Korkankru

คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์ โครงการจัดการความรู้และขับเคลื่อนระบบการศึกษาและการเรียนรู้

“ค่านิยม” กับทิศทางการศึกษา เมื่อระบบก้าวไม่ทันความคิดของคนรุ่นใหม่1 min read

Sep 5, 2023 2 min

“ค่านิยม” กับทิศทางการศึกษา เมื่อระบบก้าวไม่ทันความคิดของคนรุ่นใหม่1 min read

Reading Time: 2 minutes

“ตั้งใจเรียนนะลูก โตขึ้นไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน”

“เรียนจบสูงๆ จะได้ประสบความสำเร็จในชีวิต”

คำสอนที่สะท้อนค่านิยมของสังคมไทยที่มีต่อระบบการศึกษา เชื่อว่าความสำเร็จทางการเรียนเป็นเครื่องมือช่วยเลื่อนระดับทางชนชั้น  “ลูกฉันจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าคนนายคน” หรือมีความสำเร็จ หากพากเพียรเรียนหนังสือไปให้ได้สูงสุด

                แต่คำถามคือคำว่า “ค่านิยมทางการศึกษา” นั้นหมายความว่าอย่างไร แต่ละคนเข้าใจตรงกันไหม  ที่แน่ๆ คือมันมีอำนาจชี้นำให้เราตัดสินใจลงมือทำตามอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเชื่อว่าน่าจะถูกต้อง แต่ “ถูกต้อง” จริงๆ หรือไม่ แล้วไม้บรรทัดของใครจะวัดความถูกต้องนั้นได้

                ไม่เพียงค่านิยมที่มีต่อเด็กๆ เรายังมีค่านิยมกับครูอย่าง “ครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติ” “ครูคือเรือจ้าง”

ค่านิยมทางการศึกษาเหล่านี้ ทำให้ระบบการศึกษาของเราเดินไปในทิศทางไหน

สังคมสมัยใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากสมัยก่อน คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับค่านิยมเดิมๆ นี้อย่างไร

เราน่าจะเห็นภาพมากขึ้น ถ้ามาลองดูส่วนประกอบรอบๆ ค่านิยมเหล่านี้ และตัวละครต่างๆ ในระบบการศึกษา ว่ามีความสัมพันธ์กันแบบไหน มีความคิดความเชื่อเกี่ยวกับความดีงามอย่างไร

                แต่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราอาจต้องกลับไปดูความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมทางการศึกษาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันเสียก่อน

ผู้เรียน ผลผลิตของการถ่ายทอดค่านิยมและอุดมการณ์รัฐ

“ระบบการศึกษาที่มีมาจนถึงโรงเรียนทุกวันนี้ เป็นระบบที่ออกแบบและเชื่อว่าดีของรัฐมาตลอด  ถ้าเราถอยไปถึงจุดเริ่มต้นการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 การตั้งโรงเรียนก็เพื่อตอบสนองโจทย์ของรัฐ ซึ่งต้องการเพิ่มกําลังคนเข้าไปทํางานในหน่วยงานราชการที่เพิ่งก่อตั้งในยุคนั้น แล้วค่าใช้จ่ายของการสร้างโรงเรียนก็ถูกกว่าค่าใช้จ่ายของการส่งคนไปเรียนต่างประเทศเยอะ”

อาจารย์ “เปี๊ยก”- สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านการศึกษาที่ทำงานด้านการพัฒนาชุมชนวิชาชีพครู  ฉายภาพให้เห็นถึงวิธีคิดในการออกแบบระบบการศึกษาซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารประเทศ

“สมัยนั้นมีการตั้งกระทรวง ทบวง กรม กองต่างๆ จึงจำเป็นต้องเพิ่มกำลังคนที่มีศักยภาพเข้าไปในระบบราชการ เกิดการตั้งโรงเรียนขึ้นจำนวนมากและผลิตครูจำนวนมากเช่นกัน”

ค่านิยมเรียนไปเป็น “เจ้าคนนายคน” จึงเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการประกาศปฏิรูประบบราชการไทยให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับชาติตะวันตก

“ถ้าถามว่าตอนนั้นการศึกษามีไว้เพื่ออะไร ก็แน่นอนว่าเพื่อผลิตคนไปทํางานในหน่วยงานราชการ แน่นอนว่าคนที่ทำงานในระบบราชการก็ต้องได้เป็นเจ้าขุนมูลนาย จึงเป็นค่านิยมฝังรากลึกลงไปในสังคมว่าการเรียนจะทำให้เราเป็นเจ้าคนนายคนได้”

ค่านิยมของการศึกษาสมัยนั้นจึงไม่ได้เน้นที่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองหรือการค้นหาตัวตนอย่างที่เราอาจได้ยินในสมัยนี้ แต่เป็นการยกระดับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้น 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นยุคประชาธิปไตย เป้าหมายการตั้งโรงเรียนก็เริ่มเบนเข็มมาสู่การสร้างระบบการศึกษาให้ประชาชนเข้าใจระบอบประชาธิปไตยและการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกปี พ.ศ. 2475 มีเนื้อหาแฝงอุดมการณ์ของรัฐไว้ในหลักสูตรของโรงเรียน และมีการปรับตามแผนการศึกษาชาติฉบับใหม่ที่ยึดโยงอยู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“อย่างช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ก็เป็นยุคของการพูดถึงสิทธิและประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้นในแผนการศึกษาก็จะมีถ้อยคําที่พูดถึงการศึกษาที่ทําให้คนตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น  ถ้าดูประวัติศาสตร์ เรื่องของอุดมการณ์ของรัฐที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา จะถูกถ่ายทอดเข้าไปในเนื้อหาหลักสูตรการศึกษาและโรงเรียนตลอดมา” อาจารย์เปี๊ยกชี้ถึงความสัมพันธ์ของค่านิยมกับระบบการศึกษาที่จัดการโดยรัฐ

จากวันนั้นถึงวันนี้ ระยะเวลาผ่านมากว่าศตวรรษ มีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายเกิดขึ้นซึ่งก็น่าจะทำให้ความเชื่อและค่านิยมเกี่ยวกับการศึกษาแตกต่างไปตามยุคสมัย จึงน่าตั้งคำถามว่าทำไมค่านิยม “เจ้าคนนายคน” จึงยังไม่ได้เปลี่ยนไปด้วย

“เหตุการณ์ผ่านมาเนิ่นนานแล้วก็จริง แต่วัฒนธรรมบางอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ได้หายไปง่ายๆ แม้ว่าเราจะเปลี่ยนวิธีคิดหรือวิธีการทํางานไปแล้ว เพราะมันถูกฝังรากมาตั้งแต่ตอนต้น  ความเชื่อว่าส่งลูกไปเรียนเพื่อเป็นเจ้าคนนายคน รวมทั้งวัฒนธรรมเชิงอํานาจในโรงเรียนก็ยังไม่ได้เปลี่ยนตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป  วัฒนธรรมแบบเดิมยังคงใช้การได้ดีอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะยังสอดคล้องกับระบบราชการ” อาจารย์เปี๊ยกอธิบาย

อาจารย์เปี๊ยกขยายภาพปัญหาของวัฒนธรรมเชิงอำนาจว่า ประเทศไทยใช้กลไกระบบราชการขับเคลื่อนประเทศ โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในหน่วยงานขับเคลื่อนด้านการศึกษา โครงสร้างในรั้วโรงเรียนจึงหนีไม่พ้นระบบราชการที่มีลำดับขั้นการสั่งการจากบนลงล่าง (Top-down) ข้าราชการครูแทบไม่ต่างอะไรกับตัวแทนของภาครัฐที่คอยรับคำสั่งและปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชา และไม่ได้มีอำนาจกระทำการและตัดสินใจเป็นของตนเอง

“หลักสูตรก่อนการปฏิรูปการศึกษาปี 2542 จะมาพร้อมกับเนื้อหาและวิธีการสอน ครูไม่จำเป็นต้องคิดหรือออกแบบการสอน เพราะทั้งหมดอยู่ในหนังสือเรียน คู่มือครู บอกสิ่งที่ครูต้องทำอย่างละเอียด นักเรียนก็เรียนตามหนังสือเรียนที่กําหนดโดยรัฐ  อุดมการณ์ของรัฐส่งตรงจากกระทรวงฯ ถึงเด็กเลย ครูมีหน้าที่ทําตามสิ่งที่กําหนดมาให้ในหลักสูตร ครูแค่ทำตามสิ่งที่รัฐบอกก็ถือว่าทำหน้าที่สมบูรณ์

