Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ / บทสัมภาษณ์ บันทึกเวทีการเรียนรู้ ร่วมพัฒนาใจกระทิง

สายธารแห่งชีวิตสู่การเรียนรู้ที่มีความสุข แรงบันดาลจากโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ1 min read

Reading Time: 3 minutes “ALIVE SPACE : พื้นที่มีชีวิต” พื้นที่อันเป็นนิเวศการเรียนรู้ที่ทำให้โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศแห่งนี้อุดมไปด้วยชีวิตชีวา ที่เปล่งประกายสร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครกลับไปเปลี่ยนวัฒนธรรมห้องเรียนเดิม Feb 27, 2024 3 min

สายธารแห่งชีวิตสู่การเรียนรู้ที่มีความสุข แรงบันดาลจากโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ1 min read

Reading Time: 3 minutes

ยินดีต้อนรับทุกท่านที่กำลังเดินทางเข้าร่วมงาน… เสียงเรียกเชิญชวนเครือข่ายเข้าสู่บรรยากาศของงาน “ALIVE SPACE : พื้นที่มีชีวิต” 2 ปี โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ ภายใต้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) เปิดภาพสายธารแห่งการเปลี่ยนแปลง เรียงร้อยด้วยเรื่องราวที่ผลิบาน และความร่วมมือจากองคาพยพในระบบนิเวศการเรียนรู้ ทำให้โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศแห่งนี้อุดมสมบูรณ์และเกื้อกูลกันอย่างลงตัว

…..ใบหน้าของครูที่อิ่มเอม เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวแห่งความหวัง
เสียงของนักเรียนที่ต้อนรับขับสู้ด้วยความภูมิใจ ให้เราเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่เขาเริ่ม ‘ก่อการ’
บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยการแบ่งปัน การผลิดอกออกผลของการเปลี่ยนแปลงในวังตะกู…… 

โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ ดูภายนอกก็เหมือนโรงเรียนทั่ว ๆ ไป แต่แปลกใจที่นี่กลับสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบ ทุกบูธ ทุกกิจกรรม และทุก ๆ จังหวะของการก้าวเดินภายในงาน ล้วนเป็นการส่งเสียงว่า “พวกเราคือเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง”  ALIVE SPACE ได้สรรค์สร้างให้ทุกชีวิตที่เข้ามารู้สึกมีชีวิตชีวา และเปล่งประกายสร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครกลับไปเปลี่ยนวัฒนธรรมห้องเรียนเดิม

“2 ปีมานี้ วิถีการทำงานของเราเริ่มดีขึ้น จากแต่ก่อนตัวใครตัวมัน วิชาใครคนนั้นรับผิดชอบ เราต่างมองว่าเราเจ๋งในจุดที่เรายืน แต่หลังจากเราเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เราเห็นความละเอียดอ่อนในมิติของการสอนและการเรียนรู้ เราพยายามขับเคลื่อนตั้งแต่พาครูไปอบรม เติมเครื่องมือ จนตอนนี้ครูทุกคนต่างกำกับเส้นทางการพัฒนาห้องเรียนของตัวเอง ขณะเดียวกันวงนี้มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้ครูบางคนได้ขยับ” 

พรพิพัฒน์ ตั้งจิตรวัฒนากุล หรือ ผอ. ปุ๊ย (ผู้อำนวยการโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ) ชวนย้อนมองถึงภาพในอดีต ก่อนที่วังตะกูจะเริ่มลุกขึ้นมา สร้างห้องเรียนที่ไม่กัดกร่อนความสามารถที่แท้จริงของเด็ก  ทำลายเส้นแบ่งของคำว่าวิชาการและวิชาชีวิต  ตลอดจนให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพภายใน ซึ่งอีกจุดแข็งอันมีค่าของโรงเรียนแห่งนี้คือ ทุกคนทุกบทบาท 

พร้อม ‘ร่วมมือ’ กันอย่างสุดกำลัง จนเกิดเป็นบรรยากาศสุดหรรษาที่อัดแน่นไปด้วยศาสตร์และศิลป์ที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการแสดง Happy Girl จากนักเรียนที่ออกมาโชว์ฝีไม้ลายมือในการเต้น Cover Dance ด้วยความมั่นใจ ถัดไปด้านหน้าเวทีก็พร้อมฟังกับเรื่องราวของผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และนักเรียนปัจจุบัน ที่ต่างพาให้เห็นมุมมองของทุกบทบาทอย่างเท่าเทียม อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของงาน คือ เรื่องราวบันดาลใจของ “ผู้ก่อการ” หรือ Co-Agency จากครู ผู้บริหาร และนักเรียนผ่านบูธแสดงผลงานที่เรียงรายและโชว์พลังที่พวกเขาได้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง ฟื้นฟูโรงเรียนให้กลับมามีชีวิต และประกอบสร้างนิเวศการเรียนรู้ในแบบฉบับของตน

