Korkankru

คลังความรู้

จาก ‘ชุมชน’ สู่ ‘เด็ก’ สู่ห้องเรียนที่มีความหมายของ ‘ครูเก๋-สุดารัตน์ ประกอบมัย’ ก่อการครู Bangkok และพันธมิตร1 min read

Mar 14, 2024 3 min

จาก ‘ชุมชน’ สู่ ‘เด็ก’ สู่ห้องเรียนที่มีความหมายของ ‘ครูเก๋-สุดารัตน์ ประกอบมัย’ ก่อการครู Bangkok และพันธมิตร1 min read

Reading Time: 3 minutes

“มีคนทักว่าเราเหมาะกับการเป็นครู” 

‘ครูเก๋-สุดารัตน์ ประกอบมัย’ บอกเล่าที่มาที่ไปของอาชีพครูที่เป็นดั่งอิคิไก (ความหมายของการมีชีวิตอยู่) ของตัวเอง เธอบอกว่ามีความสุขเมื่อได้มาโรงเรียน ยินดีและดีใจเมื่อตัวเองได้เรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกับการเรียนรู้ของผู้อื่น 

แต่เมื่อได้เข้ามาเป็นครูตามความมุ่งหวัง เธอพบว่าอาชีพครูนั้นกลับทำให้หมดไฟ อาจเพราะได้ทำเหมือนครูที่ไม่ชอบ หรือภาพของมหา’ลัยที่ไม่ได้สอนความเป็นครู จนเธอต้องดิ้นรนในการเป็นครูด้วยตัวเอง รวมถึงภาระงานเอกสาร งานประชุม งานต่าง ๆ ทั้งหลายล้วนทำให้ผู้ที่อยากเป็นครู ไม่ได้ทำหน้าที่สอนอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อเธอพบว่าการเป็นครูไม่เป็นอย่างที่คิด การก้าวออกไปจากโรงเรียนจึงเกิดขึ้น 

เธอได้เจอกับเครือข่ายที่ช่วยให้เธอได้พัฒนาตัวเอง การได้เข้าร่วมโครงการกับเพื่อนพี่น้องครูยังช่วยจุดไฟและเป็นส่วนช่วยผลักให้ศักยภาพที่มีได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง เธอจึงหอบหิ้วเครื่องมือ เทคนิค หรือวิธีการสอนที่ได้รับการเติมเต็มมาสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และเมื่อครูเปลี่ยน แน่นอนว่าเด็ก ๆ ก็เปลี่ยนเช่นกัน 

“อยากเห็นการสร้างเครือข่ายที่มีครูทำเรื่องแบบนี้มากขึ้น มีห้องเรียนที่ครูสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายตามบริบทของตัวเองที่มีการเชื่อมเด็กสู่ชุมชนได้” ครูเก๋พูดถึงสิ่งที่กำลังตั้งใจทำเพื่ออยากก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ก่อการครูวันนี้ขอพาไปทำความรู้จักจุดเริ่มต้นอาชีพที่ครูเก๋หลงรักและทุ่มเท ไปฟังมุมมองการเปลี่ยนแปลงและภาพปัญหาของวงการศึกษา รวมถึงย้อนมองร่องรอยการพัฒนาตนเองของครูที่ไม่ยอมให้จิตวิญญาณถูกโครงสร้างระบบกลืนกิน ครูที่เชื่อว่าความสุขของคนอื่นส่งผลให้ทำอะไรที่ดีมีประโยชน์

จุดเริ่มต้นการเข้ามาเป็นครู 

มีคนทักว่าเราเหมาะกับการเป็นครู เขาบอกว่าเรามีคำพูดที่เข้าใจง่าย เพื่อน ๆ ก็ชอบมาขอคำปรึกษา เพราะมีเทคนิควิธีการคุยกับเพื่อนได้ดี เวลาได้มาโรงเรียนเรารู้สึกมีความสุขมาก เห็นภารโรงก็มีความสุข เห็นแม่ค้าก็มีความสุข ชอบอยู่ในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ เรียนจบมาเป็นครูค่อนข้างเป็นอิคิไกของตัวเอง มีสุข เรียนตรงสายและได้ทำงานที่ตัวเองรัก 

