Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

‘หนี้สิน ภัยพิบัติ ชาวเล และวิถีมุสลิม’ หลักสูตรการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใครในโลก1 min read

Reading Time: 2 minutes คนในจังหวัดพังงาถูกกำหนดโดยส่วนกลางมาตลอดว่า เราต้องเป็นอย่างนั้น เราต้องทำอย่างนี้ ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะไม่สามารถออกแบบหรือพัฒนาบ้านของตัวเองได้ สมมติว่ามีงบประมาณมาก้อนหนึ่ง ก็จะถูกสั่งว่าคุณต้องเอาไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้นะ เราคิดนอกกรอบไม่ได้เลย และมันทำให้เราคิดนอกกรอบไม่เป็น Mar 17, 2023 2 min

‘หนี้สิน ภัยพิบัติ ชาวเล และวิถีมุสลิม’ หลักสูตรการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใครในโลก1 min read

Reading Time: 2 minutes

“คนในจังหวัดพังงาถูกกำหนดโดยส่วนกลางมาตลอดว่า เราต้องเป็นอย่างนั้น เราต้องทำอย่างนี้ ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะไม่สามารถออกแบบหรือพัฒนาบ้านของตัวเองได้ สมมติว่ามีงบประมาณมาก้อนหนึ่ง ก็จะถูกสั่งว่าคุณต้องเอาไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้นะ เราคิดนอกกรอบไม่ได้เลย และมันทำให้เราคิดนอกกรอบไม่เป็น”

ถ้อยคำของ ‘ชาตรี มูลสาร’ สะท้อนชัดเจนว่า พังงาคือจังหวัดที่ประสบปัญหาไม่ต่างจากจังหวัดอื่นๆ ทั้งปัญหาหนี้สิน ที่ดิน การไร้อำนาจต่อรองของเกษตรกร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผลกระทบจากโครงการพัฒนา ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

พังงาแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 48 ตำบล 314 หมู่บ้าน เป็นจังหวัดที่มีครบทั้งทะเล ป่าไม้ น้ำตก ภูเขา เกาะ อุดมด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง แต่หากเรามองทะลุผ่านความงามของภาพถ่าย ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ก็ประสบปัญหาเฉพาะตัว หลายชุมชนยอมจำนนต่อชะตากรรม ขณะเดียวกัน มีชุมชนที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจากการเชื่อมั่นในพลังของคนในชุมชน

หนึ่งในชุมชนที่ว่า คือ บ้านรมณีย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา

กลุ่มออมทรัพย์ของคนรมณีย์

“ความสุขของรมณีย์คือเมืองที่ไม่มีหนี้สิน เมืองที่ชาวบ้านมีสวัสดิการที่เข้มเเข็ง ปัญหาหนี้สินนอกระบบที่เคยเรื้อรังในพื้นที่ก็ถูกแก้ไข และมีอำนาจต่อรองเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ไม่มีการขูดรีดจากพ่อค้าคนกลางในเรื่องพืชผลการเกษตร”

ในอดีต เกษตรกรในชุมชนส่วนใหญ่เผชิญกับปัญหาภาระหนี้สิน และการกู้หนี้นอกระบบ ประกอบกับการมาของโครงการ ‘กองทุนหมู่บ้านฯ’ กลายเป็นว่า เมื่อชาวบ้านขาดระบบการบริหารจัดการเงินที่ดี ทำให้เป็นหนี้สินที่พอกพูนลามไปจนถึงการเป็นหนี้นอกระบบ  ชุมชนประสบกับความไม่มั่นคง 

ถึงที่สุดแล้ว ชุมชนรมณีย์ที่นำโดย กัลยา โสภารัตน์ ประธานสถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ หนึ่งในชาวบ้านที่จึงได้ลุกขึ้นมาจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และเชิญชวนชาวบ้านเป็นสมาชิกฝากเงินทุกเดือน จากนั้นเอาเงินในกองทุนไปต่อยอด เป็นอาชีพ สร้างรายได้

“เราสูญเสียสามี ครอบครัวไม่มีแม้กระทั่งเงินจัดงานศพ แล้วยังมีลูกเล็กอีก 3 คน เราเคยไปยืมเงินกับชาวบ้านด้วยกันเพื่อจะได้พาลูกไปหาหมอบ้าง ซึ่งจุดนี้ทำให้เราเจ็บปวดมากเพราะไม่มีเงินที่จะไปใช้คืนเลย บางครั้งเคยคิดถึงขั้นจะฆ่าตัวตายแล้วหลายครั้ง แต่ก็มาคิดว่าถ้าหากเราตายไปลูกจะอยู่ยังไง จะใช้ชีวิตได้อย่างไร” 