“ระบบและสังคมแบบนี้ต้องมีผู้บังคับบัญชาตามสายงานต่างๆ แล้วคนในระบบก็ต้องทำหน้าที่ไปตามระเบียบ แต่ปัญหาคือพอการควบคุมบังคับมากจนเกินไป ความเป็นมนุษย์ในโรงเรียนก็ถูกจำกัดไปด้วย”

แม่พิมพ์ของชาติ : ครูผู้แบกรับความคาดหวังของรัฐและผู้คน

“งานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่เป็นยังไงไม่รู้แหละ แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาต้องการแบบนี้ ก็ต้องทำให้ได้ มันเป็นแบบนี้เหมือนกันเกือบทั่วประเทศ”

ผอ. “หมอน” –ศรีสมร สนทนา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน จังหวัดอุดรธานี ผู้อยู่ในวงการการศึกษามายาวนานกว่า 40 ปี ผ่านประสบการณ์การเป็นครู ศึกษานิเทศก์ที่ให้คำปรึกษาครู รองผู้อำนวยการโรงเรียน จนถึงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ทำให้มองเห็นบทบาทของครูในระบบราชการไทยแบบทะลุปรุโปร่ง

ความเป็นระบบราชการคือสิ่งที่ ผอ. หมอนต้องคอยรับมือมาโดยตลอด

“เป็นครูอยู่ประมาณ 10 ปี ก็เริ่มจะหมดแรงบันดาลใจ อยากลองสอบเป็นศึกษานิเทศก์ เพราะตอนเป็นครูรู้สึกว่าตำแหน่งนี้โก้มาก มองแล้วแบบเก่งจัง ดูมีความรู้ น่าจะมีหน้าที่วิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาครู แต่พอได้เป็นจริงๆ ก็พบว่ามีหน้าที่แค่รับคำสั่งจากเบื้องบนมาขยายต่อให้กับโรงเรียน เป็นแค่ธุรการทำตามคำสั่ง

“เพราะข้างบนมีผู้บังคับบัญชา ใครไม่มีจุดยืนเข้มแข็งก็ต้องไหลตามเขาไป บางคนก็ได้ผลประโยชน์จากการไหลตามคำสั่งด้วยซ้ำ”

ประสบการณ์ของ ผอ. หมอน ทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่แค่ครูเท่านั้นที่ต้องทำตามคำสั่งจากศูนย์กลาง แต่บุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารโรงเรียน ก็ต้องทำตามคำสั่งจากส่วนกลางอย่างเคร่งครัด

ผอ. เล่าให้ฟังว่าในอดีตอาชีพข้าราชการครูนั้นยังต้องเป็นทุกอย่างให้กับชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อราชการ การพัฒนาชุมชน แม้กระทั่งถนนชำรุด ทุกคนในหมู่บ้านจะมองหาครูเป็นคนแรกเสมอ

“สมัยก่อนคนในชุมชนเขาเปรียบเปรยเราว่าเป็น ‘แม่พิมพ์’ บังคับเลยว่าคนเป็นครูจะต้องเป็นคนดี คนเก่ง จะต้องสมบูรณ์แบบ ครูต้องห้ามผิด ห้ามทำอะไรที่นอกกฎ จารีตประเพณี เหมือนถูกกดทับให้ทำอะไรไม่ได้ เพราะอยู่ในสายตาของเด็กๆ ตลอดเวลา”

“แม่พิมพ์ของชาติ” จึงเป็นหนึ่งในค่านิยมของสังคมที่คาดหวังให้ครูเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งการประพฤติตนและการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับเด็กๆ

“แล้วก็มีอีกยุคหนึ่งที่ครูถูกมองว่าเป็น ‘เรือจ้าง’ เป็นปูชนียบุคคลที่คอยรับเด็กๆ เข้ามาศึกษาในโรงเรียน แล้วก็ต้องพาเขาไปถึงฝั่งฝันอีกฟากหนึ่ง แบกทั้งชีวิต อนาคต และความไม่รู้ของเด็กๆ  พอเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็ต้องวนกลับมารับเด็กรุ่นใหม่ต่อไปอีก”