กระบวนการส่งเสริมองค์ความรู้และความเชื่อมั่นของทุกบทบาทในโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศไม่อาจสร้างได้ภายในวันเดียว สายธารแห่งนี้จึงมีข้อจำกัดมากมายที่พาให้ก้าวข้าม จึงเป็นที่มาของการปลดแอกและสร้างความตระหนักร่วมกันว่า การศึกษาไม่สามารถพัฒนาได้โดยคนเดียว ทุกคนสามารถพัฒนาการศึกษาในมิติของตนเอง แม้โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาฯ จะเป็นเพื่อนร่วมทางที่แนบชิด พร้อมสนับสนุนทุกการเดินทาง ทว่ามันคงจะสั่นคลอนไม่น้อยหากโรงเรียนไม่ได้กลับมาพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นองค์รวมด้วยตนเอง

การขยับของครูคืออีกหนึ่งฟันเฟืองความสำเร็จของโรงเรียน

ปัญหากลัดกลุ้มของมนุษย์ครู ที่ต้องสอนหนังสือให้โดนใจวัยเรียน แถมบางครั้งยังมีภาระมากมายทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้แบกรับ บางครั้งไฟของการทำอาชีพนี้ก็เริ่มมอดดับไปทุกที 

ทว่าไฟของครูแห่งวังตะกูฯ เหมือนกำลังปะทุกลับมาอีกครั้งด้วยความหวังในตัวนักเรียน

โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศเปิดกว้างทางความคิด พร้อมให้ครูได้ขยับตามแนวทางที่ถนัดของตนเอง ส่งผลให้ครูแทบจะทุกคนในโรงเรียนเห็นความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก ต่างพากันพยายามงัดอาวุธที่สร้างสรรค์ด้วยความเข้าใจหวังให้นักเรียนหันมาสนใจและเกิดการพัฒนาในการเรียน

ครูแพท นายเสริมศักดิ์ ครูวิชาภาษาอังกฤษรุ่นใหม่ที่มีใจสร้างห้องเรียนที่สร้างสรรค์ เกิดไอเดียที่อยากให้เด็กมีความกล้าที่จะพูดภาษาอังกฤษ เนื่องจากครูแพทเป็นครูรุ่นใหม่ที่ช่วงวัยใกล้เคียงกับนักเรียน ทำให้เขาเองสัมผัสได้อย่างเข้าใจว่าห้องเรียนเดิม ๆ มันกำลังบั่นทอนความสามารถของเด็ก จึงริเริ่มโปรเจกต์มัคคุเทศน์น้อย Young Tourist Guide บอกเล่าเรื่องราวในชุมชนวังกด ชุมชนประจำโรงเรียน ครูแพทเล่าว่าช่วงแรกเราพยายามให้พื้นที่นักเรียนสื่อสารภาษาไทยระหว่างเพื่อนกับเพื่อนด้วยกันก่อน เสริมความมั่นใจในคำพูดและน้ำเสียงของเขาเอง จากนั้นค่อย ๆ ไต่ระดับเป็นการสื่อสารภาษาอังกฤษ หลังจากการลงพื้นที่ก็จะสร้างวงสะท้อนจากนักเรียนว่าเขารู้สึกอย่างไร เกิดการเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิมไหม ซึ่งผลที่เกิดขึ้น ยิ่งทำให้เราเห็นได้ชัดขึ้นว่าคุณครูสามารถสร้างพื้นที่การสื่อสารภาษาอังกฤษให้ได้มากกว่าในห้องเรียนโดยนำเรื่องราวที่มีคุณค่าดั้งเดิมมาผนวกเสียใหม่ ตลอดทั้งการเปิดกว้างอิสระในการเรียนรู้ทำให้ห้องเรียนภาษาอังกฤษน่าสนใจและทำให้นักเรียนเห็นภาพการใช้ภาษาอังกฤษผ่านประสบการณ์จริง 

เมื่อเรารู้สึกมีค่า เราจะรู้สึกมีชีวิต ….

“เมื่อครั้งที่ครูบรรจุเข้ารับราชการครู ไม่สามารถคุยกับใครได้เลย เรารู้สึกไม่มีที่ยืน เหงา โดดเดียว เป็นความรู้สึกที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครเลย โดยเฉพาะเด็กที่จะต้องเรียนกับเรา เราแค่อยากให้เขารู้ตัวว่าเขาชอบอะไร เขาไปได้ไกลแค่ไหน

ครูอ้วน พรทิพย์ ดำรงชัย สอนวิชาฟิสิกส์ ได้ย้อนเล่าที่มาของการดำเนินโปรเจกต์ Live Space บูรณาการจิตศึกษาเข้ากับวิชาฟิสิกส์แสนยาก โดยให้นักเรียนเช็คความพร้อมก่อนที่จะเข้าคาบเรียน ผ่านกิจกรรม “Check-in” และวงล้ออารมณ์ ครูอ้วนเล่าว่า เด็กทุกคนล้วนมีโลก 2 ใบ  คือโลกในโรงเรียนและโลกนอกโรงเรียน ก่อนที่จะมาโรงเรียน เราแทบไม่รู้ว่าพวกเขาพบเจออะไรมาบ้าง ฉะนั้นช่วง 10-15 นาทีก่อนคาบเรียนถือเป็นเวลาอันดีที่จะให้เขาตกตะกอน สะท้อนออกมา ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารรูปแบบไหนก็ไม่อาจถูกมองข้าม การสร้างสะพานให้เขากลับมาอยู่ในห้องเรียนนี้ยังช่วยให้ตัวครูเองได้ตระหนักเห็นบรรยากาศของห้องเรียน และเช็คความพร้อมของผู้เรียนในหลายมิติที่ไม่ใช่แค่ด้านวิชาการ กิจกรรมนี้ถูกนำไปใช้ในทุกคาบเรียนแรกของวัน ซึ่งมันทำให้ครูและนักเรียนอยู่ในระนาบเดียวกัน เห็นความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เพราะเมื่อเด็กเปิดใจ ไอเดียต่าง ๆ ก็พรั่งพรูออกมา ด้วยความรู้สึกปลอดภัยและการถูกเห็นคุณค่าอย่างมีตัวตน

โรงเรียนคือพื้นที่สร้างและเปลี่ยนชีวิต ส่งต่อคุณค่าสู่สังคม

วังตะกูราษฎร์อุทิศพบปัญหาใหญ่ที่ซุกซ่อนอยู่ในโรงเรียนมานาน และเป็นปัญหาที่เรื้อรังระดับสังคม การกลั่นแกล้งรังแก (Bullying) กันในโรงเรียน พฤติกรรมที่ส่งผลกระทบ และสร้างบาดแผลฝังลึกทางกายและทางใจต่อหลาย ๆ ชีวิต การจะป้องกันและหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตามความรุนแรงในรั้วโรงเรียนนี้อาจมีกลุ่มคนหนึ่งที่สามารถสอดส่องดูแลสถานการณ์นี้ได้ดีที่สุด ก็คือเพื่อนนักเรียนด้วยกัน

ดนตรีครื้นเครง บรรเลงสร้างสุข โปรเจกต์นักเรียนเปลี่ยนโลกของกลุ่มคนที่มีใจรักในเสียงดนตรีที่พบเห็นปัญหาการถูกบูลลี่ (Bullying) ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการล้อเลียน การข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย และการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เป็นสถานการณ์ความรุนแรงที่ซุกซ่อนและกำลังกัดกร่อนในชีวิตของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน 

“เราได้เข้ามาโครงการนักเรียนเปลี่ยนโลก โดยเราเอาความชอบด้านดนตรีมาแก้ปัญหาการบูลลี่ เราพยายามเปิดกว้าง และพร้อมให้คำปรึกษากับนักเรียนทุกระดับชั้น สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนปัญหาและรับฟังเขาอย่างไม่ตัดสิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน ความสัมพันธ์ และครอบครัว ซึ่งทุกอย่างที่ผู้เข้าร่วมได้แชร์ ได้วาดหรือระบายออก จะเป็นความลับและไม่มีการระบุตัวตน”  แพรว จิดาภา ศิริรัตน์ หนึ่งในสมาชิกของโปกเจกต์ข้างต้น กล่าวด้วยความมุ่งมั่นถึงความสำคัญในการถนอมจิตใจของเพื่อนนักเรียน เห็นถึงปัญหาการถูกบูลลี่ในกลุ่มวัยรุ่นที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก คำพูดเล่นของคน ๆ หนึ่งอาจสร้างปมให้เด็กคนหนึ่งตลอดชีวิต จึงอยากสร้างพื้นที่ระบายความเครียด และไม่ทอดทิ้งให้ใครต้องรู้สึกแปลกแยก 

การถนอมความรู้สึกของผู้คน และความอ่อนไหวของนักเรียนโรงเรียนวังตะกูฯ ได้ทำให้พ้องเพื่อนของเขาไม่ถูกทอดทิ้ง และมีพื้นที่ที่ได้ระบายความทุกข์ใจ ซึ่งอาจทำให้การมาโรงเรียนของใครหลาย ๆ คนไม่น่าเบื่อ และรู้สึกว่าตัวเองมาโรงเรียนเพื่ออะไร

ถัดมาอีกหนึ่งบูธที่เรียกความตื่นตาตื่นใจของผู้ชม Stop เด็กแว๊น แง๊น ๆ ศิลปะ อีกหนึ่งโปรเจกต์สุดเจ๋งจากนักเรียนที่ไม่ใช่แค่อยากลดพฤติกรรมการแว๊นมอเตอร์ไซต์ของเพื่อน แต่พาเราเข้าใจพฤติกรรมต่อเด็กกลุ่มนี้ สังคมแทบจะไม่เคยรู้ว่าเบื้องลึกที่มากกว่าความสนุก และคึกคะนอง มันแฝงไปด้วยความเครียดและการหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยที่เขาต้องเผชิญ จึงเปิดพื้นที่เชิญชวนเด็กกลุ่มนี้ที่มีพื้นฐานชอบงานศิลปะจากการแต่งมอเตอร์ไซต์ มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เสมือนวงพูดคุยที่เปลี่ยนจากกิจกรรมแสนอันตรายและถูกตราหน้าจากสังคม สู่สังคมศิลปะใหม่ที่สร้างตัวตนและคุณค่าให้ตนเองได้เช่นกัน

‘นักเรียนเปลี่ยนโลก’ ได้แสดงความจริงแท้และความมุ่งมั่นในการแก้โจทย์ปัญหาภายในโรงเรียน โดยมีผู้เรียนสร้างภาพในหัวให้เกิดขึ้นจริง จากค่ายอบรมเสริมทักษะนักสร้างการเปลี่ยนแปลง (Co-Agency) ก่อร่างสร้างโปรเจกต์ที่ตนเองสนใจ ร้อยเรียงกิจกรรมด้วยตัวเองทุกขั้นตอน จนเกิดผลงานอันมีค่าที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ แววตาเปี่ยมสุขของพวกเขาที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักและตั้งใจ ความมุ่งมั่นที่อยากให้โรงเรียนของเขาน่าอยู่ อยากเห็นเพื่อนมีความสุขในการมาโรงเรียน และได้เติบโตในรั้วแห่งนี้อย่างปลอดภัย

ผู้เรียนปลอดภัย ผู้ปกครองอุ่นใจ 

“บอกตรง ๆ บางทีเราก็เข้าไม่ถึงลูก แต่สังเกตว่าเด็กจะสนิทสนมกับครู บางอย่างเราก็ต้องให้ครูช่วยประสานให้ เราเชื่อมั่นในตัวครู ความสัมพันธ์ระหว่างครู-ผู้ปกครองสำคัญมาก ๆ เห็นว่าลูกชายมีพัฒนาการที่ดี ลูก ๆ รู้สึกอยากมาโรงเรียน ก็เลยเห็นถึงความสำคัญที่ผู้ปกครองและโรงเรียนควรทำงานไปด้วยกัน” เสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง จากช่วง Talk Alive Space ที่แชร์ความกังวลต่อชีวิตในรั้วโรงเรียนของลูก ที่เกรงว่าลูกเราจะเข้ากับคนอื่นได้ไหม แต่ด้วยความใส่ใจและการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างครูกับผู้ปกครอง ยิ่งย้ำเตือนความสบายใจให้กับผู้ปกครอง อีกทั้งยังอุ่นใจเมื่อเขาได้พบการเปลี่ยนแปลงของลูกที่กลับบ้านไปพร้อมกับการค้นพบคุณค่าและความฝันของตนเอง

โรงเรียน คือ สถานที่สำคัญ ที่มีผู้โดยสารนามว่า ‘นักเรียน’ จะต้องเดินทางมาถึง พอถึงวันที่โรงเรียนได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้น ส่งผู้โดยสารไปยังปลายทางที่สวยงาม พร้อมเฝ้าดูการเติบโตของทุกคน  โรงเรียนจึงเป็นพื้นแห่งชีวิต ที่สามารถเนรมิตให้ทุกคนที่เข้ามาได้ออกไปมีชีวิตตามที่แต่ละคนใฝ่ฝัน แม้วันใดที่ผู้โดยสารหลงทางก็คาดหวังให้พวกเขาสร้างแสงสว่างและนำทางให้ตัวเอง 

วันนี้โรงเรียนวังตระกูราษฎร์อุทิศได้บรรจบถึงเป้าหมายคือการให้นักเรียนรู้เท่าทันและเห็นคุณค่าภายในตนเอง ไปพร้อมกับการค้นพบเส้นทางชีวิตที่ล้อไปกับความฝันและความมุ่งหวังของตนเองมิใช่จากกรอบบังคับของสังคม หวังว่าแสงสว่างจากสถานที่แห่งนี้จะเปล่งประกายสู่สถานศึกษาโดยรอบให้ตระหนักถึงคุณค่าอันเป็นอัญมณีล้ำค่าที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตของนักเรียน


ติดตามโครงการฯ ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/PartnershipschoolAgency

Your email address will not be published.