กัลยาเข้าใจหัวอกของคนที่ไร้ซี่งเสถียรภาพทางการเงิน และการไร้หลักประกันในชีวิต นั่นคือเหตุผมที่เธอลุกขึ้นมารวมกลุ่มกับคนในชุมชน เพื่อสร้างกลุ่มอมมทรัพย์ และสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ และต่อสู้กับปัญหาถูกขูดรีดจากพ่อค้าคนกลาง

ปัจจุบันเงิน กองทุนนี้ดำเนินการมา 20 ปี มียอดรวมไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยเงินในกองทุนนี้ได้นำไปใช้ซื้อหนี้นอกระบบของชาวบ้าน เพื่อให้ได้มาผ่อนชำระโดยตรงกับกองทุน หรือแม้แต่การนำเงินไปใช้เพื่อซื้อทรัพย์สิน รถจักรยานยนต์ หรือต่อเติมซ่อมแซมบ้าน ก็ได้เช่นเดียวกัน แทนที่ชาวบ้านจะต้องไปผ่อนพร้อมดอกเบี้ย กองทุนใช้วิธีซื้อเงินสดมาแล้วให้สมาชิกผ่อนต่อ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มงานต่างๆ รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจการเกษตร ที่รวบรวมผลผลิตเพื่อสร้างพลังการต่อรองราคาสินค้า เช่น ยางพารา อีกด้วย

ท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์​ ไม่ใช่อนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยว

อีกหนึ่งชุมชนที่มีความน่าสนใจไม่น้อยกว่ารมณีย์ คือ บ้านทับตะวัน ที่ตั้งชุมชนของ ‘ชาวเลมอแกลน’ เดิมที ชุมชนแห่งนี้ปักหลักยังบริเวณอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงามายาวนาน ทว่าการเติบโตของการเศรษฐกิจและการท่อทเที่ยว มาพร้อมกับความต้องการที่ดินของกลุ่มอุตสาหกรรมน้อยใหญ่ ที่หวังเนรมิตภูมิทัศน์ชายหาดให้กลายเป็นโรงแรมหรู ชาวมอแกลนบ้านทับตะวันจึงประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางที่อยู่อยู่อาศัย และเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับเอกชนอยู่กว่า 20 ปี

ปัจจุบัน ชุมชนทับตะวันเลือกที่จะต่อสู้กับปัญหา ด้วยการพัฒนาคนและชุมชน สร้างการท่องเที่ยวชุมชนของตนเอง โดยนำประวัติศาสตร์ การต่อสู้ วัฒนธรรมอาหาร ความเชื่อทางจิตวิญญาณ ตลอดจนทักษะการหาสัตว์ทะเลอันเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว และสร้างกลุ่ม ‘The Moklan Tour มอแกลนพาเที่ยว’ เพื่อเป็นหนึ่งในอาชีพและรายได้ของคนในชุมชน ตลอดจนสื่อสารกับคนภายนอกถึงปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอย่างไม่เป็นธรรม 

แพลนกิจกรรมของ  ‘The Moklan Tour มอแกลนพาเที่ยว’ มีหลากหลาย ทั้งการพาชมวัฒนธรรมทับตะวัน พานักท่องเที่ยวและนักการเรียนรู้ไปทำความรู้จัก ‘การรำรองแง็ง’ พาชม ‘ขุมเขียว’ หรือบึงน้ำสาธารณะ ของชุมชนทับตะวัน ซึ่งมีมากว่าร้อยปี พาทำกิจกรรมคัดแยกแร่ดีบุก (เดิมที่พังงาเคยเป็นแหล่งเเร่ดีบุกขนาดใหญ่) โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม  ไปจนถึงการสอดแทรกเรื่องราวของ ‘ศาลพ่อตาสามพัน’ หนึ่งในพื้นที่จิตวิญญาณที่บรรจุประวัติศาสตร์ชนเผ่ามอแกลน 

สถาบันการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใครในโลก

นอกจากบ้านรมณีย์และทับตะวัน พังงายังคงมีอีกหลายชุมชนที่นำปัญหาของตนมาลองผิดลองถูกเพื่อหาทางออก จนกลายเป็นองค์ความรู้สำคัญที่หาไม่ได้จากที่ไหน 

ดังเช่น เกาะยาวน้อย ชุมชนที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายใต้วิถีมุสลิม พวกเขาออกแบบการท่องเที่ยวในชุมชนของตน ผ่านการกำหนดผังพัฒนาเกาะ โดยคนในชุมชนบนวิถีที่เคยเป็นมา กระทั่งว่า ลูกหลานที่เรียนจบมาจากเมืองใหญ่ สามารถกลับมาทำงานที่บ้านได้ และยังสามารถปกป้องทรัพยากรจากการรุกคืบของทุนใหญ่ได้

