ห้องเรียนที่เปลี่ยนไป เวทีปล่อยแสง
Reading Time: 3 minutesในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา โครงการโรงเรียนปล่อยแสง และเครือข่าย ได้จัดงาน “เวทีปล่อยแสง : สร้างการศึกษาไทยให้มีอนาคต” เพื่อนำเสนอวิธีคิด การจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์โลกอนาคต โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ผ่านเวทีเสวนาและกิจกรรมเวิร์กชอปให้ครูและผู้สนใจเข้าร่วม
หนึ่งในกิจกรรมเวิร์กชอปนั้นคือกิจกรรม “ห้องเรียนที่เปลี่ยนไป” ของครู “ตือ” – สมเกียรติ แซ่เต็ง โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด หนึ่งในโรงเรียนนำร่องของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ที่ชวนครูผู้มีไฟมุ่งมั่นจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ให้มา ดูกรอบที่จำกัดการจัดกระบวนการของห้องเรียน แล้วลองปรับวิธีคิดและจินตนาการว่าเราสามารถมีอิสระภายใต้เงื่อนไขหลักสูตรแบบนี้ได้อย่างไร
ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมสร้าง ห้องเรียนที่เปลี่ยนไป ร่วมไปด้วยกัน
ปฐมนิเทศที่มีความหมาย
ถ้าครูอยากเปลี่ยนแปลงห้องเรียนของตนเอง ผมขอชวนทุกคนมาเปลี่ยนห้องเรียนแรก ชั่วโมงแรกกันก่อน ผมจำลองว่าวันนี้เป็นคาบแรกของการเจอกัน เป็นคาบปฐมนิเทศ ในห้องนี้ครูทุกค
นที่มาเข้าร่วมจะรับบทเป็นผู้เรียน ช่วยเขียนใส่กระดาษให้ผมหน่อยว่า แต่ละคนอยากเรียนรู้อะไรจากครูคนนี้ ในสองชั่วโมงต่อจากนี้ อยากเรียนรู้อะไรจากครูตือ
ครูตือเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการแจกกระดาษโพสต์-อิตให้ผู้เข้าร่วม แต่ละคนเริ่มลงปากกาเขียนสิ่งที่ตนเองอยากเรียนรู้กันคนละสามสี่ข้อ หลังจากนั้นให้อ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนให้เพื่อนๆ ในวงฟังก่อนจะนำมาติดไว้ที่กลางห้อง
หากสิ่งที่เขียนใกล้เคียงกับของเพื่อน ก็นำมาติดไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน
“วิธีสร้างความสนุกสนานในห้องเรียน” “กิจกรรมที่ฝึกการคิดและการแก้ปัญหา” “แนวทางส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก” ฯลฯ
ประเด็นหลากหลายค่อยๆ จัดเรียง รวมกลุ่ม ประกอบกันเป็นภาพความคาดหวังของห้องเรียนในวันนี้
ครูตือเล่าว่านี่เป็นกิจกรรมที่เขาทำอยู่เสมอในทุกๆ คาบปฐมนิเทศของแต่ละเทอม
และถ้าเราเตรียมแผนการสอนมาแล้วก็จะได้เห็นว่าต้องเพิ่มเติมอะไรอีก
ผมเชื่อว่าห้องเรียนที่ดี คือห้องเรียนที่เริ่มออกแบบจากผู้เรียนของเราจริงๆ กลุ่มความต้องการที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มไหน การสอนของเราต้องเน้นเนื้อหาอะไร และจะสอดแทรกเนื้อหาจากกองอื่นๆ เข้ามายังไง เพราะเรากำลังสอนเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนทั้งห้อง และพยายามไม่ละเลยเสียงของพวกเขาแม้แต่คนเดียว
สิ่งที่ผู้เรียนต้องการนั้นไม่ได้เป็นความต้องการในแง่บวกเสมอไป บ่อยครั้งที่ในวันปฐมนิเทศมีเด็กเขียนมาว่า “ไม่อยากได้การบ้าน” “ไม่อยากเรียนเยอะ” “อยากเรียนสบายๆ” ยกตัวอย่างห้องเรียนคณิตศาสตร์ของครูตือในเทอมหนึ่ง เด็กที่ไม่ชอบเรียนวิชานี้จะโดดเรียนเป็นประจำ พอครูตือถามว่าทำไมไม่ชอบ พวกเขาก็บอกว่า
