Korkankru

คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์ โรงเรียนปล่อยแสง

ครูตุ๊ก โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ กับทักษะ “โค้ชชิ่ง” ที่เปลี่ยนห้องเรียนให้ดีขึ้นด้วยการ “ฟัง”1 min read

Reading Time: 2 minutes อะไรทำให้ครูประจำชั้นที่ไม่เคยฟังนักเรียนมากว่า 29 ปี เปลี่ยนมาเป็นครูที่รับฟังทุกเสียงอย่างตั้งใจ และตั้งคำถามที่ช่วยให้นักเรียนได้คิดและค้นพบคำตอบด้วยตนเอง มาฟังเรื่องราวของครูตุ๊ก รุ่งจิต แสนดี จากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง Sep 27, 2023 2 min

ครูตุ๊ก โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ กับทักษะ “โค้ชชิ่ง” ที่เปลี่ยนห้องเรียนให้ดีขึ้นด้วยการ “ฟัง”1 min read

Reading Time: 2 minutes

“นักเรียนทุกคนทำความเคารพ”

“สวัสดีค่ะ สวัสดีครับคุณครู”

“นั่งลงได้”

“ขอบคุณค่ะ ขอบคุณครับคุณครู”

ผ่านไปประมาณ 50 นาที เราและเพื่อนร่วมชั้นเรียนก็พากันลุกขึ้นแล้วพูดบทสนทนาข้างต้นอีกครั้ง ในสมัยที่ “ห้องเรียน” หาใช่สถานที่ที่ส่งเสียงได้ตามใจชอบ กระทั่งการถามหรือต่อบทสนทนากับ “คุณครู” ก็ดูเป็นเรื่องยาก ระหว่างเวลา 50 นาทีนั้น พวกเราถูกบังคับให้รับบทเป็น “ผู้รับฟัง” มาเสมอ

จะมีไหมห้องเรียนที่คุณครูรับฟังนักเรียนบ้างจริงๆ ?

“ครูตุ๊ก” รุ่งจิต แสนดี ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาชั้นที่ 4 และครูประจำวิชาเคมี โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนและตัวเธอหลังจากเข้าเรียนวิชา “ทักษะการโค้ชเพื่อครู” หรือที่บรรดาครูเรียกกันว่า “โค้ชชิ่ง” ในโมดูล 2 ตลาดวิชาของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง 

เธอบอกว่าทักษะโค้ชชิ่งทำให้เธอฟังเสียงของนักเรียนมากขึ้น

ตลอดระยะเวลา 29 ปีในอาชีพครู เธอไม่เคยหยุดฟังเด็กนักเรียนจริงๆ เลย จะด้วยเหตุผลที่อัตราส่วนความรับผิดชอบของครูหนึ่งคนต่อจำนวนนักเรียนที่มากถึง 40-50 ชีวิต หรือการเป็นครูเคมีไม่กี่คนของโรงเรียนทำให้ต้องมีชั่วโมงสอนมากขึ้น เหตุผลของเธอก็คงคล้ายกับครูอีกหลายคนต้องเผชิญ 

ช่วงปีการศึกษาที่ผ่านมา ครูตุ๊กจับฉลากได้เป็น “ครูประจำชั้น” ของห้องสุดท้ายในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากปีก่อนๆ ที่เป็นครูประจำชั้นให้ห้องลำดับต้นๆ  เรียกได้ว่าจาก “ห้องคิง” มา “ห้องบ๊วย” ความท้าทายในการเป็นครูประจำชั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่ยังกินขอบเขตถึงการทำหน้าที่ “ครูแนะแนว” ให้นักเรียนห้องตัวเอง เหตุเพราะที่นี่มีครูประจำวิชาแนะแนวเพียงคนเดียว โรงเรียนจึงให้คุณครูประจำชั้น ม. 4 รับหน้าที่นี้ร่วมด้วย

ชั่วโมงเปิดรับฟังเรื่องราวของเด็กๆ จึงมีเพิ่มขึ้น และในเวลานี้เองที่เธอทดลองใช้และเข้าใจทักษะการโค้ชชิ่งลึกซึ้งขึ้น

“ปกติประจำชั้นแต่ห้องเก่งๆ ครั้งนี้จับฉลากได้ห้องสุดท้าย มีความแตกต่างหลากหลายมากมาย ทั้งศาสนา สังคม วัฒนธรรม” เธอเล่าด้วยความรู้สึกสนุก ทว่าเรื่องราวขยายจากนั้นฟังดูไม่เบาสบายดั่งท่าทีของเธอ

“โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ จังหวัดเราอยู่ในกลุ่มที่จีดีพีต่ำสุดในประเทศ มีปัญหายาเสพติดเยอะ ฐานะทางบ้านของนักเรียนค่อนข้างยากจน หลายครอบครัวแตกแยก มีเพียง 10% ที่ได้อยู่กับพ่อแม่  ที่เหลืออยู่กับยาย ตา ปู่ ย่า บางคนหนักกว่านั้นคืออยู่กันเอง ทอดไข่ ต้มมาม่า อยู่กันสองคนพี่น้อง บางคนมาโรงเรียนสายเพราะรอเพื่อนมารับไปโรงเรียนด้วย เขาไม่มีเงินค่ารถ ไม่มีเงินเติมน้ำมัน เวลาเราไปเยี่ยมบ้านเขาก็เห็นปัญหาอยู่”

