ มีพลาดมีเผลอได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราแค่ฟังเพื่อนระบายแล้วก็ให้จัดการในรูปแบบของตัวเอง วันนี้เราเรียนรู้ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เพื่อนครูด้วย การอบรมทำให้เรารู้วิธีช่วยดึงกันมากขึ้น ถ้ามีเพื่อนครูมาบอกว่าเจอเด็กที่ดูแลยากมากเลย เหนื่อยและเครียดมาก ไม่ไหวแล้ว เราก็จะคอยแตะคอยเตือน และแนะนำกัน ทำให้รู้สึกว่าปัญหาที่เจอเบาลง”

ครูปาล์มทิ้งท้ายด้วยความภูมิใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเกินภาพฝันที่วาดไว้ในตอนแรกไปมาก จากเดิมแค่อยากให้คุณครูในโรงเรียนได้เรียนรู้วิธีการพูดเชิงบวกกับเด็ก แต่ผลที่ได้คือความสบายใจในโรงเรียน ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรมเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนไปของทั้งเด็กและคุณครู

โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แต่จะขยายวัฒนธรรมพื้นที่ปลอดภัยไปสู่นิเวศแวดล้อมตัวเด็กที่กว้างขึ้น ไปสู่ผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ เพื่อสร้างโลกที่ใจดีกับเด็กให้มากขึ้นกว่าเดิม

Array