จุดไฟให้ครูและการศึกษาในระบบโรงเรียน: เครือข่ายก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี
Reading Time: 2 minutesพื้นที่จัดการศึกษาในโรงเรียน เป็นพื้นที่เรียนรู้หลักของนักเรียน เป็นพื้นที่ที่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงต้นของชีวิตอยู่ที่นี่
หากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ที่สนุก มีความสุข และมีความหมายกับนักเรียน
พื้นที่ที่มีครูเป็นผู้จุดประกายและพื้นที่ปลอดภัย
โรงเรียนคงเป็นพื้นที่ที่มีความหมายอย่างมากต่อชีวิตของเด็กทุกคน
เครือข่ายก่อการครูกระบวนกรอุดรธานีซึ่งค้นพบเคล็ดลับบางอย่างในการจุดไฟให้ครูและการศึกษาในระบบในโรงเรียนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงอาสามาเป็นเพื่อนร่วมทาง ชวนผู้บริหารและครูในโรงเรียนมาเรียนรู้เคล็ดลับนี้เพื่อช่วยกันปลุกให้การศึกษาในระบบของอุดรธานีได้ทำหน้าที่สร้างการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมายกับนักเรียน
เพราะพวกเขาเชื่อว่าเมื่อครูเปลี่ยนไป ห้องเรียนจะเปลี่ยนแปลง และผู้เรียนจะได้รับผลเป็นจำนวนมาก
ก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี
เครือข่ายก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี เกิดจากการรวมตัวของครูโรงเรียนต่าง ๆ ในอุดรธานี นำโดย อดีตผอ.หมอน-ศรีสมร สนทา ครูเจี๊ยบ-ฐิติยาภรณ์ วิเศษโวหาร ครูจุ๋ม-ประภาพร คำวันดี ครูดรีม-อรนิชกานต์ อินธิบาล ครูเตเต้-สังคม หาญนาดง และทีมครูโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน ผอ.สุจินดา โสภาพร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองบัวสะอาดโพคำ ครูจู-จุรีพร ชื่นนิรันดร์ โรงเรียนบ้านกุดขนวน ครูต่อ-จิรเมธ สนทา โรงเรียนหนองกุงดอนบาก ครูสุวรรณี ศรีเนตร และทีมครูโรงเรียนศรีขวัญเมือง ซึ่งผ่านการเรียนรู้กับโครงการก่อการครูทั้งทฤษฎี การอบรมเชิงปฏิบัติการหลากหลายวิชา และนำเคล็ดวิชาทั้งหมดลองผิดลองถูก ทดลองใช้ที่โรงเรียนจนเกิดผลสำเร็จ และอยากถ่ายทอดวิชาเหล่านี้สู่โรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป จึง ‘สร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพครูในจังหวัดอุดรธานี’ เปลี่ยนจากครูไปสู่กระบวนกร ให้ครูมีทักษะการเป็นกระบวนกร สามารถจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Active Learning) ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน และตอบโจทย์เรื่องการเติบโตทางวิชาชีพของครู รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานพัฒนาการศึกษาของจังหวัด โดยในปีนี้มุ่งเน้นเปิดพื้นที่ให้กับครูโรงเรียนในอําเภอพิบูลย์รักษ์ ครูทั่วไปในจังหวัดอุดรธานีที่สนใจ และบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดอุดรธานี
จุดไฟในใจครู
- จุดไฟในใจครู คือกระบวนการแรกที่หวังเปลี่ยนการศึกษาในระบบโรงเรียน
ทีมงานก่อการครูอุดรธานีค่อย ๆ ชวนคุณครูรู้จักตัวเองและนักเรียนผ่านกิจกรรมภูเขาน้ำแข็ง เพื่อความเข้าใจมนุษย์ว่าเบื้องลึกของพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นเกิดจากอะไร เพื่อเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของนักเรียน รวมถึงทบทวนความคาดหวังและเป้าหมายในการเป็นครู กลับไปยังความตั้งใจนั้นอีกครั้งเพื่อนำพลังและความฝันเหล่านั้นมาหล่อเลี้ยง เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาอีกครั้ง และสํารวจเวทมนตร์หรือศักยภาพภายในที่ตัวเองมีอยู่ซึ่งหลายคนอาจหลงลืมไป และเชิญชวนให้ครูนำศักยภาพเหล่านั้นออกมาใช้ ในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน รวมถึงการเติมศักยภาพด้านอื่น
