Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ บทความ / บทสัมภาษณ์ บันทึกเวทีการเรียนรู้ ร่วมพัฒนาใจกระทิง

“ประชาชนอุทิศเปลี่ยนโลก พาเพลิน เดินงานวัด” เสียงเพรียกจากหุบเขา สร้างนิเวศการเรียนรู้เปลี่ยนโลก จากโรงเรียนประชาชนอุทิศ1 min read

Reading Time: 3 minutes การร่วมมือของโรงเรียน ชุมชน และองค์กรขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ ฟื้นฟูความหวังโรงเรียนประถมศึกษาเล็ก ๆ ใจกลางหุบเขาให้ขยับเข้าใกล้ภาพฝันการสร้างนิเวศการเรียนรู้ May 13, 2024 3 min

“ประชาชนอุทิศเปลี่ยนโลก พาเพลิน เดินงานวัด” เสียงเพรียกจากหุบเขา สร้างนิเวศการเรียนรู้เปลี่ยนโลก จากโรงเรียนประชาชนอุทิศ1 min read

Reading Time: 3 minutes

ตลอดเส้นทางการขับเคลื่อนการศึกษาของโรงเรียนประชาชาอุทิศ จังหวัดอุตรดิตถ์ ในเส้นทางโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) ปี 2 ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนหนึ่งเดียวในพื้นที่อุตรดิตถ์ และเข้าร่วมกับโครงการฯ เป็นปีแรก แต่ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจของบุคลากรในโรงเรียน ผนวกกับการได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างเหนียวแน่นของคนในชุมชนและองค์กรขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ จับมือกันฟื้นฟูความหวังของโรงเรียนอนุบาล-ประถมศึกษาเล็ก ๆ ใจกลางหุบเขา ขยับเข้าใกล้ภาพฝันของการสร้างนิเวศการเรียนรู้เสริมพลังนักสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และชุมชน ผ่านการสะท้อนผลงานการขับเคลื่อนตลอดปีที่ผ่านมา ในงานเวทีเครือข่าย แสดงพลังสื่อสารสังคม สร้างการมีส่วนร่วมทางการศึกษาของคนในชุมชน ภายใต้ชื่อ “ประชาชนอุทิศเปลี่ยนโลก พาเพลิน เดินงานวัด”

นิเวศการเรียนรู้ในอุดมคติที่เกิดขึ้นจริง

ภุมรินทร์ จันทะคุณ หรือ ผอ.โอ๋ (ผู้อำนวยการโรงเรียนประชาชนอุทิศ) และ พรชนก ปานวน หรือ ครูใหม่ (หัวหน้าฝ่ายวิชาการ) เล่าให้ฟังเกี่ยวกับเบื้องหลังแนวคิดการจัดงานเวที “ประชาชนอุทิศเปลี่ยนโลก พาเพลิน เดินงานวัด” ที่ถูกรายล้อมไปด้วยเต็นท์จัดแสดงผลงานที่สะท้อนให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และกลุ่มชุมชน โดยเริ่นต้นจากการที่คณะครูได้ร่วมกันออกแบบผ่านการหยิบยกวิถีชุมชน โรงเรียน และวัดที่อยู่ห้อมล้อมซึ่งกันและกัน รังสรรค์ออกมาเป็นธีมงานวัด โดยไม่ลืมคำนึงถึงในมุมของเด็ก ๆ ที่มีความคุ้นเคยกับวัดห้วยกั้ง ซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียนโดยไม่มีรั้วขวางกั้น และครูเองได้พานักเรียนไปเข้าร่วมกิจกรรมกับทางวัดอยู่ตลอด บรรยากาศที่คุ้นเคยช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้สึกผ่อนคลาย สนุกกับการทำงานร่วมกับครู และเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของงานโรงเรียนในครั้งนี้

“เด็ก ๆ เขาชื่นชอบบรรยากาศที่เขาคุ้นชินกับวัดอยู่แล้ว ซึ่งตัวเราก็เล็งเห็นว่า มีปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านที่สามารถขอคำแนะนำจากเขาได้ถ้าเราอยากจัดเป็นธีมงานวัด เรามีทรัพยากรบุคคลในชุมชนที่สามารถช่วยเหลือเราได้ เรามีทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนเราได้ ของต่าง ๆ ที่เห็นในงานก็เป็นของสนับสนุนจากชุมชน” ครูใหม่เสริม

ทั้งทางวัด กลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน และพี่น้องในชุมชนละแวกใกล้เคียง ได้ร่วมลงแรงคนละไม้คนละมือ ช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียนในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์จัดงาน ไม่ว่าจะเป็นเต็นท์ เครื่องเสียง โต๊ะ เก้าอี้ หรือในแง่ขององค์ความรู้เอง ก่อเกิดเป็นภาพบรรยากาศงานเวที “ประชาชนอุทิศเปลี่ยนโลก พาเพลิน เดินงานวัด” อันแสนอบอุ่น เป็นกันเอง มีกลิ่นอายแตกต่างจากงานเวทีแสดงผลงานวิชาการทั่ว ๆ ไปตามภาพจำเดิม ที่มุ่งเน้นแสดงผลงานเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียวพ่วงด้วยบรรยากาศที่เป็นทางการ ซึ่งทุกฝ่ายต่างชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงเรียนจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยเปิดพื้นที่ให้ทุก ๆ คนสามารถสนุกกับการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน นับว่าเป็นมิติใหม่ที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนประชาชนอุทิศ


ก้าวแรก สู่เส้นทาง “ประชาชนอุทิศเปลี่ยนโลก”

แม้ว่าจะเป็นก้าวแรกของโรงเรียนประชาชนอุทิศ ในการเติมเครื่องมือ เติมองค์ความรู้ เติมแรงใจ ภายใต้การขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) แต่ด้วยความมุ่งมั่นของชาวประชาชนอุทิศในการขวนขวายพัฒนาตนเอง และสรรหาเส้นทางใหม่ ๆ ในการทลายกำแพงการเรียนรู้ในลักษณะเดิมที่จำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียน จึงได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางเดียวกันกับทางโครงการฯ ภายใต้จุดมุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน โดยมีชุมชนเป็นส่วนร่วมในการสร้างนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งภายในปีที่ 2 ทางโครงการฯ ได้ริ่เริ่มให้ผู้เรียน ครู และผู้บริหารเป็นเจ้าของโครงการ หรือ โปรเจกต์ตามความสนใจของตนเองที่เล็งเห็นว่าก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง ผู้อื่น หรือสังคม นำไปสู่การเสริมสร้างความเป็น “ผู้ก่อการ (Agency)” ในทางที่ดี และเกิดความสำนึกรับผิดชอบต่อโลก

“เราคุยกับคณะครูว่า คนอื่นเขานับหนึ่งแล้ว แต่โรงเรียนเราเริ่มจากศูนย์และกระโดดไปสองเลย ก็ต้องกลับมาศึกษาว่าเขาทำอะไรกันไปบ้างแล้ว จากในปีที่หนึ่งอาจจะทำกิจกรรมแค่ภายในโรงเรียน ซึ่งในปีที่สอง ทางโครงการฯ ก็อัปเลเวลให้โรงเรียนมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โครงการหลายโครงการของโรงเรียนเราก็ดึงเอาปราชญ์ชุมชนเข้ามาเป็นผู้แนะนำ ให้ความรู้”

ผอ.โอ๋ ทบทวนความเข้าใจและเป้าหมายในปีนี้ให้ฟังอีกครั้ง และขยายความถึงการที่คณะครูและผู้บริหารช่วยกันออกแบบกระบวนการสลายรอยต่อของการเรียนรู้ จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่ในตำราเรียน สู่การเปิด “โลกทัศน์” ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับ “โลกความเป็นจริงภายนอก” โดยดึงเอาปราชญ์ชาวบ้าน หรือองค์กรขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้บูรณาการกับศาสตร์ต่าง ๆ รื้อฟื้นภูมิปัญญา หรือองค์ความรู้ดั้งเดิมที่กระจัดกระจายอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบชั้นดีให้ทั้งครูและเด็กกลับมาหยิบยก จัดระเบียบ และก่อร่างสร้างการเรียนรู้จากองค์ความรู้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์และคุณค่า

ภายในชุมชนบ้านด่านนาขามนับว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทุ่งนา ป่าเขาเขียวขจี รวมถึงเหล่าสัตว์น้อยใหญ่หลากหลายชนิด คงเป็นภาพทิวทัศน์ที่แสนชินตาสำหรับเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้น ทว่ากลับมีความลับแห่งหุบเขาซ่อนอยู่มากมาย หากเปิดโอกาสให้เขาได้ลองผจญภัย ค้นหาคำตอบ โลกใบเดิมที่เด็ก ๆ เขาได้เคยเห็นก็จะเปลี่ยนไป ดั่งที่โรงเรียนประชาชนอุทิศได้พาพวกเขาก้าวออกไปเปลี่ยนโลกใบนี้

เพราะทุกพื้นที่ที่ย่างก้าว คือ พื้นที่แห่งการเรียนรู้

“เด็กบางคนไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่า ที่บ้านเรามีโรงงานผลิตสมุนไพร มีแพทย์แผนไทย จริง ๆ แล้ว ครูที่มาบรรจุใหม่ ๆ ก็เพิ่งรู้เหมือนกัน จะมีแค่ครูในพื้นที่ที่บอกว่า ถ้าอยากสอนอะไรที่เกี่ยวกับท้องถิ่น ให้ลองไปหาป้าคิดไหม”

ครูใหม่ ค่อย ๆ เล่าเรื่องราวการผจญภัยที่ตัวครูและนักเรียนเพิ่งได้ค้นพบระหว่างริเริ่มทำโครงการสมุนไพรในถิ่น สู่ยาดมกลิ่นหอม ร่วมกับครูอุบล อินหม่อม และครูสุภาภรณ์ ขันทับทิม หนึ่งในโครงการพัฒนาศักยภายภาพผู้เรียนให้เราฟังอย่างตื่นเต้น ป้าคิด หรือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ OTOP สมุนไพรวิชาดา ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่บ้านด่านนาขาม ซึ่งเป็นทั้งแพทย์แผนไทยและเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตยาดม ยาหม่อง จากพืชสมุนไพร โดยออกบูธวางขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง อาทิ น้ำมันว่าน 108 น้ำมันไพล พญายอ ฯลฯ ตามงานระดับจังหวัดและระดับประเทศอยู่บ่อยครั้ง ท้ายที่สุดพื้นที่การเรียนรู้ก็ได้ถูกปะติดปะต่อระหว่างโรงเรียนเข้ากับพื้นที่ของคนในชุมชน

คณะครูได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โดยได้พาเด็ก ๆ ไปทำความรู้จักพืชสมุนไพรหลากหลายสานพันธุ์ในพื้นที่บ้านและโรงงานของป้าคิด เรียนรู้การตากสมุนไพร พาไปสำรวจพื้นที่โรงงานและเรียนรู้กระบวนการผลิตยาสมุนไพร และกลับมาเรียนรู้เรื่อง การทำยาดม ยาหม่อง และหลักการนวดแผนโบราณให้ที่โรงเรียน โดยมีป้าคิดเป็นผู้มอบองค์ความรู้ให้แก่นักเรียนและครู

จากการสังเกตของครู ป้าคิดรู้สึกภาคภูมิใจและดีใจทุกครั้งที่เด็ก ๆ ได้ไปเรียนรู้ที่บ้านและโรงงานของตน จะคอยตระเตรียมน้ำเตรียมขนมให้เด็ก ๆ รับประทานอยู่เสมอ เรียกได้ว่าดูแลลูกหลานในชุมชนประดุจลูกหลานของตนเอง ส่วนตัวเด็ก ๆ ก็พร้อมเปิดรับการเรียนรู้ภูมิปัญญาดังกล่าวด้วยความตั้งใจจริง ได้พาตัวเองไปสัมผัสกับทรัพยากรธรรมชาติรอบ ๆ ตัวที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าสามารถนำมาผลิตเป็นสิ่ง ๆ นี้ได้ ตัวป้าคิดเองก็เข้าใจเด็กมากขึ้น เอ็นดูเด็ก ๆ พร้อมที่จะสนับสนุนทางโรงเรียนต่อไป ทั้งในด้านการต่อยอดองค์ความรู้และสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียน สะท้อนภาพของการที่ชุมชนและโรงเรียนต่างเป็นทั้งผู้รับและผู้มอบความสุขให้แก่กันและกัน

“ถ้าไม่มีโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนานี้ ก็น่าจะไม่รู้จักป้าคิดค่ะ” ครูใหม่เล่าพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

แรงขับเคลื่อนสำคัญจาก “ครูนอกรั้วโรงเรียน”

การทำงานขับเคลื่อนทางโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) ในปีที่ 2 นี้จะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้ หากขาดกลุ่มคนเหล่านี้ที่เป็นเพื่อนคู่คิด ขับเคลื่อนการศึกษาไปพร้อมกับโครงการนั่นก็คือ “ครูนอกรั้วโรงเรียน” ที่เข้ามาร่วมเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนของเรา

กลุ่มกิ่งก้านใบ LearnSpace เป็นองค์กรนักสร้างสรรรค์การเรียนรู้ ที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มากว่า 10 ปี โดยใช้เครื่องมือการทำโครงการในการพัฒนาเด็กและเยาวขน (Project-based Learning) ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายท้องถิ่นร่วมกับทางจังหวัดอุตรดิตถ์ ในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ซึ่งทางในปีที่ 2 นี้ทาง กิ่งก้านใบ ได้เข้ามาเสริมทัพกับทางโครงการฯ เป็นทีมกระบวนกรจัดค่ายนักเรียนเปลี่ยนโลก เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียนทั้ง 5 โรงเรียนในโครงการฯ ร่วมถึงน้อง ๆ นักเรียนโรงเรียนประชาชนอุทิศ ให้ “เชื่อมั่น ตั้งฝัน ลงมือทำ” โปรเจกต์พัฒนาพลังเยาวชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่เด็ก ๆ ได้เป็นเจ้าของดูแลโปรเจกต์ระยะสั้นของตนเอง (3 เดือน)

ทองแสง ไชยแก้ว หรือ อ๊อด (ตัวแทนนักขับเคลื่อนจากกลุ่มกิ่งก้านใบ) เล่าให้ฟังถึงการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ภายในค่าย ที่คำนึงถึงความเหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มผู้เรียนที่มีช่วงอายุแตกต่างกันและอยู่คนละบริบทพื้นที่ เช่น เด็กโตต้องการพื้นที่ปลอดภัยในการเติบโตและเรียนรู้ ต่างกันกับเด็กเล็ก ที่ต้องการเสริมพลัง การเอาใจใส่ และการให้ความสนใจเป็นรายบุคคลไป

“สิ่งสำคัญในการทำโปรเจกต์ให้สำเร็จจริง ๆ คือพาร์ทของการโค้ชเสริมพลังเป็นพาร์ทสำคัญ จากการที่เราลงไปติดตามเด็ก ๆ เราว่ามันเป็นก้อนที่สำคัญพอ ๆ กับพาร์ทของการสร้างโครงการขึ้นมา โดยเฉพาะในเด็กเล็ก”

 อ๊อดแสดงความคิดเห็นหลังจากได้มีโอกาสลงไปคลุกคลีกับโครงการกลุ่มเด็กช่าง ที่ตั้งใจจะซ่อมจักรยานให้เพื่อน ๆ และคนในหมู่บ้านโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งในการช่วยโรงเรียนติดตามและสนับสนุนให้เด็ก ๆ สามารถทำโปรเจกต์ให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งระหว่างเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเด็ก ๆ ในโครงการนี้ มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการลองผิด ลองถูกมากมาย ตั้งแต่การเลือกซื้ออุปกรณ์ให้ถูกประเภท รวมถึงเปิดยูทูปศึกษาวิธีการซ่อมรถจักรยานไปพร้อมกัน อาจจะมีตะกุกตะกักในตอนแรก แต่ผลงานที่น้อง ๆ ได้นำมาโชว์ในวันงานเวทีแสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถก่อการได้สำเร็จ

สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เริ่มเปลี่ยนไป กระบวนการเรียนรู้ระหว่างทางได้สร้างวินัยและความรับผิดชอบให้โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังมีความเข้าอกเข้าใจเพื่อน ๆ ไม่โทษกันเองเมื่อทำงานผิดพลาด และที่สำคัญน้อง ๆ กลุ่มได้พัฒนาทักษะการอ่านออกคิดเลขเป็น เพราะต้องคำนวณเงินไปซื้อของมาใช้ทำโปรเจกต์เอง ถึงแม้ผลลัพธ์ในตอนแรกจะออกมาไม่เป็นไปตามที่หวัง แต่เมื่อเขาเกิดความกระหายที่จะเรียนรู้ ไฟแห่งความพยายามจะผลักดันให้พวกเขาหาหนทางสู่เป้าหมายจนเจอ นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะนำไปสู่จังหวะการเรียนรู้ที่แสนพิเศษ


ก้าวด้วยความหวัง ก้าวด้วยพลัง สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่

“คุณครูทุกคนพูดไปในทิศทางเดียวกันเลยก็คือ ในตอนแรกเราอาจจะมีกำแพง คิดว่าถ้าให้เด็กทำ เขาน่าจะทำไม่ได้ แต่พอได้มาเห็นโครงการนักเรียนเปลี่ยนโลก ก็รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วเด็กเราก็ทำได้นี่น่า ไม่ต้องบอกเขาก็ทำได้ คือ มันไม่ได้เปลี่ยนแค่นักเรียน แต่เปลี่ยนตัวครูเองด้วย”

เมื่อครูได้ปรับเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Student-centered Learning) จากการเป็นผู้ป้อนข้อมูลเพียงอย่างเดียว ทว่าเมื่อลองทลายกำแพงความคิด เปลี่ยนบทบาทสู่การเป็นโค้ช คอยเป็นผู้สนับสนุน และเปิดทางให้เด็กได้เริ่มต้นลองก้าวด้วยตัวเอง โดยอาศัยเชื่อมั่นในตัวของนักเรียน ตัวเด็ก ๆ เองก็เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งความเชื่อมั่นนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ทุกคนในโรงเรียนเชื่อใจกันและกันว่า เราทุกคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนแปลงก็จะงอกเงยในพื้นที่นั้นจริง ๆ

“ตัวโครงการที่เด็ก ๆ ทำมันจบไปแล้ว แต่เขายังอินอยู่เลย เด็กเขารู้สึกว่ายังอยากทำต่อ พอเขาได้ทำไปเรื่อย ๆ มันก็เกิดเป็นทักษะที่ติดตัวเขาไป” 

ครูใหม่เอ่ยด้วยความภาคภูมิใจว่า ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) ได้ก่อร่างขึ้นภายในตัวเด็ก ๆ ของพวกเขาแล้ว ด้วยกระบวนการที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ออกแบบโครงการเอง ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยมีเพื่อนร่วมทางทั้งกลุ่มเพื่อน ๆ คณะครู ผู้บริหาร และชุมชน คอยให้การสนับสนุนในทุกอย่างก้าวเดินอย่างมั่นใจ

ผอ.โอ๋ เล่าถึงทิศทางในการขับเคลื่อนโรงเรียนประชาชนอุทิศ ร่วมกับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) ปี 2 และมูลนิธิใจกระทิง ต้องการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้สู่ความยั่งยืน แม้ว่าจะเกิดการโยกย้ายของบุคลากรในอนาคต แต่โรงเรียนและชุมชนยังคงตั้งอยู่ตรงนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยตัวกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในปีนี้เอง เป็นเครื่องการันตีถึงภาพฝันในการสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและมีความหมายให้เกิดขึ้นจริง โดยผสานพื้นที่การเรียนรู้เข้ากับภาคประชาชน ซึ่งได้รับการสนับสนุจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่เข้ามาอุทิศแรงกายแรงใจในการขับเคลื่อนการศึกษาให้ลูกหลานชาวอุตรดิตถ์ สมดั่งชื่อของโรงเรียนประชาชนอุทิศ

ติดตามโครงการฯ ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/PartnershipschoolAgency

Your email address will not be published.