ตอนแรกไม่ได้มาสายนี้หรอก เราชอบเรื่องภาษาอยากเป็นนักเขียน ส่วนพ่อแม่ก็เหมือนอยากให้ไปทางสายพยาบาลเป็นคุณหมอ แต่เราไม่สน เพราะอยากเป็นครู 

การเป็นครูช่วยเติมเต็มชีวิตยังไงบ้าง

น่าจะถูกจริต เพราะเราเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ อยู่กับเรื่องราวใหม่ๆ ชอบคุยกับคน ชอบเห็นคนพัฒนาและเราเองชอบเห็นตัวเองพัฒนาไปพร้อมกับคนอื่น พอมาเป็นครูได้อยู่กับเด็ก ได้เห็นการเติบโตของพวกเขา เห็นว่าเด็กคนไหนมีปัญหาอะไร แล้วเราช่วยส่งเสริมเขาได้ แค่เขาโตขึ้น พัฒนาขึ้น เราก็มีความสุข พัฒนาเขา เราก็พัฒนาตัวเองด้วย ทั้งทางสกิลและจิตวิญญาณ การรับราชการครูก็ให้ความรู้สึกมั่นคงทางกายภาพและทางคุณภาพชีวิต

ช่วงที่เรียนจนมาถึงการได้เป็นครู ปัญหาของการศึกษาที่เห็นมีอะไรบ้าง

ช่วงที่เรียน suffer มาก เพราะคิดว่ามหา’ลัยที่สอนเรามาไม่ค่อยให้อะไรในความเป็นครูของเราเลย ยังเป็นความคร่ำครึ ทำไมยังไม่มีอะไรใหม่ ๆ ทั้งที่ Facebook เริ่มมี เทคโนโลยีเริ่มมา แต่การสอนก็ยังเก่าและล้าหลังอยู่ เราไม่ค่อยสนใจอาจารย์ที่สอนด้วยซ้ำ อยู่กับตำราและเชื่อหนังสือมากๆ หมดไฟกับระบบการศึกษา มหา’ลัยไม่ได้ให้อะไรฉันเลย

แต่ก็รู้สึก proud ที่สู้มาด้วยตัวเอง อ่านหนังสือมา ทำทุกสิ่งอย่างจนได้มาเป็นครู แต่พอมาเป็นครูมันยิ่งหมดไฟ เพราะเราทำเหมือนครูที่เราไม่ชอบ ได้แค่บอกกล่าวบรรยายายแต่ไม่ได้มีเทคนิคหรือวิธีการที่ทำให้เด็กอยากเรียน เด็กก็เบื่อหน่าย เพราะโดนสั่งไปทำอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ได้ทำหน้าที่สอนจริงๆ จนเด็กบอกว่าไม่ได้เจอครูเลย เรามาเป็นครูนะ แต่ทำไมได้ทำแต่งานจิปาถะ เป็นงานเอกสาร เป็นงานประชุม ไม่ได้สอนเด็กอย่างมีคุณภาพเลย

อีกปัญหาของครูในระบบ ยังมีงานเอกสารที่เยอะ ยังมีประชุมโหลดโดยที่ไม่ได้จำเป็นกับตัวเอง เป็นความรุงรังของระบบการศึกษา มันเป็นการรายงานคุณภาพการศึกษาด้วยเอกสารซะส่วนใหญ่จนเกินไป ก็เลยเพิ่มงานครู พอครูทำงานอื่นไปด้วยก็เหนื่อย พอเหนื่อยก็ไม่ค่อยมีแรงไปออกแบบการสอนสักเท่าไหร่ บางครั้งอาจจะไม่ได้สอนด้วยซ้ำเพราะว่างานเหล่านี้มันเร่งด่วน อาจมีการทิ้งห้องเรียนด้วย เด็ก ๆ ก็ชินกับการไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่ ไม่ได้เรียนอย่างเข้มข้น ก็จะรู้สึกเบื่อเรียน หันไปสนใจมือถือซะส่วนใหญ่ ส่งผลให้เด็กมีสมาธิสั้น ยิ่งช่วงที่มีโควิด ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความรู้ถดถอย (Learning Loss) ทักษะการอ่าน การเขียน คิดวิเคราะห์ของเด็กนั้นถอยลงไปต่ำมากๆ แต่ก่อนเรารู้สึกว่าเด็กยังอ่านตีความ โต้เถียง วิพากษ์กันได้ แต่หลัง ๆ มาเด็กอ่านแค่สามบรรทัดยังไม่เข้าใจ และไม่สามารถพูดสื่อสารได้ สมาธิก็สั้นมาก 