วิชาคณิตศาสตร์เครียด
อยากให้มีสอบน้อยๆ
และไม่เอาการบ้าน
ในห้องเรียนจริงเขาจะติดสิ่งนี้ไว้บนกระดาน ใช้ต่างแผนที่ของการเรียนรู้ตลอดทั้งภาคการศึกษา เพื่อคอยบอกว่าทั้งเทอมนี้คาบเรียนของเราต้องตอบความต้องการแบบไหนของผู้เรียนบ้าง
ครูตือจึงคุยกับเด็กว่าถ้าจะลดความตึงเครียดในระหว่างเรียนควรทำอย่างไรดี เด็กๆ บอกว่าอยากฟังเพลง เทอมนั้นเขาจึงซื้อลำโพงเล็กๆ มาตัวหนึ่ง และออกแบบให้แต่ละคาบมีการสอนแค่ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นให้เด็กๆ เน้นทำแบบฝึกหัดให้เสร็จในห้อง และเปิดเพลงฟังไปด้วยได้ ซึ่งเด็กๆ ก็เห็นดีด้วย
หลังจากนั้นห้องเรียนคณิตศาสตร์ก็มีเด็กหลังห้องเข้าเรียนเป็นประจำ ไม่มีโดด ไม่มีหาย ไม่มีขาด ขณะที่เด็กกลุ่มหน้าห้องที่อยากเรียนคณิตศาสตร์เป็นทุนเดิม อยากได้แบบฝึกหัดเยอะๆ การบ้านเยอะๆ ครูตือก็ให้แบบฝึกหัดเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์ที่เขาต้องการเช่นเดียวกัน
คาบปฐมนิเทศสำคัญที่สุด เป็นชั่วโมงที่เราจะแนะนำตัวกับผู้เรียน ได้เริ่มร่างความคาดหวังและข้อตกลงของห้องเรียนนี้ร่วมกัน แต่หลายครั้งเราละเลย มองว่าเป็นแค่การบอกว่าเราจะเรียนอะไร ตัดเกรดยังไง ผมอยากชวนทุกคนลองให้เด็กเลือกว่าเขาอยากเรียนอะไร เรามีกรอบของเราได้ เตรียมเนื้อหา เตรียมแผนการสอนของเรา แต่ต้องไม่ทิ้ง ไม่ละเลยสิ่งที่เขาอยากได้ด้วย
การเรียนรู้ที่ท้าทาย
นอกเหนือจากความคาดหวังของผู้เรียน อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ครูตือจะตกลงกับเด็กให้เรียบร้อยในต้นเทอม คือเกณฑ์วิธีการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งเด็กจะมีส่วนเลือกเกณฑ์นั้นร่วมกับครู
“เด็กเป็นคนสมัยนี้ เราเป็นคนสมัยไหน ครูที่สอนมานานๆ จะรู้ว่าเด็กที่เข้าโรงเรียนมาเปลี่ยนไปทุกปี เขาโตมาจากสังคมที่เปลี่ยนไป ถ้าต้องอยู่ร่วมกับเขา เราก็เป็นเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนตัวเราให้ทันกับเด็กแต่ละรุ่นที่เข้ามา”
ครูตือเล่าว่าสิ่งที่แตกต่างกันมากระหว่างสมัยนี้กับสมัยครูตือยังเด็ก คือความรู้หาง่ายขึ้น ในอดีตหากเราอยากรู้เนื้อหา เราต้องเรียนกับครู หรือตำราเท่านั้น แต่ปัจจุบันในอินเทอร์เน็ตมีความรู้มากมาย มีคลิปหรือสื่อการสอนที่อาจสอนได้ดีกว่าครูเสียอีก ครูตือจึงมองว่าห้องเรียนเป็นกระบวนการถอดประสบการณ์ชีวิตมากกว่าการถ่ายทอดเนื้อหา พูดคุยกันเพื่อวัดประเมินว่าที่เด็กได้ไปค้นคว้า ทดลองมา มีความรู้จริงหรือเปล่า เป็นช่วงเวลาที่ครูจะทดสอบสมรรถนะของผู้เรียน
ในห้องเรียนของครูตือ เด็กๆ แต่ละคนจะได้ตั้งโจทย์ที่ท้าทายตัวเอง ว่าเทอมนี้เขาอยากทำสิ่งไหนให้สำเร็จ ผู้เรียนจะได้ร่วมออกแบบตัวชี้วัดว่าการจะได้เกรดต่างๆ นั้นจะให้ตีค่าอย่างไร จากชิ้นงานหรือการวัดผลแบบไหนที่เขามองว่าตนเองสมควรได้เกรดหนึ่ง สอง สาม หรือสี่ เพราะครูตือเชื่อมั่นว่าเกรดสี่ของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน
ในวิชาเดียวกัน เด็กคนหนึ่งอาจได้เกรดสี่เพราะสอบได้คะแนนสูง ขณะที่อีกคนเรียนไม่เก่งเท่า ที่ผ่านมาไม่ค่อยส่งงาน แต่เขาขอเกรดสี่ถ้าเขาส่งงานครบทุกชิ้นตรงเวลา ผมว่าถ้าเขาพัฒนาตัวเองขนาดนั้น พลิกจากเด็กที่ไม่ส่งการบ้านมาเป็นเด็กส่งงานครบทุกชิ้นได้ในเทอมเดียว เขาก็สมควรได้เกรดสี่เหมือนกัน เรามองจากพัฒนาการที่เขาเติบโต
การออกแบบตัวชี้วัดแบบใหม่ๆ นั้นไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องเกรด แต่ยังประยุกต์ใช้กับงานทุกรูปแบบที่ต้องวัดผลยืนยัน เช่น การทำสมุดบันทึกรักการอ่าน ซึ่งครูตือมองว่าควรออกแบบกระบวนการให้เด็กสนุกกับการอ่าน ไม่ใช่ทรมานกับการเขียน เขาจึงให้เด็กเลือกครูคนไหนก็ได้หนึ่งคนและไปเล่าหนังสือที่ตนเองอ่านจบให้ฟัง ครูมีหน้าที่ถามโต้ตอบเพื่อวัดว่านักเรียนเข้าใจในหนังสือที่อ่านจริงๆ มีการคิดวิเคราะห์ สรุปใจความ ไม่ใช่แค่ท่องจำ
วิธีการแบบนี้ทำให้ครูตรวจสอบได้ชัดเจนมากขึ้นว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จริงๆ ส่วนฝั่งผู้เรียนก็ได้ท้าทายตนเองในการทำความเข้าใจหนังสือเล่มนั้นๆ มากขึ้นด้วยเช่นกัน
หลักสูตรที่เปลี่ยนไป
“ครูหลายคนอาจคิดว่าเราสอนและวัดผลแบบนี้ ทำได้จริงๆ หรือ ถ้าถอดหลักสูตรกลางปี 2551 มาดู เราไม่ได้หลุดจากหลักสูตรนะ แค่ไม่ได้ตามเขาทั้งหมด”
ครูตือเล่าถึงเอกสารข้อบังคับของหลักสูตรการศึกษาไทย ว่าจริงๆ แล้วเขียนไว้อย่างกว้างๆ ไม่ได้บอกเนื้อหาอะไรเจาะจง บอกแค่ตัวชี้วัดว่าเด็กควรรู้อะไร เข้าใจอะไร แต่โรงเรียนส่วนใหญ่มักยึดตามแบบเรียนของ สสวท. เป็นตัวตั้ง เพราะมองว่าต้องสอนเนื้อหาที่มีในข้อสอบกลาง
เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ของการออกแบบห้องเรียนให้เปลี่ยนไป ครูตือจึงเล่าถึงปีการศึกษาที่ผ่านมาของโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนครูในวิชาต่างๆ
โรงเรียนผมไม่มีครูสอนสุขศึกษากับพลศึกษา ในส่วนวิชาการเราขอให้ครูวิทยาศาสตร์ช่วยดู ส่วนกิจกรรมพละจัดให้ทุกชั้นเรียน ทุกห้อง ทั้งโรงเรียนมีคาบพละตรงกัน แล้วครูทุกคนไปสอนพละที่ตนเองถนัด เล่นกีฬากับเด็ก เช่นเดียวกันกับวิชาภาษาอังกฤษ เราจัดวิชาภาษาอังกฤษเป็นบูรณาการ คละเด็กมัธยมต้นทั้ง 3 ชั้นปีให้เรียนด้วยกัน แบ่งกลุ่มตามพื้นฐานที่เขามี กลุ่มเด็กไม่เก่งภาษาของทั้งสามระดับชั้นไปอยู่กันครูที่ไม่เก่งภาษา แล้วก็เรียนรู้ไปด้วยกัน กลุ่มเด็กไม่เก่งก็หัดท่องศัพท์ไปพร้อมกับครูที่ไม่เก่งเหมือนกัน เรียนไปพร้อมๆ กัน ครูก็ได้ เด็กก็ได้ ส่วนเด็กที่เก่งแล้วอยากเน้นทำแบบฝึกหัด ทำข้อสอบ ก็ไปอยู่กับครูเก่งๆ แบบนี้ก็ตอบโจทย์เขา ประเมินวิชาออกมาทุกคนชอบวิชาภาษาอังกฤษ โดยที่โรงเรียนเราไม่มีครูวิชานี้จริงๆ เลย
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ครูตือหยิบยกขึ้นมาเล่าแล้วครูผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปดูจะชอบใจเป็นพิเศษ คือตัวอย่างการออกแบบวิชาลูกเสือ ซึ่งโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมไม่ได้สอนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง แต่เลือกสอนลูกเสือติดต่อกันตลอด 4 ชั่วโมงบ่ายวันพุธ
“หลักสูตรไม่ได้กำหนดว่าเราต้องเรียนลูกเสือสัปดาห์ละชั่วโมงนะครับ ในหนึ่งเทอมแค่ต้องเรียนให้ครบ 20 ชั่วโมง โรงเรียนผมจัดให้วันพุธเป็นวันกิจกรรม เด็กทั้งโรงเรียนมาเรียนลูกเสือด้วยกัน 4 คาบติดกันในวันเดียว ใส่ชุดลูกเสือมาเรียนแบบนี้ 5 ครั้งก็ครบตามหลักสูตรกำหนดแล้ว หลังจากนั้นตลอดเทอมเราก็ไม่ต้องเรียนลูกเสืออีกเลย แถมพอเรียนต่อกัน 4 ชั่วโมง ก็ทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้นด้วย”
หลังจากผ่านสัปดาห์ที่ 5 ของภาคเรียนไปแล้ว 4 คาบบ่ายวันพุธก็จะเปลี่ยนเป็นชั่วโมงของวิชาชุมนุม ให้เด็กๆ รวมกลุ่มทำกิจกรรมชุมนุมที่ตนเองเลือก ได้พัฒนาศักยภาพที่เขาสนใจ บางคนอาจอยากเป็นผู้ประกอบการ ขายของ บางคนอาจอยากฟ้อนรำ บางคนอาจอยากหัดเขียนโปรแกรม ออกแบบเกม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นไปได้ตามกรอบของวิชาเพิ่มเติมที่หลักสูตรกำหนด อยู่ที่คุณครูจะเขียนหลักสูตรวิชานั้นๆ ขึ้นมาอย่างไร
“วิธีการวัดประเมินผลที่เด็กๆ เลือก สิ่งที่เด็กจะสร้าง ทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่ที่ผู้เรียนออกแบบได้มากขึ้น ตัวเราในฐานะครูมีหน้าที่ช่วยกรองว่าสิ่งที่เขาขอ เป็นไปได้ไหม เราสอนตามหลักสูตร แต่เราเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ทำให้ห้องเรียนเราเปลี่ยนไป”
ห้องเรียนที่ชุมชนไว้วางใจ
จากการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของครู สู่การเปลี่ยนแปลงของห้องเรียน และขยายสู่นิเวศการเรียนรู้สู่โดยรอบ
ห้องเรียนที่เปลี่ยนไปของครูตือไม่ได้แค่สร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมอย่างยั่งยืนด้วย
ครูตือเล่าย้อนกลับไปว่าในวันที่เขาบรรจุที่โรงเรียนนี้เมื่อ 20 ปีก่อน โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมคือโรงเรียนประจำตำบลที่กำลังจะถูกยุบ เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดเล็กที่สุดในจังหวัดตราด ทั้งโรงเรียน ม.1 ถึง ม.6 มีนักเรียนแค่ 60 คน
จากเด็กที่เคยเป็นนักเรียนในอดีต เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในชุมชนซึ่งไว้วางใจในห้องเรียนของโรงเรียนเขาน้อยฯ ไว้วางใจในแนวทางของโรงเรียน ว่าสามารถฝากฝังให้ดูแลบุตรหลานของคนในชุมชนได้ ทำให้โรงเรียนมีเด็กมาสมัครเข้าเรียนมากขึ้นทุกปี
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ โรงเรียนเขาน้อยฯ เป็นโรงเรียนเดียวในจังหวัดตราดที่มีจำนวนเด็กเพิ่มขึ้นทุกปี เปิดเทอมใหม่นี้จะมีเด็กเกือบ 200 คน
ครูตือพูดให้กำลังใจครูทุกคนที่มาเข้าร่วมเวิร์กชอปว่า…..
เด็กที่เข้ามาใหม่เปลี่ยนไปทุกปี โจทย์ที่เราต้องเจอในฐานะครูก็เปลี่ยนไปด้วย เราจะออกแบบห้องเรียนให้เปลี่ยนแปลงตามสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง คำตอบคือ ‘คาบแรก’ ไม่ว่าห้องเรียนจะเคยเป็นอย่างไร ห้องเรียนนั้นเปลี่ยนได้ ลองขอความช่วยเหลือจากเด็กๆ ของเราดูสิว่า ช่วยครูด้วยนะ ช่วยให้ครูเป็นครูแบบที่อยากจะเป็น แล้วเราก็จะเปลี่ยนห้องเรียนไปด้วยกัน