ครูปล่อยแสง : บัวหลวงก่อการครู-ร่วมพัฒนา
Reading Time: 4 minutesหลังจากผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการมา 3 โมดูล คือ ครูคือมนุษย์ ตลาดวิชา และ ครูคือกระบวนกร คุณครูได้นำสิ่งที่เรียนรู้ไปทดลองสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง ห้องเรียน และโรงเรียน แล้วกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง พร้อมนำสิ่งที่เรียนรู้ตลอดการเข้าร่วมโครงการ มาแบ่งปัน และ สื่อสารต่อผู้เข้าร่วมภายในงาน ครูปล่อยแสง: บัวหลวงก่อการครู – ร่วมพัฒนา
วันแรกของการกลับมาพบเจอ เริ่มต้นกระบวนการด้วยการใคร่ครวญการเดินทางที่ผ่านมาด้วยชุดคำถาม 12 ข้อ ได้แก่ 1) นักเรียนคนนี้ไม่มีวันลืม 2) ไปโรงเรียนจะขาดสิ่งนี้ไม่ได้ 3) รักครั้งแรกในรั้วโรงเรียน 4) ร้านประจำในดวงใจแถวโรงเรียน 5) ปล่อยแสงวันนี้เอาอะไรมาปล่อย 6) เรียนออนไลน์ดีอย่างไร ลำบากอย่างไร 7) เพื่อนครูผู้เติมพลัง 8) วีรกรรมสุดแสบในแบบครูคูล ๆ 9) ถ้าเปลี่ยนได้ 1 สิ่งในโรงเรียนอยากเปลี่ยนอะไร 10) เวลาคิดไอเดียการสอนไม่ออกทำไง 11) วิชาประทับใจในโครงการก่อการครู และ 12) ก่อการครูสำหรับคุณเปรียบเหมือนอะไร โดยแบ่งกลุ่ม 3 คน คนหนึ่งเล่าประเด็นที่เลือกให้อีกสองคนฟัง แล้วให้เพื่อนทบทวนประเด็นพร้อมกับสรุปในลักษณะพาดหัวข่าว สลับไปจนครบทุกคน เป็นการฝึกทักษะการฟัง ทวนและถาม
จากนั้นเข้าสู่ช่วงถอดบทเรียนด้วยเครื่องมือ Circles of Changes แต่ละคนใคร่ครวญถึงสิ่งที่เกิดกับตัวเองนับแต่เข้าร่วมโครงการ แล้ววาดวงกลม 3 วง ตรงกลาง คือ การเปลี่ยนแปลงในตัวเอง วงกลมชั้นที่ 2 ผลกระทบต่อคนรอบข้างจากการเปลี่ยนแปลงของเรามีอะไรบ้างและเป็นอย่างไร วงกลมที่ 3 การเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนกับโรงเรียน และพื้นที่ว่างนอกวงกลม คือ การเปลี่ยนแปลงของชุมชนและสังคม ต่อมาจับกลุ่ม 3 คนเพื่อแบ่งปันความคิดในกลุ่มย่อย ก่อนจะแลกเปลี่ยนร่วมกันในวงใหญ่ บางคนเปลี่ยนจากคนที่ชอบออกคำสั่งและตีกรอบให้นักเรียน มาเป็นเลิกออกคำสั่งหรือตีกรอบให้คนอื่น ทำให้ความสัมพันธ์กับนักเรียนและคนในครอบครัวดีขึ้น บางคนเปลี่ยนจากไม่กล้าปฏิเสธคำสั่งหรือคำขอของคนอื่นจนไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ คือ การสอน กล้าลุกขึ้นมายืนยันเจตนาของตนเอง และกลับไปสอนมากขึ้น ทำให้ตัวเอง นักเรียน และห้องเรียนมีความสุข ถัดมา จับกลุ่ม 6 คน แต่ละคนทบทวนปัจจัยที่เอื้อและขัดขวางการเปลี่ยนที่ต้องการทำ แล้วแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เลือกปัจจัยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและอุปสรรคที่สำคัญที่สุดร่วมกัน ก่อนจะแบ่งปันในวงใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีความเห็นสอดคล้องกันว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือตัวครูเอง
ช่วงค่ำ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี เล่าถึงภาพการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทย รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อการครู และเครือข่ายพันธมิตร คือ การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาจากเดิมที่มีวิชาเป็นตัวตั้งไปเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ยึดผู้เรียนเป็นตัวตั้งในปี 2565 โดยมีตัวชี้วัดผู้เรียน 3 เรื่อง คือ 1) มีความรู้ 2) มีทัศนคติที่ถูกต้อง 3) สามารถนำความรู้และทัศนคติแปลงเป็นพฤติกรรมได้ ซึ่งจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนการสอนขนานใหญ่ในอนาคต
“ครู” จากผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ ครูต้องมีสามารถออกแบบการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ได้ สร้างกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน และต้องมีระบบการวัดประเมินผลตามสมรรถนะรายบุคคล ไม่เน้นตัดเกรดระหว่างทาง เพื่อลดการแข่งขัน แต่สร้างความร่วมมือและพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ และพันธมิตร จะร่วมกับ สพฐ. เข้าไปทำงานเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะในโรงเรียนนำร่อง 21 แห่ง เพื่อสร้างองค์ความรู้รองรับการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับขอเชิญชวนครูแกนนำที่สนใจเข้ามาร่วมในกระบวนการดังกล่าวด้วย
