ก่อการครู – Korkankru

คลังความรู้

‘การเรียนรู้ที่ไม่จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม’ เปิดโลกนิเวศการเรียนรู้เพื่อเข้าใจมนุษย์และเข้าใจ (หัวใจ) ตัวเอง กับ ครูนุช-ครูนุ่น สองพี่น้องจากกลุ่มก่อการครูภาคใต้

Mar 14, 2024 3 min

‘การเรียนรู้ที่ไม่จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม’ เปิดโลกนิเวศการเรียนรู้เพื่อเข้าใจมนุษย์และเข้าใจ (หัวใจ) ตัวเอง กับ ครูนุช-ครูนุ่น สองพี่น้องจากกลุ่มก่อการครูภาคใต้

Reading Time: 3 minutes

“การศึกษาที่ดีจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจชีวิต และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอุดมสมบูรณ์และตายได้อย่างเข้าอกเข้าใจ”

คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำว่า การศึกษาที่ดีคืออะไร สำหรับครูนุ่น – ปฐมพร และครูนุช – นุชวรา ปูรณัน สองพี่น้องผู้มีอาชีพเป็นครูในห้องเรียนทางเลือก มอนเตสซอรี่ (Montessori Education) ทั้งคู่เชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่า การศึกษาที่ดีจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ต้องเริ่มจากการมีจิตใจภายในที่เข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานอันมั่นคง

ทว่าการศึกษาบ้านเราอาจจะยังไม่ส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวเท่าที่ควร ครูทั้งสองจึงยืนหยัดจับมือกับเครือข่ายการศึกษาในภาคใต้ เพื่อร่วมกันสร้าง ‘นิเวศการเรียนรู้’ ในห้องเรียนที่ไร้กรอบและลงพื้นที่เพื่อให้เด็กได้พบเจอกับชีวิตและบริบทสังคมรอบตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้

จุดเริ่มต้นของการเป็นครูทางเลือก

จุดเริ่มต้นการเป็นครูของทั้งสองแสนเรียบง่าย เนื่องจากทั้งคู่เป็นพี่น้องที่อายุไม่ห่างกันมากนัก ทำให้มีการเติบโตที่คล้ายคลึงกัน ประกอบกับพ่อและแม่มีอาชีพเป็นนักพัฒนาสังคมที่ให้ความสนใจในเรื่องของพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย เมื่อมีลูกสาวคนแรกคือ นุ่น – ปฐมพร ปูรณัน พ่อและแม่จึงตามหาโรงเรียนที่ตอบสนองกับพัฒนาการของเด็ก

ทว่าสิ่งที่พวกเขาเจอกลับเป็นโรงเรียนในระบบที่สอนให้เด็กเรียนรู้แต่การท่องจำเพื่อนำไปสอบ ยิ่งในห้องเรียนประถมมีแต่การนั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยม ซึ่งไม่ตอบโจทย์กับการพัฒนาตามช่วงวัย สุดท้ายพ่อและแม่จึงตัดสินใจก่อตั้งโรงเรียนเล็กๆ ขึ้นมาชื่อว่า โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ ในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา

“เราทั้งคู่ได้เรียนในโรงเรียนที่มีพ่อและแม่เป็นผู้ก่อตั้ง เรียนตั้งแต่ช่วงอนุบาลจนถึงประถม” ครูนุ่นกล่าว

จนถึงช่วงมัธยม ทั้งคู่ได้ไปเรียนที่ประเทศมาเลเซีย เพราะผู้ปกครองอยากให้ทั้งคู่ได้ออกไปสัมผัสโลกกว้างและหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบไทยๆ ก่อนจะกลับมาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยทั้งคู่ต่างเลือกเรียนในคณะคุรุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ แตกต่างกันเพียงมหาวิทยาลัยเท่านั้น

ครูนุ่นเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่เลือกกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศไทย เนื่องจากตนอยากโตเป็นนักพัฒนาสังคมไม่ต่างจากพ่อแม่ อยากนำแนวทางที่เรียนรู้ทั้งหมดมาปรับใช้กับการศึกษาในประเทศไทย ประกอบกับในช่วงที่เธอเป็นเด็กมีกลุ่มกระบวนการทางการศึกษาชื่อว่ากลุ่ม “กระจิดริด” ได้นำกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ มาสอนในห้องเรียน ทำให้ห้องเรียนเต็มไปด้วยความสนุกสนานและมีชีวิตชีวา เป็นความประทับใจที่เกิดขึ้นในหัวใจของครูนุ่น ทำให้เธอเลือกกลับมาเป็นครูในโรงเรียนที่พ่อแม่สร้างไว้และต่อยอดแนวความเชื่อในเรื่องการศึกษาที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กพร้อมกับความเชื่อที่อยากเปลี่ยนห้องเรียนจากเดิมที่เป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมให้กลายเป็นห้องเรียนที่มีความหมายและสนุกสนานไปพร้อมกัน