อีกที่หนึ่งคือบ้านน้ำเค็ม ชุมชนที่เคยสูญเสียมหาศาลจากคลื่นยักษ์สึนามิ พวกเขานำบทเรียนของภัยพิบัติที่คร่าชีวิตผู้คน ทำออกแบบการจัดการภัยพิบัติในชุมชนเปลี่ยนเมืองที่โศกเศร้าและฟื้นชีวิตของคนในชุมชน ปัจจุบัน แผนการจัดการภัยพิบัติของคนในชุมชนน้ำเค็ม ถือเป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

“หากผู้คนไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและปัจจัยการผลิต ก็ไม่อาจดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข” ชาตรีกล่าว

เล่ามาถึงตรงนี้เพื่อที่จะบอกว่า ไม่ว่าจะรมณีย์ ทับตะวัน เกาะยาวน้อย บ้านน้ำเค็ม และอีกหลายๆ ชุมชน ได้รวมตัวกันภายใต้หลักคิดที่ว่า พวกเขาอยากออกแบบชีวิตด้วยตนเอง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สถาบันเรียนรู้การพัฒนาพังงาแห่งความสุข’ ก่อตั้งขึ้นในปี 2563 เพื่อเปิดหลักสูตรให้คนภายนอกได้มาเรียนรู้งานสร้างสรรค์จากชุมชน บนต้นทุนสำคัญคือประวัติศาสตร์ชุมชน ศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมทางความคิด ประกอบด้วย

  • หนึ่ง-รวมคนสร้างเมืองตามแนวคิดพังงาแห่งความสุข โดยถอดบทเรียนจากการรวมทีมเพื่อสร้างกลยุทธ์ สร้างวิธีการ รวมถึงสร้างกระบวนการต่างๆ จากคณะผู้ริเริ่ม เพื่อค้นหาความต้องการร่วมกันจากทุกฝ่ายในพังงาอย่างแท้จริง
  • สอง-บ้านน้ำเค็ม: วางแผนป้องกันแก้ไขภัยพิบัติด้วยชุมชน โดยถอดบทเรียนจากตำบลบางม่วงในการจัดการภัยพิบัติโดยนำบทเรียนจากเหตุการณ์สึนามิมาเป็นบทพิสูจน์ของพลังการบริหารจัดการโดยชาวบ้านชุมชน 
  • สาม-จัดสรรทรัพย์แบ่งปันสุข: การถอดบทเรียนจากตำบลรมณีย์ ที่มีการจัดกองทุน เพื่อช่วยค้นหาและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ชาวบ้าน โดยกองทุนนี้จัดการบริหารดูแลโดยชาวบ้านทั้งหมด
  • สี่-มอแกลนทับตะวัน: เข้าใจพหุวัฒนธรรมสร้างสรรค์พลเมืองโลก โดยถอดบทเรียนจากพี่น้องชาวมอแกลน ในประเด็นวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และวิถีเดิมของพวกเขา
  • ห้า-เกาะยาวน้อย: สู่ความสุขร่วมของคนในชุมชนโดยถอดบทเรียนเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดหางานให้ลูกหลานในบ้านเกิดตัวเอง รวมไปถึงการสืบสานวัฒนธรรมของชาวมุสลิม
  • หก-โคกเจริญ: สุขภาพดีวิถีโคกเจริญ ถอดบทเรียนจากตำบลโคกเจริญ ในการจัดการทรัพยากรอาหารอย่างครบวงจร ทั้งในด้านสุขภาพ โภชนาการ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา

“พังงามีแนวโน้มของการแย่งชิงทรัพยากรเป็นอย่างมาก อีกทั้งการพัฒนาต่างๆ ถูกกำหนดจากรัฐส่วนกลางเสียมาก ซึ่งอาจทำให้พังงาของเราเป็นเหมือนภูเก็ต กลายเป็นเมืองแออัด มีการก่อสร้างจากกลุ่มทุนมากมาย และอาจมีนโยบายต่างๆ ตามมา เช่น การสร้างเขื่อน ฝาย สนามบิน เราเลยมาคิดกันว่า ต้องออกแบบการพัฒนาเมืองและสร้างการเรียนรู้โดยคนพังงาเอง”

นี่คือวิธีการต่อสู้ของคนพังงา เพื่อสร้างอำนาจและการต่อรองบนแนวทางของการเรียนรู้ และเพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาบ้านเมืองที่ตนรัก โดยไม่ต้องพึ่งพาเพียงคำสั่งการจากภาครัฐเท่านั้น พวกเขาเลือกใช้ศาสตร์และศิลป์ออกแบบจังหวัดที่ทุกคนมีส่วนร่วม มีปากมีเสียง และได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตของเมืองร่วมกัน

https://www.facebook.com/MoklanIndigenousPepleoftheAndaman

Your email address will not be published.