ก่อการครู – Korkankru

learning tools บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

หนึ่งคำตอบ ล้านคำถาม ‘ห้องเรียนสร้างสรรค์’ ที่เด็กมีส่วนร่วมออกแบบได้

Reading Time: 2 minutes วไลพรรณ ไชยเวช ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และการงานอาชีพ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านหนองแวง จังหวัดอุดรธานี เล่าถึงการสร้าง ‘ห้องเรียนสร้างสรรค์’ ห้องเรียนของครูวไลพรรณจึงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่จะพาเด็กไปเจอกับชุมชน และโอบรับวิถีชีวิตของชุมชน เพราะนิยามของการเรียนรู้ที่แท้จริงย่อมไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ห้องสี่เหลี่ยม Oct 24, 2023 2 min

หนึ่งคำตอบ ล้านคำถาม ‘ห้องเรียนสร้างสรรค์’ ที่เด็กมีส่วนร่วมออกแบบได้

Reading Time: 2 minutes

“ในวิชาวิทยาศาสตร์ เด็กจะต้องลงมือทำเอง ครูจะไม่บอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะเป็นคนคอยชี้แนะ ให้เด็กออกแบบการทดลองว่าเขาจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร”

วไลพรรณ ไชยเวช ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และการงานอาชีพ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนบ้านหนองแวง จังหวัดอุดรธานี เล่าถึงการสร้าง ‘ห้องเรียนสร้างสรรค์’ ที่กระตุ้นให้เด็กนักเรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบ อันสอดคล้องกับหลักการ Active Learning

ครูวไลพรรณบรรจุเป็นครูเมื่อปี 2544 นับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 22 ปีแล้วที่เธอรับราชการในอาชีพนี้ แรกทีเดียวครูวไลพรรณก็ยังมองห้องเรียนเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อผู้อำนวยการมอบหมายให้เธอในฐานะครูวิชาการของโรงเรียนเข้าร่วมอบรมในโครงการ ‘บัวหลวงก่อการครู’ พร้อมเพื่อนครูอีกประมาณ 5-6 คน

ครูวไลพรรณพบว่า การอบรมของโครงการบัวหลวงก่อการครูเป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่และน่าสนใจ ผู้เข้าอบรมไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในห้องประชุมที่เพียงมีเก้าอี้และโต๊ะจัดเตรียมเอาไว้เรียบร้อยเท่านั้น แต่การเรียนรู้ยังเกิดขึ้นได้ในทุกที่และทุกเวลา ครูวไลพรรณจึงนำรูปแบบฟรีสไตล์ทุกโมดูลที่ได้จากการอบรมไปใช้กับเด็กในห้องเรียนของเธอ ภายในโรงเรียนบ้านหนองแวงที่ตอบสนองต่อนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วยการเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางและจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning อยู่แล้ว

“เด็กส่วนมากไม่ค่อยอยากอยู่นิ่ง ต้องมีกิจกรรมให้เขาได้มีส่วนร่วมอยู่ตลอด เมื่อเด็กได้ลงมือทำ เขาก็จะสนุกกับการเรียนรู้” ครูวไลพรรณอธิบาย 

คำตอบไม่สำคัญเท่ากระบวนการกระตุ้นให้คิด

เราจะบอกเด็กก่อนเสมอว่า วันนี้เรากำลังจะเรียนอะไร ถ้าสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เราจะบอกว่าวันนี้เรียนเรื่องระบบนิเวศที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เราเตรียมคำตอบไว้คำตอบหนึ่ง จากนั้นให้นักเรียนหาคำถาม

“ก่อนอื่นเราจะแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม จากนั้นให้เขาแข่งขันกัน มันมีคำตอบอยู่แล้วในกระดาษแผ่นหนึ่ง แต่เรายังไม่เฉลย แล้วให้เวลานักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม ระดมความคิดกันเพื่อตั้งคำถามที่จะนำไปสู่คำตอบนั้น”

ข้างต้นคือห้องเรียนสร้างสรรค์ในวิชาวิทยาศาสตร์ที่ครูวไลพรรณออกแบบร่วมกับนักเรียน ในห้องเรียนนี้นักเรียนจะได้ลองผิดลองถูก ได้ปรึกษาแลกเปลี่ยนความเห็น และที่สำคัญได้ความรู้ด้วยวิธีการที่ไม่น่าเบื่อ สอดคล้องกับหลักการโลกแห่งการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเกม (gamification) ที่สร้างแรงจูงใจและความสนุกสนานแก่ผู้เรียน

