, , ,

ไม่มีคน-ไม่ถนัด-ไม่เยียวยา สามปัญหาที่ครูต้องแบกรับกับงานนอกห้องเรียน

สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) ปี 2567 มีโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 29,082 แห่ง มีห้องเรียนทั้งหมด 346,659 ห้อง และมีนักเรียนทั้งหมด 6,330,464 คน1 ขณะที่จำนวนครูในสังกัดมีอยู่เพียง 409,003 คนเท่านั้น2 โดยครูหนึ่งคนต้องมีชั่วโมงปฏิบัติงานไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่บ่อยครั้งครูต้องทำมากกว่าการสอนหนังสือ หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมานี้ทำให้ครูหลายคนเกิดความเครียดสะสม ปัญหาดังกล่าวเรื้อรังในระบบการศึกษาเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 ปัญหานี้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของครูมัท-อนุสรา ชวนรัมย์ ครูจากโรงเรียนในจังหวัดบุรีรัมย์ และครูปอ ครูคอมพิวเตอร์จากโรงเรียนในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งยิ่งชี้ชัดว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงศึกษาควรมองข้ามอีกต่อไป

การปฏิรูประบบการศึกษาในปี 2542 ทำให้ครูบางส่วนต้องทำหน้าที่เป็น ‘ครูการเงิน’ ‘ครูพัสดุ’ ไปจนถึงหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับการมอบหมายจากผู้บริหาร เช่น การดูแลโครงการอาหารกลางวัน หรือการดูแลโครงการนมโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอนหนังสือ อีกทั้งยังแย่งเวลาครูไปจากภาระงานการสอนตามตารางสอนอีกด้วย อย่างไรก็ตามปัญหานี้จะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้งหมดทั่วประเทศ

ข้อมูลปี 2567 ระบุว่า มีโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน หรือ ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ในสังกัด สพฐ. อยู่ทั้งหมด 15,327 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 52.58 ของจำนวนโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั้งหมด3 โดยอัตรากำลังสายงานการสอนของโรงเรียนที่มีนักเรียนระหว่าง 81-119 คน จะอยู่ที่ 8 อัตรา ระหว่าง 41-80 คน อยู่ที่ 6 อัตรา และ ระหว่าง 1-40 คน อยู่ที่ 1-4 อัตรา เท่านั้น4 ทำให้โรงเรียนที่มีจำนวนครูทั้งหมดไม่กี่คนต้องมีครูที่ทำงานด้านการเงินและพัสดุได้ทัดเทียมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ แม้จะไม่มีกำลังทรัพย์ในการจ้างเจ้าหน้าที่การเงิน-การพัสดุโดยเฉพาะเท่าก็ตาม

โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งจึงต้องให้ครูคนใดคนหนึ่งแบกรับงานการเงินและพัสดุ หรือต้องให้ครูที่มาบรรจุมีคาบว่างเกิดขึ้นเพื่อนำเวลาดังกล่าวไปทำงานด้านเอกสาร ซ้ำร้ายหากโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนปฐมวัยหรือโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ภาระงานที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากงานการเงินและพัสดุยังรวมไปถึงโครงการอาหารกลางวัน และโครงการนมโรงเรียน อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ระบบอัตรากำลังของครูไทยไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันกับภาระงาน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้จำนวนครูที่มีจำกัดต้องแบกรับเนื้องานจำนวนมากที่แย่งเวลาสอนหนังสือ เพื่อไปทำหน้าที่ที่ครูไม่ได้โดนฝึกสอนให้ทำเป็นมาตั้งแต่แรก

งานพัสดุ และงานการเงิน สิ่งที่ไม่มีสอนในหลักสูตรผลิตครู

หลักสูตรครุศาสตร์ของแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความแตกต่างของรายวิชาไม่มากนัก เนื่องจากเป้าหมายอย่างหนึ่งของการผลิตครูคือการทำให้ครูเชี่ยวชาญในองค์ความรู้ที่ตนเองต้องนำไปสอน รายวิชาของคณะครุศาสตร์จึงมักถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มวิชา เช่น วิชาภาษาไทย วิชาสังคมศาสตร์ วิชากลุ่มภาษาต่างประเทศ เป็นต้น แต่ละมหาวิทยาลัยจึงไม่มีการบรรจุวิชาการจัดการงบประมาณโรงเรียน หรือวิชาการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโรงเรียนไว้ในหลักสูตรการผลิตครู จุดนี้ทำให้ครูไทยรุ่นใหม่ขาดความเชี่ยวชาญในภาระงานที่ทุกโรงเรียนต้องมี โดยเฉพาะเมื่องานดังกล่าวมักถูกกดดันให้ครูบรรจุใหม่ต้องรับไปทำ จนนำไปสู่การเพิ่มความเครียดสะสมของครูหลายๆ คนในเวลาต่อมา

