Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ ด้านการศึกษา หนังสือ

ชวนอ่าน "ประเมินเติมใจ จุดไฟการเรียนรู้"1 min read

Reading Time: 2 minutes “ประเมินเติมใจ จุดไฟการเรียนรู้” โดย อรรถพล ประภาสโนบล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘พลเรียน’ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของครูทั้ง 12 คน ใน โครงการก่อการครู ร่วมกับ Inskru ที่ทดลองนำเครื่องมือการประเมินรูปแบบใหม่ไปใช้ในห้องเรียนของตนเอง เพื่อให้ครูค้นพบแนวทางพัฒนาห้องเรียน และรับรู้คุณค่าการสอนของตนผ่านเสียงและความรู้สึกจริงของนักเรียน ตลอดจนมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการประเมินที่มุ่งเน้นการพัฒนาครูและการเรียนการสอนมากกว่าการตรวจสอบ หรือ จับผิดบนฐานที่ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน Jan 28, 2021 2 min

ชวนอ่าน "ประเมินเติมใจ จุดไฟการเรียนรู้"1 min read

Reading Time: 2 minutes

การประเมินแบบปกติ กำลังทำให้ครูกับนักเรียนห่างไกลกันมากขึ้น
จะดีกว่าไหม? หากเราสามารถเติมใจและจุดไฟให้ชั้นเรียนได้
ด้วยเครื่องมือการประเมินที่มีชีวิต

เพราะโลกของการเรียนรู้ อาจไม่ได้มีขั้นตอนหรือสูตรสำเร็จที่ระบุว่า ครูที่ดีต้องสอนอย่างไร ห้องเรียนที่ดีเป็นแบบไหน ทว่า การกลับมามองเสียงสะท้อนอย่างจริงใจจากนักเรียน และด้วยใจจริงจากครู กลับคืนชีวิตชีวาให้กับห้องเรียน เป็นห้องเรียนที่มีความหมาย ครูได้เป็นตัวครู เด็กกล้าเข้าใกล้ครู การออกแบบการเรียนรู้และสื่อการสอนเต็มไปด้วยความสนุก ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงในอุดมคติ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ “เป็นไปได้” เพียงครูกล้าเปิดใจใช้ “เครื่องมือการประเมินที่มีชีวิต”

“ประเมินเติมใจ จุดไฟการเรียนรู้” โดย อรรถพล ประภาสโนบล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘พลเรียน’ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของครูทั้ง 12 คน ใน โครงการก่อการครู ร่วมกับ Inskru ที่ทดลองนำเครื่องมือการประเมินรูปแบบใหม่ไปใช้ในห้องเรียนของตนเอง เพื่อให้ครูค้นพบแนวทางพัฒนาห้องเรียน และรับรู้คุณค่าการสอนของตนผ่านเสียงและความรู้สึกจริงของนักเรียน ตลอดจนมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของการประเมินที่มุ่งเน้นการพัฒนาครูและการเรียนการสอนมากกว่าการตรวจสอบ หรือ จับผิดบนฐานที่ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

เมื่อพิจารณาถึงความไม่ไว้ใจนั้น เราจะพบว่า ระบบประเมินที่มุ่งเน้นเอกสารได้เป็นพันธการที่ร้อยรัดและดัดให้เป็น “ครูที่ดี” ตามเกณฑ์ที่กำหนด สิ่งนี้อาจกดทับคุณค่าภายในและตัวตนของคนเป็นครู โดยการประเมินผ่านตัวเลขเพียงอย่างเดียวทำให้เอกลักษณ์ของครูลดลง และทำให้เสียงจากนักเรียนกลับถูกมองข้ามไป

เมื่อระยะห่างระหว่างครูและนักเรียนเพิ่มมากขึ้น เกิดชั้นเรียนที่ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เด็กจึงไม่กล้าเข้าใกล้ครู ขณะเดียวกันครูก็ไม่ได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของเด็ก ๆ ปลายทางของเครื่องมือประเมินจึงมีเพื่อเพียงชี้ถูกชี้ผิด แต่ข้อมูลการประเมินกลับไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้พัฒนาผู้สอน ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถเติบโต ขาดการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ การประเมินการเรียนรู้จึงกลายเป็นยาขมหม้อใหญ่ของการศึกษาไทย

คำถามคือ… ความเป็นจริงแล้วการประเมินควรเป็น “สิ่งที่น่ากลัว” เช่นนั้นจริงหรือ ?

คำถามนี้ได้พามาสู่ “เครื่องมือการประเมินที่มีชีวิต” ซึ่งช่วยให้นักเรียนและครูได้มองเห็นกันและกันอย่างแท้จริง ซึ่งเครื่องมือ “ประเมินเติมใจ จุดไฟการเรียนรู้” ประกอบด้วย 4 ส่วน ที่จะช่วยให้ครูหาคำตอบให้กับคำถามต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นให้กับการทำงานของตนเอง ได้แก่

เครื่องมือส่วนที่ 1 : ตัวตนครู จะพาครูไปทำความเข้าใจว่า มุมมองและความเชื่อของครูที่มีต่อนักเรียนเป็นอย่างไร และความเป็นตัวครูสามารถนำไปสู่ห้องเรียนที่ดีได้อย่างไร

เครื่องมือส่วนที่ 2 : การจัดการชั้นเรียน ส่วนที่จะทำให้ครูได้เห็นว่า ความสัมพันธ์ที่ดีในชั้นเรียนนั้นเป็นอย่างไร สร้างได้ด้วยอะไร และคุณค่าใดที่ช่วยเชื่อมหัวใจของทุกคนในชั้นเรียน

เครื่องมือส่วนที่ 3 : การสอน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การสร้างชั้นเรียนที่มีความหมาย ซึ่งจะช่วยให้ครูได้เห็นว่า ห้องเรียนที่มีความหมายกับนักเรียน สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืนได้ และ 2. การออกแบบการเรียนรู้จะชวนผู้อ่านมาวิเคราะห์ว่า ความสำเร็จจากการเรียนรู้เกิดจากการเรียนรู้ในแบบใด และสำคัญอย่างไรกับนักเรียน

เครื่องมือส่วนที่ 4 : การเปลี่ยนแปลงตนเอง เครื่องมือชิ้นสุดท้ายนี้ คือส่วนที่จะแสดงให้เห็นว่า ทำไมการสะท้อนความคิดถึงการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนและครู จึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาการสอน

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องราวจากครูทั้ง 12 คนที่ได้ใช้ “เครื่องมือประเมินเติมใจ จุดไฟการเรียนรู้” ทำให้ครูได้สะท้อนคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนของตนเอง และผลจากการประเมินได้ถูกนำไปใช้เพื่อหนุนเสริมพัฒนาการจัดการเรียนรู้ แสดงให้เห็นถึง “จินตนาการและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ต่อการประเมินคุณครูในมิติที่แตกต่างไปจากเดิม” ครูและนักเรียนมองเห็นกันอย่างแท้จริง รวมถึงมองเห็นแง่งาม และแง่มุมที่สามารถพัฒนาต่อยอดคุณภาพการสอนของตน จนสามารถ “เติมพลังใจ” เพื่อแปรเปลี่ยนชั้นเรียนให้มีคุณค่าและมีความหมายต่อตนเองและนักเรียนได้อย่างแท้จริง

“ไม่ต้องเป็นครูที่ดีที่สุด แต่ขอเป็นครูที่ดีขึ้น ดีขึ้นในทุก ๆ วัน”

ดาวน์โหลดหนังสือ “ประเมินเติมใจ จุดไฟการเรียนรู้” คลิกภาพ

 

Your email address will not be published.