เวทีครูปล่อยแสง พิธีเปิด โครงการบัวหลวงก่อการครู – ร่วมพัฒนา
ต่อด้วยรายการ Ed Talk ว่าด้วยเรื่องราวบันดาลใจของครูผู้เปลี่ยนแปลงตัวเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนให้มีความสุขและมีความหมาย ประกอบไปด้วยครูในโครงการ 5 คน ได้แก่
ครูนิภาพร พรมชู (ครูแป๋ว) ครูผู้เปลี่ยนแปลงการสอนที่มีครูเป็นตัวตั้งมาเป็นการสอนบนความเข้าใจและความหลากหลายของผู้เรียน เรียนจากความสนใจของผู้เรียนแล้วเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาวิชา ทำให้ห้องเรียนเป็นแม่เหล็กแห่งความสุขและการเรียนรู้ การสอนบนความเข้าใจและความหลากหลายของผู้เรียน โดยพูดสร้างแรงบันดาลใจในหัวข้อ การสอนบนความเข้าใจและความหลากหลายของผู้เรียน (ชมคลิป)
ครูอธิวัฒน์ ใครวิชัย (ครูต้าร์) ครูอนุบาลผู้เปลี่ยนบทบาทจากครูและศิษย์เป็นเพื่อนที่พร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรม ไม่ใช่การเรียนจากตำรา โดยพูดสร้างแรงบันดาลใจในหัวข้อ ผู้จุดประกายไฟแรกของการเรียนรู้ (ชมคลิป)
ผอ.ศรีสมร สนทา (ผอ.หมอน) คุณยาย ผอ.ของนักเรียน ผู้รับฟัง เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องการศึกษาได้คิด ได้พูด และได้มีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน โดยพูดสร้างแรงบันดาลใจในหัวข้อ ลมใต้ปีกแห่งการเปลี่ยนแปลง (ชมคลิป)
ครูพิมพร พุทไธสง (ครูพอลล่า) ครูผู้มีแรงศรัทธาต่อเด็กพิเศษ แม้ว่าจะเป็นการทำงานที่ยากลำบาก ด้วยความเชื่อว่าคนพิการมีคุณค่าและมีศักยภาพถ้าได้รับโอกาส โดยพูดสร้างแรงบันดาลใจในหัวข้อ ครูผู้มีแรงศรัทธาต่อเด็กพิเศษ (ชมคลิป)
ครูธนาพร ก้อนทอง (ครูเจี๊ยบ) ผู้เคยชี้นิ้วออกคำสั่งด้วยยึดมั่นถือมั่นในความคิดและความหวังดีของตัวเอง จนนักเรียนเกลียด ครอบครัวพังทลาย ก่อนจะเปิดใจ เปลี่ยนตัวเอง เลิกคิดเออเอง วางความคาดหวัง และหยุดออกคำสั่ง จนกลายเป็นครูและเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น มีความสุขขึ้น โดยพูดสร้างแรงบันดาลใจในหัวข้อ ครูผู้เปลี่ยนแปลงตัวเอง (ชมคลิป)
หลังจากรับแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าทรงพลังของครูทั้งห้าคนแล้ว กิจกรรมดำเนินต่อด้วยการสะท้อนมุมมองและเสริมพลังการศึกษาแก่ครูผู้เข้าร่วมจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่
คุณพจณี คงคาลัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพที่ประทับใจและไม่คาดฝันว่าโครงการจะสร้างความสุขให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้มากขนาดนี้ พร้อมกับยืนยันความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนโครงการต่อไป
นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวถึงเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของคุณครูทั้ง 5 ว่าเป็นตัวอย่างของ Transformative Learning ที่หัวใจสำคัญ คือ การสะท้อนคิดจากการปฏิบัติ การมีพื้นที่ปลอดภัยใน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเปิดใจ แต่การเปลี่ยนแปลงในโครงการเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในสังคม สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือทำให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นประโยชน์กับเด็กทุกคน
อ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มองว่าครูคือปราการด่านแรกที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือโอกาสทางการศึกษา และไม่มีอาชีพใดสร้างผลกระทบต่อคนอื่นได้เท่าอาชีพครู เพราะการสร้างคนดีหนึ่งคนจะสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปไม่สิ้นสุด
นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล กล่าวถึงการขยายผลโครงการ เป็นไปได้หรือไม่ที่ครูผู้ก่อการจะขยายความคิดไปให้ครูส่วนใหญ่ในโรงเรียน
ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่ได้ผลอย่างแท้จริงจะต้องเป็น Transform ไม่ใช่การปฏิรูปอย่างที่ผ่านมา โครงการก่อการครูเป็นหนึ่งในการ Transform ที่มีการก่อหวอดอยู่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ต้องทำให้เกิดการเชื่อมประสานกัน จึงจะนำไปสู่การ Transform ทั้งระบบได้
หลังจากเวทีครูปล่อยแสงแล้ว ช่วงบ่ายเป็นการเปิดห้องเวิร์กช็อปให้ครูผู้ก่อการร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจ 4 เรื่อง คือ พลังแห่งรัก, การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม, สื่อง่าย ๆ สื่อ Easy และห้องเรียนเหมือนไม่ได้เรียน และช่วงค่ำเป็นกิจกรรมถอดบทเรียนเพื่อเสริมพลังให้กับครูผู้ก่อการ
ก่อนที่วันสุดท้ายจะจบลง ทุกคนร่วมวางยุทธศาสตร์และสร้างเครือข่ายการทำงานขับเคลื่อนการศึกษาต่อไปในพื้นที่ของตนเอง เริ่มจากบอกเล่าความประทับใจและโอกาสใหม่ ๆ ที่พบเห็นจากเวทีครูปล่อยแสง แล้วให้แต่ละคนย้อนกลับมาทบทวนตัวเองเพื่อมองเป้าหมายในการทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือจากตัวเองต่อไป ด้วย GROW Model
G คือ Goal เป้าหมาย ภาพฝันที่อยากเห็นในการจัดการศึกษาบ้านเราคืออะไร
R คือ Reality ความเป็นจริงในโรงเรียนของเรา ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร
O คือ Options มีทางเลือกอะไรบ้างที่เราสามารถจะทำได้
W คือ Way Forward ภายในเทอมหน้าเราจะทำอะไรบ้าง
เมื่อใคร่ครวญ GROW Model ของตัวเองแล้ว จับคู่แบ่งปันกับเพื่อน เลือกเข้ากลุ่มประเด็นที่สนใจ 1 ใน 4 ประเด็น คือ การเรียนการสอน, การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน, การสร้างเครือข่ายกับโรงเรียนอื่น และการพัฒนาครู แล้วพูดคุยแลกเปลี่ยน แบ่งปัน GROW Model และทางเลือกที่เป็นไปได้จริง จากนั้นให้ทุกกลุ่มเวียนกันดูความฝันและทางเลือกที่จะทำได้จริงของกลุ่มอื่น ๆ ผ่านกระบวนการเวิลด์ คาเฟ่ แล้วให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอในวงใหญ่ ซึ่งก่อร่างออกมาเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้
ปล่อยของ Show Skills เปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกออกแบบหน่วยการเรียนรู้ของตัวเอง
Happy Learning Classroom ใช้การเล่าเรื่องในชีวิตประจำวัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสารแทนใจ กิจกรรมกระบวนการหรือเกม และผู้เรียนร่วมออกแบบกิจกรรมในการเรียนรู้และสร้างห้องเรียนแห่งความสุข
วันรวมมิตร การออกแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการทักษะชีวิตกับเนื้อหาการเรียน
ก่อการเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กค้นหาความสนใจของตนเอง แล้วปรับกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้อง เสริมทักษะการใช้ชีวิต และห้องเรียนแห่งความสุข
New Chance New Change ใช้ชุมนุมเป็นช่องทางสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้เด็กเลือกสิ่งที่อยากจะเรียน
แสงจากครอบครัว ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียนและผู้ปกครอง
เปลี่ยนครูเป็นคูล เน้นการพัฒนาครู นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปบอกต่อเพื่อนครูในโรงเรียนเพื่อเชิญชวนให้มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน
จุดประกายครู สร้าง PLC ในโรงเรียนตัวเองและสร้างเครือข่ายกับเพื่อน ๆ ต่างโรงเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและให้กำลังใจกัน
จุดไฟในตัวครู สร้างเวทีให้ครูได้แสดงศักยภาพและสิ่งที่อยู่ในใจออกมา เพื่อปลดล็อกบาดแผลในใจ แลกเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน และสร้างเครือข่ายแบ่งปันประสบการณ์
นิเวศการเรียนรู้ครูปล่อยแสง สร้างเครือข่ายกับเพื่อนต่างโรงเรียน เข้าหาผู้บริหารเพื่ออธิบายให้รับรู้และเข้าใจ สร้างช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่าง ๆ เยี่ยมเยียนให้กำลังใจ และทำ PLC ร่วมกัน จนนำไปสู่การมีหลักสูตรร่วมกัน
บันทึกกระบวนการ
ครูปล่อยแสง-BBL-script-201120-22ภาพกิจกรรม [20.11.2563] [21.11.2563] [22.11.2563]