งานวิจัยในหัวข้อ “อุปลักษณ์เชิงมโนทัศน์ครูตามมุมมองอรรถศาสตร์ปริชานในเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครู” ของ พิชญาวี ทองกลาง และทินวัฒน์ สร้อยกุดเรือ รวบรวมการเปรียบเปรยในบทเพลงต่างๆ เกี่ยวกับครูตั้งแต่ปี 2500-2561 ซึ่งแสดงถึงความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของครู พบว่ามี 8 รูปแบบ ได้แก่

ครูคือแบบพิมพ์ ครูคือแสงสว่าง ครูคือเรือจ้าง ครูคือกระดาษทราย

ครูคือการเดินทาง ครูคือนักสู้ ครูคือช่างตีเหล็ก และครูคือช่างปั้น

วาทกรรมที่เปรียบเปรยครูด้วยคำเชิดชูยกย่อง กับระบบราชการที่เข้มแข็ง กลายเป็นภาพลวงตาที่ทำให้ครูต้องแบกรับความคาดหวังและหน้าที่ต่างๆ มากมายโดยไม่รู้สึกอึดอัดหรือคิดตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนเองต้องเผชิญ

“การเป็นครูในสมัยก่อนจึงไม่ใช่มนุษย์ เป็นเหมือนจำลองเทวดาลงมาเลย ผิดไม่ได้ แต่ถามว่าเรามีความสุขไหม มันก็อยู่ได้นะ ถามว่ารู้สึกโดนกดทับไหม ตอนนั้นเราไม่รู้สึกว่าถูกกดทับ  เรายินดีทำตามกฎระเบียบอย่างมีความสุข ไม่ได้รู้สึกอึดอัด  เราไม่ได้ต่อสู้โวยวายเลย ไม่เหมือนยุคนี้ที่ครูรุ่นใหม่ออกมาตั้งคำถามกัน  สภาพแวดล้อมสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ครูเห็นความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจมาเป็นครูของแต่ละคนด้วย”  

แล้วคำว่า “แม่พิมพ์” มีความหมายเปลี่ยนไปอย่างไรในยุคนี้ ถูกตีความและนำมาปรับใช้อย่างไร

“ครูต้องเสียสละใช่ไหม ใช่ ต้องเสียสละ แต่ว่าเสียสละอย่างไรให้พอดี ความเป็นแบบอย่างของครูก็ยังมีสําหรับเด็ก จะสังเกตได้ว่าเด็กจะมองครูในโรงเรียน เช่น เขามีครูคนนี้เป็นไอดอล เพราะเห็นครูเตะตะกร้อเก่ง ขอครูสอนผมหน่อยได้ไหมครับ นี่ก็เป็นแบบอย่างแล้วนะ เป็นแม่พิมพ์ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นคําว่าแม่พิมพ์มีได้ แต่ว่าต้องไม่มากจนทําให้ครูไม่เป็นตัวของตัวเอง

“ปัจจุบันคําว่าแม่พิมพ์ลดลงมาเป็นแม่พิมพ์เล็กๆ หน้าที่ครูก็เหมือนพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก เขาคงไม่อยากจะเป็นแบบเหมือนสมัยก่อน เพราะครูก็บอกว่าเขาไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้น แต่ก็ยังพยายามจะทําหน้าที่ตรงนี้ให้ดีอยู่”

กาลครั้งหนึ่ง “ผู้เรียนคือศูนย์กลาง”

ถ้าย้อนไปดูโครงการศึกษาครั้งที่ 1 (แผนการศึกษาฉบับแรก) ในปี 2438 จะพบว่าเน้นให้นักเรียนฝึกฝนการอ่าน เขียนตามคำบอก คัดลายมือ และเรียนรู้เกี่ยวกับไวยากรณ์จากพงศาวดารและแบบเรียนที่รัฐกำหนด

หมุนเข็มเวลามายุคที่ประเทศมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีแนวคิดชัดเจนว่าอํานาจควรกระจายจากศูนย์กลางไปสู่ภูมิภาคในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการศึกษา

ยุคนั้นเกิดการพลิกหลักสูตรจากเวอร์ชันที่ทำทุกอย่างตามที่รัฐต้องการ ครูสอนตามหลักสูตรและมาตรฐานที่กําหนด เปลี่ยนมาเปิดให้ครูออกแบบได้ว่าจะทําอย่างไรให้ผู้เรียนบรรลุมาตรฐานนั้นตามบริบทของพื้นที่  

“โรงเรียนมีหลักสูตรของตัวเองได้ ครูสามารถเขียนเอกสารประกอบการสอน มีหนังสือเรียนของโรงเรียนเองได้ ซึ่งการกระจายอํานาจแบบนี้ดีมากๆ ในแง่ของการทําให้ครูหรือโรงเรียนได้ออกแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์เฉพาะของพื้นที่ แต่วัฒนธรรมที่ถูกฝังรากมาแต่เดิมไม่เอื้อกับการที่ครูต้องมาทําเองทั้งหมด”

อาจารย์เปี๊ยก สิทธิชัย วิชัยดิษฐ เล่าถึงการพยายามเปลี่ยนหลักสูตรแบบก้าวกระโดด ส่งเสริมการกระจายอํานาจอย่างเต็มที่ แต่ปัญหาคือการมาก่อนกาล

“นึกภาพออกไหมครับว่า ครูสอนตามหนังสือเรียนกันมาทุกวัน โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก เปิดหนังสือหน้านี้ไปต่อได้เลย แต่มาวันหนึ่งบอกว่า ไม่มีหนังสือเรียนให้แล้วนะ ครูคิดเองเลยนะ โอ้โห ช็อกเลยครับ ตอนนั้นเราเชื่อเรื่องการกระจายอํานาจ เชื่อถึงความสามารถของโรงเรียนที่จะยืนได้ด้วยตัวเอง แต่เราอาจเชื่อเร็วไปนิดหนึ่ง ขาดกระบวนการเตรียมความพร้อม”

อุดมการณ์รัฐที่เปลี่ยนไปในครั้งนั้นยังทำให้เกิดแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “การจัดการเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child-Centered Learning)” ซึ่งยึดธรรมชาติของการเรียนรู้และความต้องการของนักเรียนเป็นหลัก

แนวคิด “Child-centered Learning” ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกิดการประชดประชันและล้อเลียนคำว่า Child-Centered กลายเป็น ควาย-Centered เพราะมองว่าเมื่อครูไม่สอนแล้วปล่อยให้นักเรียนเรียนรู้กันเองก็เลยไม่เกิดการเรียนรู้ใดๆ

“ตอนนั้นแนวคิดว่าครูเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ยังไม่เกิด ไม่มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เกิดการปล่อยให้เด็กไปหาความรู้เอาเอง สุดท้ายไปไม่รอด พอปรับหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งในปี 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงกลับมายึดตามตัวชี้วัดอีกครั้ง”

น่าจะเป็นอีกปรากฏการณ์ของการถ่ายทอดอุดมการณ์รัฐส่งผ่านระบบการศึกษา แต่ความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงที่ขาดการเตรียมพร้อม ทำให้แนวคิดที่ดีต้องหยุดชะงัก  แต่ความหวังพอมีอยู่บ้าง เพราะยังมีครูที่พยายามพัฒนาตัวเอง ต่อสู้กับกรอบของหลักสูตรและตัวชี้วัดที่ทำให้การเรียนการสอนกลายเป็นความทุกข์ของทั้งครูและนักเรียน

วันนี้เราเห็นปรากฏการณ์บนสื่อออนไลน์ มีการตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มครู และนักเรียนมากมาย เช่น เพจ Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน, ก่อการครู, กลุ่มนักเรียนเลว, แอคเคาท์ เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ ที่ร่วมลงถนนและตั้งวงสนทนาต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจงมาก จนรัฐและระบบราชการผู้ออกแบบระบบการศึกษาต้องออกมาตอบคำถาม

สถานะของครูเองก็เริ่มมีสีสันและได้รับการมองอย่างมีมิติมากขึ้น เพราะครูก็ไม่ต่างจากมนุษย์คนอื่นๆ ที่ผิดได้ พลาดได้ และเป็นผู้ที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเหมือนกับนักเรียน

“เราพยายามพาครูออกมาจากกรอบหลักสูตรที่แข็งตัว บางคนไม่กล้าจะคิดอะไรใหม่ทําอะไรใหม่ กลัวเขตการศึกษามาประเมิน กลัวศึกษานิเทศก์จะมาทักว่าเอาอะไรมาสอน แผนการสอนมาจากไหน มีทฤษฎีอะไรรองรับ  ตอนนี้เราเริ่มเห็นห้องเรียนที่เด็กเรียนอย่างมีความสุข  เราเห็นครูที่รวมกันแบบไม่เป็นทางการ มาคุยกันว่าเราควรจัดกิจกรรมแบบไหนดี เพราะฉะนั้นถึงตอนนี้จะยังไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ได้สัก 50 ก็ดีแล้ว” ผอ. หมอน ศรีสมร สนทนา ให้ความเห็นต่อการเปลี่ยนแปลงของครูในปัจจุบัน

ค่านิยมพ่อแม่ พันธุกรรมความคิดที่ติดกรอบ

“พ่อแม่จะตั้งคำถามกับคุณก่อนเลยว่า เรียนจบไปแล้วจะประกอบอาชีพอะไร”

“โอเว่น” – กฤษณะ ทาทอง นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้สนใจศึกษาความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาไทยในมุมมองเชิงวิพากษ์ ปัญหาที่ค่านิยมต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในระบบการศึกษา

 “พ่อแม่เชื่อในการเรียนเพื่อประกอบอาชีพ เรียนจบแล้วต้องประกอบอาชีพที่มั่นคง และเป็นความมั่นคงในอุดมคติของพ่อแม่ด้วย เช่น การเป็นหมอ ครู พยาบาล ข้าราชการ มีความเป็นวิชาชีพ ต้องจบด้วยเกรดที่สูง และสังคมก็ให้ภาพลักษณ์ว่าต้องเรียนเก่งเท่านั้นถึงจะประกอบอาชีพเหล่านี้ได้

“ถ้าเคยเห็นตามหน้าโรงเรียนจะขึ้นป้ายแสดงความยินดีกับนักเรียนที่สอบติดมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนักเรียนที่ติดคณะแพทย์ศาสตร์ ก็ยิ่งตอกย้ำค่านิยมการเชิดชูคนที่ประสบความสำเร็จ”

ค่านิยมที่มองว่าการประสบความสำเร็จทางการศึกษาคือความสำเร็จในชีวิต ยังคงส่งอิทธิพลทางความคิดจากการเป็นเจ้าคนนายคนในอดีต มาอยู่ในคำใหม่ที่เรียกว่า “ความมั่งคงในชีวิต”

“เราเคยมีเพื่อนที่มีความสามารถทางการแสดงละครมากๆ เรียกว่ามีพรสวรรค์เลย มีความสุขทุกครั้งที่ได้แสดงละคร แต่สุดท้ายแล้วเขาถูกบีบให้ต้องตัดสินใจเลือกเรียนสายวิชาการ หรือวิชาชีพที่มีความมั่นคงตามที่พ่อแม่อยากให้เป็น ต้องละทิ้งตัวตนเพื่อความมั่นคงที่พ่อแม่คาดหวัง” โอเว่นเล่า

อาจารย์เปี๊ยกอธิบายว่าค่านิยมเรื่องความมั่นคงในชีวิตสอดคล้องกับความคิดของผู้ปกครองชนชั้นกลางที่ตามมาด้วยค่านิยมของการพยายามส่งลูกเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โรงเรียนที่มีเด็กเก่งสอบติดเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้ลูกได้รับโอกาสและการศึกษาที่ดีที่สุด

“เราถูกปลูกฝังว่าจะขยับสถานะของชีวิตได้ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาที่ดี สอบได้เป็นท็อปของชั้น  โรงเรียนที่ประกาศเรื่องนี้ก็เหมือนการันตีว่าถ้าคุณส่งลูกมาเรียนที่โรงเรียนเรา ลูกคุณจะมีอนาคตที่ดีแน่ ๆ พ่อแม่ก็อยากส่งให้ลูกไปเรียนโรงเรียนนี้ ค่านิยมก็ถูกส่งต่อกันมาแบบนี้ แม้ว่าหน้าตาของสังคมจะเปลี่ยนไปมากแล้ว”