สำหรับครูนุชแตกต่างออกไป ในช่วงที่เป็นครูฝึกสอนในโรงเรียนขยายโอกาส เธอพกความมั่นใจจากมหา’ลัยพร้อมไฟที่อยากเปลี่ยนระบบการศึกษาแบบเดิมๆ ทว่าความจริงที่พบคือ การเปลี่ยนแปลงแค่ครูคนเดียวหรือห้องเรียนเดียว ‘ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง’ ระบบการศึกษาได้

“การเปลี่ยนแปลงเพียงห้องเดียว ไม่สามารถทำให้เด็กเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้ แม้เขาอาจกล้าแสดงออกในห้องเรา แต่เมื่อไปห้องอื่นครูก็ยังด่าหรือตีเขา เขาก็ยังจดจำกระบวนการวิธีการเหล่านั้นมา และเมื่อกลับมาเรียนรู้ในห้องเรา เขาก็ต้องเข้ามารื้อฟื้นกระบวนการกันใหม่เสมอ”

ซ้ำร้ายเด็กยังต้องเผชิญการทำร้ายร่างกายด้วยไม้เรียว การลงโทษที่ทำร้ายจิตใจ

“นักเรียนทั้งห้องมีเด็ก 50 คน เราเป็นครูฝึกสอน ได้รับคำสั่งจากครูควบคุมให้เปลี่ยนห้องเรียนดังกล่าวให้เป็นห้องเรียน active learning ซึ่งครูคนดังกล่าวถือไม้เรียวอยู่หลังห้อง ไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่มีทางทำให้เด็กหลังห้องอยากเรียนได้ เรารู้สึกว่ามันสิ้นหวังจนกระทั่งรู้สึกสอนไม่ได้”

ครูนุชสรุปให้ฟังว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวนักเรียนในขณะนั่นไม่ได้เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้เท่าที่ควร

หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกสอนเธอจึงหอบความผิดพลาดที่ได้เรียนรู้มาเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ กลับมาเป็นครูสอนเด็กประถมร่วมกับพี่สาว ในห้องเรียนมอนเตสซอรี่ (Montessori Education) ห้องเรียนที่ไม่แบ่งแยกชั้นเรียน แบ่งแยกวิชา แต่เป็นการเรียนร่วมกันตั้งแต่ ป.1-ป.6 โดยทุกวิชาจะสอนผ่านสื่อหรืออุปกรณ์เพื่อให้นักเรียนเรียนอย่างเข้าใจมากกว่าการท่องจำและนำไปสอบ รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเข้าใจ

“ครูเป็นเพียงผู้จัดสภาพแวดล้อม เป็นผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้จากภายในและนำทางเขาให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ซึ่งในการเรียนรู้ในมอนเตสซอรี่เชื่อว่าเด็กทุกคนมีครูที่อยู่ภายในตัวเอง โดยครูภายนอกเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยกระตุ้น ส่งเสริมให้เขาได้เจอตัวเองและเป็นตัวของเขาได้ดียิ่งขึ้น”

ทั้งหมดคือสิ่งที่ทำให้สองพี่น้องเลือกกลับบ้านและเลือกทางเดินชีวิตในการเป็นครูในรูปแบบมอนเตสซอรี่เพื่อสร้างแนวทางการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาไทย

ปัญหาของระบบการศึกษาไทย

สำหรับปัญหาเรื่องการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่ตั้งคำถามกันมาอย่างยาวนานว่า หากจะแก้ปัญหาการศึกษาไทยควรเริ่มต้นที่ใด สำหรับครูนุชในฐานะที่เป็นครูในรูปแบบมอนเตสซอรี่ที่เชื่อว่าครูคือผู้จัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อเอื้อให้เกิดปัจจัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ดี มองปัญหาของการศึกษาไทยว่ามีด้วยกัน 3 ระดับ ดังนี้

ในระดับแรกคือความเป็นปัจเจกของครูผู้สอน ซึ่งรวมถึงตัวตนและความเชื่อที่ผลักดันให้เกิดลักษณะบุคลิกภาพของครู ยิ่งครูที่สอนเด็กเล็กในช่วงวัย 6-12 ปี ยิ่งต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเด็กจะเกิดการจดจำหรือภาพเลียนแบบ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อระบบการศึกษาและการดำเนินชีวิตในระยะยาว

“ครูอาจมีความเชื่อว่าการดุด่าว่ากล่าวเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นเจตนาดีเพื่อให้นักเรียนเติบโต แต่ในความเป็นจริงการดุด่ากำลังทำร้ายและตัดการเติบโตของเด็กโดยไม่รู้ตัว”

“ดังนั้นสำหรับปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากความเชื่อหรือสิ่งที่หล่อหลอม ไม่เข้ากับยุคสมัยแบบใหม่ หรือปัญหาส่วนตัวทำให้เขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ทั้งหมดนี้คือปัญหาปัจเจกและนำมาสู่การจัดการสภาพแวดล้อมในการสอนที่ไม่ดีพอ”