ด้วยความเชื่อเรื่องการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Active Learning) และสอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน ดังนั้นบทบาทของคุณครูจึงต้องปรับเป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ หรือกระบวนกร (Facilitator) ที่ทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามเป้าหมาย ภายหลังการฟื้นพลังภายในตัวครูแล้ว ลำดับต่อไปหากครูมีกำลังที่อยากกลับไปเปลี่ยนห้องเรียน ทีมงานก่อการครูอุดรธานีจึงชวนครูมาเรียนรู้เครื่องมือ ซึ่งเครื่องมือแรกคือ “มหัศจรรย์สร้างสรรค์การเรียนรู้ (Learning curve)” ชวนคุณครูทําความเข้าใจหัวใจของการออกแบบ “ห้องเรียนสร้างสรรค์” ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ตั้งแต่การจุดประกาย กระตุ้นให้อยากเรียนรู้ ไปสู่การมีประสบการณ์จากการลงมือ และสรุปบทเรียน เห็นแนวทางการประยุกต์ใช้ความรู้ โดยแนวคิดการออกแบบที่มี เกม กิจกรรม กระบวนการ เข้ามาเพื่อให้กระบวนการเรียนรู้สนุกและสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้จริง
เครื่องมือที่สองคือ “Real world” การออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับความต้องการและบริบทของผู้เรียน ด้วยการนําเกมมาร้อยเรียงกับกิจกรรมการเรียนรู้ การฝึกใช้เทคนิคและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียน โดยเน้นการคิดแก้ปัญหา และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มั่นคงถาวรมากขึ้น
นอกจากเครื่องมือแล้ว ครูผู้เข้าร่วมต่างสะท้อนถึงความเข้าใจในการออกแบบและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหมาย เป็นการสอนโดยให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ พัฒนาทักษะการสื่อสารและความมั่นใจในการสอน รวมถึงความสามารถในการสร้างเครือข่ายและทำงานร่วมกัน ส่งผลใหนักเรียนได้พัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ สามารถพัฒนาเรื่องการคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม รวมถึงเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้อีกด้วย
ติดตามการทำงานจุดไฟให้ครูและการศึกษาในระบบโรงเรียนเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊กเพจ ‘ก่อการครู กระบวนกรอุดรธานี’
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการพัฒนานิเวศการเรียนรู้เชื่อมครูและศิษย์ฯ’ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ที่ยินดีสนับสนุนให้ทุกพื้นที่ในชุมชนเป็นพื้นที่เรียนรู้ สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://korkankru.com/2024/12/20/areadevelopment/
ติดตามงานเครือข่ายได้ที่
เครือข่ายก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี
https://www.facebook.com/profile.php?id=100085685086351
รับชมคลิปวิดีโอเสียงเมล็ดพันธุ์จากฤดูกาลเก็บเกี่ยว: ก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี
รับชมเรื่องราวในการขับเคลื่อนการศึกษาผ่านบทบาทที่แตกต่าง รวมถึงเสียงสะท้อนของทั้งผู้เรียนและครู เพื่อเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าการเรียนรู้ที่เป็นไปได้นั้นได้เกิดขึ้นแล้วใน 3 พื้นที่แห่งนี้ ผ่านคลิปวิดีโอ Live and Learn | การเรียนรู้แบบนี้ที่เป็นไปได้
เรียบเรียงโดย อุบลวรรณ ปลื้มจิตร