ก่อการครู – Korkankru

กิจกรรม

สรุปการอบรมโมดูลที่ 2 ครั้งที่ 2

Reading Time: 3 minutes การอบรมเรื่องการใช้ญาณทัศนะในการทำงานกับผู้คนที่คุณวิแกรม บัตต์ และคณะทำงานจากองค์กร Leadership That Works ประเทศอินเดีย เป็นผู้ออกแบบกระบวนการ Nov 23, 2018 3 min

สรุปการอบรมโมดูลที่ 2 ครั้งที่ 2

Reading Time: 3 minutes

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น ปีที่ 2
โมดูลที่ 2: นำด้วยด้วยญาณทัศนะ (Leading with Intuitive Intelligence)

เวิร์คช็อปนำด้วยญาณทัศนะ เป็นการอบรมเรื่องการใช้ญาณทัศนะในการทำงานกับผู้คนที่คุณวิแกรม บัตต์ และคณะทำงานจากองค์กร Leadership That Works ประเทศอินเดีย เป็นผู้ออกแบบกระบวนการ และนำมาจัดในเมืองไทย โดยมีอธิษฐาน์ คงทรัพย์ ไพลิน จิรชัยสกุล และปวีณา แช่มช้อย กระบวนกรที่ผ่านการเรียนรู้กับคุณวิแกรมเป็นล่าม

DAY 1

เริ่มด้วยการแนะนำตัวรอบวง ชื่องาน และวัตถุประสงค์ในการมาร่วมอบรม ต่อด้วยกระบวนกรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานญาณทัศนะว่าคือการทำงานกับเสียงวิจารณ์ในตัวเองและการเข้าไปสัมผัสเพื่อนำญาณทัศนะออกมาใช้ ก่อนจะให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนนึกถึงครั้งแรกที่สัมผัสญาณทัศนะ แล้วจับกลุ่ม 4 คนแบ่งปันกันว่าแต่ละคนสัมผัสญาณทัศนะได้ในช่วงวัยเท่าไร มีข้อมูลอย่างไร หลังจากสัมผัสได้แล้วเกิดอะไร และเมื่อคนอื่นรับรู้ มีการตอบสนองแบบไหน

จากการแบ่งปันในวงใหญ่ ลักษณะของญาณทัศนะมีหลายรูปแบบ เช่น รูปของความฝัน เสียงพูดในหัว ความรู้สึก ส่วนการตอบสนองต่อญาณทัศนะของแต่ละคนจะแตกต่างกัน บางคนจะมีเสียงค้านในหัวเพราะไม่ใช่ตรรกะหรือเหตุผล ส่วนการตอบสนองของคนอื่น ส่วนใหญ่จะไม่เชื่อ ว่าบ้า บังเอิญ หรือคิดไปเอง

กระบวนกรกล่าวเสริมว่าญาณทัศนะคือการเข้าไปรู้ความจริงแท้ ไม่ใช่เวทมนตร์ มีข้อมูลสนับสนุน แต่เป็นข้อมูลที่ต่างจากความคุ้นเคย เพราะญาณทัศนะเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล จึงมีทางเลือกเพียงแค่ว่าจะเชื่อหรือปฏิเสธ โดยเรามักจะผลักไสญาณทัศนะออกไปเพราะถูกสอนว่าต้องทำแต่สิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น สิ่งแรกที่จะต้องพังทลายเพื่อเข้าถึงญาณทัศนะคือกำแพงตัวตนที่มีเงื่อนไข

ต่อมา เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการญาณทัศนะ 6 ประการ หลักการแรก คือ ความเป็นสากลของญาณทัศนะ (Universal) อันเป็นหลักการที่สำคัญที่สุด เพราะญาณทัศนะเป็นเรื่องสากล เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ เป็นพลังอำนาจข้างในที่สามารถเข้าถึงได้

Spectrum of Intuition ถ้าเปรียบญาณทัศนะเป็นแถบสี สีที่มีความเข้มข้นน้อยที่สุดคือการรู้สึกแค่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ส่วนแถบสีที่มีความเข้มข้นมากที่สุดคือการรู้สึกได้ว่าเป็นพลังพิเศษ แต่สิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้ว่าเราอยู่ ณ จุดไหนของการมีญาณทัศนะ

