เปลี่ยนการ feedback สุดทิ่มแทง ด้วยการตั้งคำถามอย่างทรงพลัง และฟังอย่างลึกซึ้ง ผ่านห้องเรียนโค้ชเพื่อครู
Reading Time: 2 minutesเปลี่ยนครูเป็นโค้ช
หน้าที่สอนก็หนักพอแล้วทำไมเราต้องมีทักษะโค้ชด้วย ? ลองนึกภาพว่า ถ้าครูทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ให้ความรู้อย่างเดียว เมื่อหมดคาบครูก็กลับบ้าน ทว่าความจริงครูไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่ให้ความรู้ แต่เหมือนเรากำลังดูแลชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง หลายคนแบกความทุกข์ไว้เต็มหลัง เมื่อเผชิญกับปัญหา และต้องการหนทางเพื่อแก้ไข หรือต้องการคำแนะนำ ครูมักเป็นบุคคลเป็นอันดับแรก ๆ ที่ผู้เรียนนึกถึง และคงจะดีไม่น้อยถ้ามีใครสักคนมานั่งรับฟังอยู่ข้าง ๆ เขา ซึ่งเด็กทุกคนปราถนาที่จะได้รับการมองเห็นและการไว้วางใจ ดังนั้นทักษะการโค้ชจึงเข้ามามีบทบาทในห้องเรียน และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้ครูสามารถกลับมาดูแลหัวใจของเพื่อนมนุษย์หรือของเด็กในห้องเรียน ผ่าน ‘การฟังอย่างลึกซึ้งและการตั้งคำถามอย่างทรงพลัง’ เครื่องมือสำคัญจากห้องเรียนทักษะการโค้ชเพื่อครู
โค้ชช่วยหักล้างความเชื่อเรื่องครูมีหน้าที่ในการ ‘แก้ไขข้อบกพร่อง’
“คุณครูหลายท่านคงเคยเจอสถานการณ์เกี่ยวกับการให้คำปรึกษา หรือคำแนะนำให้กับผู้เรียน ซึ่งครูเองมีความหวังดีที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับช่อดอกไม้ที่แสนสวยงาม แต่กลับกลายเป็นมีดทิ่มแทงผู้เรียน”
ก่อการครูขอเสนอตัวอย่างเหตุการณ์ของอาจารย์อุฬาชา เหล่าชัย หรือ อ.แพร ผู้เข้าร่วม ‘วิชาโค้ชเพื่อครู’ ซึ่งเห็นว่าปัญหานี้คุณครูหลายท่าน คงมีประสบการณ์ร่วมด้วยเช่นกัน และอาจต้องการได้วิธีการ feedback นักเรียนที่ไม่ทำร้ายใจนักเรียน แต่ก็ช่วยทำให้นักเรียนเติบโตได้
คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวหลังจากได้อ่านบทสะท้อน (Reflection) ของอ.แพร คือ แล้ววิชาโค้ชเพื่อครูช่วยอะไร ?
อ.แพรให้คำจำกัดความของคำว่า ‘coaching’ ไว้ว่า “เป็นแนวทางพัฒนาคน โดยการส่งเสริมศักยภาพของเขา พาเขาไปถึงเป้าหมายต่าง ๆ ทั้งเรื่องงาน ความสัมพันธ์ เรื่องจิตใจ ฯลฯ ที่ไม่ได้เน้นการเข้าไปแก้ปมเหมือนการบำบัดหรือ counseling แต่เป็นการค่อย ๆ พาไปสำรวจสภาพจริงที่เกิดขึ้น ข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึงความเป็นไปได้ บทบาทของโค้ชเหมือนเป็นเพื่อนร่วมเดินทางที่จะช่วยสะท้อนปัญญาภายในของคนนั้น ๆ ให้ได้ทำงาน มากกว่าจะใช้การบอกหรือสอน” ถ้าพูดง่าย ๆ สำหรับคนเป็นครู คือ ‘การให้ผู้เรียนเติบโต คิดเองได้ โดยไม่ต้องสอน’ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น สามารถตอบโจทย์คำถามที่อ.แพรได้ตั้งคำถามไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมคอร์ส และตอบคำถามว่าทำไมต้องเป็นวิชาโค้ชเพื่อครู
อ.แพรเล่าว่า “การทำงานที่ผ่านมาพบว่าตนเองพยายาม (struggle) กับการให้ feedback นักเรียน ‘เราก็ว่ามันไม่แรงนะและเราทำด้วยความปรารถนาดี แต่ทำไมนักเรียนบางคนบอกว่าแรง’ บางคนมีปฏิกริยาโต้กลับแรงมากจนเราโกรธ โกรธนักเรียนไม่พอ โกรธตัวเองที่ไปโกรธนักเรียนอีก เราก็เลยอยากหาวิธีการที่มันเวิร์คกับทุกฝ่ายและโค้ชชิ่งก็เวิร์คในแง่ที่ว่า หลักการของมันทำให้เราเห็นความเชื่อของตัวเองชัดขึ้น ความเชื่อที่ว่าผู้เป็นครูมีหน้าที่ในการ ‘แก้ไขข้อบกพร่อง’ ของคนอื่น ความเชื่อนี้เป็นที่มาของการกระทำของเรา ในขณะที่หลักการของโค้ชชิ่งนั่นเชื่อว่า ‘มนุษย์มีความครบเครื่องในตัวเองทั้งด้านมืดและด้านสว่าง ไม่ได้แหว่งวิ่นหรือขาดพร่องจนต้องได้รับการเติมเต็มหรือแก้ไขจากใคร คนที่เป็นคนโค้ชก็แค่สะกิดให้เค้าเห็นด้านสว่าง ให้ความสว่างขยายจนกลบความมืด’
แน่นอนเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีแสงสว่างในตนเอง แต่ในพาร์ทของการ ‘ดึงแสงสว่าง’ นั้น ก็แอบมีเถียงในใจบ้างว่า เพื่อที่จะเห็นความสว่างก็ต้องเห็นว่าความมืดเป็นอย่างไร? แล้วทำไมเราจะชี้ให้เขาเห็นด้านมืดของเขาด้วยไม่ได้ล่ะ? นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงตกร่องการชี้แนะหรือสั่งสอนคนอื่นตลอด ทั้งคนที่ไม่ใช่ลูกศิษย์ด้วย และมันก็ทำให้เรารู้ว่าตัวเองก็ชอบมองแต่ข้อบกพร่องของตัวเองแล้วก็โบยตีตัวเอง และหมกมุ่นกับความบกพร่องของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว”
เชื่อมก่อนช่วย
หลักการสำคัญที่จะช่วยเชื่อมสัมพันธ์ให้คนที่เรา feedback ก่อน เพื่อให้เขาเปิดใจ และยอมรับความช่วยเหลือ อ.แพรจึงได้แนวคิดในการนำไปใช้ต่อในอนาคต คือ “การพยายามเข้าใจความรู้สึกเขาก่อน ให้เป็นพวกเดียวกันก่อน ช่วงเวลาที่ feedback ก็สำคัญ บางทีการ feedback ต่อหน้าคนเยอะ ๆ ทำให้บางคนรู้สึกไม่ดีที่ถูกประเมินต่อหน้าคนอื่น การ feedback ควรทำตัวต่อตัว โดยเฉพาะเรื่องที่มัน sensitive และควรทำต่อหน้า ถ้าคนไหนเขียนงานมาแย่ ๆ จะบอกว่า ถ้าอยากพัฒนาการเขียนก็ให้นัดมา ประเด็นสุดท้ายคือ โค้ชชิ่งเชื่อว่าทุกคนมีปัญญาภายใน ถึงไม่ใช่เราที่เป็นคนช่วยชี้ทางสว่าง เขาก็อาจจะไปเจอเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ทำให้เขาเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ ‘หน้าที่’ ของเราที่ต้องทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ให้ได้ในตอนนี้ ทุกคนมีขีดจำกัดในการรับ feedback ต่างกัน ถ้าเขารับได้แค่นั้นก็ไม่เห็นจะต้องฝืนยัดเยียดให้เขาเลย”
พื้นที่ปลอดภัยสร้างได้
“เราพึ่งเข้าใจว่าที่เราไม่อยากเป็นคนที่ดีมีจิตใจเมตตาเพราะเรากลัวถูกล้ำเส้น ซึ่งก็เคยโดนล้ำเส้นมาแล้ว ก็เลยอยากเป็นคนร้าย ๆ ทั้งที่จริงเราว่าเราเป็นคนใจดีมาก ๆ เราอยากช่วยเหลือคนอื่น แต่เราขีดเส้นไม่ชัด” วิธีการโค้ชชิ่งที่สอดคล้องกับคุณภาพภายในของโค้ชที่อยากช่วยคนอื่น แต่อยากมีขอบเขตที่ชัดเจน เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับตนเองและผู้เรียน อ.แพรกล่าวว่ามี 2 วิธี ได้แก่
- เรื่องกรอบเวลา ทุกการโค้ชชิ่งจะต้องมีกรอบเวลาเสมอ ไม่ลากยาว คือจะต่อเวลาก็ได้ แต่ต้องสะดวกทั้งคู่ และให้ถ้า ‘หากต้องตัดจบด้วยกรอบเวลาก็ขอให้วางใจว่าโค้ชชี่ไม่ตายหรอก’ คำพูดของคุณไพลิน จิรชัยสกุล (พี่หมู) แล้วถ้าโค้ชชี่เซ้าซี้จะคุยต่อ ก็ต้องบอกให้ชัดเจนเพื่อให้เค้าเรียนรู้ที่จะไม่พึ่งพาเราจนรุกล้ำขอบเขตของเรา ซึ่งนั่นแปลว่า ‘คนนั้นเอาจะมีปัญหาเรื่อง boundary อาจจะถูกรุกล้ำขอบเขตมาก่อนเหมือนกัน’
- การโค้ชไม่เน้นแก้ปมในอดีต ซึ่งเราไม่อยากไปแก้ปมใครเพราะกลัวความรู้สึกผูกพันแบบเกาะขาเหนียวแน่น เหมือนคนจะจมน้ำแล้วยึดเราไว้แน่น เราไม่ชอบเป็นแบบนั้นให้ใครแลัรู้สึกอึดอัดในสภาวะแบบนั้น
สุดท้ายนี้ อ.แพรยังให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการโค้ชว่า การโค้ชไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง บางสถานการณ์การสอนก็ยังจำเป็นและเหมาะสม โค้ชก็ต้องเรียนรู้ว่าจังหวะไหนจะสอนหรือจังหวะไหนจะโค้ช ส่วนตัวเรามองว่าถ้าเป็นการให้คำปรึกษาหรือให้ feedback การโค้ชจะมีประโยชน์มาก ๆ หรือในบางจังหวะที่สอนในห้องก็สามารถนำมาใช้ได้เหมือนกัน