มองว่าการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นด้วยยุคสมัย ด้วยการเปลี่ยนเจนฯ อย่างรุ่นเก๋จะเป็นเจนฯ ใหม่ เพราะรุ่นเก่าๆ เขาเกษียณไปเยอะ สิ่งที่ครูรุ่นใหม่ได้เจอมา พวกเขาไม่อยากให้เป็นเหมือนเดิม แต่ก็น่าเป็นห่วงที่มีครูรุ่นใหม่ยังเรียนแบบพฤติกรรมของครูรุ่นเก่าที่ยังคิดว่าก็ฉันทำแบบนี้ไม่เห็นเป็นไรเลย ไม่ได้อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ได้อยากเหนื่อยอะไรเพิ่มขึ้น

เราไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่ ถ้าเราไปจัดการ ผอ. ไปจัดการเด็กหรือระบบยังไม่ได้ เราต้องจัดการตัวเองก่อน เลยพาตัวเองออกไปจากวงโคจรที่มีแค่ ผอ. นักเรียน และครูในโรงเรียน ไปดูว่ามีอะไรใหม่ ๆ ให้ทำบ้าง 

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าได้ไปเจอสิ่งใหม่ ๆ อะไรบ้าง

เราบรรจุปี 2560 แล้วใช้ชีวิตเป็นครูน้อย ๆ คนหนึ่งในโรงเรียนที่วิ่งวุ่นนู้นนี่นั่น จนถึงปี 2562 มี turning point เข้ามา คือได้เห็นครูจากโครงการ Tech for Thailand เรามองว่าทำไมเด็กรักครู Tech for Thailand จังเลย ได้เห็นว่าเขามีวิธีสอนใหม่ ๆ เราเองก็ต้องพัฒนาตนเองได้แล้ว 

จนปี 2562 ได้เจอเครือข่ายที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง เจอ TEDxBANGKOK ที่เราไปเข้าร่วมโครงการ ได้เทรนตัวเองเป็น Ambassador หรือครูแกนนำที่นำสกิลจาก TED มาสร้างการเรียนรู้ในโรงเรียน สร้างคลับให้นักเรียนกล้าส่งเสียง พอพวกเขากล้าส่งเสียงก็ได้เห็นไอเดียใหม่ ๆ เขาได้ภูมิใจว่าฉันมีดีนี่หว่า เราเองได้เจอเทคนิคและวิธีการใหม่ที่เฟี๊ยวฟ๊าว เหมือนเป็นศักยภาพที่อยู่ในตัวเรา การได้เจอสิ่งใหม่ เหมือนมันจุดไฟ ดึงศักยภาพความเป็นครูออกมา และได้เจอโครงการก่อการครูในปี 2562 ด้วยเหมือนกัน และได้เจอ ‘นะโม-ชลิพา ดุลยากร’ ที่ทำ ‘Inskru’ เราได้ทำทั้ง 3 อย่าง ซึ่งในปี 2562 เหมือนเป็นช่วงที่สปอร์ตไลต์ส่องมา

มากกว่าที่เราจะเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ส่งเสียง เราได้เทคนิค ได้เกม ได้ทักษะ Story Telling ฯลฯ ไม่ใช่เปิดหนังสือ นักเรียนทำแบบฝึกหัด หรือเช็กชื่อ เห็นเลยว่านักเรียนเปลี่ยนไปเพราะว่าครูเปลี่ยนไป ครูมีเรื่องเล่า มีเช็กอินความรู้สึก มีเทคนิคในการนำเข้าสู่บทเรียนที่ดีกว่า มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เด็กรักเรา เด็กหันมาสนใจ ไม่ง่วง ไม่เครียด อยากเรียนกับเรา 

TED และ Inskru ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นสายครีเอทีฟ มีความสนุก รักในการเรียน พยายามทำอะไรใหม่ ๆ ส่วนก่อการครูทำให้เราตระหนักว่าเราเป็นใคร อยู่ในห้องเรียนเราเคยใช้อำนาจมั้ย เราเปลี่ยนแปลงด้วยตัวคนเดียวได้มั้ย เราต้องสร้างเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง เปลี่ยนห้องเรียน เปลี่ยนตัวเองจากภายในด้วย รู้ว่าเราคือใคร เราทำอะไรได้บ้าง

เราเป็นก่อการครูรุ่น 2 เหมือนเป็นการรวมอะเวนเจอร์จริงๆ และเราได้ไปเจอเพื่อนครูที่ทำงานเครือข่ายที่ทำงาน TED และ Inskru ด้วยกันมาอยู่ที่นี่ เจอคนเก่ง ๆ เจอคนมีไฟ เจอคนที่มีอุดมการณ์เหมือนอยู่ด้วยกันมันยิ่งจุดไฟ

โหนดก่อการครู Bangkok และพันธมิตร เริ่มต้นมายังไง

โครงการก่อการครูจะสร้างครูแกนนำแต่ละรุ่นขึ้นมาในแต่ละปี ตอนปี 2564 มีการทำภารกิจเร่งด่วน ด้วยการรวมรุ่น 1 และรุ่น 2 ใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า XTeacher รวมครูแกนนำมาเทรนแบบที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนอย่างเดียวแล้ว แต่เพื่อช่วยติดอาวุธให้ไปสร้างเครือข่าย สร้างโหนดขึ้นมาตามประเด็น หรือตามพื้นที่ที่แต่ละคนสนใจ

ส่วนของเราก็เอาง่ายๆ ด้วยการยึดเรื่องพื้นที่ก่อน จึงเกิดเป็นก่อการครู Bangkok ที่มีความสนใจในหลายอย่าง สนใจทั้งประเด็นครูที่อยู่ในกรุงเทพฯ สิทธิเด็ก หรือการทำงานเชิงประเด็น ฯลฯ เรามีเพื่อนที่อยู่ในโหนดก่อการครู Bangkok น้อย ก็รู้สึกว่าถ้าเราทำคนเดียวมันไม่ชัดเจนว่าโหนดก่อการครู Bangkok จะเข้มแข็งแค่ไหน เลยตั้งเป็นกลางๆ ว่า ‘โหนดก่อการครู Bangkok และพันธมิตร’ ที่ไหนก็ได้ที่สนใจประเด็นเดียวกับเราให้มาทำด้วยกัน มันเลยเป็นชื่อโหนดที่เป็นเชิงพื้นที่ แต่ขับเคลื่อนเชิงประเด็น

ปีแรกที่ทำคือเราทำเรื่อง CBE (Competency-Based Education) หรือหลักสูตรเรื่องฐานสมรรถนะ คิดว่าจะทำเรื่อง CBE ในห้องเรียนยังไง พอมันทำเรื่องเกี่ยวกับการสร้างการเรียนรู้ที่เป็นเชิงสมรรถนะมันก็ไปแตะเรื่องวิถีชีวิต ไปแตะเรื่องการเชื่อมโยงเด็กเข้ากับวิถีชีวิตและบริบทของพวกเขา บวกกับช่วงนัั้นมีโควิดมาด้วย ได้เห็นถึงความเป็นชุมชน และตัวเราเองเป็นคนชอบเที่ยว ช่วงที่เราไปเที่ยวเจอคนใหม่ๆ ได้ไปเรียนรู้จากพื้นที่นั้นๆ จึงอยากสร้างการเรียนเชิงพื้นที่ เลยตั้งเป็นชื่อว่า ‘การจัดการเรียนรู้สมรรถนะฐานชุมชน’ คือนอกจากเรียนผ่านชุมชนแล้ว ต้องวัดให้ได้ว่าเกิดสมรรถนะอะไร

การเรียนรู้สมรรถนะฐานชุมชนเป็นไปตามที่คิดไว้แค่ไหน

เรื่องนี้ผ่านการวัดและประเมินผลที่เข้มข้น ในเชิงคุณภาพที่เราเห็น ถ้าเราไม่ได้เอาสถิติ หรือเอาตัวเลขเชิงปริมาณมากำหนด สมมติเราเปิดห้องเรียนพาเด็กลงไปชุมชนสักคาบหนึ่ง ถ้าวัดว่าอยากได้เด็ก 20 คน แต่วันนั้นเด็กไปแค่ 10 คน มันก็ต้องได้แค่ 50% แต่ถ้าเราวัดว่าเด็กที่เข้ากิจกรรมมีเท่าไหร่ เราคิดว่า ไป 10 ได้ 10 แน่นอน ตามวัตถุประสงค์

อีกอย่าง ไม่ว่าเราไปที่ไหน เราก็จะมีเครือข่ายที่เข้ามา มีคอนเนกชั่นที่เชื่อมอยู่ เรามีเพจ มีไลน์ ไม่ว่าใดๆ เขาอาจจะยังไม่พร้อมไปทำอย่างเข้มข้น แต่เขาได้ไอเดียจากเรา เสพคอนเทนต์จากเรา เขาไม่เปลี่ยนแปลงวันนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงวันหน้าก็ได้ ก็มีคนทักมาเรื่อยๆ เช่นว่า ครูเก๋ขอชื่อเกมที่ใช้สอนหน่อยสิ หรือมีปรึกษาว่าถ้าจะพานักเรียนไปลงชุมชนนี้จะต้องวางแผนยังไง ฯลฯ

พูดในแง่เชิงปริมาณเวลาเราไปสร้างเครือข่าย เช่น ลงไปปัตตานีอยากได้ 30 คน ก็ได้มา 60 คนที่เข้ารับการเทรนที่จะเกิดความเข้าใจว่าการเรียนรู้สมรรถนะฐานชุมชนมันเป็นยังไง ได้รู้วิธีการเขียนแผน ได้รู้วิธีการทำจริงๆ เพราะเขาเอาตัวเข้ามาเป็นผู้เรียนก่อน และก็ถอดบทเรียนไปสร้างห้องเรียนของเขาเองต่อได้

องค์ประกอบใดบ้างที่จะช่วยทำให้โหนดก่อการครู Bangkok และพันธมิตร ดำเนินต่อไป

การได้เห็นคนที่ยังทำงานขับเคลื่อน สร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนตัวเองและยังทำงานเครือข่ายสร้างคอมมูนิตี้อยู่ มีคนกล้าชน ไม่กลัวว่าจะเกิดปัญหาอะไรกับตัวเอง ไม่กลัวเหนื่อย ไม่กลัวใครจะมองว่าแปลก และเขายังทำอยู่ สิ่งเหล่านั้นช่วยเติมเต็มพวกเขา 

อาจจะมีคนที่หลุด ๆ ไปบ้าง เพราะว่าเขามีภารกิจมีหน้าที่ส่วนตัว แต่เชื่อมั้ยว่าความเป็นก่อการครูมันอยู่ในเนื้อตัวพวกเขาไปแล้ว โดยองค์ประกอบอะไรที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน มันพูดยาก เพราะก่อการครูก็ยังไม่ได้ล้มหายตายจาก ยังเข้มแข็งและขยายเครือข่ายมาเรื่อย ๆ เรารู้สึกว่ามันคือความยั่งยืนอย่างหนึ่ง 

สิ่งที่ยากที่สุดของการเรียนรู้สมรรถนะฐานชุมชน

หนึ่ง ยากที่สุดคือการพานักเรียนออกไปจากโรงเรียนให้ได้ เพราะพอเด็กมาโรงเรียน เขาก็ปิดรั้ว ห้ามเด็กห้ามครูออก ถ้าออกจะผิด ทั้งที่เด็กก็มาโรงเรียนเอง กลับบ้านก็กลับเอง แต่พอครูจะพาเด็กออกไป ก็จะเกิดความกังวล ความกลัว ความไม่ปลอดภัยใด ๆ

สอง การสร้างเครือข่าย จะไปคอนเนกไปเรียนรู้ที่วัดจะไปคุยกับเจ้าอาวาสยังไง หรือว่าเราอยากไปเรียนรู้ที่ร้านซ่อมรถจะไปสร้างเครือข่ายยังไงให้เขาพาปราชญ์ชาวบ้านมาให้ได้ มันคือการสร้างภาคีเครือข่าย สร้างนิเวศการเรียนรู้ที่มันเป็นชุมชนให้ได้ แต่มันดูยากจริงๆ เลย สมมติถ้าจะไปเรียนรู้ตรงจุดไหน ก็จะมีคำถามว่าครูได้ติดต่อหรือยัง มีหนังสือมาหรือยัง ทำไมฉันอยากเรียนเรื่องรถไฟ แล้วฉันไม่สามารถเดินไปที่รถไฟแล้วพาเด็กไปเรียนได้เลย ฉันต้องเจียดเวลาไปติดต่อ ต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นเดือนเป็นปี

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเวทีล่าสุดขึ้นมา คือ ‘ก่อการครูออนทัวร์’ ที่ชวนทั้งภาคนโยบาย นักการเมือง สน. และเขต มาฟังเรื่องที่เรากำลังทำ แล้วถ้าคุณอำนวยความสะดวกให้เราทำสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้นมันจะดีมาก ให้เขาได้รับฟัง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเข้าไปสู่โครงสร้างเชิงนโยบาย

ครูเก๋ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากสิ่งที่เริ่มทำมาจนถึงวันนี้

เสียงของผู้ปกครองค่อนข้างจะสนับสนุนทุกอย่างที่เราทำกับเด็ก เขาเห็นว่าลูกของเขาเปลี่ยนแปลง กล้าแสดงออกมากขึ้น จนทำให้เด็กพัฒนาตนเองไปเป็นอาสา ไปสร้างเครือข่ายของตัวเองได้ เขารู้สึกว่าวิธีการเหล่านี้ การสร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพมากกว่าการเรียนในห้องเรียน มันเป็นสิ่งที่ดี ผู้ปกครองมักบอกว่า ถ้ามีอะไรใหม่ หรือมีอะไรดี ๆ ชวนเด็กทำไปเลย 

ส่วนเด็ก ๆ จะพูดให้ฟังซ้ำ ๆ ว่า เราสอนแบบที่ครูคนอื่นไม่สอน แล้วสิ่งที่เราสอนเป็นสิ่งที่ได้ใช้ในชีวิตที่เขาจบออกไปมากกว่าเรื่องอื่น ๆ สิ่งที่ครูบอกสอนหนูมาโดยตลอดก็คือเรื่องที่เราคุยกัน เรื่องจิตวิทยาที่สอนไปหนูได้ใช้มากกว่าวิชาเคมีของครูอีก

เราไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอน เราคุยกันทุก ๆ เรื่อง มันมีการโค้ชชิ่งกัน คำถามที่เราถามว่าเป็นยังไงบ้าง ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กจะร้องไห้ออกมาตลอด เด็กก็บอกว่าไม่มีใครเคยถามเลยว่าหนูรู้สึกยังไง เด็กพูดงี้ตลอดทุกคน เราก็ได้เข้าใจว่า คนทุกคนนั้นขาดการถูกถามความรู้สึก พอเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ เขาก็จะมาบอกว่า วิชาชีวิตที่เราให้เขาไปมันได้ใช้มาก ๆ เลย รวมถึงแนวความคิด ทักษะสกิลหลาย ๆ อย่าง เขาก็สะท้อนว่าแต่ก่อนไม่ค่อยมั่นใจ ตอนนี้กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่ก่อนกลัวว่าคนอื่นจะคิดและตัดสินเรา ก็ไม่กลัวและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น คือเรื่องโครงสร้าง อยากให้ภาระงานครูลดลง และครูก็ทำหน้าที่สอนจริง ๆ ซึ่งไม่ใช่การสอนที่อยู่แค่ในห้องเรียน เป็นการสอนที่แปลกใหม่ ทั้งครูและนักเรียนได้เรียนรู้ และเติบโตเชื่อมโยงตัวเอง ชุมชน สังคม และตามบริบทของตัวเองอย่างมีความหมายในแต่ละคน 

การที่เราลงไปเดินคลองแสนแสบ ไปเรียนเรื่องเดียวกันแต่ความหมายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ทุกคนจะได้ความหมายของตัวเอง พอได้เรียนในวิธีการใหม่ เด็กก็เป็นเด็กที่มีศักยภาพมากขึ้น มีความแข็งแกร่งทั้งกายและใจ เพื่อที่จะเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้ เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถมีความสุขในบริบทของตัวเอง และทำให้สังคมเราดีขึ้นไปกว่าเดิม

สรุปคือ อยากเห็นการสร้างเครือข่ายที่มีครูทำเรื่องแบบนี้มากขึ้น มีห้องเรียนที่ครูสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายตามบริบทของตัวเองที่มีการเชื่อมเด็กสู่ชุมชนได้

คำถามสุดท้ายพลังงานแบบไหนที่ครูเก๋ยังใช้ในการไปทำงานทุกวัน

ความสุขของคนอื่น แค่คนมาฟังมาพูดมาเห็นไอเดีย หรือมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ เราก็รู้สึกว่าอยากทำต่อ อย่างเวลาที่เก๋ทำเวิร์กช็อป มีครูมาบอกว่าเทคนิคนี้ดีจัง เอาไปใช้ได้จริง เขามีประกายมีความสุขที่อยากเอาไปทำต่อ มันคือพลังของคนอื่นที่เสริมพลังให้เรา วันนี้สอนเด็กด้วยวิธีการใหม่ๆ แล้วเด็กมีความสุข มีความกระตือรือร้นและได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา เราก็อยากทำต่อเรื่อยๆ 

มันคือพลังงานความสุขของคนอื่นที่ส่งผลให้เราทำสิ่งนี้ เพราะว่ามันมีประโยชน์ พี่คนหนึ่งบอกเราว่า มึงดีเนอะ เห็นว่าอะไรดีมีประโยชน์มึงก็ทำไปหมด อ๋อ เราเป็นอย่างนี้นี่เอง 


ครู-ฉบับครูเก๋

ครูที่สามารถคุยกับเด็กได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องความรู้สึก ฯลฯ ครูที่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา ช่วยแบ่งเบาความรู้สึกเขาได้ และเขาจะหาทางของเขาได้เอง

ครูที่เป็นโค้ชนำทางเด็กให้ไปในทางที่เขาฝันเขาเลือกเอง แต่ไม่ใช่ครูที่ตัดสินหรือสั่งสอน หรือว่าห้ามใด ๆ 

ครูที่มีไฟอยู่ตลอดเวลา มีไฟในการพัฒนาตนเองและสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนไม่ว่าเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ก็ได้ ขอแค่ไม่ให้มันอยู่กับที่ แค่เปลี่ยนให้ดีกว่าเดิม ค่อย ๆ พัฒนาตัวเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียน ไม่ใช่ปล่อยให้มันเป็นแบบไหนก็เป็นไป 

ครูที่เชื่อว่าเด็กพัฒนาได้ เชื่อว่าเด็กมีดีในตนเอง มีของ มีจังหวะที่เบ่งบานแตกต่างกัน คอยช่วยให้พวกเขาได้เบ่งบานตามศักยภาพ ช่วยให้เขาได้ผลิดอกออกใบหยั่งรากลึกได้มากยิ่งขึ้น



สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย คุณอธิวัฒน์ อุต้น

Your email address will not be published.