Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ บันทึกเวทีการเรียนรู้ ร่วมพัฒนาใจกระทิง

กุญแจสู่ประตูแห่งความหวังของการศึกษาไทย การปลดล็อกจากโรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ)1 min read

Reading Time: 3 minutes The key to educational success กุญแจแห่งความสำเร็จ ของโรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ) การก้าวข้ามความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนให้ถูกเติมเต็มไปด้วยความรักจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจที่ขยายสู่สังคมการศึกษาไทย Feb 16, 2024 3 min

กุญแจสู่ประตูแห่งความหวังของการศึกษาไทย การปลดล็อกจากโรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ)1 min read

Reading Time: 3 minutes

ครบรอบ 2 ปีของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) กับ 5 โรงเรียนนำร่อง ได้จัดเวทีเครือข่าย แสดงพลังสื่อสารสังคม สร้างการมีส่วนร่วมทางการศึกษาของคนในชุมชน เพื่อทบทวนเส้นทางห้องเรียนที่เปลี่ยนไป เครื่องมือที่เชื่อมให้เกิดห้องเรียนแห่งความรัก รวมทั้งความท้าทายที่แต่ละโรงเรียนได้ก้าวข้าม ล้วนเป็นแรงบันดาลใจที่จะขยายสู่สังคมการศึกษาไทย ซึ่งเวทีแรก ประเดิมด้วย โรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ) ภายใต้การสื่อสาร The key to educational success กุญแจแห่งความสำเร็จ

“สัญลักษณ์ของงานคือลูกกุญแจและแม่กุญแจ สื่อถึงใครก็ตามที่กำลังเผชิญปัญหาในการจัดการเรียนรู้ เราอยากให้เขาได้ปลดปล่อย ได้ปลดล็อกผ่านแรงบันดาลใจจากโปรเจกต์ที่นักเรียนและครูของเราเห็นความสำคัญ” 

มณลักษณ์ ภักดีชน หรือ ผอ.มณ (ผู้อำนวยการโรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ)) ถ่ายทอดแนวคิดการออกแบบเวทีอย่างมีความหวัง เพื่อส่งต่อพลังและแรงบันดาลใจสู่ผู้ที่สนใจอยากเปลี่ยนแปลงการศึกษา ภายในงานมีลูกกุญแจมากมายที่ผ่านการลงมือ พัฒนา รอผู้คนนำกลับไปลองไขห้องเรียนของตน

ก่อร่าง สร้างกุญแจของชาวบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ)

โรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ) จังหวัดพิจิตร ถูกล้อมรอบด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมที่หลากหลาย และชุมชนที่เหนียวแน่น แต่ปราศจากการเชื่อมสู่ห้องเรียน หากบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ) ยังมุ่งเน้นจัดการศึกษาในห้องเรียนที่เข้มงวดไร้ซึ่งการดึงวัตถุดิบอย่างความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมคงเป็นเส้นทางที่ไม่ค่อยดีนัก หลังจากการเข้าร่วมกระบวนการของโครงการฯ ตอกย้ำให้เห็นที่รอยห่างระหว่างความสัมพันธ์ของครูกับผู้เรียนที่แสนจะเป็นความท้าทายที่ครูทุกคนต้องเริ่มจากตนเอง และตระหนักถึงการให้คุณค่าต่อความสุข ความต้องการ และความหลากหลายของผู้เรียนมากขึ้น  โรงเรียนจึงมุ่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เน้นบูรณาการกับการสร้างเสริมทักษะอาชีพที่ผู้เรียนสนใจ ร่วมกับโจทย์การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ที่มีสภาพแวดล้อมและบริบทของชุมชนแตกต่างกัน ผ่านเลนส์ความเข้าใจและเปิดกว้างยอมรับความหลากหลาย จนกระทั่งสามารถทลายกำแพงโรงเรียน เปิดพื้นที่ให้ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

เส้นทางการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ปีที่ 2 … ปีนี้หัวใจของโรงเรียน คือ การสร้างความเป็น “ผู้ก่อการ” หรือ Co-Agency สนับสนุนให้ ครู ผู้บริหาร และนักเรียน ได้ทำโครงการขับเคลื่อนในจุดที่ตนเองเห็นความสำคัญในรั้วโรงเรียน ถือเป็นความร่วมมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ข้อจำกัดของค่านิยมและการบริหารจัดการศึกษา ที่ต้องสร้างความตระหนักร่วมว่า ทุกคนสามารถร่วมกันพัฒนาการศึกษาในพื้นที่มิติของตนเอง หนึ่งในกับดักอันมโหฬารของการพัฒนาการเรียนรู้ในห้องเรียน คือ การทำให้นักเรียน ‘อยากที่จะเรียนรู้’ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายโรงเรียนต้องปรับตัวและหาอาวุธ ให้ผู้เรียนได้สื่อสารเสียงของตนเองมากขึ้น 

“เมื่อครูมีเครื่องมือ ปรับวิธีคิด เริ่มก่อการจริง ห้องเรียนก็เริ่มเปลี่ยนไป”

ความสุขของผู้เรียน คือ หนึ่งในตัวชี้วัดของเรา 

โรงเรียนเปิด วง PLC (Professional Learning Community) เป็นพื้นที่ให้ครูได้มาระบายปัญหาการสอน และแชร์ไอเดียวิธีการสอนร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความเข้าใจว่าเด็กบางคนอาจจะไม่ตั้งใจเรียนวิชาหนึ่ง แต่ในบางวิชาเขากลับทำได้ดี พื้นที่นี้ช่วยให้ครูมองเห็นนักเรียนของตัวเองได้ลึกซึ้งขึ้น และเห็นถึงวิธีการหรือลูกเล่นของเพื่อนครูที่เห็นผล

“หนูได้มีโอกาสเล่นบอร์ดเกมในคาบเรียนกับครูนิต จากวิชาภาษาอังกฤษที่น่าเบื่อ เวลาสื่อสารภาษาอังกฤษก็จะเคอะเขิน กลายเป็นความมั่นใจเมื่อสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น” เสียงสะท้อนจากนักเรียน ช่วงเสวนาในเวที ในหัวข้อ “โลกเปลี่ยน ครูปรับ ขยับการเรียน เปลี่ยนการเรียนรู้ สู่ห้องเรียนแห่งความสุข” อีกทั้งยังมีเสียงจากฝั่งผู้ปกครองที่มาช่วยยืนยันพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากลูกที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ ค่อย ๆ กล้าพูด มั่นใจในการสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น และนำองค์ความรู้มาสอนพ่อแม่ด้วยบ้างครั้ง

ครูนิต นิตยา ฤทธิรณ ผู้สร้างห้องเรียนแสนสนุกเล่าว่า เขามักจะสังเกตสีหน้าของนักเรียน ว่าเด็กของเราชอบอะไร รูปแบบไหนจะโดนใจเขา จึงนำองค์ความรู้ด้านเกมการเรียนรู้ (Board game) มาปรับใช้ในวิชาภาษาอังกฤษเพื่อดึงความสนใจของผู้เรียน “จุดสำเร็จ คือ เด็กบางคนเข้ามาเรียนด้วยสีหน้าอมทุกข์มาก เราเลยปรับการสอนผ่านบอร์ดเกมที่มันทำให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยกัน สีหน้า แววตาต่อการเรียนรู้ของเด็กก็เริ่มเปลี่ยนไป”

ห้องเรียนที่เปลี่ยนไปของครูนิตแสดงให้เห็นถึงพลังของความรัก อยากให้นักเรียนมีความสุข ยอมลดหัวโขนความเป็นครูลง และเปิดพื้นที่ให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ การกระทำเล็ก ๆ เหล่านี้อาศัย ความเชื่อมั่นและความไว้ใจ ส่งผลให้ผู้เรียนเป็นผู้ก่อการ (Student Agency) ฉายแสงออกมาผ่านการแสดงออกของผู้เรียนที่กล้าจะเรียนรู้ กล้าที่สื่อสารความต้องการ และกล้าที่จะแลกเปลี่ยน นำความรู้ไปต่อยอดนอกห้องเรียน  กุญแจดอกนี้จึงได้ปลดล็อกความสุขของผู้เรียนบนฐานการเปิดกว้างและสร้างความเข้าใจว่า “นักเรียนของเราอยากจะเรียนรู้อะไร”

โรงเรียนตื่นรู้ สร้างนิเวศชุมชน

……คัพเค้กกล้วยหอมกลิ่นหอมดึงดูดผู้คน  

……ขนมจีบที่มีส่วนผสมของลูกสมชายที่เพิ่มความไม่ธรรมดาเหมือนขนมจีบทั่ว ๆ ไป 

เวทีเสวนาที่หนักแน่นไปด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน ถูกโอบล้อมไปด้วยเสน่ห์ของวิถีชีวิต อบอวลด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ จากบูธโครงการนักเรียนเปลี่ยนโลก พบว่าผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้ความร่วมมือจากกลุ่มคนในชุมชน หรือร้านค้าละแวกโรงเรียน เช่น ร้านเจ๊ลี้  ขายซาลาเปา-ขนมจีบ เจ้าเก่าแก่ของย่านบางมูลนาก     มีบทบาทเข้ามาช่วยสอน และแบ่งปันสูตร เสริมทักษะให้ผู้เรียนกลายเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ถือเป็นการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่คุ้นเคย ลงมือปฏิบัติจากปราชญ์ชุมชนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็น และติดเครื่องมือที่สำคัญออกสู่สมรภูมิชีวิตจริง

ในห้องเรียนเรามีตำราการสอนทางด้านวิชาการมากมาย แต่ตำราชีวิต และการทำมาหากินอาจจะต้องอาศัยประสบการณ์จากการลงมือทำ การเผชิญอุปสรรค และคิดวิธีหาทางแก้ไขด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและโรงเรียนที่เข้มแข็งนี้เป็นกลยุทธ์สำคัญของโรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ)  ที่เห็นคุณค่าของวิถีชีวิตรอบตัว สร้างสะพานเชื่อมมาสู่ผู้เรียนในลำดับต่อมา เมื่อรั้วโรงเรียนทลายลง นักเรียนเห็นถึงคุณค่าของเรื่องราวรอบตัว รอยต่อทางวัฒนธรรมของชุมชนบางมูลนากก็จะถูกให้คุณค่าและมีลมหายใจต่อไป

โรงเรียนเปลี่ยน ชุมชนเปลี่ยน และผู้ปกครองเปลี่ยน

สถาบันครอบครัวจุดเริ่มต้นและใจกลางความสำคัญของการเรียนรู้ ….

ปัญหาเด็กติดจอ แทบจะเป็นปัญหาที่พบบ่อยในโรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ) บางบ้านแทบจะให้มือถือเป็นเพื่อนสนิทของลูก ทว่าเพื่อนคนนี้อาจจะกำลังทำลายความใกล้ชิดระหว่างครู เด็ก และสถาบันครอบครัวให้ห่างออกไป

ครูจุ๋ม วิสุดา ทองบาง กล่าวด้วยแววตาแห่งความสุขจากบูธ โครงการหนังสือสนุก ปลุกสมอง อ่านให้รู้ ดูให้เพลิน กำเนิดขึ้นพร้อมไอเดียที่อยากให้นักเรียนลดจอ และให้ผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์เมื่อลูกกลับจากโลกในโรงเรียน โดยโครงการฯ ให้น้อง ๆ นำหนังสือนิทานกลับไปอ่านที่บ้าน อีกทั้งมีกลุ่มไลน์ (Line) สำหรับพูดคุยกับผู้ปกครอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวการใช้นิทานของแต่ละบ้าน ครูจุ๋มยังเล่าอีกว่าหลาย ๆ บ้านให้ความสำคัญกับช่วงเวลากับลูกมากยิ่งขึ้น 

เวทมนตร์ของหนังสือนิทาน ไม่ใช่เพียงเนื้อหาที่สนุกสนาน และแค่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัว แต่ยังมีมนตร์ที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการอ่าน การออกเสียง การจินตนาการจากเรื่องราวที่เขาได้ฟัง ที่สำคัญยังเป็นเหมือนทางลัดที่ทำให้ผู้เรียนมีความกล้าที่จะอ่าน และสื่อสารเรื่องราวต่อคนอื่น โครงการนี้ทำให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในการใช้เวลากับลูกมากขึ้น เมื่อผู้ปกครองเห็นความสำคัญต่อพฤติกรรมของลูกส่งผลอย่างมากในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ต้องทำให้ทั้งโลกในโรงเรียน และโลกนอกโรงเรียนของเขาไม่ทิ้งขาดจากกัน นิเวศการเรียนรู้ก็จะเริ่มขยายตัว 

การกระจายอาณาเขตการเรียนรู้  สู่การสร้างนิเวศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริง การศึกษาจะถูกปลดล็อก การพัฒนาโรงเรียนก็จะเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น และเด็กของเราก็จะมีทางเลือกค้นหาตัวเองได้มากขึ้นเช่นกัน