ครูวไลพรรณยกตัวอย่างว่า หากเธอวางโจทย์ไว้ล่วงหน้าว่า บทเรียนของวันนี้คือโลหะชนิดหนึ่ง เด็ก ๆ ก็จะรวมกลุ่มช่วยกันคิดว่า คุณลักษณะของโลหะเป็นอย่างไร แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร การคิดหาคำตอบเหล่านี้คือกระบวนการเรียนและสร้างความรู้แก่เด็กโดยอัตโนมัติ

“เด็กทุกคนจะคิดหาคำตอบ เสาะแสวงหา กว่าจะได้คำตอบมาเขาต้องมีความรู้ในสิ่งที่เขาตอบ

“บางทีเขาไม่รู้ เขาก็ไปค้นหาคำตอบในโทรศัพท์ คำคำนี้น่าจะมีความหมายอะไรบ้าง เราไม่ต้องบอกว่าให้หาคำตอบอันนี้นะ เขาจะคิดหาของเขาเอง เหมือนเขากำลังเล่นเกมที่สนุกไปพร้อมกับการสอดแทรกความรู้”

ไม่เพียงเท่านั้น ห้องเรียนสร้างสรรค์ยังใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ที่โรงเรียนบ้านหนองแวง แต่ละห้องจะติดตั้งทีวี เพื่อให้ครูได้ใช้ DLTV (การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม) และยังมีอินเทอร์เน็ตให้นักเรียนได้ใช้ในการสืบค้นความรู้

“ส่วนใหญ่เมื่อต้องการให้เด็กมีความรู้กว้างขึ้น เราก็จะค้นหาจากใน DLTV แล้วเปิดให้นักเรียนดู หรือบางทีเราก็ส่งลิงก์ผ่านโทรศัพท์ของนักเรียน เพราะแทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว”

อย่างไรก็ดี ครูวไลพรรณเห็นว่า การเรียนรู้ผ่านโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือไม่อาจตอบโจทย์การเรียนรู้สำหรับเด็กได้เสมอไป เพราะความสนุกที่เด็กได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้พร้อมกันกับเพื่อน ๆ จะหายไป ยิ่งกว่านั้น การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังเป็นต้นทุนที่สูงสำหรับเด็กหลายคน ซึ่งพื้นฐานครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย ผู้ปกครองส่วนใหญ่ของเด็กโรงเรียนบ้านหนองแวงมีอาชีพรับจ้างในภาคเกษตรกรรม เช่น ตัดอ้อย เกี่ยวข้าว และงานเหล่านี้ก็ไม่มีรายได้ที่แน่นอน ดังนั้น การจ่ายเงินค่าอินเทอร์เน็ตจึงเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยสำหรับหลายบ้าน

“สิ่งที่ครูสอนผ่านระบบออนไลน์ เด็กน่าจะรับได้ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจำนวนเด็กที่เข้าเรียนและคุณภาพความรู้ที่ได้รับก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย”

ครูวไลพรรณยกตัวอย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักจนทางโรงเรียนต้องปรับการเรียนการสอนไปเป็นรูปแบบออนไลน์ ถึงแม้ครูส่วนใหญ่จะสามารถเข้าโรงเรียนเพื่อใช้อุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตที่พรั่งพร้อมในการสอนออนไลน์ได้ แต่นักเรียนทั้งหมดกลับต้องเรียนออนไลน์จากบ้านที่อาจไม่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเลย ความรู้ของเด็กจึงไม่ต่อเนื่อง

“เราสอนวิชาวิทยาศาสตร์แบบออนไลน์ได้เหมือนกัน แต่หากเป็นการทำแล็บหรือการทดลองต่าง ๆ เด็กจะต้องเตรียมอุปกรณ์เท่าที่เขาจะหาได้จากในบ้าน ซึ่งบางอย่างก็หาไม่ได้ เราก็จะให้เด็กทำวิธีที่ง่าย มีอะไรใช้ทดแทนได้ เราก็บอกให้เด็กเตรียมไว้ แต่ก็ไม่พร้อมขนาดนั้นหรอก ส่วนมากเราจึงสอนทฤษฎีหรือส่งลิงก์การทดลองออนไลน์ให้เด็กไปดูใน DLTV

“ทีนี้ วิดีโอใน DLTV ส่วนใหญ่จะยาวประมาณ 30 นาทีขึ้นไป พอนานขนาดนั้นอินเทอร์เน็ตของเด็กก็ไม่สามารถโหลดได้”

การเรียนออนไลน์จึงไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้สร้างสรรค์มากเท่ากับการได้เจอกันในห้องเรียน แต่สำหรับครูวไลพรรณ ห้องเรียนไม่ได้หมายถึงแค่กรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ในโรงเรียนเท่านั้น

การเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เมื่อห้องเรียนไม่จำกัดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม

ครูวไลพรรณเล่าว่า โรงเรียนบ้านหนองแวงจะพานักเรียนออกไปเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนอยู่เสมอ 

“ในหมู่บ้านหนองแวงของเราจะมีกลุ่มทอผ้า ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ และมีการทำพวงกุญแจจากผ้าย้อมสีธรรมชาติ”

อีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากภูมิศาสตร์ของโรงเรียนที่ด้านหลังติดกับภูเขา จึงมีสวนผักหวานป่า ซึ่งเป็นผักที่คนในชุมชนชื่นชอบ เพราะสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู ชาวบ้านหลายหลังคาเรือนนิยมทำสวนผักหวานโดยเพาะจากเมล็ด แล้วเก็บยอดผักหวานไปขาย กิโลกรัมละ 200 บาท เด็กจากโรงเรียนบ้านหนองแวงจึงมีโอกาสได้ศึกษาและใช้ไร่ผักหวานของชาวบ้านเป็นห้องเรียน

ครูวไลพรรณอธิบายเพิ่มเติมว่า โรงเรียนบ้านหนองแวงเป็นโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง และมีฐานการเรียนรู้จากวิถีชีวิตในชุมชนหลายฐาน อาทิ ‘ฐานกล้วย’ ซึ่งเป็นสวนกล้วยน้ำว้าภายในบริเวณโรงเรียน เด็ก ๆ จะช่วยกันปลูกและเก็บผลผลิต บางส่วนนำมาเสริมเป็นอาหารกลางวัน บางส่วนก็ขายในชุมชน นอกจากนี้ เมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ ชุมชนก็มักจะติดต่อทางโรงเรียนเพื่อขอใบตองไปใช้ทำขนม หรือในช่วงหน้ากฐินที่ชุมชนต้องการใช้กล้วยเป็นเครือ ทางโรงเรียนก็ให้บริการชุมชน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นอกจากฐานกล้วยและฐานปลูกผักแล้ว ฐานการเรียนรู้ที่นำเด็กเข้าไปสัมผัสกับชุมชนโดยรอบยังมีฐานอื่น ๆ อีก เช่น ฐานนวดแผนไทย ฐานบาสโลบ โดยมีครูประจำแต่ละฐานและมีเด็กที่เป็นแกนนำช่วยดูแล

ครูวไลพรรณยังเล่าว่า โรงเรียนบ้านหนองแวงได้เข้าร่วม MOU กับศึกษาธิการจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี และวิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี เพื่อเปิดให้นักเรียนได้เรียนหลักสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับวิชาชีพช่าง เช่น หลักสูตรยานยนต์ไฟฟ้า และหลักสูตรโซล่าเซลล์

“โซล่าเซลล์มี 2 หลักสูตร คือ โซล่าเซลล์เบื้องต้นและการติดตั้งโซล่าเซลล์ เทอมแรกเราจะสอนโซล่าเซลล์เบื้องต้นให้เด็กชั้น ม.1-3 สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ทั้งหลักสูตรจะอยู่ที่ 20 ชั่วโมง พอเข้าเทอมที่สอง นักเรียนชั้น ม.1-3 จะได้เรียนเรื่องการติดตั้งโซล่าเซลล์ สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ซึ่งหลักสูตรนี้รวมแล้ว 40 ชั่วโมง” 

วิชาโซล่าเซลล์เข้ากันได้ดีกับห้องเรียนสร้างสรรค์ เพราะเด็ก ๆ จะได้ลงมือปฏิบัติ ได้ต่อวงจรไฟฟ้าด้วยตนเอง เด็ก ๆ จึงได้รับความรู้ควบคู่กับความสนุกสนาน ครูวไลพรรณเล่าว่า การทำ MOU ช่วยให้โรงเรียนบ้านหนองแวงได้วิทยากรมาช่วยสอนเด็กแบบฟรี ๆ จากมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่าย และทุนที่ได้รับจากบัวหลวงก่อการครูบางส่วนก็กลายเป็นเงินค่าอุปกรณ์ที่เด็ก ๆ จะได้ใช้ทดลองต่อวงจรไฟฟ้า

แต่วิชาโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงหลักสูตรพื้นฐานเท่านั้น ในระยะยาว เมื่อคำนึงถึงการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ครูวไลพรรณเห็นว่า ห้องเรียนสร้างสรรค์จะต้องต่อยอดเพื่อให้ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะในภาคการเกษตร เช่น ชุดสูบน้ำ ซึ่งเป็นที่ต้องการของคนในท้องถิ่น เพราะน้ำประปาและการขุดเจาะบาดาลยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในหน้าแล้ง 

ห้องเรียนสร้างสรรค์ของครูวไลพรรณจึงเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่จะพาเด็กไปเจอกับชุมชน และโอบรับวิถีชีวิตของชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้เชิงรุก เพราะนิยามของการเรียนรู้ที่แท้จริงย่อมไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ห้องสี่เหลี่ยม

Array