‘ปล่อยเด็กเปล่งแสง’ สร้างสรรค์ระบบนิเวศการเรียนรู้ กอบกู้สายสัมพันธ์ในโรงเรียน
Reading Time: 2 minutes“อยากให้มีการสอนแบบปฏิบัติมากกว่าครูพูดให้ฟังในคาบ”
“เด็กทุกคนควรได้เป็นตัวเองและมีความมั่นใจ ไม่ควรมีใครมาลดคุณค่าของเด็ก”
“สนับสนุนให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบ และเดินตามความฝันที่สวยงามของทุกคน”
ข้อความเหล่านี้คือเสียงสะท้อนของนักเรียนจำนวนหนึ่งต่อระบบการศึกษา ที่พวกเขามองว่าอาจยังไม่ใช่ ไม่ชอบ ไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่อยากเป็น แล้วการศึกษาหน้าตาแบบไหนที่จะช่วยให้เยาวชนไม่ต้องทนทุกข์ แต่เกิดการเรียนรู้ที่มี ‘ความสุข’ และมี ‘ความหมาย’ คำตอบดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างมีชีวิตชีวาในเวที ‘ปล่อยเด็กเปล่งแสง’ ซึ่งจัดโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
ดอกผลการเรียนรู้ของ โครงการ ‘โรงเรียนปล่อยแสง’ ถูกนำเสนอหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องเล่าที่ทรงพลัง ละครการอ่าน นิทรรศการ และชิ้นงานมากมาย เริ่มต้นเปิดฉากเวทีด้วยน้องนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีทักษะการพูดคล่องแคล่วฉะฉานราวกับพิธีกรมืออาชีพ เธอทั้งสองได้เชื้อเชิญให้ผู้ชมพบกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อีกมากมายที่มาร่วมกันแสดงศักยภาพของตนที่ส่องประกายเจิดจ้า
‘หนังสือ’ สื่อสร้างสรรค์เปิดประตูสู่การอ่านอย่างมีความหมาย
วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง เรื่องส่วนตัว ของจิมมี่ เลียว (Jimmy Liao) และหมูบินได้ ของ องอาจ ชัยชาญชีพไม่ได้ถูกอ่านเงียบๆ คนเดียวเหมือนการอ่านหนังสือทั่วไป แต่น้องๆ ระดับประถมศึกษา ที่ได้ร่วมงานกับทีมร้านหนังสือฟาธอม (Fathom Bookspace) รวมกลุ่มกันฝึกซ้อมเพื่อสื่อสารเรื่องการอ่านผ่านกระบวนการละคร หรือที่เรียกว่า Readers Theatre กว่าจะออกมาเป็นละครได้ เด็กๆ จะต้องอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก พูดคุยกับเพื่อนเพื่อสร้างสรรค์การนำเสนอ รวมทั้งใช้ทักษะการคิดตีความเนื้อหาแล้วบอกเล่าผ่านน้ำเสียงและท่าทางต่างๆ
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยพัฒนานักอ่านได้เช่นกันก็คือ Museum of Me หรือพิพิธภัณฑ์ขนาดจิ๋ว ซึ่งเด็กๆ ได้นำเสนอตัวตนและความคิดของตนเองจากหนังสือเล่มโปรดที่ได้อ่าน โดยผสมผสานงานคราฟต์จนออกมาเป็นชิ้นงานที่สวยงามน่าชม
น้องเป้ยเป้ย จากโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ แสดงความคิดที่มีต่อเรื่องราวในหนังสือเรื่อง ครัวบ้านบ้าน การ์ตูนภาษาเหนือที่เล่าเรื่องอาหาร วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชาวเชียงราย ว่า “หนูชอบตอนที่บอกว่า ทำไมคุณตาไม่ยอมดูว่าลูกขนุนสุกหรือยัง ที่หนูชอบเพราะบางครั้งผู้ใหญ่ก็สามารถเรียนรู้จากเด็กได้ ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่จะต้องสอนเด็กอยู่เสมอไป บางทีเด็กและผู้ใหญ่ก็สามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้”
ด้วยคุณค่ามหาศาลของหนังสือและการอ่าน โครงการโรงเรียนปล่อยแสงได้ย่อส่วนห้องสมุดไว้หลังห้องเรียน เมื่อเด็กเกิดความกระหายอยากรู้เมื่อไหร่ก็สามารถหยิบหนังสือมาเปิดได้ทันที ไม่ต้องรอให้ผู้ใหญ่พาไปห้องสมุด ครูมีบทบาทอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกช่วงเวลาเท่าที่ครูทำได้ รวมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือไปสู่กิจกรรมการเรียนรู้สนุกๆ นอกกรอบสี่เหลี่ยมของห้องเรียน
