ห้องเรียนอนุบาลของครูต้าร์ “วิชาอะไรก็ได้ เด็กสนใจอะไรก็เรียนสิ่งนั้นแหละ”
Reading Time: 3 minutesในห้องเรียนของคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาปฐมวัย ‘ต้าร์’ คือ 1 ใน 7 ของชายหนุ่มที่เลือกเรียนสาขานี้
ทุกคนในห้องมองว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะส่วนใหญ่แล้ว ‘ครูอนุบาล’ มักเป็นผู้หญิงเสียส่วนมาก เขาจึงถูกถามอยู่เป็นประจำว่าทำไมถึงเลือกเรียนเป็นครูอนุบาล
ชายหนุ่มเล่าว่า ใจจริงอยากเรียนศาสตร์ของสถาปัตยกรรม แต่เพราะพิษเศรษฐกิจ ครอบครัวจึงสนับสนุนให้เขาเลือกรับราชการที่ดูจะมั่นคง
เขาจึงเลือกเป็นครูปฐมวัยจวบจนถึงปัจจุบัน ชั่วโมงบินในอาชีพนี้ของเขาเดินทางมาถึงปีที่ 5 แล้ว
“ครูหลายคนชอบถามว่า ครูอนุบาลต้องอยู่กับเด็กทั้งวัน อยู่ได้ยังไง เด็กไม่วุ่นวายเหรอ ไม่ซนเหรอ ผมบอกตัวเองเสมอว่า ครูที่จะอยู่กับเด็กเล็กได้ทั้งวัน หนึ่ง ต้องมี empathy นะ เพราะธรรมชาติของเด็ก เขาอยากรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่นิ่ง ถ้าเราไม่มี empathy เราอาจจะหงุดหงิด ไม่เข้าใจเขา แล้วถ้าเราเผลอพูดคำว่า ‘จะอยากรู้ไปทำไม’ ความสัมพันธ์จะติดลบทันที”
ครูต้าร์-อธิวัฒน์ ใครวิชัย โรงเรียนวัดตโปทาราม ย้ำว่า นอกจากต้องมี empathy อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือครูต้องลด ‘อัตตา’ ของตัวเอง ครูไม่ต้องสวมโขนเป็นครูผู้มีอำนาจก็ได้ และครูเป็น ‘เพื่อน’ ที่ขี้สงสัยเหมือนกับเด็กๆ ก็ได้
“ถ้าเราเป็นเพื่อนกับเขา ระยะห่างระหว่างครูกับศิษย์จะถูกพังทลาย เด็กเขาจะกล้า เขาจะมอบสิ่งต่างๆ ให้เรา กอดเรา ถามไถ่เรา ช่วยเราถือของเล็กๆ น้อยๆ เป็นกำลังใจให้เราอยู่ในระบบนี้ได้ต่อไป”
ครูตามตำรา
ปีแรกของการเป็นครูอนุบาล ครูต้าร์เป็นครูตามตำราทุกกระเบียด เขาตั้งเป้าให้เด็กๆ ในห้องอ่านออก เขียนได้ จนผ่านไปหนึ่งปี ครูต้าร์จึงรู้แน่ชัดแล้วว่า เขากำลังฝืนธรรมชาติของเด็ก และเขาต้องเปลี่ยนแปลง
“เรามองว่า ปัญหาของการศึกษาปฐมวัย คือความเชื่อมโยงเนื้อหาการศึกษาปฐมวัยกับเนื้อหาของชั้นประถมศึกษา หมายความว่า ตอนนี้เนื้อหาของทั้งสองส่วนรวมทั้งนโนยบายการศึกษาต่างๆ มันไม่เชื่อมโยงกันเลย ตอนที่เราเป็นนักศึกษา เขาบอกว่า ‘เด็กจะต้องเรียนผ่านกิจกรรม ผ่านการเล่น แล้วยึดตัวพัฒนาการของเด็กทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา’ เราต้องทำให้เด็กเกิดพัฒนาการให้ได้ เท่านี้เลย