ระดับต่อมาคือเรื่องสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เหมาะสมกับช่วงวัยตรงตามพัฒนาการของความเป็นมนุษย์ เพราะสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กคือสิ่งที่บ่มเพาะจินตนาการและการสร้างสรรค์ เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง แต่การศึกษาไทยกลับอยากให้เด็กอยู่แต่ภายในห้องสี่เหลี่ยมอันคับแคบ

“ในช่วงการเรียน เด็กๆ จะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับสังคมแวดล้อมที่เขาต้องเจอในอนาคต ได้เรียนรู้ว่าสังคมทำงานอย่างไร หากคนเราเห็นต่างกันจะสื่อสารอย่างไร ได้ตั้งคำถามกับต้นไม้ ท้องฟ้า หรือสิ่งที่เขาไม่เข้าใจเกี่ยวกับโลกหรือสังคมของเขา แต่ระบบการศึกษาของเราไม่ตอบโจทย์ด้านพัฒนาการตรงนี้ แต่กลับนำเขาไปใส่ในห้อง นั่งที่โต๊ะ และคาดหวังว่าต้องสอบให้ได้คะแนนดีๆ”

ครูนุ่นกล่าวเพิ่มเติมว่าประเทศไทยชินชากับระบบการศึกษาที่นับถือผู้อาวุโสครูจึงกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ห้ามผิดพลาดและต้องถูกต้องเสมอ สภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้เด็กไม่กล้าคิดต่างเพราะจะผิดแปลก นำมาสู่การเติบโตที่ขาดการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ รวมถึงการตั้งคำถามรอบตัว

สุดท้ายคือระบบโครงสร้างที่รัดกุมทำให้ครูไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ แต่สิ่งที่น่าเจ็บใจยิ่งกว่าสำหรับครูทั้งสองคือระบบโครงสร้างการศึกษาไทยกำลังบีบให้เด็กไทยต้องเผชิญสภาวะ ‘การแข่งขัน’ โดยไม่จำเป็น ซ้ำร้ายยังบีบบังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียนรู้เหมือนกันราวกับผลิตหุ่นยนต์

“สังคมหลักยังยึดติดกับการแข่งขัน ชี้วัดความสำเร็จจากคะแนน แม้แต่เด็กอนุบาลยังต้องบังคับให้ลายมือสวย ซึ่งการศึกษาที่ดีควรจะสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสม เน้นการสร้างรากฐานทางจิตใจให้แข็งแกร่ง ซึ่งบางครั้งคนรอบตัวเด็กต่างหากที่รอไม่ได้ แน่นอนว่าการศึกษามันไม่ใช่เรื่องของการต้มมาม่าใส่น้ำร้อนแล้วกินได้ทันที”

ทั้งครูนุชและครูนุ่นต่างเห็นด้วยกับนิยามการศึกษาไทยว่า ‘ระบบโครงสร้างการศึกษาที่เน้นซ่อมแต่ไม่เน้นการสร้าง’

“การศึกษาไทยซ่อมแต่ไม่เคยสร้าง คงต้องย้อนว่าการศึกษาไทยผิดที่ไม่สนใจพัฒนาการของเด็ก เพราะเราไม่เคยคิดสร้างการศึกษา เราไม่เคยเรียนรู้และเชื่อมกับจิตวิญญาณของมนุษย์ ระบบการศึกษาจึงไม่เคยตอบโจทย์เลยสักครั้ง สุดท้ายเราเอาแต่ซ่อม ดัด และหัก”

“เด็กทุกคนก็เหมือนต้นไม้ เราให้เพียงน้ำ แสง และอื่นๆ ที่เพียงพอตามความต้องการ ที่เหลือต้นไม้จะเติบโตด้วยตนเองอย่างอุดมสมบูรณ์ เราไม่จำเป็นต้องไปดัด ที่ทุกวันนี้ที่เราต้องไปซ่อมเพราะเมื่อเขาเติบโตในทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่การศึกษาในแบบที่รัฐต้องการก็ไปตัดไปดัดเขา พอตัดกิ่งหนึ่งเขาก็งอกอีกกิ่งหนึ่งแล้วรัฐก็ไปดัด ไปตัดเขาอีก เพื่อให้เหลือแต่ลำต้นที่ตรงแต่ไร้หัวใจ มันกลายเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่”

“พัฒนาการเด็กเขาพบมาเป็นร้อยปีแล้ว จิตวิทยาการพัฒนาเด็กก็บอกชัดว่าเด็กแต่ละช่วงวัยต้องการอะไร และออกแบบให้ตรงกับเขา แต่ระบบการศึกษาไทยกับให้สิ่งตรงกันข้าม ถ้าเปรียบเหมือนกับต้นไม้เขาต้องการน้ำแต่ระบบการศึกษากลับให้แต่แสงแดดจนเกินความจำเป็น” ครูนุ่นยังย้ำในเรื่องของการพัฒนาเด็กว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินคู่ไปกับเรื่องการศึกษา