ความไม่เชี่ยวชาญงานการเงินหรืองานจัดซื้อจัดจ้างอาจนำมาสู่ปัญหาทางวินัยและทางกฎหมาย เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดในการทำเอกสาร หากเอกสารมีข้อผิดพลาด ไม่ตรงกับสมุดบัญชี ก็อาจถูกตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขณะเดียวกัน หากมีผู้อำนวยการที่ไม่มีวินัยด้านการใช้เงิน ครูการเงินอาจถูกบังคับให้ทำผิดระเบียบ หรืออาจจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่ผิดระเบียบอยู่ เช่น การเบิกงบประมาณออกไปใช้ก่อนแล้วค่อยทำเอกสารตามมาทีหลังด้วยใบเสร็จที่ไม่ระบุวันที่ เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ครูการเงินแบกรับความเสี่ยงร่วมไปกับผู้บริหารแม้ว่าครูการเงินจะไม่ได้ต้องการก็ตาม

ความเครียดสะสมจากงานที่ทำโดยไม่เต็มใจ ทำให้ครูไทยไร้ที่พึ่งหรือทางออกจากวังวนปัญหาดังกล่าว กลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถจัดการให้จบได้ จนสามารถพัฒนาสู่ปัญหาทางสุขภาวะทางจิตและโรคซึมเศร้าที่ระบบราชการยังไม่มีทางออกให้ กลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันปะทุอยู่ในหลายโรงเรียน

ระเบิดเวลาที่ระบบการศึกษาสะสม ปัญหาสุขภาพจิตครูที่ถูกมองข้าม

ประเทศไทยมีการแบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็นสองกลุ่ม คือ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั้งหมด 183 เขต และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั้งหมด 62 เขต อย่างไรก็ตาม การรวบรวมข้อมูลของ Rocket Media Lab ในปี 2567 พบว่า มีนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่ สพป. เพียง 183 คน ดูแลโรงเรียนในสังกัด 26,702 โรงเรียน และนักจิตวิทยาโรงเรียนประจำเขตพื้นที่ สพม. เพียง 63 คน ดูแลโรงเรียนในสังกัด 2,360 โรงเรียน ทำหน้าที่ดูแลสุขภาวะทางจิตของนักเรียนเป็นหลัก ทำให้นอกจากหน้าที่ตามปกติจะมีมากกว่าอัตรากำลังแล้ว สุขภาวะทางจิตของครูจึงแทบเป็นไปได้ยากที่จะเข้าถึงการดูแลจากระบบการศึกษาไทย

หากย้อนกลับไปในปี 2565 ครูท๊อฟฟี่-ศุภณัฐ กาหยี ครูโรงเรียนรัฐบาลและเจ้าของเพจ Bangkok Otter เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ ThisAble.Me ว่า การลางานเพื่อพบจิตแพทย์นั้นไม่สามารถลาได้ทันที แต่ต้องทำบันทึกข้อความแจ้งผู้บริหารเสียก่อน รวมถึงการพบจิตแพทย์เป็นประจำจะไม่ถูกนับว่าเป็นการลาป่วย แต่ถูกรวมไปอยู่ในการลากิจแทน โดยครูไม่สามารถลาเกิน 8 ครั้งต่อปีงบประมาณได้ ทำให้การลาไปพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอจะมีผลต่อการประเมินขั้นเงินเดือนในแต่ละปีงบประมาณ

ปัญหาสุขภาวะทางจิตและโรคซึมเศร้าของครูไทยจึงไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวที่ครูแต่ละคนต้องจัดการด้วยตนเอง แต่ระบบราชการของกระทรวงศึกษายังไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้ว่าปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มนักเรียนนั้นจะเริ่มมีนโยบายออกมาบ้างเป็นระยะ แต่ครูกลับไม่สามารถเข้าถึงกลไกเหล่านั้นได้ เพราะการลา การรักษา ไปจนถึงการนับชั่วโมงการทำงานยังติดยึดอยู่กับกฎระเบียบของระบบราชการ

ขณะเดียวกัน ระบบการดูแลสุขภาวะทางจิตของครูก็ไม่ควรต้องรอให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเสียก่อนจึงจะสามารถเข้าสู่การรักษาได้ ดังกรณีการเสียชีวิตครูมัทที่ในจดหมายการจากไปชี้ให้เห็นว่าความเครียดที่สะสมของครูก็มีส่วนที่ผลักดันไปสู่การเสียชีวิต เนื่องจากการแบกรับภาระงานการเงินเข้ามาทำแต่ไม่ได้มีผู้ร่วมรับผิดชอบในการทำงาน ความเครียดดังกล่าวไม่มีพื้นที่ในระบบการศึกษาให้ครูได้จัดการอย่างถูกต้อง ซ้ำร้ายยังไม่ถูกเข้าอกเข้าใจจากเพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร ครูมัทจึงไม่มีทางออกอื่นในการระบายความอัดอั้นและความรู้สึกกดดันดังกล่าว

ทางออกของปัญหา คืนครูผู้มีความเป็นมนุษย์สู่ห้องเรียน

การเพิ่มภาระงานที่ไม่ใช่ความถนัดของครูมาเบียดบังหน้าที่หลัก ประกอบกับการต้องแบกรับความเสี่ยงและความกดดันโดยไม่มีเครื่องมือเชิงระบบร่วมแก้ไขปัญหา ผลักดันภาระทางจิตใจไปให้ครูเพียงฝ่ายเดียว มีแต่จะส่งผลเสียต่อระบบการศึกษาไทยในระยะยาว เนื่องจากทำให้ครูไม่สามารถสอนหนังสือได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันจะยิ่งเพิ่มปัญหาสุขภาวะทางจิตแก่ครูมากขึ้น จนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้อีกดังกรณีของครูมัทที่ผ่านมา

การแก้ไขปัญหาที่กระทรวงศึกษาธิการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาไทยทั้งหมดควรเริ่มสนใจในขณะนี้มีทั้งหมด 4 ประการ คือ 

  1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรณีการเสียชีวิตของครูมัท เพื่อเข้าใจถึงรากของปัญหาที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีกในโรงเรียนอื่นที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน 
  2. ประการที่สอง ปรับปรุงระบบงบประมาณ การเงิน และการพัสดุของโรงเรียน เพื่อให้ยากต่อการทุจริต ขณะเดียวกันต้องไม่ให้ความรับผิดชอบตกไปอยู่กับครูคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว
  3. ลดภาระงานการเงินและพัสดุที่ครูต้องทำ วิธีนี้จะช่วยคืนครูกลับมาทำงานสอนหนังสือที่มีความถนัด แล้วจัดหาบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะมาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน
  4. โรงเรียนควรมีระบบดูแลสุขภาพจิตแก่ทุกคนในโรงเรียน เนื่องจากความเครียดหรือโรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดแค่เฉพาะในนักเรียน ครูหรือบุคลากรอื่นๆ ก็มีเข้าถึงระบบที่รองรับปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน

กรณีการเสียชีวิตของครูมัทจึงอาจหลีกเลี่ยงให้ไม่เกิดซ้ำกับครูคนอื่นได้อีก หากสามารถผลักดันข้อเสนอทั้ง 4 ข้อข้างต้นให้เกิดขึ้นโดยเร็วได้ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะที่โรงเรียนของครูมัทแต่เป็นปัญหาร่วมกันของทุกโรงเรียนในประเทศไทย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังสะท้อนว่าครูอีกหลายคนกำลังตกเป็นเหยื่อของการกดทับเชิงโครงสร้างให้แบกรับความเสี่ยงและความเครียดเช่นกัน 

การคืนครูสู่ห้องเรียนด้วยมุมมองที่มองว่าครูเองก็เป็นมนุษย์ เครียดได้ ต้องการความเข้าอกเข้าใจ และต้องการความช่วยเหลือ จึงควรเร่งเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ครูได้กลับมาทำหน้าที่หลักอย่างการสอนนักเรียนได้อย่างเต็มที่ตามที่ควรจะเป็น ให้ไม่ต้องมีการสูญเสียเช่นกรณีครูมัทอีกในอนาคต


1 ข้อมูลพื้นฐานทางการศึกษา ปีการศึกษา 2567. สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กระทรวงศึกษาธิการ. จาก http://www.bopp.go.th/?page_id=4551  

2 จำนวนครู จำแนกตามสังกัด ปีการศึกษา 2/2567. ระบบศูนย์บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการศึกษา. กระทรวงศึกษาธิการ. จาก https://exchange.moe.go.th/web/ReportLogin.htm

3 ตารางที่ 7 จำนวนโรงเรียนจำแนกตามขนาดจำนวนนักเรียน ปีการศึกษา 2567. สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กระทรวงศึกษาธิการ. จาก http://www.bopp.go.th/?page_id=4551  

4 เกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2563. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา. จาก https://otepc.go.th/images/00_YEAR2563/06_PB/circular_document/v23-63.pdf


ที่มา

  1. ข้อมูลพื้นฐานทางการศึกษา ปีการศึกษา 2567. สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กระทรวงศึกษาธิการ. จาก http://www.bopp.go.th/?page_id=4551  
  2. จำนวนครู จำแนกตามสังกัด ปีการศึกษา 2/2567. ระบบศูนย์บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการศึกษา. กระทรวงศึกษาธิการ. จาก https://exchange.moe.go.th/web/ReportLogin.htm 
  3. ตารางที่ 7 จำนวนโรงเรียนจำแนกตามขนาดจำนวนนักเรียน ปีการศึกษา 2567. สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กระทรวงศึกษาธิการ. จาก http://www.bopp.go.th/?page_id=4551
  4. เกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2563. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา. จาก https://otepc.go.th/images/00_YEAR2563/06_PB/circular_document/v23-63.pdf  
  5. สำรวจกลไกดูแลสุขภาพจิตเด็กไทย บุคลากรเพียงพอไหมในการรับมือ. 2567. Rocket Media Lab. จาก https://rocketmedialab.co/mental-health-personnel/ 
  6. พิชญา เตระจิตร. 2565. โรคซึมเศร้าในจักรวาลราชการครูไทย. ThisAble.Me. จาก https://thisable.me/content/2022/06/834 

เรื่องอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