“แต่พอเด็กจบอนุบาลแล้วต้องขึ้น ป.1 ตัวหลักสูตรของการศึกษาทั่วไปมีนโยบายว่า เด็ก ป.1 จะต้องอ่านได้ เขียนได้ …มันไม่เชื่อมโยงกันแล้ว เพราะตอนเราสอนอนุบาล เราจะไม่เน้นวิชาการ เราจะให้เขาได้เรียนผ่านการเล่น ผ่านกิจกรรมเป็นหลัก ซึ่งพอเด็กจบจากชั้นอนุบาลของเราไปขึ้นประถม 1 เขาอ่านยังไม่ได้ เขียนยังไม่ได้ ครูประถมก็จะมาบอกว่า ทำไมชั้นอนุบาลถึงไม่สอน”
ขณะเดียวกัน ครูต้าร์มองว่า แม้เขาจะพยายามปรับการเรียนการสอนของเด็กอนุบาลให้เน้นไปที่การฝึกพัฒนาการผ่านกิจกรรมและเกม แต่เมื่อเด็กๆ เรียนจบแล้วขยับขึ้นชั้นประถมศึกษา เด็กๆ ชั้น ป.1 จะถูกบีบเค้นการเรียนด้วยเนื้อหาวิชาการ ผ่านระยะเวลาการสอบที่กระชั้นชิด
“พอมันเป็นนโยบายลงมา โรงเรียนก็ต้องขับเคลื่อน พอมันขับเคลื่อนไปไม่ได้ เขาก็จะลากระยะเวลาการสอนวิชาการให้มากขึ้น เร็วขึ้น โดยการลากอนุบาลให้ต้องเข้มวิชาการขึ้น ซึ่ง…ครูต้าร์เคยลองนะ ลองสอนวิชาการให้กับเด็ก แต่มันไม่เวิร์ค เด็กไม่ชอบ ไม่มีความสุข ด้วยวัยของเขาด้วย มันเร็วเกินไป”
เด็กๆ ชั้นอนุบาลวัยเพียง 4 ขวบ ร้องไห้กระจองอแงเพราะไม่อยากมาโรงเรียน พวกเขาไม่มีความสุข เมื่อต้องเดินเข้าห้องสี่เหลี่ยมแล้วท่อง ก.ไก่ – ฮ.นกฮูก หรือต้องฝึกคัดตัวสระ
เด็กๆ ไม่มีความสุข ครูต้าร์เองก็เช่นกัน นั่นทำให้เขาเริ่มค้นหาวิธีการใหม่ ‘จะสอนอย่างไรให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และสนุกสนานสมวัยตามธรรมชาติของพวกเขากันนะ’
“ช่วงปีที่ 2-3 ของการทำงาน เราเปลี่ยนทุกอย่างใหม่หมด เอาวิชาการออกทั้งหมด เน้นให้เด็กทำกิจกรรม แรกๆ เด็กก็โอเค รู้สึกแปลกใจว่าทำไมครูต้าร์ไม่เหมือนเดิม (หัวเราะ) ครูต้าร์ไม่ให้มานั่งเขียน นั่งท่องแล้ว แต่พาเล่น พาทำกิจกรรมมากขึ้น เด็กได้ขยับร่างกายมากขึ้น”
เป็นเวลาเดียวกับที่ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตโปทาราม ได้แนะนำให้ครูต้าร์มาเข้าร่วมโครงการ ‘ก่อการครู’ เพื่อเติมเครื่องมือและหาประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ถึงอย่างนั้น ครูต้าร์ก็บอกกับเราตามตรงว่า เขาไม่อยากมาเลยเพราะการอบรม ในภาพจำของเขา คือการนั่งฟังวิทยากร จดเล็คเชอร์ และทำรายงานส่ง
“งานผมเยอะมากๆ ทั้งการสอนและภาระงานอื่นๆ ผมไม่อยากมาเลย” เขาว่า
“แต่พอเราได้เข้าก่อการครู ได้มาแชร์เรื่องราวต่างๆ กับครูท่านอื่นๆ ที่มาร่วมโครงการ ได้มาเรียนรู้กับวิทยากรหลายๆ ท่าน มันย้ำกับเราว่า สิ่งที่เรากำลังพยายามเปลี่ยน พยายามทำ มันถูกต้องแล้ว ให้ทำต่อไป”
ก่อการครู ลบภาพจำเดิมของเขาออกไป ที่นี่ไม่ต้องนั่งหน้าเครียด จด และฟัง แต่ครูทุกคนกลับต้องมานั่งพื้นตีวงล้อมขนาดใหญ่ แชร์เรื่องราวและประสบการณ์ของตัวเอง เล่มเกมเรียกเสียงหัวเราะ และออกแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ ร่วมกันเป็นเวลา 1 ปี
“ใจเราไม่คาดหวังอะไร เพราะคิดว่ามันก็เหมือนกับการอบรมที่ผ่านๆ มานั่นแหละ แต่สิ่งที่เราไม่คาดว่าจะได้ เราก็ได้ อย่างกิจกรรมต่างๆ มิตรภาพ เรามีเครือข่าย มีชุมชนครูที่แลกเปลี่ยนไอเดียกัน
“เช่น ในโมดูล 2 ของก่อการครู มีคำพูดของกระบวนกรท่านหนึ่งที่ว่า ‘ห้องเรียน มันไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยม ที่ไหนก็เป็นห้องเรียนได้’ ผมเอาคำนี้แหละมาเปลี่ยนการเรียนการสอนของตัวเอง พาเด็กๆ ออกมาเรียนรู้ข้างนอก เราเอาแนวคิดนี้มาใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน”
นับแต่นั้น ห้องเรียนของครูต้าร์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางวันเป็นทุ่งนา บางวันเป็นร้านกาแฟ บางวันก็เป็นห้องครัวในโรงอาหารของโรงเรียน
คำถามที่ต้องการ ‘วิธีหาคำตอบ’
“เรารู้สึกได้ว่า เวลาที่เราถามเด็กไป เขาจะตอบในไดอะล็อกที่คิดว่าเราต้องการ เช่น ‘ข้าวคืออะไร’ เด็กๆ จะตอบตามแพทเทิร์นว่า ‘คืออาหาร’ เรารู้สึกไปเองนะครับว่า มันดูมีชนชั้น เรามีภาพของผู้มีอำนาจ มีระยะห่างระหว่างกันมาก เราก็เลยลองเปลี่ยน เราลองวางตัวเป็นเพื่อน เป็นเพื่อนที่ไม่รู้อะไรเลยเหมือนกับเขา”
จากครูกลายป็นเพื่อน … เพื่อนที่ขี้สงสัย เพื่อนที่ไม่รู้คำตอบเหมือนเด็กๆ แต่จะไปหาคำตอบด้วยกัน
“พอเราเปลี่ยนบทบาท เราถามใหม่ว่า ‘อะไรคือข้าว’ เด็กๆ ก็จะบอกว่า ‘เราก็ไปดูข้าวสิครู หน้าโรงเรียนเราก็มีนาข้าวอยู่’ ครูก็พาเขาออกไปดู เราออกจากห้องสี่เหลี่ยม มาทำกิจกรรมข้างนอก มาสัมผัสต้นข้าวจริงๆ ก็จะโยงไปสู่การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของเขา”
หลังทลายกำแพงสี่เหลี่ยมแล้ว ครูต้าร์ชวนเด็กๆ ทลายกำแพงของความสงสัย สู่การลงมือปฏิบัติ มันคือวิชาเรียนที่ลื่นไหล เป็นวิชาที่คาดเดาไม่ได้ และเป็นวิชาที่ถูกกำหนดเนื้อหาตามความสนใจของผู้เรียน
“เราถามคำถามต่อว่า ‘นอกจากเอาข้าวไปกิน เอาไปทำอะไรได้อีก’ คราวนี้คำตอบก็จะหลากหลายมากขึ้น แล้วเราก็พาเขาไปหาคำตอบ อย่าง ข้าวหลาม ข้าวต้มมัด ขนมปังข้าว
“พอวันรุ่งขึ้นเราก็ถามเขาว่า ข้าวเอาไปทำขนมอะไรได้บ้าง เด็กๆ เขาชอบกินขนม เขาก็จะชวนไปทำ ข้าวเหนียวมะม่วง ขนมปังสังขยา อีกวันเราก็พาเขาเอาข้าวมาทำเป็นขนม พาเขาเข้าครัว ไปทำกันจริงๆ”
หลังจบการเรียนของวัน การประเมินผลการเรียนรู้ของครูต้าร์ ไม่ใช่การถามว่า ‘วันนี้ได้เรียนรู้อะไร’
เพราะสำหรับเขา “แค่เด็กทำ นั่นแหละเขาได้แล้ว”