ถ้าขาดความตระหนักรู้ คนที่มีญาณทัศนะเข้มข้นอาจจะปฏิเสธความเป็นเหตุเป็นผล
แต่ส่วนใหญ่พลังของญาณทัศนะจะถูกบดบังด้วยความกลัว จึงไม่สามารถเข้าถึงได้

เมื่อกระบวนกรเชิญผู้เข้าร่วมเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับญาณทัศนะของตัวเองในวงใหญ่ บางคนนึกถึงคำว่าการเสริมพลังให้กับผู้คน ญาณทัศนะจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่เชื่อว่ามีอยู่ และเราต้องอ่อนน้อมถ่อมตนกับทุกอย่างที่เข้ามา แต่ในขณะเดียวกัน ญาณทัศนะอาจกลายเป็นแหล่งอำนาจที่ใช้ในการเอาเปรียบคนอื่นได้ สิ่งที่จะต้องทำให้อยู่ในตัวเราและคนรอบข้าง คือการเสริมพลังให้เขาใช้ญาณทัศนะเป็นหนทางไปสู่การหาความหมายชีวิต นำไปสู่ปัญญาหรือการแก้ปัญหาที่แท้จริง และทำให้เป็นเรื่องปกติ

กิจกรรมต่อไป กระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมวาดจุดลงไปบนหน้ากระดาษว่างแทนตัวเองและวาดเส้นเหมือนคลื่นแทนญาณทัศนะ เพื่อเปรียบเทียบระยะห่างระหว่างญาณทัศนะกับตัวเองว่าใกล้ชิดกันแค่ไหน เขียนสิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิสัมพันธ์อย่างตระหนักรู้ระหว่างเรากับญาณทัศนะในความคิดของแต่ละคนลงไป 5 อย่าง กับระบุสิ่งที่สนับสนุน 2 อย่าง

ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเริ่มด้วยกิจกรรมสัมผัสถึงปัจจุบันขณะและการปล่อยวาง แล้วฝึกการหยั่งราก เชื่อมโยงกับผืนโลกผ่านเท้ามาสู่ตัวเองก่อนรับญาณทัศนะและชำระล้างพลังงานส่วนเกินเมื่อรับญาณทัศนะเสร็จแล้ว และฝึกสร้างเกราะป้องกันก่อนที่จะรับญาณทัศนะ เพื่อช่วยให้ปกป้องตัวเองจากพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำลงมา

หลังจากฝึก หยั่งราก สร้างเกราะ และชำระล้างพลังงานส่วนเกินแล้ว จึงจับกลุ่มสามคน แบ่งปันความรู้สึกในการหยั่งราก (grounding) และสร้างเกราะป้องกัน (shielding) แล้วแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมวาดรูปความสัมพันธ์ระหว่างเรากับญาณทัศนะ ก่อนจะแบ่งปันในวงใหญ่ โดยกระบวนกรอธิบายเพิ่มเติมว่า ญาณทัศนะคือข้อมูล การเห็นสี เห็นภาพ ได้ยินเสียง รับรู้ความคิด รับรู้ประสาทสัมผัสทางกาย หรือความรู้สึกถึงพลังงาน แล้วแต่ว่าผู้เข้าร่วมจะฝึกตัวเองในการใช้ช่องทางไหนมาก

ต่อด้วย การฝึกเปิดรับญาณทัศนะสามขั้นตอน คือ หนึ่ง อยู่ในความเงียบและหยุดนิ่ง สอง เปิดรับญาณทัศนะ สาม บอกเล่าข้อมูลทางญาณทัศนะที่ได้รับออกไปตรงๆ แล้วหยั่งรากเพื่อปลดปล่อยพลังงานส่วนเกินออกไป หลังจากระบวนการสาธิตการเปิดรับญาณทัศนะกับอาสาสมัครและเปิดโอกาสให้ซักถามแล้ว จึงจับคู่ฝึกการเปิดรับญาณทัศนะ ก่อนจะจับกลุ่ม 6 คนแบ่งปันความรู้สึกจากการฝึกและการเรียนรู้ตลอดวัน