“เหตุผลที่เรากลับมาทำเรื่องของการอ่านก็คือ หนึ่งมันเป็นสื่อง่ายที่สุดซึ่งคืนกลับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สองเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการเป็นพื้นที่ทางความคิด เติมจินตนาการ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้พอเหมาะพอเจาะกับความสนใจของเด็กแต่ละช่วงวัย มากไปกว่านั้นก็คือการอ่านยังช่วยพัฒนาศักยภาพสมองส่วนหน้าของเด็กๆ” คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวถึงเหตุผลเบื้องหลังการนำพาหนังสือเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการเรียนรู้ในโรงเรียน
ค้นหาตัวตน ฝึกฝนประสบการณ์ด้วยการลงมือทำ
สำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาเป็นวัยที่มีความสนใจเฉพาะบุคคลอย่างแตกต่างหลากหลาย และอยู่ในช่วงกำลังค้นหาคำตอบถึงความชอบหรือความถนัดของตนเอง การเรียนรู้แบบสำเร็จรูปซึ่งไม่เปิดกว้างทางความคิดจึงเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับพวกเขา แต่ถ้าหากโรงเรียนมอบอิสระให้นักเรียนได้ลองผิดลองถูกดูบ้าง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
กลุ่มนักเรียนโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง หยิบยกเอาปัญหาใกล้ตัวนั่นก็คือเรื่องสุขภาพจิตมาริเริ่มเป็นโครงการ ศิลปะเพื่อการบำบัดใจ โดยมองว่าชีวิตวัยรุ่นนั้นเต็มไปด้วยแรงกดดัน เพื่อนวัยเดียวกันสามารถช่วยกันรับฟังและทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อระบายความเครียด ซึ่งลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าจนยากที่จะรักษา แกนนำนักเรียนได้นำศิลปะมาเป็นเครื่องมือที่ให้ทั้งความสงบ ความเบิกบานใจ และเป็นสื่อสำหรับใช้ทบทวนความรู้สึกนึกคิดของตน
นักเรียนโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ ริเริ่มโครงการ สะออนหลายเด้อ ขอปลดปล่อยตัวเองด้วยการแต่งตัวคอสเพลย์เป็นตัวละครที่ชอบ แต่ละคนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความสามารถส่วนตัว รวมทั้งทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น
ด้านนักเรียนโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด ร่วมกันทำโครงการ บ้านฉันมีดี เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าท้องถิ่นของพวกเขามีของดีอะไรซ่อนอยู่บ้าง เมื่อร่วมกันหาคำตอบด้วยการค้นคว้า เดินสำรวจชุมชน และพูดคุยกับครอบครัวและผู้คน ก็พบว่าบ้านเกิดเต็มไปด้วยทุนทางสังคมวัฒนธรรม ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ อาหารการกิน และศิลปหัตถกรรม ความรู้ที่กระจัดกระจายได้ถูกรวบรวมแล้วต่อยอดจนกลายเป็นมหกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนซึ่งเปิดจำหน่ายบัตรให้ทุกคนในชุมชนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่มาร่วมกันเรียนรู้ ประกอบด้วยวงเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน ตลาดนัดท้องถิ่น รวมทั้งเวิร์กชอปการทำอาหารชนิดต่างๆ
