พิเศษ ถาแหล่ง: โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ และ ‘ห้องเรียนระบบสอง’ แนวทางของครู-ชุมชน ป้องกันเด็กหล่นจากระบบการศึกษา
Reading Time: 2 minutesออกจากโรงเรียนกลางคันปีละสิบกว่าราย ปัญหาใหญ่ของตำบลห้วยซ้อ
โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิษก เป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีนักเรียนประมาณ 620 คน เป็นระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 280 คน ตอนปลาย 340 คน และมีบุคลากรโรงเรียน 42 คน ซึ่งความยากจนในพื้นที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับนักเรียนอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เคยระบุเอาไว้ว่าตำบลห้วยซ้อมีสัดส่วนคนจนมากถึงร้อยละ 10-18 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
“บอกตรงๆ ว่าเราไม่ได้เก็บข้อมูลเชิงปริมาณไว้ แต่เด็ก ม.ต้นส่วนที่คัดกรองแล้วก็จะได้รับทุนปัจจัยพื้นฐานตามกรอบของ กสศ. ที่ช่วยเหลือได้บ้างในปีการศึกษานั้น 1,500-3,000 บาทต่อคน จะได้รับทุนกันประมาณ 100 คน อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่โรงเรียนพยายามหาทุนจรให้ เขามอบมาครั้งละ 1,000-2,000 บาท”
อย่างไรก็ตาม ทุนเหล่านี้ก็ไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายพอสำหรับเด็กยากจนเสมอไป จุดนี้ ผอ.พิเศษกล่าวย้ำชัดเจนว่า “บางทีทุนมีเงื่อนไข เช่น ต้องมีเกรดเฉลี่ยที่ดี มีผลการเรียนที่ดี เด็กยากจนมันจะเอาผลการเรียนแบบนั้นมาจากไหน มันยาก มันเป็นไปแทบไม่ได้ เด็กยากจนจะให้เอาพฤติกรรมที่ดีที่สุดมาวัดงี้มันยาก… เขาไม่ได้ทุกคน เขาก็ต้องรอ พอเขารอไม่ได้ชีวิตเขาก็ต้องดิ้นรน”
สำหรับทุนที่ไม่ได้มีลักษณะประจำอย่างทุนจรทำให้การได้รับทุนไม่มีความต่อเนื่อง ผอ.พิเศษจึงใช้วิธีทำบัญชีรายชื่อนักเรียนที่มีความยากจนขึ้นมาเพื่อคอยเรียกไปรับทุนตามลำดับ หากโรงเรียนสามารถหาทุนการศึกษาได้
“ปีหนึ่งมีการออกกลางคันไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตามประมาณปีละสิบกว่าราย รวมทั้งออกเพราะเหตุอื่นนอกจากความยากจนด้วยนะ”
หากมีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 620 คน เท่ากับว่าก่อนหน้านี้โรงเรียนสูญเสียนักเรียนแต่ละปีไปอย่างต่ำร้อยละ 1.6 จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาขนาดใหญ่เมื่อจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ตัวเลขครัวเรือนยากจนพิเศษยังขยับขึ้นตามกาลเวลา นั่นหมายความว่าหากโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ไม่เร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จำนวนเฉลี่ยของนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจะไม่ใช่สิบกว่าคนต่อปี แต่อาจจะมากกว่าที่เคยเป็นมาเรื่อยๆ ได้เช่นกัน
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผอ.พิเศษ ยกตัวอย่างการหลุดจากระบบการศึกษาของนักเรียนคนหนึ่งเพราะความยากจน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่อีกจำนวนมากเช่นกัน