ส่วน ผอ. หมอน ศรีสมร สนทนา สะท้อนแง่มุมของค่านิยมและความสัมพันธ์ในชุมชนชนบท

“บางทีก็แค่อยากอวดป้าข้างบ้านว่าลูกฉันขึ้นมาแล้ว แข่งกันว่าลูกเธอสอบเข้าโรงเรียนนี้ได้ไหม ลูกฉันสอบเข้าได้แล้ว มากกว่าการให้ความสําคัญด้านวิชาการ คือการแข่งขันกันในชุมชนของเขาเอง 

“ยิ่งในบ้านนอกหรือเมืองเล็กๆ พ่อแม่ก็ยังอยากให้ลูกเป็นข้าราชการในเครื่องแบบ เพราะดูเป็นผู้มีอันจะกินกว่าเพื่อน มีเกียรติศักดิ์ศรีมากกว่าเพื่อน การได้เป็นหมอ ตํารวจ ครู ยังเป็นความต้องการลำดับต้นๆ  ส่วนพ่อค้าคหบดีก็จะอยู่ลําดับถัดๆ ไป ถึงแม้ว่าวิชาชีพอิสระจะเริ่มเป็นที่สนใจ แต่ก็ยังถือว่าน้อย  พ่อแม่ยังมองถ้าทำอาชีพอิสระมาอยู่ตรงนี้แล้ว จะเอาอะไรกิน

“ในฐานะครูและผู้บริหารโรงเรียน อยากให้ผู้ปกครองมีค่านิยมในการเชื่อในตัวเด็ก รับฟังลูกให้มากขึ้น อย่าไปกดดันว่าต้องเรียนให้ได้เกรดสี่ ศักยภาพแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ให้ลูกเป็นตัวเขาด้วยความพึงพอใจของเขาเอง”

คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแล้ว แต่ระบบยังไม่เปลี่ยน

เหตุการณ์เมื่อกลางปี 2566 ของ “หยก”-ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนวัย 15 ปีที่ตั้งคำถามกับกฎระเบียบการแต่งกายของโรงเรียน และเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎและข้อบังคับโรงเรียนที่ขัดต่อสิทธิ เสรีภาพ ทำให้สังคมเกิดข้อถกเถียงและตั้งคำถามต่อการบังคับใช้กฎในรั้วโรงเรียนอีกครั้ง

“ผมว่าค่านิยมของเด็กเปลี่ยนไปแล้วชัดเจน ค่านิยมครูเปลี่ยนไปไหม ผมก็ว่าเปลี่ยน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนและมีแรงเสียดทานกับความพยายามจะเปลี่ยนก็คือระบบ  การที่รัฐสั่งขึ้นบอร์ดว่าค่านิยมหลักสิบสองประการมีอะไรบ้าง มันง่ายกว่าการที่จะให้เด็กมามีส่วนร่วมกันคิดว่าเราควรมีค่านิยมอะไรบ้างในโรงเรียน  แต่ความง่ายที่รัฐสั่งนี่ต้องถามว่าง่ายจริงไหม ถ้าต้องการให้สิ่งนี้เป็นค่านิยมของคนจริงๆ  ทั้งเด็ก ครู เขาเห็นด้วยกับสิ่งที่อยู่บนบอร์ดนั้นมากน้อยแค่ไหน”

อาจารย์เปี๊ยก สิทธิชัย วิชัยดิษฐ เห็นว่าการพยายามใส่ค่านิยมเข้าไปทื่อๆ อาจทำให้กลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไร้ความหมาย

“ระบบนี่แหละเป็นตัวการที่ทำให้ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ แทนที่จะบังคับควบคุม ถ้าเปลี่ยนเป็นการมอบความเชื่อใจและความรับผิดชอบให้คนในระบบ คุณค่าหรือสิ่งที่สังคมเชื่อถือก็จะเกิดผลในทางปฏิบัติ