“หนูได้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง ว่าหนูสามารถทำมันสำเร็จได้นะ แค่กล้าริเริ่มที่จะทำ หนูเอาโครงการบ้านฉันมีดีมาเชื่อมกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว เช่น น้องๆ บางคนไม่สนิทกับพ่อแม่ โครงการนี้ทำให้เขาเริ่มพูดคุยกับพ่อแม่ เกิดการเชื่อมและแลกเปลี่ยนในโรงเรียนมากขึ้น” น้องปอร์เช่ – ธัญมน ดาราภิรมย์ นักเรียนโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม กล่าวถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ที่แผ่ขยายไปไกลกว่ารั้วของโรงเรียน
ไขกุญแจระบบนิเวศการเรียนรู้ ปลดล็อกศักยภาพนักเรียน
อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนปล่อยแสง กล่าวถึงพื้นฐานความเชื่อที่มีต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ ว่า “เด็กเปรียบเป็นต้นไม้ที่แตกต่างกัน ต้นไม้แต่ละต้นต้องการน้ำและแสงที่อาจจะต่างกัน สิ่งที่จะทำให้ต้นไม้นั้นเติบโตได้ดี ก็คือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต คำว่า ‘นิเวศการเรียนรู้’ ก็คือเราเข้าไปดูว่า ปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยหนุนเสริมให้เด็กๆ ในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้ด้วยดีองค์ประกอบคืออะไร”
ที่ผ่านมาการแก้ไขคุณภาพการศึกษาไทย มีความพยายามในการแก้ไขปัจจัยต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครูให้เก่งขึ้น การจัดหาทรัพยากรการเรียนให้ครบครันขึ้น หรือการพัฒนาหลักสูตรให้เข้มข้นขึ้น ฯลฯ ทว่าแทบไม่เคยพูดถึงเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติที่สุดของการเรียนรู้ และอาจเป็นกุญแจดอกสำคัญของปัญหาที่เรื้อรังมานานก็เป็นได้
“นักการศึกษาทั่วโลกให้คุณค่าและให้ความสำคัญกับเรื่องความสัมพันธ์ (connection) ในระบบการศึกษา หลายคนวิเคราะห์ว่าระบบการศึกษาในบ้านเราที่กำลังเกิดปัญหา มีปรากฏการณ์ซึ่งทุกอย่างแตกสลายออกจากกันหมด (disconnection) เหมือนพาหนะที่กำลังเดินทางแต่เครื่องยนต์มันหลุดออกจากกัน การเรียนรู้ได้พลัดพรากออกจากตัวเด็ก ครูก็พลัดพรากออกจากตัวเด็ก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียนก็เปลี่ยนไป เรามองว่าโรงเรียนเป็นระบบนิเวศที่จำเป็นจะต้องรื้อฟื้นความสัมพันธ์ (reconnection) เข้าหากันให้หมด” รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ความสามารถอันโดดเด่นของนักเรียนบนเวทีปล่อยเด็กเปล่งแสงเป็นสิ่งพิสูจน์ว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในโรงเรียนให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกอบกู้ความสัมพันธ์ที่ขาดหาย ทุกโรงเรียนทั่วประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะแค่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือโรงเรียนในเมือง ก็สามารถบ่มเพาะเยาวชนให้มีศักยภาพเต็มเปี่ยมอย่างทัดเทียมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเรื่องทรัพยากรหรืองบประมาณเป็นตัวตั้ง ดังที่มักถูกกล่าวอ้างเป็นเหตุผลอยู่เสมอ
เรียบเรียงโดย : ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม
ที่มา
เวที ‘ปล่อยเด็กเปล่งแสง’ โครงการโรงเรียนปล่อยแสง: การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ (School Learning Eco-system Development) จัดโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 ณ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต