Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา บทความ / บทสัมภาษณ์ โรงเรียนปล่อยแสง

ครูและนักเรียน เราคือมนุษย์ที่ผิดพลาด และเปลี่ยนแปลงได้เสมอ บทเรียนจาก “ครูศักดิ์” ครูฟิสิกส์ผู้ต้องรับบทครูฝ่ายกิจการนักเรียน2 min read

Reading Time: 2 minutes เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของ “ครูศักดิ์” วีระศักดิ์ เวียงสมุทร จากโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ ที่ชวนทุกคนออกไปสำรวจจุดเสี่ยง และช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นได้ในทุกที่ Sep 4, 2023 2 min

ครูและนักเรียน เราคือมนุษย์ที่ผิดพลาด และเปลี่ยนแปลงได้เสมอ บทเรียนจาก “ครูศักดิ์” ครูฟิสิกส์ผู้ต้องรับบทครูฝ่ายกิจการนักเรียน2 min read

Reading Time: 2 minutes

ชีวิตวัยเรียนสำหรับเด็กบางคนไม่ง่ายนัก การบ้านอาจไม่ใช่ภาระหนักหนาที่พวกเขาต้องแบกรับเสมอไป ปัญหาครอบครัว สิ่งเร้ารอบข้าง ความสับสนระหว่างวัย ฯลฯ หลายอย่างถาโถมเข้ามาพร้อมกันในช่วงวัยนี้ 

คงดีไม่น้อยหากโรงเรียนจะเป็นพื้นที่หนึ่งที่ช่วยให้การเติบโต เรียนรู้ และเข้าใจกับโลกใบนี้ง่ายขึ้นบ้าง

“ครูศักดิ์” วีระศักดิ์ เวียงสมุทร ครูประจำวิชาฟิสิกส์ และหัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียน โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ กำลังสร้างพื้นที่เหล่านั้นให้กับนักเรียนของเขา

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้

จุดเริ่มต้นการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนปล่อยแสงของครูศักดิ์ ไม่ใช่เพราะความสนใจส่วนตัว ทว่าเพราะได้ติดสอยห้อยตาม “ครูอิงอิง” – ศิริวิมล เวียงสมุทร เพื่อนร่วมงานและคู่ชีวิต ผู้สนใจใคร่รู้ทักษะและเครื่องมือใหม่สำหรับพัฒนาห้องเรียนอยู่เสมอ  

ผลพวงหลังจากเข้าร่วมเรียนรู้บทเรียนต่างๆ โดยไม่ตั้งใจแล้ว  ครูศักดิ์ผู้ด่วนตัดสินเด็ก ผู้ที่เดินไปไหนนักเรียนต่างก็พากันหลบสายตา ได้เปลี่ยนมาเป็นครูศักดิ์ที่รับฟังเหตุผล ใจเย็น และมองเห็นจิตใจของเด็กมากขึ้น 

สำรวจจุดเสี่ยง 

“ต้องค่อย ๆ เดิน ถ้ามีคนอยู่เดี๋ยวเขาได้ยิน”

ครูศักดิ์กระซิบระหว่างทางเดินเลียบกำแพงโรงเรียนที่เต็มไปด้วยพงหญ้า เสียงใบไม้แห้งดังเป็นระยะตามความเคลื่อนไหวของฝีเท้า แกร๊บ แกร๊บ แกร๊บ… 

บริเวณอาคารเก่าท้ายโรงเรียนเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ครูศักดิ์มักจะเดินตรวจดูเป็นประจำ ด้วยตำแหน่งลับสายตาคนและไกลจากการดูแลของครูส่วนมาก ทำให้เอื้อต่อการเป็นสถานที่มั่วสุมของนักเรียนบางกลุ่ม มีตั้งแต่จับกลุ่มกันโดดเรียน ชู้สาว เสพสารเสพติดอย่างบุหรี่ กัญชา หรือรุนแรงที่สุดคือยาบ้าก็มี

หลายครั้งที่ครูศักดิ์นั่งฟังที่มาที่ไปของพฤติกรรมเสี่ยงแล้วพบว่าปัญหาส่วนใหญ่มีรากลึกจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว เช่น เด็กมีพฤติกรรมรีดไถเงินเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เพราะที่บ้านผู้ปกครองติดยาเสพติด บางวันเขาก็ได้เงินมาโรงเรียน บางวันก็ไม่ได้ จึงมารีดไถเพื่อน  หรือเด็กเงียบขรึมไม่สดใสตามวัย เมื่อสืบสาวไปจึงพบว่าในครอบครัวมีปัญหาการใช้ความรุนแรง ฯลฯ 

เมื่อมองทะลุพฤติกรรมก้าวร้าวเกเรลงไป ครูศักดิ์พบว่าเด็กๆ ต่างมีบาดแผลในใจกันทั้งสิ้น

ขณะครูศักดิ์เล่ากิจวัตรประจำวันเวลาออกเดินสำรวจให้ฟัง จู่ ๆ เสียงฝีเท้าคนวิ่งก็ดังขึ้นและหายเงียบไปทางกำแพง ครูศักดิ์ผละจากการเล่าเรื่องและวิ่งตามไป เขาปีนช่องว่างน้อยระหว่างผนังแล้วชะโงกข้ามกำแพงก็พบว่าเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนชายวิ่งเตลิดเปิดเปิงหายไปทางป่าช้าหลังโรงเรียน

เหตุการณ์ตรงหน้าคล้ายฉากหนึ่งในภาพยนตร์ แต่ครูศักดิ์บอกว่ายังเป็นเพียงฉากเปิด opening scene ที่ไม่อาจด่วนสรุป  หากเป็นเมื่อก่อนเขาคงตั้งข้อหาเต็มปากว่าเด็กเหล่านี้คือปัญหาของโรงเรียน แต่ตอนนี้มุมมองของเขาเปลี่ยนไปมาก

“ได้เข้าวิชาครูคือมนุษย์ ทำให้เราพยายามมองหาคุณค่าในตัวเด็ก มองเขาในหลากหลายด้าน เพราะคนไม่ได้เลวไปทุกอย่าง ต้องมีดีอยู่บ้าง เพียงเราต้องพยายามค้นหาความดีตรงนั้น อาจใช้เวลา แต่เชื่อว่าเด็กทุกคนมีอยู่”

บทเรียนเปิดมุมมองให้ครูศักดิ์หาเหตุผลมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนคนหนึ่ง 

“เราจะไม่ด่วนตัดสินจนกว่าจะได้นั่งคุยกับเขาจริงๆ ได้นั่งคุยกับผู้ปกครองว่าสภาพแวดล้อมเขาเป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงมีพฤติกรรมแบบนี้ เช่น ถ้าคนรอบข้างสูบบุหรี่กันทุกคน แม้แต่น้องที่อายุน้อยกว่าก็สูบ แล้วเขาจะไม่สูบก็เป็นไปได้ยาก เพราะสภาพแวดล้อมเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะทำอย่างไรให้เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นได้”

หากเป็นเมื่อก่อนครูศักดิ์จะสอบสวนโดยพุ่งเป้าที่การกระทำความผิด แต่เมื่อมองในมุมความเป็นมนุษย์ สิ่งสำคัญที่เขานำมาใช้คือ “การรับฟัง” ทิ้งความขุ่นเคืองหงุดหงิดใจจากปัญหาไว้เบื้องหลัง นั่งลงรับฟังเรื่องราวที่เป็นต้นเหตุให้นักเรียนตัดสินใจเลือกพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง  

เขาปรับบุคลิกภายนอกจากครูกิจการผู้มีสถานะควบคุม ดุ โหด มาอยู่ในท่าทีที่ให้ความสบายใจ เพื่อให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัย กล้าเล่าปัญหาในใจของตนเองโดยไม่รู้สึกผิด อาย หรือกลัวการถูกตัดสิน

“เริ่มจากคุยกับเขาอย่างจริงใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขา ถ้ามีจุดที่ครูกับเด็กนักเรียนคุยกันได้จริงๆ เขาจะกล้าเล่าปัญหาทั้งหมดให้เราฟัง ทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้ ทำไมต้องชวนเพื่อนทำสิ่งที่ไม่ดี ทำให้เราสามารถป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำซ้อนหรือการก่อปัญหาในระยะยาวได้”

ในขอบเขตของโรงเรียน ครูศักดิ์อาจต้องพึ่งพาเรี่ยวแรงจากแข้งขาและสายตาอันว่องไวเพื่อสำรวจตรวจดูพฤติกรรมเสี่ยง แต่กับจุดเสี่ยงซึ่งพ้นจากพื้นที่โรงเรียนไป ครูศักดิ์ต้องใช้หัวใจรับฟังอย่างลึกซึ้งถึงจะได้ยิน 

สิ่งสำคัญคือการโอบรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วช่วยผลักดันให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่นักเรียนรอคอย

นอกจากบทบาทของครูฝ่ายกิจการนักเรียน ครูศักดิ์ยังเป็นครูประจำวิชาฟิสิกส์ระดับมัธยมฯ ปลาย เขายอมรับว่าสื่อสารไม่ค่อยเก่ง อาศัยความรักในวิชาฟิสิกส์เป็นองค์ความรู้ที่อยู่ในเนื้อในตัว การถ่ายทอดสู่นักเรียนจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็น แต่ก็ไม่อาจพาวิชาให้เข้าถึงนักเรียนได้อย่างที่ตั้งใจ  

“แต่ก่อนเราจะโพล่งว่า เฮ้ย เฮ้ย หยุด! เพราะเราทำงานกิจการนักเรียนด้วย เด็กนักเรียนก็เลยกลัว แค่เรามองตาปุ๊ปเขาจะหลบสายตาแล้ว  ช่วงโควิดยิ่งแล้วใหญ่ ตอนสอนออนไลน์เด็กไม่เข้าวิชาเลย ในห้องมี 30 คน เข้ากันอยู่ 5 คน”

กระทั่งครูศักดิ์ได้ลองปรับน้ำเสียง บุคลิก และจังหวะการสอนตามที่ได้เรียนมาจากวิชา “ครูกล้าแสดง” ปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กนักเรียนในห้องจึงเปลี่ยนไป

“เราปรับบรรยากาศให้เป็นกันเอง คุยกันมากขึ้น ปรับวิธีสอนจากทฤษฎีมาเป็นทำกิจกรรมให้เด็กมีส่วนร่วม ให้เด็กได้แสดงออกหน้าห้องเรียน ถามตอบ นำเสนอเป็นกลุ่ม แสดงละคร เราลดความจริงจังลง พูดเล่นหรือชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เนื้อหาวิชา เด็กก็เข้าหาเรามากขึ้น สนุกมากขึ้น กลายเป็นห้องเรียนที่สนุกเลยล่ะ”

ครูศักดิ์เล่าว่าได้ใช้ศาสตร์ของวิชา “ครูคือมนุษย์” และทักษะการสื่อสารของ “ครูกล้าแสดง” ที่ได้จากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง มาใช้ลดกำแพงของเด็ก แม้ช่วงแรกเด็กจะงงและสงสัยว่าทำไมครูศักดิ์จึงเปลี่ยนไป แต่เด็กก็พร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลง เพราะคือห้องเรียนที่พวกเขาเฝ้าคอยมาตลอด เช่นกันกับครูศักดิ์ที่เมื่อได้ลองปรับเปลี่ยนแล้วก็พบว่าตนเองได้กลายเป็นคนใหม่ที่มองเห็นความเป็นไปของสิ่งรอบตัวมากขึ้น

“ที่สำคัญคือพยายามเข้าใจว่าถ้าเราเป็นนักเรียนแล้วมาเจอครูแบบนี้ เราจะรู้สึกยังไง เราก็รู้เลยว่าไม่โอเคแน่นอน ถ้าเรียนต่อไปแบบนี้เด็กไม่เข้าใจแน่ ๆ”

พื้นที่ปลอดภัยควรมีในทุกที่

ครูศักดิ์ไม่ได้คาดหวังความเป็นเลิศด้านวิชาการ  แต่หวังให้เด็กทุกคนผ่านพ้นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้อย่างปลอดภัย 

ผมไม่ได้คาดหวังให้นักเรียนต้องเป็นแพทย์ พยาบาล รับราชการ หรืออื่นๆ ตามบรรทัดฐานสังคม บางคนอยากเรียนเพื่อไปค้าขาย ก็ช่วยให้ครอบครัวอยู่ได้ บางคนเรียนเพื่อไปทำสวนทำไร่กับผู้ปกครอง หรือขอเรียนจบแค่มัธยมฯ ปลายแล้วสามารถช่วยผู้ปกครองได้ดีกว่าการที่จะไปเรียนต่อ เขาต้องการแค่นี้จริงๆ แต่สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้เขาอยู่รอดปลอดภัยจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีได้ และเมื่อจบออกไปแล้วก็ไม่ไปเพิ่มปัญหาให้สังคม”

ครูกิจการนักเรียนเพียงหลักหน่วย คงไม่อาจคอยตามดูแลนักเรียนจำนวนหลักพันได้ครบถ้วน สิ่งที่ครูศักดิ์คาดหวังคือการที่เด็กๆ มีวินัยเชิงลึกที่จะช่วยให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัยจากสิ่งยั่วยุต่าง ๆ  เพราะถึงแม้จะมีพื้นที่ปลอดภัยในเขตโรงเรียน  แต่การเติบโตเรียนรู้ของเด็กไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในขอบเขตนี้

ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน บ้าน ชุมชน และทุกคนในสังคมคงต้องช่วยกัน เปิดใจ “รับฟัง” เสียงของเยาวชน โดยไม่รีบด่วนตัดสิน ให้โอกาสเขาได้สะท้อนบอกเล่าปัญหาและความรู้สึกของตนเอง เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นในฐานะ “มนุษย์” ที่มีคุณภาพคนหนึ่ง

Your email address will not be published.