DAY 2 

เริ่มต้นด้วยการอยู่กับร่างกายในความเงียบ แล้วนำจุดสนใจมาอยู่ที่หัวใจ ให้เห็นเสมือนมีคลื่นความรักออกจากใจไปสู่คนรอบข้าง แล้วนำมาสู่ตัวเอง ตามด้วยกระบวนกรอ่านบทกวีของรูมี (Rumi) บท Love Is The Master แล้วจึงให้ผู้เข้าร่วมจับคู่ฝึกการหยั่งญาณทัศนะเหมือนวันแรก ก่อนจะจับกลุ่ม 6 คน แล้วแบ่งปันความแตกต่างกันระหว่างการฝึกญาณทัศนะในวันแรกผ่านฐานหัวกับการฝึกผ่านฐานใจในช่วงเช้า ส่วนใหญ่เห็นว่าการส่งด้วยใจจะหยั่งญาณทัศนะได้เร็วขึ้น หรือเมื่อวานเห็นเป็นภาพ แต่วันนี้สัมผัสได้ทางร่างกายหรือความรู้สึกมากกว่า เป็นต้น

ต่อมา กระบวนกรอธิบายหลักการข้อสองของญาณทัศนะ คือ หลักการความสั่นสะเทือน (Vibration) ซึ่งจะมีหลายระดับ เช่น ระดับพลังงานของความกลัว ความโกรธ ความรัก ความเมตตากรุณา ความสงสัยใคร่รู้ ความกล้าหาญ การให้อย่างไม่เงื่อนไข เป็นต้น โดยในธรรมชาติ ถ้าเราอยู่ในความสั่นสะเทือนระดับสูง ญาณทัศนะจะมาเองโดยไม่ต้องพยายามมาก ถ้าต้องพยายามมาก แสดงว่าเราอยู่ในความสั่นสะเทือนระดับต่ำ แต่ทุกคนจะอยู่ในช่วงความสั่นสะเทือนที่ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา ไม่มีจุดคงที่ถาวร แล้วแต่ว่าเมื่อรู้ตัว จะเลือกไปทางด้านไหนต่อ แต่ยิ่งความสั่นสะเทือนสูง ขอบเขตของตัวเองจะยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ จนสามารถเชื่อมต่อกับพลังที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเองได้

ช่วงบ่าย หลังจากฝึกทำกิจกรรมฐานกาย กลับมาอยู่กับตัวเอง สัมผัสถึงผืนดินภายใต้เท้าและพลังงานที่อยู่รอบๆ และภายในตัว สัมผัสถึงลมหายใจ เปิดรับและสังเกตว่าญาณทัศนะเข้าไปสัมผัสจุดไหนในร่างกาย แล้วจึงจับกลุ่ม 4 คนแบ่งปันกับเพื่อนโดยเชื่อมโยงกับเรื่องระดับความสั่นเทือน ก่อนจะทำกิจกรรมเข้าไป สัมผัสความสั่นสะเทือนระดับต่างๆ ในกาย โดยการปรับท่าทางของร่างกายให้รู้สึกถึงระดับความสั่นสะเทือนต่างๆ เริ่มจากระดับของการแข็งทื่อ ความกลัว ความโศกเศร้า ความสงสัยใคร่รู้ ความรัก ความกล้าหาญ การขอบคุณ และการให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ก่อนจะหลอมรวมท่าทางที่แสดงถึงพลังจากจักรวาล การขอบคุณ และให้อย่างไม่มีเงื่อนไขร่วมกัน

แล้วจึงจับกลุ่ม 4 คน แบ่งปันประสบการณ์ การเรียนรู้ ความรู้ใหม่จากการทำกิจกรรมสัมผัสความสั่นสะเทือนในระดับต่างๆ กัน ต่อด้วยการจับกลุ่ม 8 คน พูดคุยว่า หนึ่ง ส่วนไหนในร่างกายของเราที่ญาณทัศนะสถิตอยู่ แล้วเราใช้วิธีใดเข้าไปสัมผัส สอง เมื่อสัมผัสสิ่งกีดขวางการเข้าถึงญาณทัศนะ เราอยู่ในระดับความสั่นสะเทือนใด ความสั่นสะเทือนใดทำให้เราไปต่อได้ และจะเข้าสู่ความสั่นสะเทือนดังกล่าวได้อย่างไร