การเป็นครูประจำชั้นปีนี้ทำให้เธอใกล้ชิดปัญหาที่นักเรียนเผชิญมากขึ้น 

ฉันอยากฟังเธอ

นักเรียนห้องเธอไม่ได้ถูกคาดหวังให้เป็นเลิศทางวิชาการ ส่วนมากชอบและเด่นด้านกีฬา แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นการออกกำลังตามปริมาณฮอร์โมนวัยรุ่น หลายครั้งที่ครูตุ๊กมักได้รับสายด่วนจากฝ่ายกิจการนักเรียนให้ไปช่วยห้ามทัพหรือปรับความเข้าใจหลังจบศึกมวยคู่เอก การมีคนที่รับฟังนักเรียนอย่างจริงใจ โดยไม่ตัดสินเขาเสียก่อน เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างสายใยในความเชื่อใจที่จะช่วยให้นักเรียนไม่หลงทาง โดยเฉพาะในบริบทแวดล้อมที่ส่งผลอย่างมากต่อการเติบโต ความคิด ความเชื่อ และการกระทำ  ไม่ง่ายเลยที่พวกเขาจะหลบหลีกการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ  

“ทักษะการโค้ชช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายง่ายขึ้น จากเดิมเป็นครูจะแค่สั่งกับสอน พอเขาไม่เอาตามเรา เราจะโกรธเขา แต่ถ้าเราใจเย็นลงหน่อย ปล่อยให้เขาได้พูดในมุมของเขา แล้วคอยถามคอยติดตามให้เขาค่อยๆ คิด ให้เขารู้สึกว่ามีคนใส่ใจ เขาก็จะเดินตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

“เมื่อก่อนเราสอนเนื้อหาจบก็จบ จะมีไถ่ถามตามบริบทบ้างเพียงเล็กน้อย แต่พอไปโค้ชชิ่งกลับมา เรานิ่งและฟังนักเรียนจริง ๆ ก่อนนั้นเราทำตามหน้าที่ แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกฉันอยากฟังเธอ ไม่ต้องลงทุนอะไร ไม่ต้องใช้สื่ออะไร เราเพียงถามเขาว่าเป็นยังไงบ้างวันนี้มีเรื่องอยากเล่าให้ฟังไหม”

มีเคสนักเรียนคนหนึ่ง ครูตุ๊กเล่าว่าเธอใช้ทักษะการโค้ชที่เรียนมาอย่างคุ้มค่า เธอยกตัวอย่างบทสนทนาด้วยสำเนียงชาวหนองบัวลำภูอย่างออกรส ถอดความได้ว่า

“วันนี้ลูกไปทำอะไรมาบ้าง”

“ไป…มาครับ กลับบ้านเที่ยงคืนได้”

“แล้วยายนอนหลับไหม เวลาที่ลูกกลับบ้านดึก”

“นอนไม่ค่อยหลับครับ ช่วงนี้ยายไม่ค่อยสบาย”

“ยายนอนไม่หลับ แล้วลูกจะทำยังไงล่ะ”

“อืม.. เดี๋ยวกลับบ้านเร็วขึ้นได้ไหมครับ”

“สักกี่โมงดีล่ะลูก”

“เดี๋ยวกลับสักสี่ทุ่มครับ ธรรมดากลับตีสองเลยนะครับ”

“ยายจะรอไหวเหรอลูก…” 

“งั้นสองทุ่มก็ได้ครับ”

ครูตุ๊กเสริมว่าเธอมักตั้งคำถามปลายเปิดแบบไม่ออกคำสั่ง เพราะเข้าใจว่านักเรียนวัยนี้มักมีพฤติกรรมติดเพื่อน อยากรู้อยากลองและคึกคะนองตามประสาวัยรุ่น แต่ลึกๆ ในใจยังต้องการคนคอยรับฟังอยู่เสมอ หน้าที่เธอเพียงถามและรับฟังสิ่งที่พวกเขากำลังคิดกำลังตกตะกอน  

ทุกวันนี้นักเรียนคนนี้ขยับเวลากลับถึงบ้านเป็นช่วง 5-6 โมงเย็นเพื่อไปดูแลยายแล้ว เขาให้เหตุผลว่าเริ่มไม่สนุกกับกิจวัตรเดิม ๆ 

“แค่ฟังแล้วก็ถาม บางทีเขาไม่ได้ต้องการอะไรเยอะ เขาต้องการคนฟัง” ครูตุ๊กย้ำใจความสำคัญ

ทักษะสามอย่าง

จากห้องเรียน “ทักษะการโค้ชเพื่อครู” ครูตุ๊กบอกว่าเธอจับหัวใจหลักของทักษะนี้มาได้ 3 ข้อ ได้แก่ 

1.จับประเด็น 2. ฟังความรู้สึก 3. ตั้งคำถามปลายเปิด 

เมื่อเปิดใจฟังมากขึ้น ครูตุ๊กก็เริ่มมองเห็นที่มาของปัญหา และเธอออกเดินทางหาคำตอบผ่านการฟังให้มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น 

“ปกตินักเรียนเดินมาส่งงาน ถ้าเขาทำถูกแล้วก็มักไม่มีอะไรจะถามเรา แต่ถ้าเขาอยากพูดกับเรา ปกติเราก็จะเงยหน้าฟังนิดนึง แต่ฟังแค่ได้ยิน ไม่ได้ตั้งใจฟังเขาจริงๆ  แต่หลังเข้าหลักสูตรโค้ชชิ่ง เรายิ้มตอบแล้วให้เวลาเขาได้พูด นี่คือจุดเปลี่ยน”

เธอเล่าว่าการฟังทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเธอจะมีกติกา 1 2 3 4 5 ชัดเจน ทว่าตอนนี้ทุกๆ การขึ้นปีการศึกษาใหม่ เธอจะเริ่มต้นห้องเรียนด้วยคำถามว่า

“ลูกๆ อยากให้ห้องเรียนของเราเป็นยังไงบ้าง”

“อยากให้ปล่อยช่วงพักเร็วขึ้นค่ะ อยากเล่นเกมในห้องได้ครับ อยาก… ฯลฯ”

ส่งต่อการเป็น “ผู้ฟัง”

เมื่อคำถามที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกเปล่งออกมา คำตอบที่ถูกต้องก็ตามมาอย่างเป็นธรรมชาติ ครูตุ๊กไม่เพียงใช้ทักษะสามอย่างกับนักเรียนเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้กับเพื่อนครู  เริ่มจากคำถามง่ายๆ เช่น “แล้วเป็นยังไงเหรอ” “ตอนนี้เรารู้สึกยังไงบ้าง” “แล้วคิดว่าจะทำยังไงต่อไปนะ” ฯลฯ 

ครูตุ๊กค่อยๆ เรียนรู้ว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย และมีศักยภาพในการค้นหาทางออกของตนเองเสมอ  

“พี่ตุ๊กเข้าใจหนูจังเลย”

คำพูดจากเพื่อนร่วมงานรุ่นน้อง พร้อมกับสีหน้า รอยยิ้ม และแววตาที่สะท้อนความวางใจ ปลอดภัย เบาสบาย เมื่อได้พูดสิ่งที่สะสมอยู่ภายใน 

“เมื่อก่อนเราฟังแต่ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ เราก็จะชี้ๆๆ แต่คนมีความเชื่อของตัวเองแตกต่างกัน เราตัดสินคนไม่ได้ เราแค่ต้องฟัง”  

เธอเริ่มส่งต่อทักษะนี้ให้เพื่อนครูด้วยกันต่อไปผ่านการเป็น “ผู้ฟัง” เพียงฟังอย่างไม่ตัดสิน หน้าที่ของเธอมีเพียงเท่านั้น ปล่อยให้กระบวนการคิดแก้ไขเป็นสิ่งที่ผู้เล่าค้นหาคำตอบด้วยตนเอง

“เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน เกิดเหตุครูผูกคอตายในโรงเรียน เป็นครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เขาเคยเป็นลูกศิษย์ครู เป็นประธานนักเรียนด้วย  จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราตระหนักว่าพวกเราไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงาน แต่เป็นเหมือนคนในครอบครัว  เราคุยกันในกลุ่มสาระว่าเราฟังกันน้อยเกินไปไหม ดูแลกันน้อยเกินไปไหม 

“หลังเกิดเรื่องนี้ใหม่ๆ เวลาใครบอกว่ามีความทุกข์ พวกเราจะวางปากกาทันทีแล้วเอนเตอร์เทนกัน  เวลาผ่านไปทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น  

“โลกไปไกลมากขึ้น เคลื่อนที่เร็วมากขึ้น ปัญหาเกิดมากขึ้น ผู้คนทุกข์มากขึ้น แต่ก่อนเราอาจสนใจแต่วัตถุ ตอนนี้เราสนใจคนด้วยกัน”

ในห้องสี่เหลี่ยมน้อยๆ ในพื้นที่การเรียนรู้ที่เรียกว่า “ห้องเรียน”  ไม่เพียงนักเรียนหลายสิบชีวิตจะมีที่มาที่ไปต่างกัน ทว่าในแต่ละวัน “มนุษย์ครู” ที่รับบท “ผู้สอน” ต่างก็มีเรื่องราวส่วนตัวที่แบกรับไว้ และต้องจัดการกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในด้วยกันทั้งนั้น 

จากหัวใจนักปราชญ์ “สุ จิ ปุ ลิ” ซึ่งแปลได้ว่าประโยชน์ของการฟัง การคิด การถาม และการเขียน ในยุคสมัยที่เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว  จะดีเพียงใดหากสามารถยึดหลักไว้อย่างน้อยสักข้อคือ “สุ” หรือ “การฟัง” 

“สวัสดีจ๊ะ…วันนี้พวกเราเป็นยังไงกันบ้าง”

คำถามแรกในทุกคาบเรียนของครูตุ๊ก

Your email address will not be published.