อย่างไรก็ตามทั้งครูนุ่นและครูนุชต่างยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านเรื่องการแข่งขัน แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในความพอดี

“ทุกคนรู้ว่าการแข่งขันที่มากเกินไปย่อมไปทำร้ายเด็ก ซึ่งการแข่งขันเหล่านี้มันบอกให้เด็กทั้งห้องต้องมีเด็กคนเดียวที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุด ส่วนที่เหลือโดนทิ้งไป สิ่งเหล่านี้ล้วนไปทำลายความเชื่อมั่นของเขา แต่ขณะเดียวกันระบบการศึกษาไทยก็ยังต้องการการแข่งขัน เพื่อให้อย่างน้อยที่สุดเด็กเกิดการแข่งขันกับตัวเอง หรือในบางกรณีครูยังต้องใช้เกมเป็นสื่อกลางช่วยสอนและเกมเหล่านี้บางทีก็ต้องพึ่งการแข่งขันเพื่อให้เขาใช้ศักยภาพได้เต็มที่” ครูนุชทิ้งท้ายในประเด็นปัญหาดังกล่าว

‘นิเวศการเรียนรู้’ ห้องเรียนที่ไม่จำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม

“การศึกษาที่ดีจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งได้เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจชีวิต และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์และตายได้อย่างเข้าอกเข้าใจ เขาต้องมีความสุขกับการใช้ชีวิต มีความสุขกับการเรียนรู้และตายเป็น การศึกษาที่ดีไม่ใช่การวัดว่าคุณมีเงินเท่าไร ทำงานได้ดีไหม แต่อยู่ที่ว่าคุณมีชีวิตที่มีความสุขและตอบหัวใจตัวเองแล้วหรือยัง” ครูนุชกล่าวถึงระบบการศึกษาที่ดีในความเชื่อของเธอ

ส่วนครูนุ่นเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดี คือ การศึกษาที่ยอมรับและโอบอุ้มทุกความหลากหลาย และระบบที่ดีต้องไม่บังคับให้เด็กทุกคนเหมือนกัน ให้เด็กเก่งได้ในมาตรฐานที่เขาควรจะเก่ง แล้วต่อยอดสิ่งที่เด็กสนใจซึ่งอาจจะอยู่นอกเหนือความสนใจกระแสหลัก ทั้งหมดอาจต้องหวังพึ่งความร่วมมือจากทั้งระบบสนับสนุนครู ระบบบริหารที่เข้าใจการทำงานของครู

แน่นอนว่าระบบการศึกษาที่ดีย่อมนำมาสู่การเรียนรู้ที่ดีมีคุณภาพ และทำให้อาชีพครูมีชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนคือความต้องการของ ‘ก่อการครู’ คณะครูที่มุ่งหวังให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้น โดยรวมตัวบุคลากรครูจากทั่วประเทศ ร่วมกันสร้างเครือข่ายแบ่งเป็นโหนดต่างๆ ผนึกพลังทำงานเป็นทีมเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการศึกษาในประเทศไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ทั้งครูนุ่นและครูนุชคือหนึ่งในบุคลากรของเครือข่ายโหนดก่อการครูภาคใต้ ที่ร่วมงานกับก่อการครูมาหลายปี โดยในแต่ละปีเป้าหมายของแต่ละโหนดจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ สำหรับเป้าหมายของโหนดทางภาคใต้ในปีนี้คือการสร้าง ‘นิเวศการเรียนรู้’

ภาพบรรยกาศการเสวนา “ก่อการครูออนทัวร์ ภาคใต้”

นิเวศการเรียนรู้ คือ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตามพัฒนาการของเด็ก โดยครูเป็นผู้เชื่อมโยงหรือพาเด็กๆ ไปเจอกับระบบนิเวศดังกล่าวและลงมือปฏิบัติหรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Active learning) โดยเป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนหรือห้องสี่เหลี่ยม แต่เป็นสถานที่ที่ให้เด็กๆ ได้เจอกับสังคม ชุมชน และวัฒนธรรมจริงๆ

“นิเวศการเรียนรู้ที่เราพยายามสร้างขึ้น ไม่ใช่แค่ให้เด็กเกิดเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าเด็กคนนึงจะมีพลังและเติบโตบนฐานความเป็นจริงได้ เขาควรมีสิทธิ์ในการออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่ไร้กำแพงขวางกั้น เปิดโอกาสให้เด็กลงพื้นที่ไปเจอชุมชนจริงๆ เจอคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่ครูหรือเพื่อน ได้เจอประสบการณ์ที่ไม่ได้อยู่แต่ในกรอบมาครอบพวกเขา ประสบการณ์เหล่านั้นจะทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะต้องเอาตัวเขาไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้เขารู้จักโลกความจริงมากขึ้น” ครูนุ่นอธิบายความหมายของนิเวศการเรียนรู้