“ยกตัวอย่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามอบความเชื่อใจให้ครูสามารถออกแบบวิธีการสอนหรือจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียน มอบความเชื่อใจให้เด็กว่าคุณไม่จำเป็นต้องสวมชุดนักเรียน ไว้ผมทรงไหนก็ได้ ตราบใดไม่ทำร้ายตัวเอง  เขามีธรรมนูญนักเรียน คือข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันภายในโรงเรียนซึ่งผ่านความเห็นชอบของประชาคมนักเรียน โดยระบุว่านักเรียนมีอิสระในการแต่งกายตามอัตลักษณ์ แต่งกายให้สุภาพ เหมาะสมกับกาลเทศะ สถานที่ และโอกาสต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียน”

ผอ. หมอนที่คอยสังเกตความคิดความเชื่อของนักเรียนผ่านสายตาผู้อำนวยการโรงเรียน ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมบางอย่าง และไม่ใช่แค่นักเรียน แต่รวมถึงครูและพ่อแม่ด้วย

“เด็กรุ่นใหม่โตมาในสภาพแวดล้อมที่มีเรื่องเสรีภาพมากยิ่งขึ้น การเรียกร้องสิทธิให้กับตัวเองก็มีมากขึ้น ครูรุ่นใหม่ก็เรียกร้องเหมือนกัน ไม่แต่งชุดนี้ได้ไหม ใส่กางเกงมาได้ไหม เราจะถามเขาว่าภารกิจของเราคืออะไร ถ้าวันนี้ต้องการความคล่องตัวในการสอน การใส่กางเกงมาก็เหมาะสมดี

“เรารู้สึกว่าคนเจนเนอเรชั่นนี้กำลังเปลี่ยน เราได้ยินพ่อแม่บางคนพูดว่าลูกเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ลูกทำอะไรก็ได้ที่ลูกอยากทำ ไม่ได้กำหนดว่าลูกของเราจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้  เด็กเหล่านี้จะได้รับสารตั้งต้นทางความคิดจากผู้ปกครองรุ่นใหม่ แล้วเขาก็จะมีโอกาสทำตามความชอบมากขึ้น มีโอกาสเป็นตัวเองมากยิ่งขึ้น ได้ทำอาชีพที่ไม่โดนบีบบังคับจากค่านิยมของผู้ปกครอง”

ไม่ใช่แค่นักเรียนและครูในระบบ แต่นักศึกษาครูในสถาบันผลิตครูก็กำลังเปลี่ยนผ่านทางความคิดเช่นเดียวกัน

โอเว่น กฤษณะ ทาทอง เล่าให้ฟังถึงเพื่อนที่กำลังเรียนเป็นครูว่า

“หลายคนเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าฉันเองก็เป็นคนธรรมดา ทำไมต้องเป็นแม่พิมพ์ของใคร ไม่ได้อยากผลิตให้เด็กออกมาเหมือนกัน เพราะเราไม่ใช่โรงงาน และนักเรียนสมัยนี้ก็มีวิจารณญาณมากขึ้น เขาอยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องมีใครมาเป็นแบบอย่างให้”

แม้ความคิดความเชื่อของส่วนประกอบอื่นๆ ในสังคมจะเริ่มขยับก้าวไปบ้างแล้ว แต่คำถามสำคัญในท้ายที่สุด คือระบบการศึกษาที่ยังถูกแช่แข็ง ภายใต้ระบบราชการและการรวมศูนย์อำนาจที่ฝังรากมายาวนาน ลดทอนและริดรอนความเป็นมนุษย์ของทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน 

ถ้าเช่นนั้นแล้วอนาคตระบบการศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงไหม และจะเปลี่ยนได้อย่างไร

อาจารย์เปี๊ยกให้คำตอบด้วยความเชื่อมั่นว่าแนวคิดประชาธิปไตยจะเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในสังคมไทย และค่านิยมหลักที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ระบบการศึกษาได้ ก็คือ “การมีส่วนร่วม”

“เราควรส่งเสริมค่านิยมการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างการทำงาน กติกาที่อยู่ร่วมกัน หลักสูตรที่สอนเด็กๆ  เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราต้องฟังเสียงของคนที่อยู่ด้วยกัน เพราะความทุกข์ของคนเกิดขึ้นจากการถูกบังคับ แม้ว่าสิ่งที่บังคับจะดีขนาดไหน แต่คนที่ถูกบังคับก็ไม่มีความสุข  การมีส่วนร่วมจะทำให้เราได้ระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ของประเทศ และของรายบุคคลด้วย”

Your email address will not be published.