เส้นทางลัดเพื่อพัฒนาระบบการศึกษามีจริง หรือเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ ที่ผู้คนจินตนาการถึง ?
Reading Time: 2 minutesการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ควรมีหน้าตาอย่างไร?
เราอาจหาคำตอบได้จากแนวคิดของฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สิงคโปร์ และอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกที่จัดอันดับให้อยู่ก่อนหน้าประเทศเรา ทว่าหลักคิดใดเล่าที่เข้ากับบริบทของระบบการศึกษาไทยได้ดีในภาคปฏิบัติ วิธีใดเล่าจะแก้ไขทุกปัญหาในจักรวาลการศึกษาไทยได้
สูตรลัดพัฒนาระบบการศึกษาไทยมีจริงหรือไม่ ปัญหาของครู โรงเรียน และระบบการศึกษาไทยอยู่ตรงไหนกันแน่
อาจารย์อนุชาติ พวงสำลี หนึ่งในทีมบริหารโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ฉายภาพเส้นทางการทำงานของโครงการฯ ว่าแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ
1. การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ระดับโรงเรียน และ
2. การทำความเข้าใจรากเหง้าแห่งปัญหา
“หัวใจสำคัญที่เราพยายามทำงานอยู่เรียกว่า “การพัฒนาทั้งระบบโรงเรียน” หรือ Whole School Development ซึ่งสิ่งนี้คือเป้าหมายในภาพกว้าง แต่ว่าเราคงทำทั้งหมดไม่ไหว เราจึงเริ่มต้นที่การเปลี่ยนแปลงครูและผู้บริหารสถานศึกษา
“เราเชื่อว่าถ้าครูเปลี่ยนแปลงวิธีคิด มุมมอง มีเครื่องมือและวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำงานกับผู้เรียน จะเป็นกุญแจดอกแรกที่ไขไปสู่การแก้ปัญหาหรือการพัฒนาระบบของโรงเรียนให้ดีขึ้นได้”
การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ระดับโรงเรียนของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง จึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาเปลี่ยนแปลง “ครู” และ “ผู้อำนวยการโรงเรียน” ผ่าน 3 โมดูลหลักคือ โมดูล 1 ครูคือมนุษย์, โมดูล 2 ตลาดวิชา และโมดูล 3 การออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์ (Authentic Learning)
ปลดแอกความทุกข์
อาจารย์อนุชาติเล่าถึงโจทย์ที่มาของการออกแบบโมดูล 1 ครูคือมนุษย์ ว่ามาจากการเพิ่มจำนวนขึ้นของครูที่กำลังเผชิญกับสภาวะหมดไฟ (burnout) หลายคนรู้สึกว่าก้าวไปต่อไม่ถูก บางคนถึงกับถอดใจและกำลังตัดสินใจว่าจะลาออก ทั้งที่ครูเหล่านี้ต่างมีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นอยากเป็นครูที่ดี
หมุดหมายของโมดูลแรกนี้จึงเป็นการฟื้นฟูเยียวยาใจ เติมพลังและจุดไฟการสอนให้แก่ครู โดยพาพวกเขากลับมาสำรวจนิยามของความเป็น “มนุษย์” ภายในตนเองและผู้คนรอบข้าง
คำว่า “ครูคือมนุษย์” ฟังดูแปลกๆ ใช่ไหม?” อาจารย์อนุชาติถามขึ้นก่อนฉายภาพจุดมุ่งหมายของโมดูล
“เราพยายามพาครูกลับมาตั้งคำถามเดิมว่า “คุณค่า” หรือ “passion” หรือ “ความภาคภูมิใจ” ของการเป็นครูคืออะไร พาครูกลับบ้าน หรือที่เรียกว่า grounding เพื่อให้ครูตั้งแกนของชีวิตให้มั่นคงขึ้น
“สอง เราขยายภาพให้ครูเห็นว่าปัญหาที่เผชิญอยู่นั้นมีเบื้องลึกซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง การหมดพลังของครูไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคล แต่มีรากจากระบบอันแฝงด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
“สาม เราช่วยให้ครูมองเห็นว่าผู้เรียนแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย พวกเขาไม่เหมือนกัน อาจมาจากฐานะทางเศรษฐกิจเดียวกัน แต่วิธีการเติบโตและวิธีการเรียนรู้นั้นแตกต่างกัน”
ห้องเรียนในโมดูล 1 เราแบ่งเวียนเป็น 3 ห้องเรียนย่อย ได้แก่ ห้องการเรียนรู้ภายในตนเอง ห้องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และห้องการเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย อาจารย์อนุชาติขยายภาพว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ไม่เพียงชี้ให้เห็นระบบที่ส่งผลต่อครู ทว่ายังสะท้อนให้ครูเห็นภาพความสัมพันธ์ของตนเองกับนักเรียนและคนรอบข้าง
ในชีวิตจริงเราต่างรับบทบาทแตกต่างกันไป เป็นนักเรียน พ่อ แม่ ครู ครูใหญ่ ฯลฯ หลายครั้งที่บทบาทนั้นทำให้เราหลงลืมที่จะรับฟังเสียงของ “มนุษย์” ด้วยกันจริงๆ ไม่ใช่เสียงจากบทบาทที่สวมอยู่ แต่เป็นของ “มนุษย์” คนหนึ่ง จนบางครั้งเราตัดขาดแม้กระทั่งเสียงของของตัวเราเอง
“เราไม่ได้ออกแบบแบบโลกสวยนะ แต่เป็นศาสตร์เชิงลึกที่ให้ครูเข้าใจความทุกข์จริงๆ เข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขา ครูมีสิทธิที่จะทุกข์ได้ ความทุกข์หรือความกังวลของครูไม่ใช่เรื่องผิดปกติ มนุษย์ทุกคนก็มีทั้งทุกข์ทั้งสุข
“ถ้าครูลดความกังวล ลดการกดทับตัวเอง ก็จะทำให้ครูเห็นตัวเอง เห็นเพื่อนครูที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน ในฐานะมนุษย์มากขึ้น สิ่งที่เคยเข้าใจกันน้อยก็อาจเข้าใจกันมากขึ้น หรืออาจเห็นเพื่อนร่วมทุกข์ต่างโรงเรียน ต่างพื้นที่กันได้มากขึ้น”
และนี่คือ “โมดูล 1 ครูคือมนุษย์” จุดเริ่มต้นง่ายๆ ของระบบนิเวศที่มีความสุขและมีความหมายสำหรับทุกคน ผ่านการหยุดฟังเสียงของมนุษย์ด้วยกันอีกครั้ง
ลุกขึ้นสร้างการเปลี่ยนแปลง
เมื่อครูปรับสภาวะภายในและเติมพลังงานแล้วก็พร้อมเข้าสู่ “โมดูล 2 ตลาดวิชา” ที่รวบรวมองค์ความรู้และเครื่องมือการสอนใหม่ๆ ที่ครูอาจไม่มีโอกาสเรียนรู้จากหลักสูตรปกติ เช่น วิชาเวทมนต์คาถาเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมาย วิชาทักษะการโค้ชเพื่อครู วิชาห้องเรียนแห่งรัก วิชาการออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์ เป็นต้น
ในตลาดวิชามีวิชาต่างๆ 8-10 วิชา เปิดให้ครูลงเรียนตามความสนใจ โดยเฉลี่ยคนละ 3 วิชา
“วิชาต่างๆ ที่จัดมานั้นสำหรับตอบโจทย์หลายๆ อย่าง หนึ่ง เป็นเรื่องศาสตร์ใหม่ๆ ที่ครูสามารถใช้ผสมผสานเพื่อออกแบบการสอนที่ดี สอง เป็นวิธีใหม่ที่สอดคล้องกับผู้เรียนยุคนี้ เช่น เด็กยุคนี้ชอบเล่นบอร์ดเกม เราก็มีวิชาออกแบบบอร์ดเกมสำหรับการเรียนการสอน สาม เป็นวิธีคิดหลากหลายในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งครูไม่จำเป็นต้องกางตำราสอนเท่านั้น ครูที่ได้เข้าโมดูลตลาดวิชาจะมีความสุข เพราะว่ามีเครื่องมือเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับโมดูลสุดท้าย “โมดูล 3 การออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์” ครูทุกคนจะได้ลงลึกในการออกแบบห้องเรียนที่ดึงศักยภาพของเด็กให้เติบโต ด้วยการประยุกต์ใช้ทรัพยากรใกล้ตัวมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้
“เด็กที่เรียนภายใต้ภาวะแข่งขัน ถูกกดดันว่าจะต้องทำคะแนนทำเกรดให้ได้ดีตลอดเวลา คือความทุกข์ ทำอย่างไรให้เกิดการเรียนที่มีความหมาย สนุก และเกิดการพัฒนาตนเอง ทำให้ผู้เรียนทุกคนฉายแววหรือขยายศักยภาพซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกันให้เติบโตขึ้นมา เหมือนเรากำลังสร้างดอกไม้ร้อยดอก นี่คือหลักคิดสำคัญ
“หลังจากปรับเปลี่ยนวิธีคิดและติดเครื่องมือใหม่ๆ แล้ว โจทย์คือทำอย่างไรให้ครูทำได้จริง เราก็พาให้ครูเห็นมิติการออกแบบการเรียนการสอนว่าต้องปักหมุดหมายสู่ผู้เรียนอย่างไร อยากเห็นผู้เรียนเปลี่ยนแปลงอะไร อยากให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในเรื่องไหน แล้วจะใช้วัสดุรอบตัวมาออกแบบอย่างไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องแพงหรือต้องขวนขวายไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวครู อยู่ในชุมชน อยู่ในโรงเรียนนั่นเอง”