ครูนุ่นยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่าการพาเด็กๆ ลงชุมชนเป็นการเปิดพื้นที่ในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างชุมชนและนามธรรมอย่างความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกของตัวเขาเอง

“เรากำลังพูดถึงมนุษย์คนนึงที่กำลังเติบโต การลงชุมชนทำให้เขาได้กลับมาเชื่อมกับตัวเองว่าเขารู้สึกอะไร เขาเห็นสิ่งต่างๆ เขาเห็นความเมตตา ความสงสัยใคร่รู้ ซึ่งการไปในสถานที่หนึ่งไม่ได้เห็นเพียงด้านเดียว แต่จะเห็นทุกสิ่งรวมถึงความรู้สึกทุกอย่าง ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงในจิตใจ รวมถึงเข้าใจมนุษย์และเข้าใจ (หัวใจ) ตัวเองว่ารู้สึกเช่นไร”

“การลงชุมชนทำให้เขาเชื่อมโยงกับเสียงของตัวเอง เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงชีวิตที่เขาเผชิญเข้ากับประสบการณ์จากบุคคลอื่น”

สิ่งหนึ่งที่ตำราพัฒนาการเด็กบอกไว้อย่างชัดเจนคือ เด็กในวัย 6-12 ปี กำลังค้นหาบุคคลที่จะมาเป็นแรงบันดาลใจในชีวิต (Idols) ให้กับตัวเอง

“บางทีเขาได้เห็นตัวอย่างจากการลงพื้นที่จากใครบางคน อาทิ เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสัตว์ทะเล เขาเห็นว่าการอนุรักษ์ทะเลนำไปสู่อะไร แค่นี้ก็เชื่อมโยงได้แล้วว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำมันมีคุณค่า เขาได้เรียนรู้เรื่องชีวิตไปด้วยในตัว เราลงชุมชนไม่ได้เจอแค่ผู้คนแต่เราเจอว่าเขาเผชิญชีวิตแบบไหน เด็กๆ ได้เรียนรู้ชีวิตอะไรจากเขา ดังนั้นการลงชุมชนคือการเชื่อมทุกศาสตร์ทุกศิลป์ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” ครูนุชเน้นย้ำ

ภาพบรรยากาศการ workshop “เกียวทาคุ” เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลในพื้นที่ บันทึกเป็นภาพพิมพ์ด้วยหมึกทะเล

อีกนัยหนึ่งการเดินทางไปลงชุมชนทำให้เด็กได้เชื่อมตัวเองเข้ากับรากเหง้าของวัฒนธรรมในพื้นที่ใกล้ตัว

“การสร้างรากฐานให้พวกเขารู้จักตัวเองผ่านชุมชน โดยในทุกเทอมเราพยายามให้เขาได้เชื่อมต่อกับชุมชน ยกตัวอย่างในพื้นที่รอบโรงเรียนเต็มไปด้วยภูเขา เราก็พาเขาไปเรียนรู้วิธีชีวิตของลูกควน (วิถีชีวิตริมเขา) หรือลูกเล (วิถีชีวิตริมทะเล) ฟังเรื่องเล่าจากปราชญ์ชุมชน”

ครูนุชเล่าอย่างน่าตื่นเต้นว่าในช่วงเทอมที่ผ่านมาได้นำเด็กลงพื้นที่บริเวณทะเลจะนะ ซึ่งในชุมชนแห่งนี้กำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างกำแพงกั้นคลื่นทำให้ชายหาดและวิถีชีวิตของชาวประมงกำลังจะหายไป แต่กลับมาพลิกฟื้นด้วยคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาต่อสู้เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

“ในความโชคร้ายยังมีโชคดีคือชุมชนเขาต้องการจะส่งต่อคุณค่าทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของเขา ซึ่งพวกเขารู้ว่าหากไม่รีบทำจะหายไป ทั้งดูหลำการฟังเสียงปลา การดูลม 8 ทิศ ของนักเดินทะเล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีปราชญ์ชุมชนที่ทำให้เด็กไปเรียนรู้ได้ การให้เด็กๆ ได้ไปเจอนักอนุรักษ์ท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ก็จะไปปลูกฝังรากเหง้าทางวัฒนธรรมในตัวเขาเอง ยังไม่นับความสนุกสนานที่เด็กๆ ได้ไปวิ่งเล่นบนผืนทราย เอาเท้าเหยียบน้ำทะเล สำหรับพวกเขามันมีค่ามากกว่าอยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม”

ครูนุ่นเสริมให้ฟังว่า นอกจากเด็กๆ ได้ประสบการณ์การเรียนรู้จากชุมชน เห็นคุณค่าในชุมชนตัวเองแล้ว ชุมชนเองก็ได้ส่งต่อองค์ความรู้ วัฒนธรรมสืบต่อไปไม่ให้สูญหาย และหลายชุมชนก็เริ่มเรียนรู้ว่าภูมิปัญญาของตนคือสิ่งสำคัญ และเด็กๆ เหล่านี้คือผู้ส่งต่อวัฒนธรรมอันล้ำค่าสืบไป

อาแทน ปราชญ์ชาวบ้านจากเครือข่าย “จะนะรักษ์ถิ่น” ผู้ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับก่อการครูภาคใต้

“กลับกันบางคนเมื่อเขาโตไปแล้วเรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัย หลายคนเชื่อว่าบ้านตัวเองไม่มีอะไร ต้องไปทำงานเติบโตในเมืองหลวง แล้ววันนึงเมื่อเขากลับมาบ้านก็ต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่ เริ่มตั้งคำถามว่าบ้านตัวเองมีอะไรดี มีอะไรให้ภาคภูมิใจ แต่นิเวศการเรียนรู้ทำให้เขารู้จักชุมชนตั้งแต่เด็ก วันหนึ่งถ้าเขาต้องกลับมาบ้านจริงๆ เขาจะสามารถตอบตัวเองได้ว่าเขาคือใคร รากเหง้าของเขาคืออะไร ความภาคภูมิใจที่รู้ว่าในชุมชนเรามีอะไรดี ยิ่งเติมแต่งแต้มสีสัน รากเหล่านั้นก็จะยิ่งสมบูรณ์และโดดเด่นอย่างสง่างาม”

อาจสรุปได้ว่าการทำงานของโหนดทางภาคใต้ในแต่ละปีจะมีเป้าหมายแตกต่างกัน ในปีนี้คือการสร้างนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งนิเวศดังกล่าวไม่ใช่แค่ครู ห้องเรียน โรงเรียนเดียว หรือชุมชน แต่ทั้งหมดต้องผสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เหมือนระบบนิเวศทางธรรมชาติที่ต้องเชื่อมโยงและแพร่สายใยระหว่างกัน

ห้องเรียนไร้กรอบท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทาย

ปัจจุบันโหนดก่อการครูภาคใต้สร้างเครือข่ายนิเวศการเรียนรู้ขยายออกไปกว่า 3 โรงเรียน 1 มหาวิทยาลัย และ 1 ชุมชน หากเปรียบเป็นต้นไม้คงเป็นช่วงกำลังแผ่กิ่งก้านสาขา ขยายการทำงานออกไปในทุกระดับ และที่สำคัญครูนุ่นเล่าว่านิเวศการเรียนรู้กำลังขยายออกไปในพื้นที่หลายชุมชนภายในปีนี้ 

ว่ากันว่าไม่มีความสำเร็จใดที่ไม่ต้องใช้ความพยายามและเวลา การสร้างนิเวศการเรียนรู้ก็เช่นกัน

“ข้อดีของภาคใต้คือเรามีเพื่อนที่ชุมชนสนใจทำเรื่องนี้เยอะ ซึ่งความน่าดีใจคือหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มก่อการครูภาคใต้มีส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่ครู หรือโรงเรียน แต่เป็นชุมชนซึ่งเขามีคนที่ทำงานพัฒนาสังคมในพื้นที่ชุมชน ซึ่งเขามีผู้ใหญ่บ้านที่อยากให้เด็กรู้จักต้นทุนของบ้านตัวเองและสืบต่อวัฒนธรรม วิถีชีวิต”

“แต่ปัญหาคือเมื่อเราเจอคนเยอะแยะมากมายวิธีการก็ไม่ง่าย เพราะเมื่อมีหลายคนก็หลากหลายความต้องการ เราก็ต้องมีการประชุมหาแนวทางร่วมกัน สำหรับก่อการครูภาคใต้เราให้เกียรติจังหวะ[1] [2 ของแต่ละภาคส่วนแต่ละพื้นที่ เราไม่บังคับว่าชุมชนจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับเด็กเสมอ เราดูช่วงจังหวะและโอกาสระหว่างกัน”

ครูนุชยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การเชื่อมโยงทางการศึกษาก็เป็นเรื่องที่ท้าทายเช่นกัน เนื่องจากแต่ละโรงเรียนย่อมมีการจัดการเวลาเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะโรงเรียนในการกำกับของรัฐที่ตารางเวลาค่อนข้างแน่นและไม่ยืดหยุ่น ทำให้ครูที่สนใจในระบบการศึกษาแบบนิเวศการเรียนรู้ไม่มีเวลาพอในการจัดการหรือวางแผน

“เราว่าทุกคนเจอความยากของตัวเอง ถ้าเป็นรัฐกับเอกชนอาจจะไม่เหมือนกัน รัฐอาจจะมีปัญหาที่ผู้บริหารไม่สนับสนุน มีครูที่อินกับระบบนี้อยู่แค่ไม่กี่คน ยิ่งเมื่อมีเกณฑ์การวัดความรู้ผ่านคะแนน การลงพื้นที่จึงดูเหมือนไม่ตอบโจทย์ความต้องการของระบบการศึกษาแบบเน้นการแข่งขันของรัฐอีกต่อไป”

