ปลุกไฟในใจครู ปล่อยแสงสู้ความย้อนแย้งในระบบการศึกษาไทย

การศึกษาคือหนึ่งในประเด็นที่คนในสังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะข้อคิดเห็นไว้มากมาย กล่าวได้ว่าเราต่างพร้อมระบายความทุกข์ ความห่วงใย และความกังวลต่อทิศทางการศึกษาไทยได้อย่างมหาศาล ทว่าเมื่อมองลงมาในสภาพที่เกิดขึ้น การศึกษาไทยกลับดูเหมือนไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ขณะที่ความเป็นไปของโลกกลับรุดหน้าอย่างไม่รีรอ

ท่ามกลางสภาวะที่สวนทางระหว่างความต้องการของสังคมต่อข้อจำกัดอันมหาศาลในระบบการศึกษา เราพบว่ามีเมล็ดพันธุ์ครูมากมายพยายามที่จะหลุดออกจากข้อจำกัดเหล่านี้ บนความเชื่อที่ว่า เมื่อครูเปลี่ยน ห้องเรียนจึงเปลี่ยนตาม ซึ่งโจทย์สำคัญของวงเสวนาในวันนี้ ได้ชวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งนักการศึกษา นักสื่อสาร ผู้บริหาร มาร่วมหาคำตอบว่า เมื่อห้องเรียนเปลี่ยนแล้ว แต่ระบบไม่เปลี่ยนตาม เราจะเดินหน้ากันอย่างไรท่ามกลาง ‘ความย้อนแย้ง’ ของการศึกษาไทยเช่นนี้

การศึกษาที่พรากความเป็นคน 

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เวลาพูดถึงเรื่องการศึกษาที่มีความซับซ้อนและทุกคนพร้อมที่จะให้ข้อคิดเห็นตลอดเวลา ซึ่งการศึกษานั้นเป็นความทุกข์ร่วมจริงๆ  ถ้าสมมุติว่าเราสามารถรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ได้คงไปสู่ดวงดาวได้ไม่ยาก คำถามคือ แต่ทำไมการเปลี่ยนแปลงถึงไม่เกิดขึ้น? หรือทำไมภาคการศึกษาถึงเปลี่ยนแปลงได้ช้าที่สุด?

หนึ่ง ผมคิดว่าถ้ามองในบริบทของโรงเรียน ที่สังคมคาดหวังให้เป็นสถานที่บ่มเพาะเยาวชนที่ดี มีคุณค่า ออกมารับใช้สังคม ซึ่งในวันนี้มีท่าน ผอ. มาร่วมงานจำนวนไม่น้อย และท่าน ผอ. ก็คงจะรู้ถึงหัวอกของโรงเรียนอยู่แล้วว่า โรงเรียนถูกรัดรึงด้วยโซ่พันธนาการอยู่มากมาย ถึงแม้จะเป็นผู้บริหารสุงสุดของโรงเรียนก็ไม่สามารถมีอิสระในการตัดสินใจและนำพาโรงเรียนไปในทิศทางที่อยากได้ แม้อยากจะเห็นห้องเรียนที่มีความสุขมากขนาดไหนก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องถูก สมศ. มาประเมิน ถูกเขตมาขอเอกสาร

“โครงการอันปรารถนาดีจาก กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ลงมาที่โรงเรียนประมาณ 30 โครงการ ทั้งถนนสีขาวก็มี ตึกสีเขียวก็มา โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนพลเมืองประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้เป็นภาระอันหนักอึ้งในขณะที่ระบบงบประมาณของโรงเรียนมีจำกัดมาก การนำงบมาพัฒนาโรงเรียนก็ลำบาก

“แม้กระทั่งระบบคัดเลือกครูเข้าสู่โรงเรียน เช่น ผมขาดครูวิทยาศาสตร์แต่ส่งครูพละมาให้ จะเอาไหม? สิ่งนี้มันสะท้อนการขาดอิสระในการบริหารจัดการอย่างรุนแรง แต่เราไปคาดหวังให้โรงเรียนทำหน้าที่บางอย่างที่เลอเลิศมาก

สอง อยากจะได้ครูดี อยากจะได้ครูเก่ง อยากจะได้ครูที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ถ้าตราบใดที่หลักสูตรการผลิตครูยังเป็นแบบเดิม ยังเป็นแบบศตวรรษที่ 18 แต่คาดหวังให้ครูเป็นครูในศตวรรษที่ 21 ตรงนี้คือข้อจำกัดที่เรามีจริงๆ ขณะที่บัณฑิตครูกำลังจะตกงานกว่าหนึ่งแสนคนทั้งประเทศ ปีหนึ่งเราผลิตครูออกมาสี่หมื่นคนที่กำลังจะเรียนจบจากครุศาสตร์ ศึกษาศาสตรบัณฑิต ปรากฏว่าสองหมื่นคนคืออัตราว่างที่กระทรวงศึกษาธิการจะรับครูเข้าไปทำงานในระบบได้  

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี – คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่รายการตกค้างของปีที่ผ่านมายังมีอีกสองหมื่นคน แปลว่าครูที่จบใหม่สี่หมื่นคนตกงานนะครับ พอปีถัดมา บัณฑิตสี่หมื่นคนที่ว่างงานก็ยังไม่ทันได้เข้า ครู 5 ปีจบอีกสี่หมื่นคน และครู 4 ปีจบอีกสี่หมื่นโดยประมาณ รวมแล้วประมาณแสนสอง เข้าสู่ระบบได้เพียงสองหมื่นคน แปลว่าจะมีบัณฑิตครูตกงานประมาณหนึ่งแสนคน ตัวเลขแบบนี้น่ากลัวนะ

“และ สาม ผมพบว่าสิ่งที่ครูไทยกำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่เรื่องของการสื่อสารกับเด็กในเชิงวิชาการ ไม่ใช่เรื่องของสาระวิชาอีกต่อไป เด็กไทยขณะนี้อยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงจะเสียของสูงมาก ครูต้องเผชิญกับคุณแม่วัยใสแล้ว เจอเด็กที่ใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและการ bully ทางไซเบอร์ ไปจนถึงสิ่งเสพติด สิ่งเหล่านี้รวมๆ แล้ว คือความรุนแรงที่เข้ามากระทำต่อสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ทักษะชีวิตของเด็ก’ ทั้งสิ้น เด็กเราอ่อนแอเหลือเกินกว่าจะรับมือกับภาวะเหล่านี้

“แต่ท่ามกลางข้อจำกัดที่ว่ามา เราพบว่ามีหน่ออ่อน มีเมล็ดพันธุ์ที่พยายามจะหลุดออกจากข้อจำกัดเหล่านี้ สิ่งที่เราควรจะนำมาคุยกันในอนาคตผมคิดว่า ทำอย่างไรถึงจะคืนการศึกษาให้กับประชาชน การศึกษาที่ต้องไม่ใช่เรื่องการรับใช้ราชการ เพราะตอนนี้ระบบการศึกษามันรับใช้ราชการและผมรู้สึกว่ามันจึงกลายเป็นข้อจำกัด และผมคิดว่าหัวใจของการทำการศึกษาใหม่ก็คือ

“ทำอย่างไรที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนที่เกี่ยวข้อง ให้กลับมาสู่กันและกัน ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยทำให้คนพลัดพราก นักเรียนพลัดพรากจากครู ครูพลัดพรากจากครูใหญ่ ครูใหญ่พลัดพรากจากชุมชน ผู้ปกครอง ถ้าเราไม่ดึงตรงนี้กลับมา เราจะไปแก้เชิงนโยบายได้อย่างไร”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท – รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ความเสมอภาคบนความแตกต่างของเด็กไทย

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

“ในความย้อนแย้งเราเห็นได้ว่า ระบบการศึกษาไทยมีส่วนได้ส่วนเสียเยอะมาก ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็คาดหวังอย่างหนึ่ง สังคมก็คาดหวังอย่างหนึ่ง นักวิชาการก็คาดหวังอย่างหนึ่ง ผู้กำหนดนโยบายก็คาดหวังอย่างหนึ่ง และจนถึงจุดหนึ่ง ผมรู้สึกได้ว่าทุกคนอยากสร้างดาวคนละดวง แต่ทุกคนล้วนมีเจตนาดี ตั้งใจดีต่อเด็กและเยาวชน ต่อระบบการศึกษาไทย และทุกคนพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะใช้ศาสตร์ ข้อมูล และประสบการณ์ของตนเอง ว่าฉันรู้แล้วว่าการศึกษาไทยต้องเดินหน้าอย่างไร

“ผมรู้สึกว่าท่ามกลางความย้อนแย้งต่างๆ ทุกคนต่างมีความตั้งใจตรงกัน แต่พอไปถึงเรื่องวิธีการ แนวทาง และนโยบาย จึงเริ่มมีความต่าง และมีแนวคิดที่หลากหลาย เมื่อสิ่งนี้ไม่ตรงกันจึงนำมาซึ่งการปฏิบัติ การจัดสรรงบประมาณ และการทำงานจริงในห้องเรียนที่ต่างกัน

“ระบบการศึกษาเป็นระบบที่มีขนาดใหญ่ และมีระบบการจัดการที่ซับซ้อน และใช้งบประมาณมาก มีการเรียงลำดับชั้นของการเดินเรื่องและมีระบบราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง มันทำให้แม้สองสิ่งแรกจะตรงกัน แต่พอมาถึงความคิดที่ต่างกันเชิงกระบวนการและวิธีการ มันนำไปสู่การปฏิบัติที่ย้อนแย้ง ถามว่าแล้วเราจะหาทางออกอย่างไร?

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า เด็กแต่ละคนเกิดมามีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน มีความถนัดในการเรียนรู้ต่างกัน แต่ในเชิงงบประมาณเราให้งบเท่ากันหมด เพราะตามกฎหมายบอกว่าเป็นสิทธิที่พึงได้เท่ากัน ถึงจุดหนึ่งกลายเป็นความเข้าใจว่านี่คือความเสมอภาค แต่พอเราเกิดกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา สิ่งหนึ่งที่เราพยายามจะสื่อสารเชิงนโยบายและเอาไปปฏิบัติจริงๆ คือ

“ความเสมอภาคไม่ได้ดูที่ปัจจัยนำเข้า แต่ความเสมอภาคคือ outcome ที่ไม่ว่าเด็กจะเกิดมายากดีมีจน ถ้าเขามีความถนัด มีศักยภาพอย่างไร ระบบการศึกษา คุณครูสามารถที่จะพาเขาไปถึงจุดหมายปลายทางตามศักยภาพของเขาได้หรือไม่

“ถ้าเกิดว่าระบบสามารถทำได้เช่นนั้น ปัจจัยนำเข้าไม่จำเป็นต้องเท่ากัน งบประมาณรายหัวไม่ควรจะต้องเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กยากจน เป็นเด็กด้อยโอกาสหรือเป็นเด็กที่มีศักยภาพที่จะไปได้ไกล แต่ควรเป็นระบบที่พึงให้การสนับสนุนทางงบประมาณที่หลากหลาย

“อยากจะย้ำอีกครั้งว่า เราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มากในระบบการศึกษาทั่วโลก คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการจะก้าวไปสู่ทศวรรษใหม่ ทุกคนจะเริ่มตั้งคำถามว่า เราจะสอนเด็กของเราอย่างไร อย่าว่าแต่แค่ภาษาอังกฤษเลย ศาสตร์ต่างๆ ก็ถูกตั้งคำถามว่า ตกลงเราจะให้เด็กเราอยู่รอดอย่างไร อย่าลืมว่าเราใช้หลักสูตรของปี 2551 อยู่ เป็นหลักสูตรของเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อสอนให้เด็กไปทำงานในอีก 20 ข้างหน้า ช่องว่าง 30 ปีนี้มันน่าสนใจนะครับว่า เด็กของเราจะรอดไหม

“สุดท้ายแล้วถ้าการปฏิรูปการศึกษาไม่ว่าจะในมิติอะไรก็ตาม ไม่ฟังเสียงของครูว่าปัญหาในหน้างานของครูคืออะไร แล้วเราจะปฏิรูปไปเพื่ออะไร ถ้าครูคิดว่าตัวเองรู้ทิศทางแล้ว ครูต้องส่งเสียงออกมา ปล่อยแสงออกมาให้สังคมได้เห็นแสงนั้น และได้รู้ว่าเป็นแสงที่ส่งมาจากโรงเรียนที่ครูอยู่กับเด็ก มันจะทำให้สังคมตื่นและเห็นทิศทางว่า ตกลงแล้ว การปฏิรูปการศึกษาควรเดินไปในทิศทางไหน ถ้าเราไม่ช่วยกัน สุดท้ายเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว เราโทษใครไม่ได้นะครับ

“ผมเห็นด้วยกับที่เขาพูดกันว่า ระบบการศึกษา ยังไงก็ไม่ดีไปกว่าจิตใจของคุณครู ต่อให้ครูเผชิญกับอุปสรรค ภาระงาน กฎระเบียบมากมาย แต่ถ้าใจของครูพยายามจะส่องแสงให้เด็กไปถึงดวงดาวของเขา เด็กมีทางรอดแน่นอน และถ้าครูเก็บรวบรวมหลักฐานเป็นเชิงประจักษ์ สื่อก็จะช่วยกันทำให้สังคมรับรู้ว่านี่แหละ คือทิศทางที่เราจะไปได้ โดยที่เราไม่ได้พูดกันลอยๆ ในเชิงทฤษฎี เพราะถ้าเช่นนั้นมันก็จะยังคงย้อนแย้งและไม่รู้ว่าควรจะไปทางไหนเหมือนเดิม”

นาฏฤดี จิตรรังสรรค์ – ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ

ความปรารถนาดีต่อการศึกษาบนความสัมพันธ์ที่มีรอยร้าว

นาฏฤดี จิตรรังสรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ

“ในฐานะที่เราเป็นผู้ปฏิบัติและรับนโยบายจากรัฐบาล เราเป็นโรงเรียนทางเลือกก็จริงแต่ยังใช้หลักสูตรของระบบ ในส่วนของการย้อนแย้งที่เกิดขึ้น คงต้องกลับมาทบทวนก่อนว่าเรามองการศึกษาที่ทำอยู่ทุกวันนี้เพื่ออะไร?

“จะเห็นได้ว่าเราต่างมุ่งไปที่เด็กๆ ว่าอยากให้เขาเติบโตและมีความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในอนาคต เขาต้องทำอะไรบ้าง ขณะเดียวกันมาตรฐานการศึกษาของชาติก็ประกาศออกมาชัดเจนว่า เขาต้องการคนที่ใฝ่เรียนรู้ คนที่เป็นผู้สร้าง เป็นนวัตกร เป็นพลเมืองที่ใส่ใจสังคม แต่สิ่งที่เราปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ต้องกลับมาถามตัวเองว่า เราทำอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้จริงๆ หรือเปล่า เพราะเรายังคงให้น้ำหนักไปกับการสอนตามหนังสือเรียน ถ้าสอนครบครูสบายใจ จบแล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ

“หรือว่าเราให้ผลลัพธ์อยู่ที่การประเมิน O-NET ประเมิน สมศ. ซึ่งเราก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้ประเมินออกมาดี โดยลืมจุดมุ่งหมายสำคัญในการทำโรงเรียนหรือสร้างการศึกษาว่า เราทำไปเพื่ออะไร?

“ท่ามกลางความย้อนแย้งในปัจจุบันเราจะเห็นว่า ทุกคนมีความปรารถนาดีที่จะสร้างการศึกษาที่ดีกว่า แต่กลับมีความไม่เชื่อใจ ความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในสังคม หมายความว่า หน่วยงานก็ไม่ไว้วางใจโรงเรียนว่าให้งบประมาณไป จะทำหรือเปล่า จึงเกิดการประเมินตรวจสอบ ครูใหญ่ก็ไม่ไว้วางใจคุณครูว่าครูจะสอนจริงในห้องเรียนหรือเปล่า ระบบการประเมินจึงกลายเป็นการตรวจสอบว่าคุณครูสอนจริงไหม หรือคุณครูไม่ไว้วางใจนักเรียน จึงมีการทดสอบเพื่อให้รู้ว่า เด็กเรียนหรือเปล่า?

“กระบวนการเหล่านี้ควรเริ่มต้นใหม่ด้วยความรู้สึกไว้วางใจ ซึ่งจะช่วยให้ความสัมพันธ์ของครูกับครู ครูกับเด็ก ผู้บริหารกับครู หรือแม้กระทั่งกับหน่วยงานราชการกับการปฏิบัติกับคุณครู ต่อผู้บริหารก็จะเปลี่ยนไปในแบบการทำงานบนฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

“แต่ถ้าจะมาบอกว่าทุกคนต้องไว้วางใจกันก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากจุดไหน ฉะนั้นจึงมีสองวงกลมที่เรามักจะบอกตัวเองคือ วงกลมที่เราควบคุมได้ และวงกลมที่เราควบคุมไม่ได้ ถ้าเราโฟกัสในวงกลมที่ควบคุมไม่ได้ ท่ามกลางปัญหาของนโยบายและการเปลี่ยนแปลงที่ต้องรวดเร็วตามนโยบายของรัฐบาลทั้งที่บางอย่างก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป หรือบางอย่างควรจะเปลี่ยนได้แล้วแต่ก็ยังไม่เปลี่ยน สิ่งนี้เป็นนโยบายที่เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานได้ ถ้าเราไปโฟกัสอยู่ตรงนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นเลย

“แต่ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ มาดูวงกลมที่เราควบคุมได้ ว่า ณ ตอนนี้เรามีอะไรบ้างที่สามารถทำได้ หรือฉันจะทำอะไรได้อีก แล้วทำมันแล้วหรือยัง เราจะพบว่ายังมีอะไรอีกเยอะให้นักการศึกษาอย่างเราได้ทำ เพราะฉะนั้น การย้อนแย้งที่เกิดขึ้นของการศึกษาไทย ส่วนตัวเราแล้วไม่ได้มองว่ามันคือปัญหา แต่เรามองว่ามันคือความท้าทาย ว่าถ้าเป็นฉัน ฉันจะทำอะไรได้บ้างท่ามกลางความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น

“ส่วนตัวเรามองว่า ในการเรียนรู้ของคนเราเกี่ยวข้องกับ 3 สิ่งด้วยกันคือ องค์ความรู้ ทักษะ และแรงปรารถนา ซึ่งส่วนใหญ่ในระบบเรามักจะพูดถึงเรื่อง เราจะสอนเรื่องความรู้และทักษะอย่างไร แต่เราลืมพูดถึงสิ่งที่สำคัญและเป็นปัจจัยของทุกอย่างคือความอยากที่จะทำ รักที่อ่านเขียน ฉะนั้นเมื่อให้เด็กไปโฟกัสเรื่องของการอ่านออกเขียนได้โดยไม่ได้ไปดูที่ความอยากที่จะทำ เขาก็จะอ่านได้ แต่ไม่ได้อยากอ่าน มันทำให้การพัฒนาในสกิลนั้นๆ มันไม่เกิดขึ้น 

“ซึ่งในการทำงานเหล่านี้ต้องย้อนกลับมาดูว่า อะไรที่จะเป็นตัวกระตุ้นแรงปรารถนา นั่นก็คือการกลับมาทำงานภายใน กับฐานใจ ให้เขารู้สึกได้เรียนรู้เมื่อเกิดการผิดพลาด ไม่ย่อท้อต่อการเรียนรู้อะไรก็ตามที่ยากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้คือ Growth Mindset ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าครูมุ่งหวังที่จะสอนเพียงสิ่งที่เป็นผลการเรียนรู้ของครู โดยไม่สนใจความสวยงามระหว่างทางในแต่ละก้าวย่างการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้ว เด็กแต่ละคนจะมีก้าวย่างในการเติบโตที่ต่างกันมากๆ ซึ่งถ้าเราย้อนกลับมาดูตรงนั้น เราจะเห็นความงามที่เกิดขึ้น เห็นการเรียนรู้และเห็นคุณค่าในความแตกต่าง และเราจะมีความสุขในการที่เราทำไปเรื่อยๆ”

สันติพงษ์ ช้างเผือก – ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

การศึกษาย้อนแย้งเพราะสังคมนั้นย้อนแย้ง

สันติพงษ์ ช้างเผือก ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

“ผมคิดว่าจริงๆ แล้วสังคมไทยนั้นย้อนแย้งอยู่ทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะการศึกษา ตัวอย่างคือ เรื่องเศรษฐกิจที่เราบอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการกระจายการถือครองที่ดิน ปรากฏว่าที่ดินก็มีการกระจุกตัวอยู่หนาแน่นและมีกฎหมายที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวมากขึ้น นี่คือเรื่องแรกที่ย้อนแย้งแล้วครับ มันไปคนละทาง

“ถ้าเรื่องวัฒนธรรมที่บอกว่าให้เคารพความหลากหลาย เขาก็บอกว่า เราต้องไปเปลี่ยนแปลงเด็ก เพราะเด็กมีความหลากหลาย เราต้องเคารพความหลากหลายของเด็กใช่ไหมครับ แต่ปรากฏว่า เรามีเพดานของความเคารพ  อย่าเกินเส้นไปมากกว่านี้ มันย้อนแย้งนะครับ

“สำหรับคนที่เป็นนักการศึกษาหรือครู สำคัญคือเราต้องเข้าใจความย้อนแย้ง หมายถึงว่าเราจะคิดเรื่องความย้อนแย้งได้ เราต้องเข้าใจว่าการศึกษามันซับซ้อน และมีความย้อนแย้ง เมื่อเราเข้าใจ จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลง เพราะโจทย์ของเราคือเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความย้อนแย้ง

“ตอนที่ผมเรียนจบใหม่ๆ และไปเป็นอาจารย์ ก็คงเหมือนอาจารย์ทั่วไปที่เป็นวัยรุ่น เรามีความแรงและรู้สึกว่าตัวเองแน่ ‘กูนี่แหละวะเป็นเจ้าของห้องเรียน’ จัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างดีเยี่ยม คำถามแรกที่ทำให้ผมเปลี่ยนคือ คุณคิดว่าหนึ่งปีคุณเปลี่ยนนักศึกษาได้กี่คน ผมคิดว่าคำถามในการเปลี่ยนแปลงชีวิตหรือจะปล่อยแสงบางทีมันก็ไม่ได้เป็นคำถามใหญ่โต แต่มันเป็นคำถามธรรรมดาที่เราเอากลับไปคิดว่าจะยังไงต่อ

“เราก็รวมกลุ่มและไปปฏิรูปการเรียนรู้ เรามีความสุขมากสองปีในการทำงานปฏิรูป เหมือนมีแสงออร่าออกมา พอตอนสรุปและเสนอแนะไปทางนโยบายเราจึงพบว่า การปล่อยแสงไม่สามารถปฏิเสธโครงสร้างที่ทำให้แสงไม่สามารถเรืองแสงได้

“ซึ่งในฐานะที่ทำสื่อในประเด็นการศึกษามาตั้งแต่ปี 2556 ผมขอแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงแรกที่เรากระโจนเข้าสู่ปฏิรูปหลังรัฐประหาร เราพยายามทำในเชิงโครงสร้างแยกทีละเรื่อง ครู หลักสูตร นู่นนี่นั่น และสร้างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เห็นว่า รูปธรรมมันไปสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แต่มันก็ได้ผลน้อยมาก

“อีกช่วงคือเราเปลี่ยนการทำงานไปที่พื้นที่โรงเรียนและจังหวัด เพราะเราเชื่อว่าการทำทีละแท่งแบบนั้นอาจจะยังไม่สร้างการร่วมมือได้เท่ากับความรู้สึกของการปลุกคนในโรงเรียนและจังหวัดขึ้นมา

“ทว่าหลังจากการเลือกตั้ง โหมดของมันได้เปลี่ยนไปคือ ดูจังหวะและโอกาสในการจะสื่อสารเรื่องการศึกษา เพราะโดยส่วนใหญ่เวลาเราพูดเรื่องการศึกษา ข่าวการปฏิรูปมันขายไม่ได้ในความรู้สึกของสังคม มันต้องข่าวแนวโหดร้าย ทุบนักเรียนตัวเขียว หรืออะไรในเชิงลบเสียส่วนใหญ่ เช่น เรื่องการคอร์รัปชันอาหารกลางวันที่มีน้องคนหนึ่งออกมาพูด ขยับไปจนถึง เรื่องที่ว่าอาหารกลางวันไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ชีวิตของการกิน และเริ่มไปสรรหาว่า ที่ญี่ปุ่นทำอย่างไร ที่อื่นทำอย่างไร ถ้าจะเสนอให้ชัดๆ ก็คือ เอาไหมล่ะนโยบาย คุณเปลี่ยนก่อนเลย 20,000 แห่งในศูนย์เด็กเล็ก คือต้องทำกันเป็นรูปธรรมแบบนี้ ถ้าไปพูดกันเรื่องนู่นนี่นั่น ไม่เปลี่ยนหรอกครับ เราต้องใช้จังหวะของการเมืองที่เปิด ทำให้เป็นจริง เสนอให้เป็นรูปธรรม จับต้องง่ายถ่ายรูปติด ผมคิดว่า ณ ตอนนี้คือจังหวะของเรา

“แต่ถ้าในฐานะครู ผมคิดว่าประเด็นสำคัญคือ การปฏิรูปการเรียนรู้มันควรจะเป็นวินัยในฐานะของครู เพื่อจะเผชิญหน้ากับโลกยุคใหม่ได้แล้ว และสิ่งที่อยากจะขอเพิ่มคือ เวลาอาจารย์พูดถึง PLC (Professional Learning Community) อาจารย์อยู่ในเผ่าพันธุ์เดียวกันหมด แต่ PLC ในความหมายของผมมันคือการผสมพันธุ์ข้ามกลุ่ม เพราะการทำแบบนี้เราจะได้เห็นของแปลกๆ มุมแปลกๆ ที่เอามาแชร์กัน

“เมื่อเราทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้เป็นวินัยแล้วนั้น การปฎิรูปโครงสร้างต้องกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าในบรรยากาศที่มันมีความซับซ้อนและย้อนแย้ง การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผมใช้คำว่า จับต้องได้ ถ่ายรูปติด มันมีความสำคัญ เพราะมันจะทำให้เห็นว่าเรามีความหวังและเราจะคืนการศึกษาสู่ประชาชน เราจะคืนครูที่มีความเป็นมนุษย์”

วงเสวนาในหัวข้อ: การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางความย้อนแย้งของการศึกษาไทย เป็นไปได้จริงหรือ? วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2562 เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในงานก่อการครู ครูปล่อยแสง ปี 2

เรื่องอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