การพัฒนาครูในโมดูลนี้ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน จัดกิจกรรมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พาครูไปตลาดใกล้ๆ สถานที่จัดอบรม หาวัตถุดิบในตลาด แล้วให้นำมาออกแบบการเรียนการสอนที่มีความหมายมากขึ้น
“ให้เพื่อนช่วยเพื่อน ทุกคนช่วยกันให้ความเห็น สอนแบบนี้ดี สอนแบบนี้ยังต้องพัฒนาอะไรอีก ทำให้ครูเกิดความมั่นใจมากขึ้น จนไปสู่ประเด็นสำคัญว่าเราจะวัดความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียนได้อย่างไร โมดูล Authentic Learning การออกแบบห้องเรียนสร้างสรรค์ ถือเป็นหัวใจสำคัญเลย”
อาจารย์อนุชาติเน้นย้ำว่า โครงการโรงเรียนปล่อยแสงไม่ใช่การฝึกอบรมสอนเทคนิคแล้วก็จบกันไป แต่เป็นโครงการที่ให้วิธีคิด มุมมอง หลักการสำคัญในการจัดการศึกษา เสริมด้วยการเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนในปัจจุบัน
ปลายทางของโมดูล 2 ตลาดวิชา และโมดูล 3 การออกแบบห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์ คือการติดเครื่องมือที่ช่วยให้ครูมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ละทิ้งห้องเรียนของการแข่งขัน แล้วมุ่งหน้าสร้างห้องเรียนที่มีความสุขและเปี่ยมความหมายผ่านการลงมือทำ
ฉายแสงแห่งความหวัง
โครงการโรงเรียนปล่อยแสงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2564 และปี 2566 มีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ โรงเรียนบ้านกาเนะ โรงเรียนศรีรักษ์ราฎร์บำรุง โรงเรียนสุจิปุลิ และโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์
ทั้งหกโรงเรียนกำลังเดินหน้าสร้าง “นิเวศการเรียนรู้” ในแบบฉบับของตนอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามจังหวะก้าวของแต่ละโรงเรียน
“เราไม่หวังให้เกิดการขยายผลเชิงปริมาณมากนัก เราอยากทำงานอย่างต่อเนื่องแบบลงลึก คือจับมือกับโรงเรียนที่พร้อม มุ่งมั่นตั้งใจ อยากสร้างความเปลี่ยนแปลง และเห็นคุณค่าบนแนวทางนี้
“เราเชื่อว่าแม้มีเพียง 6 โรงเรียน แต่ทุกโรงเรียนก็จะมีหลักคิดสำคัญแตกต่างกันไปตามบริบทเฉพาะ ซึ่งสามารถถอดบทเรียนและนำไปประยุกต์ใช้กับบริบทเฉพาะของโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปได้ ซึ่งบทเรียนนี้ไม่ต้องยิ่งใหญ่ หรือเป็นวิทยานิพนธ์ฉบับอ้วนๆ แต่ความสำเร็จเล็กๆ ซึ่งเป็นหลักฐานจริงๆ ของการเปลี่ยนแปลง แววตาของเด็กที่เปลี่ยนไป แววตาของครูที่เปลี่ยนแปลง เราถือว่านี่เป็นความสำเร็จแล้ว”
ทั้งหมดนี้อยู่ในส่วนการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ระดับโรงเรียนของโครงการฯ และในระหว่างที่ครูและโรงเรียนต่างๆ กำลังมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลง ทีมวิจัยของโครงการฯ ก็เข้าไปเก็บข้อมูลปัญหา ศึกษาบริบทหรือความท้าทายเฉพาะของแต่ละโรงเรียนเพื่อจัดกระบวนการที่เหมาะสม และถอดประสบการณ์มาเป็นบทเรียนเพื่อเผยแพร่ต่อไป ซึ่งเป็นงานอีกส่วนหนึ่งของโครงการ คือการทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหา
อาจารย์อนุชาติทิ้งท้ายว่าการทำงานในโครงการฯ ทั้งทีมจัดการและผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องไม่ลืมว่ากำลังทำหน้าที่ในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เก็บเกี่ยวความรู้ เพื่อสื่อสารกับสาธารณะให้เกิดการกระตุ้นวิธีคิด เปิดมุมมองใหม่แก่แวดวงการศึกษาและสังคม ฉายแสงแห่งความหวังให้โรงเรียนในระบบการศึกษาไทยว่า การศึกษาที่ดีกว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง
การเดินทางของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง จึงไม่มีสูตรลัดหรือ “ทางลัด”