ห้องเรียนร้านกาแฟ
ในโรงเรียนวัดตโปทาราม มีร้านกาแฟเล็กๆ ที่ครูต้าร์มักจับจองพื้นที่เป็นห้องเรียนของเด็กๆ ชั้นอนุบาลอยู่เสมอ
“เราชวนเขาคุยว่า ‘เรารู้อะไรเกี่ยวกับกาแฟแล้วบ้าง หรือเรายังไม่รู้อะไรบ้าง’ เด็กเขาก็จะตอบออกมา อันไหนที่เด็กรู้แล้วหรือยังไม่รู้ เราก็จดเอาไว้ แล้วมาคุยกันว่า ‘สิ่งที่เราไม่รู้ เราจะใช้วิธีการไหนดี เพื่อที่เราจะได้รู้’ เช่น เด็กรู้ว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่ม แต่ไม่รู้ว่า กว่าจะเป็นเครื่องดื่มได้ มันทำยังไง”
วันต่อมา ครูต้าร์พาเด็กๆ ไปดูวิธีการทำเครื่องดื่มกาแฟ ตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดจนกระทั่งผ่านกรรมวิธีกลายเป็นน้ำสีเข้ม แต่ถึงแม้เขาจะตั้งต้นที่กาแฟ ทว่าระหว่างทาง เด็กๆ วัยขี้สงสัยมักสรรหาการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่นถามว่า ‘แล้วกากกาแฟพวกนี้เอาไปทำอะไรเหรอครับครู’
“เราก็จะชวนเขาหาคำตอบในวันถัดไปว่า ‘กากกาแฟ เอาไปทำประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าอะไรได้บ้าง’ หลังจากนั้น เราจะโยงการเรียนรู้ไปที่การจัดการขยะก็ได้ หรือการแปรรูปกากกาแฟเป็นสบู่ เป็นเครื่องสำอางก็ได้ สนุกมาก
“กระบวนการเหล่านี้ปรับได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่า เด็กจะไปเจออะไร สงสัยอะไร อยากรู้อะไร นี่คือสิ่งที่เราออกแบบไว้ ผมไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรมาก ตั้งแค่ว่า อยากให้เขาได้เรียนรู้ สิ่งที่เขาอยากเรียนรู้จริงๆ แต่ถ้าเขาไปไม่ถึง ก็ไม่เป็นไร”
ท้ายที่สุดแล้ว เขามองว่า หลากหลายปัญหาที่กดทับครู ทั้งภาระงาน เอกสารกองโต และนโยบายการศึกษา เหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีความจำเป็นใดเลยที่ครูต้องแบ่งพลังส่วนใหญ่ไปกับงานนอกห้องเรียน
แต่ถึงอย่างนั้น เขารู้ว่ามันไม่ง่าย การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ต้องอาศัยพลังร่วมของสังคมเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นจริง เขามีหวัง ทว่าในระบบที่คล้ายจะดับไฟของเขาอยู่ตลอดเวลา ครูต้าร์ก็เชื่อมั่นว่า ครูสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ
“ผมเคยปรับทุกข์กับเพื่อนครูว่า …เอาจริงๆ นะ เราอยากจะสอนเพื่อนักเรียนของเรา แต่ด้วยหน้าที่และภาระงานต่างๆ มันทำให้พลังของเราถูกใช้ไปกับอย่างอื่นที่ไม่ใช่การสอน
“น่าจะดีนะ ถ้างานต่างๆ พวกนั้นมันหายไป แล้วเราได้เต็มที่กับการสอนจริงๆ ครูคงมีความสุขมากกว่านี้” เขาหัวเราะเบาๆ