“เคสล่าสุด ที่บ้านเด็กเขาค่อนข้างยากจน เขามีศักยภาพด้านงานช่าง ด้านศิลปะล้านนา เล่นดนตรีพื้นเมือง กลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบ อะไรแบบนี้ เรียนกับเรา ม.1-3 นี่แหละ พอขึ้น ม.4 ครอบครัวเห็นว่าเด็กพอช่วยงานครอบครัวได้ ครอบครัวมีภาระมีค่าใช้จ่าย เด็กเขาก็มีแม่มีน้องต้องดูแล เลยเป็นกำลังหลักของครอบครัวในการประกอบอาชีพ ไปรับจ้างเขากรีดยางช่วงกลางคืน จนช่วงหลังๆ ก็มาเรียนไม่ไหว”
โชคยังดีที่ขณะที่เด็กคนนี้กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ผอ.พิเศษกำลังพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษา “ห้องเรียนระบบสอง” ได้สักระยะแล้ว และทำให้เด็กคนนี้ได้มีโอกาสในการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง
ห้องเรียนระบบสอง แนวทางทดลองใหม่ที่อิงจากวิถีชีวิตจริง
เมื่อเด็กจำนวนหนึ่งต้องสุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาปีละสิบกว่าคน การมีห้องเรียนเพียงระบบหรือรูปแบบเดียวจึงไม่ตอบโจทย์ของการจัดการศึกษาในพื้นที่อีกต่อไป ผอ.พิเศษจึงได้พัฒนา “ห้องเรียนระบบสอง” เพื่อรองรับการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มข้างต้น อีกทั้งในระยะหลังระบบดังกล่าวนี้ยังสามารถพานักเรียนที่หลุดออกจากระบบไปแล้วกลับมาศึกษาต่อได้บางส่วนอีกด้วย
“จุดเริ่มต้นคือปี 2563 ที่พี่ย้ายมาเป็นผู้บริหาร ข้อมูลการออกกลางคันค่อนข้างสูง จำนวนนักเรียนย้อนหลังลดลงอย่างต่อเนื่อง”
ผอ.พิเศษเล่าถึงจุดเริ่มต้นไว้ว่า สถิติการออกกลางคันของปี 2563 สูงจนน่าตกใจ ขณะที่ในปี 2564 หลังเขาเป็น ผอ. มาได้ประมาณหนึ่งปีก็พบว่า มีนักเรียนคนหนึ่งไม่มาโรงเรียน บางอาทิตย์มาเพียงหนึ่งวัน หนึ่งเดือนอาจจะมาเรียนแค่สี่ถึงห้าครั้ง เทอมแรกจึงให้ครูคอยติดตามและพบว่าเด็กคนนี้จำเป็นต้องช่วยงานครอบครัวที่บ้านอย่างหนัก
“พี่สาวของเด็กคนนี้ป่วยหนัก ตอนนี้เขาเสียไปแล้วนะ แต่ตอนนั้นเขาป่วยหนักอยู่ต่างจังหวัดเลยทำให้เด็กคนนี้ต้องคอยช่วยพ่อแม่ทำงาน คือเห็นสภาพก็พบว่าเขาไม่ได้อยากไม่มาโรงเรียนนี่หว่า เขาไม่มาเพราะมันมีปัจจัยอื่นที่บังคับให้เขาไม่มา พ่อแม่ทำนา ทำงานรับจ้าง หาเงินได้ก็ต้องเอาไปดูพี่สาว”
ผอ.พิเศษจึงเริ่มปรึกษากับครูคนอื่นว่า จะใช้วิธีการทำห้องเรียนเหมือนช่วงเรียนออนไลน์ระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมอบหมายให้ทำงานจากวิถีชีวิตประจำวันแทน
“เราไม่ต้องไปสอนออนไลน์แต่เรามอบงานให้เขาไปทำ เขาทำอะไรในชีวิตจริงที่เขาเป็นอยู่ เขารับจ้างก่อสร้าง รับจ้างกรีดยาง หรือรับจ้างทำสวน ให้เขาส่งข้อมูลสิ่งเหล่านี้กลับมาให้เราประเมินเป็นองค์รวม ไม่ต้องประเมินแยกเป็นวิชาแล้วไม่งั้นไม่ผ่าน ไปดูเลยว่าเขาไปทำสวนมันเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ยังไงได้บ้าง เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ยังไงได้บ้าง นี่แหละจุดเริ่มต้นของห้องเรียนระบบสอง”
ห้องเรียนระบบสองจึงเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต่อมาเมื่อนักเรียนคนนั้นจบไปแล้ว ครูได้กลับมาดูข้อมูลจำนวนมากที่เด็กส่งกลับมาระหว่างการศึกษา ทั้ง ผอ.พิเศษและครูต่างมองว่า น่านำไปพัฒนาต่อยอดเพราะยังมีนักเรียนลักษณะนี้อีกหลายคนที่กำลังสุ่มเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ
“ครูก็ช่วยกันคิดช่วยกันพัฒนากันมาเรื่อยๆ ครูบางคนก็บอกว่าให้เด็กได้เข้าเรียนบ้างสักหน่อยดีไหม เราทำลิ้งก์กับคลิปไปแขวนไว้ในเว็บไซต์โรงเรียนดีไหม พอเด็กมาทำก็ทำผิดทำถูกไม่ว่ากันขอแค่ได้เข้ามาทำ ถ้าเขาไม่มีอินเตอร์เน็ตก็หาวิธีการอย่างอื่น และเกิดการนัดรวมนักเรียนระบบสองเข้ามาคุยกันในแต่ละเทอม”
วิธีการเข้าไปศึกษาในเว็บไซต์โรงเรียน จะมีคลิปของแต่ละวิชาฝังเอาไว้ ความยาวคลิปละ 5-7 นาที และให้ทำแบบทดสอบที่เป็น Google Forms ลักษณะปรนัยประมาณ 5-10 ข้อต่อหนึ่งคลิปเพื่อส่งกลับมายังครูประจำชั้นแต่ละคนรวบรวม
เพราะชุมชนและครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการศึกษา
“เป็นครูอยู่ที่นี่ประมาณสิบกว่าปี เรื่องความยากจนที่ทำให้เด็กหลุดออกไปเนี่ย เขาก็จะมีความพยายามจัดการชีวิตของเขาเอง เช่น ไปเรียน กศน. บางทีไปเรียนได้หนึ่งเทอมก็หลุดไปเลยจนต้องไปรับจ้าง สุดท้ายก็จะเห็นเด็กกลุ่มนี้อยู่ในชุมชนนี่แหละ กลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาโรงเรียนเราแล้วไปเรียน กศน. แล้วไปเรียนไม่จบ ครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้วุฒิการศึกษา ก็จะเป็นวัฏจักรในชุมชน”
ดังนั้นปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาจึงไม่ใช่ปัญหาที่มีแค่โรงเรียนต้องคอยจัดการ แต่เป็นปัญหาร่วมกันทั้งหมดของคนในชุมชน ทุกคนต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมกัน การจัดการศึกษาจึงจำเป็นต้องให้ทุกคนรับรู้และมีส่วนร่วมเหมือนประโยคที่ว่า “เลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน”
ปัจจุบัน มีนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในห้องเรียนระบบสองอยู่ถึง 30 กว่าคน โดย ผอ.พิเศษระบุว่าในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มนักเรียนของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาออกไปแล้วและยังอยู่ในตำบลห้วยซ้อ แต่โรงเรียนสามารถตามให้กลับมาเรียนในห้องเรียนระบบสองได้
“พ่อแม่เขาทำงานอะไรเราก็ให้เขาไปช่วย อันนี้เราคุยกับผู้ปกครองก่อนว่า ลูกคุณอยากอยู่ระบบสองแล้วนะ ขณะเดียวกันเด็กบางคนก็มีอาชีพ เป็นลูกจ้างอยู่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นก็มี เป็นภารโรง เป็นเด็กปั๊ม เป็นคนกรีดยาง เราก็ให้เขาทำในสิ่งที่เป็นฐานชีวิตจริงของเขา เด็ก ม.ต้นให้ผู้ปกครองกำกับดูแล เด็กโตแล้วเขาดูแลชีวิตตัวเองได้”
นอกจากนี้ ห้องเรียนระบบสองไม่ได้เพียงแค่ให้นักเรียนได้ใช้ชีวิตตามวิถีที่จำเป็นต้องใช้ หรือต้องคอยเข้ามาทำแบบทดสอบบนเว็บไซต์ของโรงเรียนเท่านั้น แต่ ผอ.พิเศษคิดว่าการให้นักเรียนได้ทำอะไรเพื่อสังคมส่วนรวมก็ควรถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเช่นกัน
“อะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น ไปช่วยงานวัด งานชุมชน งานหมู่บ้าน ก็ให้เขาถ่ายรูปกับถ่ายคลิปสั้นมา สุดท้ายเอามารวมกันไว้ประเมินและเล่าสู่กันฟังตอนสิ้นปีการศึกษา”
ผู้ปกครองทุกคนรู้สึกดีกับการจัดการศึกษาแบบห้องเรียนสองระบบ เนื่องจากผู้ปกครองมองว่าลูกเขาได้รับโอกาส ไม่ถูกตัดสิทธิทางการศึกษา ทำให้ผู้ปกครองเต็มใจที่จะช่วยเหลือการจัดการศึกษาลักษณะนี้เต็มที่ ในอีกความหมายหนึ่งคือชุมชนโดยรอบของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ให้การสนับสนุนแนวคิดนี้มาก
“คณะกรรมการสถานศึกษารับรู้การมีอยู่ของห้องเรียนระบบสอง เห็นด้วยและเห็นชอบที่จะขับเคลื่อนต่อไป”
ความท้าทายที่ยังต้องเสริมแรง อนาคตที่ห้วยซ้อฯ ยังต้องพยายามต่อกับนิยามคำว่า “คุณภาพ”
“เราทำมาบนพื้นฐานของการทำกันเองภายในโรงเรียน ต้องบอกตรงๆ ว่าไม่ได้นำเสนอที่ต้นสังกัดหรือที่เขต”
ผอ.พิเศษระบุว่า ขณะนี้โรงเรียนยังดำเนินการกันเองโดยยังไม่นำเสนอหรือรายงานให้กับหน่วยงานใด ๆ เพื่อทราบหรือรับรู้การดำเนินการ เนื่องจากเกรงว่าหากนำเสนอหรือรายงานไปแล้วจะมีปัจจัยอื่น ๆ มากำหนดให้ครูต้องทำเอกสารใด ๆ เพิ่มเติมขึ้นจากงานปกติของครูที่ก็หนักอยู่แล้ว เช่น ให้เขียนหลักสูตร ให้เขียนเครื่องมือวัดผลประเมินผล ให้ทำเอกสารรายงาน ให้ทำตัวชีวัด ต่าง ๆ นานาขึ้นมาอีก ซึ่งนั่นจะเป็นการเพิ่มภาระงานของครูและ เมื่อภาระงานของครูเพิ่มขึ้น ผอ.พิเศษก็มองว่าจะกลายเป็นการผลักให้ครูออกจากการกระบวนการดำเนินการจัดการศึกษาห้องเรียนระบบสอง
“ตอนนี้ก็เริ่มมีคนรับรู้และมีคนเห็นสิ่งที่เราทำบ้างอย่างไม่เป็นทางการ ถามว่าอยากเอาไปนำเสนอไหม ถ้าเป็นประโยชน์ขึ้น ชัดเจนขึ้น ก็อยากเอาไปนำเสนอ เพียงแต่ไม่อยากให้เอาเครื่องมือหรือกระบวนการอะไรมากมายมาให้ครูผมได้ทำเพิ่ม มาแนะนำได้ แต่อย่าไปเพิ่มภาระให้ครู”
เมื่อถูกถามถึงความท้าทายที่ห้องเรียนระบบสองยังต้องพัฒนา ผอ.พิเศษกล่าวว่า คงเป็นเรื่องของคุณภาพด้านวิชาการ ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะถูกโจมตีว่าปล่อยให้นักเรียนเรียนจบอย่างไม่มีคุณภาพทางวิชาการตามหลักสูตร จุดนี้ ผอ.พิเศษก็ยอมรับว่านักเรียนในห้องเรียนระบบสองคงยากที่จะสามารถเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในด้านที่ต้องใช้ความรู้สายวิชาการมาก ๆ ได้
อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่า นักเรียนจำนวนมากยังสามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัยเปิดหรือการศึกษาด้านสายอาชีพต่อได้เช่นกัน ซึ่งถือว่ายังดีกว่าในอดีตที่ทางเลือกเหล่านี้ถูกปิดตาย เพราะเด็กไม่มีวุฒิการศึกษาในระบบเลยตั้งแต่แรก
สุดท้ายนี้ ผอ.พิเศษ เชื่อว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีคุณภาพที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร และเป็นคุณภาพที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าคุณภาพตามตัวชี้วัดของส่วนกลางแต่อย่างใด
“จะให้เอาเด็กที่อยู่ในหลักสูตรไปทำสวนยางเหมือนเขาก็ทำไม่ได้ เขารู้ช่วงเวลา รู้จังหวะการกรีดยาง รู้ว่าต้องทำยังไงกับยาง เป็นทักษะของเขาที่เด็กในระบบก็ทำไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันถ้าเอาหลักสูตรไปจับกับเขาก็หลุดหมดแหละ แต่ตัวอื่นอย่างกระบวนการ เจตคติ เขามีหมดนะ ถ้าเขาไม่รักเรียนเขาไม่มาเข้าห้องเรียนระบบสองหรอก”