เมื่อระบบการแข่งขันกลายเป็นปัญหาของระบบการศึกษาแบบไทยๆ ทำให้ทุกสถานศึกษาเน้นวัดความสำเร็จของเด็กคือการสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ได้ ความคาดหวังเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ปกครอง และผู้ปกครองหลายคนคิดว่าการลงพื้นที่ลงชุมชนเสมือนการพาเด็กออกไปเที่ยว ไม่มีสารัตถะ ซ้ำร้ายยังเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียน ทำให้ครูต้องมานั่งอธิบายกับผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจถึงการเรียนรู้ที่ไร้กรอบเช่นนี้ แน่นอนว่าการทำในสิ่งที่ผู้ปกครองไม่คุ้นเคยจึงเป็นความท้าทายใหม่ๆ สำหรับครูนุ่นและครูนุช

“เครือข่ายนิเวศการเรียนรู้ที่กลุ่มก่อการครูภาคใต้กำลังพยายามทำ คือการทำให้สังคมตื่นขึ้นมาว่า นอกเหนือการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เน้นระบบแข่งขัน ยังมีรูปแบบการเรียนอื่นๆ ที่เป็นไปได้ แต่ผู้ปกครองหลายคนตั้งคำถามว่าจะเปลี่ยนไปทำไม ในเมื่อการเรียนแบบแข่งขันกันตอบโจทย์ชีวิตที่มั่นคงและแน่นอน คิดว่าลูกหลานของเขาเรียนเช่นเดิมก็ปลอดภัยหางานได้”

“ตรงนี้คืออีกหนึ่งความท้าทายที่เราต้องทำให้ผู้ปกครองรับรู้ว่าความมั่นคงภายในหัวใจของเด็กคือสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ และเด็กทุกคนมีการเติบโตในแบบของตัวเอง การศึกษาที่ดีคือการศึกษาที่เข้าใจมนุษย์เป็นรายบุคคล เข้าใจระนาบและจังหวะพัฒนาการของเขา แต่ละช่วงวัยคืออะไร ให้เกียรติความหลากหลายของมนุษย์ ยอมรับก่อนว่ามนุษย์มีความหลากหลาย แล้วเขามีต้นทุน มีเมล็ดพันธุ์ มีดีเอ็นเอ มีพิมพ์เขียวทางจิตวิญญาณไม่เหมือนกัน” ครูนุ่นทิ้งท้าย

การเติบโตของครูท่ามกลางห้องเรียนแห่งดวงดาว

‘เมื่อดาวหนึ่งดวง ร่วงลงจากฟ้า จะมีดวงตา เกิดขึ้นมาบนโลกนี้แทน เป็นเด็กผู้หญิง เป็นเด็กผู้ชาย ส่องแววประกาย เด็กมีความหมายเช่นดาว…เด็กคือพลัง เป็นความหวังแห่งวัน อย่าทำลายฝัน อย่าปิดกั้นไฟ เด็กมีหัวใจ ผู้ใหญ่ช่วยระวัง’

จากบทเพลง ‘เด็กดั่งดวงดาว’ ของ ศุ บุญเลี้ยง ทำให้ครูนุ่นเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะโตขึ้นเป็นอะไรก็ได้ ศักยภาพทั้งหมดถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้มของพวกเขา ซึ่งคนที่จะทำให้เขาเติบโตไม่ใช่ครู แต่เป็นตัวเขาเอง เราเพียงแต่จัดโอกาส จัดประสบการณ์ จัดสิ่งแวดล้อมให้เขาได้เจอในสิ่งที่เขาอยากเป็น

จากบทเพลงกลายมาเป็นคำสอนเตือนใจ สู่การเปิดห้องเรียนที่มีชื่อว่า ‘ดั่งดวงดาว’ และนำแนวการศึกษาแบบนิเวศการเรียนรู้มาเป็นส่วนขับเคลื่อนหลัก

“ความเปลี่ยนที่ชัดเจนในห้องเรียนแห่งนี้คือ เด็กๆ เขามีธรรมชาติที่คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เขาอยากรู้อะไรก็จะช่วยกันค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ไม่มีสิ่งไหนดีที่สุดหรือถูกที่สุด ซึ่งดีกว่าการให้ครูมาหยุดสั่งให้ทำสิ่งต่างๆ เราติดตั้งภูมิคุ้มกันสำหรับตัวเขา ให้เขารู้สึกภาคภูมิใจกับการได้ทำสิ่งที่เขาถนัดและเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่”

นอกจากเด็กจะได้เติบโตอย่างอิสระในแนวทางที่อยากเป็นแล้ว คุณครูก็ได้เติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมกันในห้องเรียนไร้กรอบแห่งนี้

“เรารู้สึกว่าเราผูกพันเชื่อมโยงกับเด็ก เด็กคือแรงบันดาลใจ เขาให้ความสุขเรา เขากำลังให้พลังบวกกับเราอยู่เสมอ”

ครูนุชกล่าวว่าการเป็นครูไม่ใช่ว่าเรากำลังเป็นผู้ให้เท่านั้น แต่ตัวเราเองกำลังโอบรับบางสิ่งมาพร้อมกัน ในบางครั้งอาจไม่เห็นได้ด้วยตาแต่รับรู้ได้ด้วยหัวใจ ซึ่งทุกวันที่เธอมาสอน ภายในใจก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นไปพร้อมกับเด็ก

“การจัดการเรียนการสอนแบบนิเวศการเรียนรู้ทำให้เราโตขึ้นมาก จากเมื่อก่อนข้างในเราปั่นป่วน เต็มไปด้วยความคาดหวังและอุดมคติ เราคาดหวังว่าจะเห็นเด็กทุกคนประสบความสำเร็จ แต่อย่าลืมว่าการทำงานของเรามันคือการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความเข้าใจมนุษย์ ให้กับเด็กๆ สิ่งที่งอกเงยและงดงามเราอาจไม่ได้เห็นในเร็วๆ นี้ เพราะเราทำงานกับอนาคต เราวางเอาไว้และทำในปัจจุบันให้ดีที่สุด จัดนิเวศที่ตอบสนองต่อเขา ตั้งแต่เราคิดได้ข้างในเราก็เปลี่ยนไป”

ครูนุ่นอธิบายต่อว่า จากห้องมอนเตสซอรี่เล็กๆ ที่ให้เกียรติการเติบโตของมนุษย์ตัวน้อยๆ รายบุคคล แต่กลายเป็นว่าเป็นการจุดประกายให้การศึกษาของโรงเรียนนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้กับทุกห้องเรียน

“เมื่อแนวทางการศึกษาเช่นนี้มันกำลังเริ่มปรับใช้ ภาพฝันที่เราอยากเห็นเด็กทุกคนได้เติบโตในแบบของเขากำลังเป็นความจริงขึ้นมา ยิ่งเมื่อมีการประชุมระหว่างครู ทั้งห้องประชุมเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ จากที่เคยนั่งกันเงียบและมีเพียงครูหัวหน้าคนเดียวกำลังรายงาน กลับเป็นการพูดคุยหารือถึงแนวทางการศึกษา โดยเอาเด็กเป็นตัวตั้งและคิดกันอย่างสร้างสรรค์ว่าจะเพิ่มเติมเสริมแต่งอย่างไรให้การเรียนรู้ของเขาดีที่สุด จากห้องเรียนดั่งดวงดาว แต่สามารถเปลี่ยนไปถึงระดับวัฒนธรรมองค์กรได้จริงๆ”

สุดท้ายไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ครูทางเลือก 2 พี่น้องยืนยันจะเดินหน้าพัฒนานิเวศการเรียนรู้ เพื่อให้ตอบโจทย์ตัวผู้เรียนให้มนุษย์คนหนึ่งได้เข้าใจตัวเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจชีวิต และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมกับพัฒนาให้เข้ากับการศึกษาที่ดีในอนาคต

“การเป็นครูมีคุณค่ามีความหมายกับเรา การเห็นเด็กเติบโตหรือการที่เห็นเด็กรักเรามันตอบโจทย์ชีวิตเรา เราคิดว่าก่อการครูคือหมุดหมายที่ช่วยยืนยันว่าเราจะไปทางไหน แน่นอนว่าวันนี้เรากำลังทำสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรามาก แม้บางครั้งมันอาจจะเหนื่อย แต่ในขณะเดียวกันก็หล่อเลี้ยงไฟในตัวเราไปพร้อมกัน” ครูนุ่นทิ้งท้าย

ก่อนจะจบบทสนทนาครูนุชได้ฝากทิ้งท้ายและฝากขอบคุณคุณครูทุกคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยให้ไปข้างหน้าอย่างมีหวัง

“ความสุขของครูคือการได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น บางทีรู้สึกว่าเราตัวเล็กนิดเดียวจะเปลี่ยนอะไรได้ แต่มันไม่จริง เพราะแรงกระเพื่อมเพียงนิดเดียวบางทีก็เปลี่ยนโลกได้ เรามีเพื่อนมีกลุ่มก่อการครูภาคใต้ที่คอยช่วยเหลือและหล่อเลี้ยงไฟในหัวใจระหว่างกัน ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน และพร้อมจะเดินหน้าต่อกับนิเวศการเรียนรู้เพื่อเข้าใจมนุษย์และเข้าใจ (หัวใจ) ตัวเอง และหวังว่าครูทุกคนจะค้นพบไฟของตัวเองและลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ดีขึ้นไปด้วยกัน”

Array