ช่วงบ่ายเป็นแบ่งปันการเรียนรู้ในวงใหญ่ มีผู้เข้าร่วมถามว่า เมื่อมีความโกรธ บางทีเราจะใช้ญาณทัศนะไปแก้แค้นผู้อื่น ทำอย่างไรที่จะไม่ใช้พลังญาณทัศนะไปทำร้ายผู้อื่น กระบวนกรเห็นว่ามีสองวิธี วิธีแรก เป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรม การขออนุญาตก่อนที่จะใช้ญาณทัศนะของเรากับคนอื่นจึงมีความสำคัญ สอง การใช้ญาณทัศนะไปในทางที่ผิดจะไม่เพิ่มอำนาจทางญาณทัศนะของผู้ใช้ แต่ถ้าใช้ญาณทัศนะเพื่อการรับใช้ จักรวาลจะมอบพลังอำนาจให้กับผู้ใช้มากขึ้น

กิจกรรมสุดท้ายในวันที่สอง เป็นการทำแบบฝึกหัดกลุ่ม 4 คน ให้กลุ่มเลือกว่าจะทำงานกับแรงสั่นสะเทือนระดับใด ให้หนึ่งคนในกลุ่มเป็นผู้รับญาณทัศนะที่เพื่อนอีกสามคนส่งมาให้ ก่อนจะสลับกันทำจนครบทุกคน แล้วจึงแบ่งปันในวงใหญ่

DAY 3

เริ่มด้วยการจับกลุ่ม 5 คน คุยกันสองประเด็น หนึ่ง สภาวะของแต่ละคนในตอนเช้า และสอง ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับญาณทัศนะมีลักษณะเป็นอย่างไร ต่อด้วยการเรียนรู้เรื่องการหลอมรวมญาณทัศนะและเหตุผล เริ่มด้วยการให้ผู้เข้าร่วมคิดถึงสถานการณ์ชีวิตที่อยากจะใช้ญาณทัศนะ 4 สถานการณ์ แล้วเขียนสิ่งที่คิดว่าจะช่วยและไม่ช่วยให้ผ่านพ้นหรือจัดการกับสถานการณ์ไปได้ ก่อนจะเลือกว่าข้อไหนเป็นข้อเท็จจริง ข้อไหนเป็นความเชื่อ ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะญาณทัศนะมีสองแบบ ได้แก่ ญาณทัศนะแท้ และญาณทัศนะแบบลำเอียงอันเกิดจากการพูดถึงสิ่งต่างๆ โดยไม่เอาตัวเองเข้าไปคิดถึงประสบการณ์ที่ได้รับ ส่วนความเป็นเหตุเป็นผลมีสองรูปแบบเช่นกัน แบบแรกคือการเรียนรู้อย่างที่เป็น และอคติที่ถูกยืนยันมาแล้ว เป็นการเลือกเก็บข้อมูลเพื่อมายืนยันว่า สิ่งที่เราเชื่อเป็นความจริง

ความมีเหตุมีผลจากการเรียนรู้อย่างที่เป็นผสมกับญาณทัศนะแท้
จึงจะเป็นแนวทางที่ญาณทัศนะและเหตุผลจะทำงานไปด้วยกันได้

ต่อมากระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่ม 5 คนแบ่งปันว่าสิ่งที่แต่ละคนเขียน 4 เหตุการณ์ กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในตอนเช้ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร แล้วจึงแบ่งปันในวงใหญ่ ตามด้วยกระบวนกรสาธิตการหลอมรวมญาณทัศนะกับเหตุผลกับอาสาสมัคร และให้จับคู่ฝึก ก่อนที่จะจับกลุ่ม 6 คน แบ่งปันการเรียนรู้ที่ได้จากการหลอมรวมญาณทัศนะกับเหตุผล แล้วจึงปิดวง

วันพุธที่ 5 – วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561
ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯ
โดย โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Array