ปลดล็อกสู่ความฝัน ความหวัง และสร้างความเป็นไปได้

การท้าทายกรอบระบบห้องเรียนที่เคยมีมา ไม่อาจสร้างได้ภายในไม่กี่วัน และแน่นอนว่าเส้นทางของโรงเรียนแห่งนี้ก็ไม่ได้เดินทางอย่างโดดเดี่ยว 

ที่นี่ให้ความสำคัญต่อ “การทำความเข้าใจเด็กเป็นรายบุคคล” ตัวแปรที่โรงเรียนจะวัดได้ว่านักเรียนของเรามีความสุขและอยากเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน ก็มาจากสิ่งที่พวกเขาแสดงออกมา ทั้งสีหน้า แววตา การตัดสินใจ และการลงมือทำ ซึ่ง ณ วันนี้นักเรียนที่นี่ มีรอยยิ้ม แววตาที่เปล่งประกายด้วยความมั่นใจ และความกระหายที่จะเรียนรู้มากขึ้น

ให้เขาเป็นคนเก่งตามความฝันที่เขาอยากจะเป็น ที่นี่ไม่ได้คาดหวังว่า เด็กจะต้องสอบเป็นลำดับที่ 1 ต้องได้เกรดเฉลี่ยสูง ๆ แต่อยากให้เขาได้ไปตามทางที่ฝัน และเราอยากให้ครูที่นี่ทุกคนส่งเสริมศักยภาพที่เขามีให้โดดเด่นยิ่งขึ้น” คำตอบที่แสนภูมิใจจาก ผอ.มณ และกล่าวถึงภาพฝันในอนาคตของบางมูลนากแห่งนี้ อยากจะให้สิ่งที่ดำเนินมาเป็นรูปธรรมและยั่งยืนมากขึ้น ขยายไปสู่นิเวศภายนอกทั้งชุมชน พัฒนาโปรเจกต์ของทั้งครู นักเรียนสู่โลกจริง สร้างแบรนด์สินค้าสู่ตลาดจริง พัฒนาเครื่องมือและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาของโรงเรียน

เด็กเปรียบเสมือนฟองน้ำที่จะซึมซับและหัดเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก สังคมในโรงเรียนจึงเป็นเหมือนสนามฝึกหัดสำคัญที่จะประกอบสร้างตัวตนของนักเรียนที่นี่ การเรียนการสอนที่โอบรับความหลากหลาย และให้พื้นที่ของเขาได้แสดงศักยภาพของตนเอง คุณครูต้องเป็นเพื่อนร่วมทางที่จะต้องประคับประคองความฝันและตัวตนของเขา เมื่อพื้นที่นี้เกิดขึ้น นักเรียนของเราก็จะเติบโตตามเส้นทางอย่างไม่สั่นคลอน

ภาพสะท้อนของโรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ) คือ กำลังก้าวเดินเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น อาจจะมีบางคนที่ก้าวเร็ว ก้าวช้า แต่เชื่อว่ามันจะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ทุกภาคส่วนล้วนเป็นชิ้นจิกซอว์ที่ส่งผลต่อการประกอบภาพการศึกษา ภาพประกอบนี้ไม่อาจวัดความสวยงามด้วยผลลัพธ์ปลายทาง เกรดเฉลี่ย หรือรางวัลการรันตีมากมาย แต่เป็นระหว่างทาง จากสิ่งที่ครูปรับ ครูเปลี่ยน การต่อสู่กับสภาวะที่เราคุ้นเคยและเคยชิน ล้วนแต่มีความหมาย 


โรงเรียนแห่งนี้ได้ปลดล็อกให้เห็นแล้วว่า เราสามารถสร้างออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ค้นพบความชอบ ความถนัดของตนเอง แม้ระบบการศึกษาในประเทศไทยจะมักถูกตีกรอบให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ต้องทำ ต้องมี โรงเรียนบางมูลนาก(ราษฎร์อุทิศ) คลี่คลายให้เห็นว่า คุณครู และนักเรียนมีความสามารถและไปได้ไกลได้ โดยไม่ต้องใช้การบังคับ บางคนถนัดสายศิลป์ บางคนชอบคณิต บางคนอาจจะไปสายบริหาร รูปแบบการเรียน หลักสูตร และการวัดประเมินก็ควรจะหลากหลาย และทำให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ภายใต้มิติทุกความสามารถมีคุณค่าอย่างเท่าเทียม


ติดตามโครงการฯ ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/PartnershipschoolAgency

Your email address will not be published.