เราไม่อาจอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ในการทำงาน โดยเฉพาะเมื่องานของเรามีเป้าหมายในการขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม เครื่องมือสำหรับนักเปลี่ยนแปลงและกระบวนการทางสังคมที่สำคัญ จึงเป็นการสร้างเครือข่ายที่ทรงพลังที่หลากหลายมิติและเชื่อมโยงได้อย่างกว้างไกล

10 ขั้นตอนของการขยายแนวร่วม
หนึ่ง – นิยามตัวเองกับคู่กรณีในกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นขับเคลื่อนของเราให้ชัดเจน สำรวจว่าเรากำลังยืนอยู่ตรงไหนของการขับเคลื่อนงาน เพื่อนเครือข่ายที่จะร่วมทางของเรามีใครบ้าง เขาเหล่านั้นกระจายอยู่ตรงไหน เพื่อวางกลยุทธ์ในการเชื่อมโยงเครือข่ายได้อย่างหลากหลายและแตกต่างกัน
สอง – ระบุปัญหา วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ และผลกระทบร่วมกันของทีม
สาม – เลือกกลุ่มเป้าหมายว่า เราทำงานกับใคร เรามีกำลังมากน้อยแค่ไหนในการทำงาน
สี่ – ตั้งเป้าหมายให้ชัด วัดผลได้ ใช้เวลาแค่ไหน กำลังคนเท่าไหร่ ทรัพยากรที่อยู่ในมือมีอะไรบ้าง แล้วเราจะทำอะไรบ้างในหนึ่งวัน
ห้า – ตั้งธงว่าเราอยากเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรของกลุ่มเป้าหมาย และทำอย่างไร
หก – สำรวจทรัพยากรและศักยภาพของขบวนการขับเคลื่อน เพราะในบางครั้ง หลายโครงการที่ออกแบบอาจมีขนาดใหญ่มากและเกินกำลังจัดการ เราจึงต้องกำหนดขนาดโครงการเพื่อให้สอดคลองกับศักยภาพและต้นทุนที่มี
เจ็ด – แบ่งบทบาทหน้าที่ และ จัดวางคนให้ตรงกับบาท เช่น ดูภาพรวม ลุยไปข้างหน้า ฝ่ายจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และคนที่คอยสนับสนุน
แปด – วางกลยุทธ์การทำงานของแต่ละกลุ่ม เช่น เราจะทำงานกับคนแต่ละกลุ่มได้อย่างไร แบบไหนสำเร็จ แบบไหนล้มเหลว จะต้องถอดบทเรียนทุกครั้ง
เก้า – ถอดบทเรียนและย้อนกลับมาดูโครงการว่า อยากจะเพิ่มเติมอะไรบ้าง เช่น ปรับกลุ่มเป้าหมายที่เราทำงาน เชื่อมโยงกับพาร์ทเนอร์ หรือวางกลยุทธ์ในขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น อาจจะยังไม่ถึงขั้นสมบูรณ์ แต่เป็นเพียงไอเดียเริ่มต้นเพื่อนำไปพัฒนาต่อได้
สิบ – สื่อสารสาธารณะ แสดงตัวตนว่าเราเป็นใคร บอกความต้องการของกลุ่มว่าเรากำลังต้องการอะไรจากสังคมอย่างชัดเจน เพื่อให้สังคมรับรู้และเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม