วรรณา จารุสมบูรณ์: จากนิวซีแลนด์ถึงกราดยิงโคราช รับมือกับความกลัว และมองหาความหวัง
Reading Time: 3 minutesจากเหตุการณ์กราดยิงที่ห้าง Terminal 21 จังหวัดนครราชสีมา จนเกิดการสูญเสียกว่า 30 คน บาดเจ็บอีก 58 คนนั้น แม้เหตุการณ์จะจบลงแล้ว ทว่าความเสียหายอีกหลายประการที่ตามมานั้น ยังคงประจักษ์อยู่ในสังคม หนึ่งในนั้นคือ ความสั่นสะเทือนทางความรู้สึกของผู้คนในวงกว้าง ที่ตกอยู่ในสภาวะแห่งความหวาดกลัว สู่การแสดงออกด้วยท่าที่ที่ต่างกัน ทั้งความโศกเศร้า ความเสียใจ และความรุนแรง
เราจึงชวน สุ้ย-วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death ผู้ที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องของ ‘การรับมือความตาย’ มาพูดคุยในประเด็นที่ว่า ภายใต้บรรยากาศที่เราต่างถูกห้อมล้อมไปด้วยข่าวสาร ด้วยอารมณ์ที่เกรี้ยวกราดและการแสดงออกที่ต่างกันของคนในสังคม ความกลัวที่กำลังคลุ้งอยู่นั้น นำไปสู่การแสดงออกแบบไหน เราควรมีท่าที่อย่างไรจากความสูญเสีย และในวันนี้ เราต่างโอบอุ้มหัวใจของกันดีพอแล้วหรือยัง แล้วถ้ายัง เราและสังคม สามารถทำอะไรได้บ้าง?
เมื่อพูดถึงความตาย สิ่งที่คู่ขนานกันอยู่นั้น คือความกลัว?
พี่ว่ามนุษย์ทุกคนนั้น มีความกลัวอยู่แล้วโดยเฉพาะกลัวตาย เพราะมันหมายถึงสถานการณ์ที่เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า แม้แต่ตอนที่เราจะไป เราก็ไม่รู้ว่า สภาพที่เราจะตายเป็นอย่างไร มันจะน่ากลัวไหม จะทรมานไหม มันเป็นภาวะที่เหมือนเราเดินไปในห้องมืด มันไม่เห็นทาง เราไม่รู้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น หรือมีอะไรรออยู่ข้างหน้า ภาวะแบบนั้นจึงทำให้คนกลัวมากๆ ด้วยเพราะ
หนึ่ง – การที่เราจะพลัดพรากจากสิ่งที่เราเคยมีเคยเป็น มันเป็นความทุกข์อยู่แล้ว
สอง – คือเราไม่รู้ว่าเรากำลังจะเผชิญกับอะไร หรือมันจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง ทำให้เราเคว้งคว้างและสูญเสียความสามารถในการควบคุมจัดการบางอย่าง คือถ้าเรารู้ เราจะรู้สึกว่าอย่างน้อยฉันก็ควบคุมบางอย่างได้นะ รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสเต็ปต่อไป แต่ความตายเป็นอะไรที่เราไม่รู้ว่าจะมาตอนไหน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และอย่างไร พูดอีกอย่างก็คือ เรากลัวความไม่แน่นอนของความตายนั่นแหละ
สาม – ความตายสำหรับบางคนอาจหมายถึง การหายไปเลย ซึ่งเป็นอะไรที่น่ากลัวนะกับการที่ชีวิตกำลังจะหายไป เหมือนเราเดินทางมาไกลแล้วอยู่ดีๆ ทุกสิ่งก็หายไป ส่วนคนที่เชื่อในเรื่องศาสนา โดยเฉพาะชาวพุทธก็อาจกังวลว่า ภพภูมิข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราไปเจอกับอะไรบ้าง ยิ่งคนที่เชื่อในเรื่องนรก-สวรรค์ ก็อาจจะคิดว่า ‘ถ้าเราเคยทำไม่ดีล่ะ เราจะตกนรกไหม’ แล้วเราจะเป็นอย่างไร เพราะชีวิตเราต่างก็ทำดีบ้างทำไม่ดีบ้าง ไม่ได้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วเราจะไปเจออะไรที่มันน่ากลัวไหม ก็จะจินตนาการไปต่างๆ นานา
สี่ – พี่คิดว่าความตายน่ากลัวเพราะว่า หลังจากที่เราตายไปแล้ว เราไม่สามารถกลับมาจัดการบางสิ่งบางอย่างที่คั่งค้างได้ อย่างเช่น ถ้าเราห่วงลูก เราก็อาจกังวลว่าเขาจะอยู่อย่างไร คนที่เหลืออยู่จะดูแลเขาได้ดีเหมือนเราไหม ยิ่งถ้าเรารู้สึกว่ามีหลายอย่างที่ยังไม่ได้จัดการให้เสร็จ หรือไม่ได้สั่งเสียเอาไว้ ก็จะยิ่งห่วงกังวลมากขึ้น
เมื่อเหตุการณ์นั้นๆ นำไปสู่ความกลัวร่วมในสังคม จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ปกติคนเราก็กลัวกันประมาณนี้อยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ที่เกิดการกราดยิง เราไม่รู้เลยว่า เราจะเป็นหนึ่งในนั้นไหม ถ้าเราเจ็บป่วยมานานเราอาจพอจะทำใจยอมรับความตายที่กำลังมาถึงได้ หรือถ้าพ่อแม่เราเจ็บป่วยใกล้ตาย ในด้านหนึ่ง ข้างในของเราก็พอจะยอมรับได้ว่าคงถึงเวลาของท่าน ยิ่งเห็นเขาทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยมานาน มันก็ช่วยให้เราค่อยๆ ยอมรับความสูญเสียนั้นได้ แต่ในสถานการณ์กราดยิงที่โคราช เป็นสถานการณ์ที่คนธรรมดาคนดีๆ ไปเที่ยวห้าง ไปซื้อของ ไปทำธุระบางอย่าง แล้วมันไม่มีสัญญาณบอกเลยว่าเขากำลังจะตาย พออยู่ๆ เกิดเหตุขึ้น มันสั่นคลอนความรู้สึกของผู้คน เหมือนกับว่า เฮ้ย เรามีสิทธิตายได้ทุกนาทีเลย
คนเราไม่ค่อยคิดหรอกว่า ความตายมันจะเกิดขึ้นกับเรา เรามักเชื่อว่า ฉันยังคงใช้ชีวิตไปได้อีก ฉันยังแข็งแรง ฉันควรจะต้องแก่ตายสิ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้มันจึงช็อค เพราะเราเพิ่งรับรู้ว่า โอ้โหชีวิตเปราะบางขนาดนี้เชียวหรือ เราไม่รู้เลยว่าในวินาทีต่อไปเรายังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ไหม หรือเราจะสูญเสียคนที่เรารักไปตอนไหน มันสั่นสะเทือนลึกๆ อยู่ข้างใน เพราะความจริงที่มันปรากฏอยู่ตรงหน้ามันกระแทกใจเรา
อีกสิ่งคือสภาพการตายที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่การตายแบบค่อยเป็นค่อยไป ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ไม่ทันได้ตั้งตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นมะเร็ง พอรู้ว่ามันลุกลามไปแล้ว เราอาจจะเหลือเวลาอีกไม่เยอะแล้วนะ เราอาจจะใจหาย แต่ก็ยังมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจ มีเวลาได้สั่งเสีย ยังมีเวลาคิดว่าจะทำอะไรต่อ แต่สถานการณ์นี้มันเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและเกรี้ยวกราดแทบไม่มีอะไรบอกเหตุเลย เป็นโมเมนต์ที่แบบว่า ‘เฮ้ย ฉันจะทำยังไงดี’ ยิ่งเห็นคนอื่นถูกยิง ข้างในมันสะเทือนรุนแรงมากสิ่งนี้มันจะกลาย trauma มันไม่ใช่แค่ความกลัว
แม้ว่าเหตุการณ์จะจบไปแล้ว แต่ความกลัวยังคงคลุ้งอยู่?
ใช่ แล้วความกลัวไม่ได้อยู่เฉพาะแค่คนที่อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้นนะ คือคนที่อยู่ในเหตุการณ์เขาก็จะได้รับความรู้สึกที่รุนแรงประมาณหนึ่ง ส่วนคนที่เสพข่าวหรือคนที่อยู่ข้างนอกแม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็ตาม เขาก็สะเทือน ตอนนี้สะเทือนไปหมดเลย แม้กระทั่งตอนพี่ไปเดินห้างที่ขอนแก่นในวันรุ่งขึ้น ทุกอย่างมันเงียบอย่างชัดเจน เหมือนคนรีบมาทำธุระแล้วก็รีบไป มันไม่ใช่ที่ที่เราจะมาเดินได้อย่างสบายใจ เพราะเราต่างอดไม่ได้ที่จะคิดถึงว่า จะมีอะไรน่ากลัวเกิดขึ้นไหม พี่รู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้สังคมเราอยู่ในโหมดของความกลัวและหดตัวอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมแบบนี้
ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไทยนะ ทุกๆ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก คนในสังคมจะมีภาวะแบบนี้ คือหดตัวและหวาดกลัว ในด้านหนึ่งคือสัญชาตญาณของมนุษย์ที่จะรักชีวิต ทุกคนต้องการการมีชีวิตรอด
แต่พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ทุกคนก็หดหู่แล้วหดตัวไปหมดเพราะอยากจะปกป้องชีวิตตัวเอง ซึ่งแต่ละคนก็จะแสดงออกต่างๆ กันเวลาที่เราอยู่ในโหมดของความกลัวและถดถอย บางคนแสดงออกด้วยความเกรี้ยวกราด โกรธคนคนนี้ ฆ่ามันเลย ลึกๆ มันมาจากความกลัวของเรา เพราะว่ามันรุนแรงและเราทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งถ้ามีใครในครอบครัวของเราที่อยู่ตรงนั้นและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียก็จะยิ่งรู้สึกรุนแรงมาก บางคนก็อาจหดหู่ เศร้า ไม่อยากทำอะไร ขวัญผวา นอนไม่หลับ เก็บตัว ฯลฯ พี่คิดว่าความสั่นสะเทือนที่แสดงออกต่างๆ กันนี้อาจเป็นผลที่ตกค้างและต้องใช้เวลาในการเยียวยาเยอะมากเหมือนกัน
อย่างกรณีไวรัสโคโรนาที่คนจีนถูกไล่ลงจากรถ อธิบายภาวะนี้ได้หมดเลยไหม
ใช่ค่ะ เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเวลามนุษย์อยู่กับความกลัว และเป็นความกลัวที่มนุษย์เสพข่าวจากสถานการณ์ที่ถูกปรุงแต่งไปด้วย มันยิ่งทำให้ความกลัวตัวใหญ่ขึ้น ทั้งที่เราอาจจะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสน้อยมาก วันก่อนพระอาจารย์ไพศาลท่านพูดให้สติว่า จริงๆ แล้วในแต่ละปีมนุษย์เราตายจากโรคระบาดหรือสาเหตุอื่นเยอะกว่าโคโรนาอีก อย่างเช่นเราตายจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลเยอะมาก ตายกันเป็นร้อยเป็นพันในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน สัดส่วนการตายสูงกว่าโคโรนาอีกแต่ทำไมไม่กลัว
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ความกลัวของเรานั้น แปรผันตามความคิด หรือที่เขาเรียกว่า ‘ความตายไม่น่ากลัวเท่าความกลัวตาย’ ซึ่งพี่คิดว่า ตอนนี้เราถูกปั่นเยอะมากจากข้อมูลที่ทำให้ความกลัวตายของเราโตขึ้น เหมือนเราให้อาหารความกลัว
อย่างเช่น เราติดตามข่าวไวรัสโคโรนาทุกวันเลยว่ามีตัวเลขคนตายไปเท่าไหร่แล้ว คนติดเชื้อเท่าไหร่แล้ว มันกระจายไปประเทศไหนบ้าง ในด้านหนึ่งก็ทำให้เรากลัวมากขึ้นว่ามันใกล้ตัวเราจังเลย
หรือเรารู้สึกว่าเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชมันน่ากลัว แล้วเราก็เข้าไปอ่านซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาทำอะไรยังไง ยิ่งเราหลงเข้าไปในรายละเอียดของเหตุการณ์เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ความกลัวมันตัวใหญ่ขึ้น ถ้าถามว่า เวลาขับรถไปตามถนน เรารู้ไหมว่าจะมีใครขับชนอัดก๊อปปี้เราตอนไหน เราไม่มีทางรู้หรอก แต่เราก็ไม่ได้กลัวจนไม่กล้าไปไหน เราก็ยังขับรถออกจากบ้านทุกวัน ตรงนี้น่าจะพอเทียบเคียงให้เห็นว่า เราไม่มีทางรู้หรอกว่าความตายจะมาถึงเราตอนไหน และอาจอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
ปฏิกิริยาของคนที่เกิดขึ้นในสังคมสามารถอธิบายความจริงของมนุษย์ได้?
ใช่ สิ่งนี้ก็คือความจริงของมนุษย์อีกอย่างหนึ่งว่า ตอนที่เราใช้ชีวิตเป็นปกติ เราไม่ค่อยคิดถึงเรื่องความตาย แต่พอมีใครสักคนที่ตายลงเราก็จะรู้สึกตระหนักมากขึ้นว่า อ๋อ ความตายมันไม่ไกลจากเรานะ โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง เราจะรู้สึกว่าความตายมันจริงมากขึ้น มันใกล้ตัวเรามากขึ้น อันนี้แหละที่พี่รู้สึกว่าพวกเราทุกคนอยู่ในสังคมที่การเดินห้างเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน แต่พอเหตุการณ์มันเกิดในห้างมัน ก็เลยรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเรามาก
ในกรณีของที่นิวซีแลนด์ นายกฯ ออกมาบอกว่าเขาจะไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้ วิธีการแบบนั้นมันอธิบายให้เห็นวิธีคิดแบบไหน
ของที่นิวซีแลนด์พี่คิดว่า มี 2-3 ประเด็น หนึ่ง – คือเขาไม่โฟกัสที่คนทำผิด เพราะมันทำให้คนคนนั้นมีค่ามากเกินไป ทำให้ทุกคนต้องรู้จักและจดจำเขา ซึ่งการกระทำของเขาไม่ควรได้รับสิ่งนี้
สอง – สมมุติว่าคนคนนี้เขาทำด้วยความไม่ปกติของจิต แต่ถ้าเราไปโฟกัสหรือไปพุ่งเป้าที่จะขุดคุ้ย ด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดการบ่มเพาะความเกลียดชังในใจของเรา และยิ่งบุคคลที่ถูกยิงเกิดขึ้นในมัสยิด ยิ่งต้อง sensitive มาก เพราะมันง่ายมากที่จะผูกโยงให้เป็นเรื่องการเหยียดผิว เป็นพวกหัวรุนแรง หรือคลั่งลัทธิ
พี่ก็คิดว่า นายกฯ นิวซีแลนด์เป็นคนที่ใส่ใจและรู้ว่ามันจะทำให้เป็นเรื่องใหญ่ขึ้น ทำให้เรื่องที่มันแย่อยู่แล้วบานปลาย ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ต้องชมนายกฯ นิวซีแลนด์ที่เขารู้ว่ามัน sensitive ขนาดไหนที่พูดถึงคนคนนั้นขึ้นมา ซึ่งการไปพยายามขุดคุ้ยหาเหตุผลซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพื่อทำให้คนเชื่อ แล้วคนก็อาจเลือกเชื่อนะว่าคนที่ทำต้องเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วมันก็จะบ่มเพาะความเกลียดชังในใจเรา กลายเป็นบาดแผลที่จะไปอีกยาวเลย
และบาดแผลบางอย่างมันสามารถส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเลยนะ อย่างกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แม้เราจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่อยู่ในใจเราไม่เคยหายไป พี่คิดว่านายกฯ นิวซีแลนด์เขาน่าจะคิดถึงเรื่องนี้ ว่าเราไม่ควรส่งต่อความเกลียดชังและความรุนแรง
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ในบรรยากาศที่เรากำลังกลัวและผลิตซ้ำความรุนแรง คนธรรมดาอย่างเราๆ ควรรับมือกับบรรยากาศนี้อย่างไร
ถ้ามองในระดับปัจเจกก่อนนะ มุมของพี่คือว่า หนึ่ง – ให้เรากลับมารับรู้ความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นว่า อะไรที่คนอย่างเรารู้สึกอยู่ขณะนี้ เช่น โกรธ แค้น หดหู่ เศร้า รู้สึกสิ้นหวัง ให้เรากลับมารับรู้โดยที่ไม่ผลักไส เพราะในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มันมีความรู้สึกหลายอย่างมาก ซึ่งความรู้สึกพวกนี้ ลึกๆ แล้วมันบอกบางอย่างที่สำคัญเกี่ยวกับเรา
เช่นเราไม่พร้อมที่จะตาย หรือเรารู้สึกสิ้นหวังกับความเป็นมนุษย์ เพราะอยากให้โลกสงบสุข มีสันติสุข หรือว่าเรากำลังรู้สึกเศร้ากับสถานการณ์ที่ดูเหมือนทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเราอยากมั่นใจว่าชีวิตจะมั่นคงและปลอดภัยเมื่อออกจากบ้าน เพราะคนเรามีเบื้องหลังที่ทำให้ความรู้สึกมันเกิดขึ้นเสมอ
สำคัญคือ เราต้องกลับมารับรู้และให้เกียรติความรู้สึกที่เกิดขึ้น ด้วยการทำความเข้าใจว่า ความรู้สึกตรงนี้กำลังบอกว่าอะไรคือสิ่งที่เราให้คุณค่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญกับเราเหลือเกินในตอนนี้
สอง – หากเรารู้สึก depress มากๆ ให้เรารับรู้ แต่อย่าไปจมหรือนัวเนียกับมันนานเกินไป เพราะเมื่ออารมณ์พวกนี้หากอยู่กับเรานานๆ มันจะเยอะขึ้น และบางทีมันเป็นการปรุงของเราด้วยนะที่ทำให้มันเพิ่มขึ้น ซึ่งพี่คิดว่า เราต้องออกจากอารมณ์พวกนี้ไปชั่วขณะบ้าง หมายถึงว่า ในแต่ละวันเราอาจจะหาอะไรทำ หรือหยุดเสพข่าวที่เรารู้สึกว่ามันจะทำให้เราดิ่งลงไปอีก
พี่ว่าหลายๆ คนที่เอาดอกไม้ไปวางก็เป็นไอเดียที่ดี การที่เราได้ทำอะไรที่เรารู้สึกว่ามันช่วยผ่อนคลายความรู้สึกตรงนี้ไปบ้าง หรือกระทั่งว่าอยากจะไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คนที่เสียชีวิต หรือว่าอยากจะใช้เวลานี้กับการภาวนาเพื่อเยียวยาบางอย่าง ทำได้หลากหลายมากแล้วแต่เราเลย หรือเราอยากจะเขียนการ์ด ทำงานศิลปะ กระทั่งไปเขียนไว้อาลัยที่หน้าเทอร์มินอล 21 เพื่อที่เราจะได้ผ่อนคลายความรู้สึกนี้ลง หรือหลีกออกจากความรู้สึกนี้ไปบ้าง
สาม – อย่าอยู่คนเดียว หาเพื่อนที่เราสามารถระบายความรู้สึกได้อย่างเต็มที่ หรือคนที่เราจะระบายหรือเล่าให้เขาฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับความรู้สึกของเรา โดยขอให้เขารับฟังอย่างใส่ใจ ไม่รีบร้อนที่จะปลอบโยนหรือหาทางแก้ปัญหา
สี่ – เราต้องให้กำลังใจตัวเองด้วย แม้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้จะรุนแรง และทำให้เรารู้สึกสั่นไหวมาก แต่ในด้านหนึ่ง ขอให้เรามั่นใจว่าจะสามารถผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ คล้ายๆ การปลุกปลอบหรือให้กำลังใจตัวเองว่าจริงๆ แล้วมนุษย์มีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด ซึ่งในประวัติศาสตร์เราก็เคยผ่านเรื่องเลวร้ายมาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้เราก็จะผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านี้ไปได้เช่นกัน แม้มันจะต้องใช้เวลา
แล้วถ้าในระดับของสังคม การเยียวยาความรู้สึกร่วมของผู้คน ควรทำอย่างไร
เหตุการณ์ที่นิวซีแลนด์ก็ชัดมากนะว่าไม่ใช่ง่ายๆ ที่เขาจะผ่านเหตุการณ์ช่วงนั้นมาได้ มันต้องใช้เวลา แต่เราจะผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ง่ายขึ้น ถ้ามันเป็นความรู้สึกร่วมรับรู้จากคนรอบข้าง ชุมชน และสังคม ที่ผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน ให้กำลังใจกัน ซึ่งการมีกิจกรรมที่เป็นการเยียวยาร่วมกันเป็นหมู่คณะ สำหรับพี่คิดว่านี่คือเรื่องหนึ่งที่น่าทำ เพราะจะทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เผชิญความสูญเสียนี้โดยลำพัง
อันหนึ่งที่พี่ชอบจากที่นิวซีแลนด์เขาทำ คือไม่ว่าจะศาสนาอะไรในวันนั้นเขามาร่วมในพิธีไว้อาลัยร่วมกันหมดเลย มีทั้งคนมุสลิม คริสต์ ชนพื้นเมือง และทุกศาสนาที่มารวมกัน พี่รู้สึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในบรรยากาศที่ทุกคนกำลังสั่นสะเทือน และเศร้าโศก มีการจุดเทียน วางดอกไม้ ยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัย และทุกคนก็มารับรู้ถึงความสูญเสียร่วมกัน อันนี้เป็นโมเมนต์ที่พี่รู้สึกว่า มันเป็นการเยียวยาความสูญเสียร่วมกันของทั้งสังคม และของชุมชนที่นั่น
นอกจากการไว้อาลัย เขามีการเต้นแบบชนเผ่าที่ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกอัดอั้นด้วยนะ เป็นการเต้นที่ไม่ได้สาปแช่งคนที่ทำ แต่เป็นการปลดปล่อยบางอย่าง เหมือนกับว่าเขาก็เจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเขาใช้การเต้นระบายมันออก
ไม่มีใครกล่าวโทษหรือพูดถึงคนที่กระทำเลย และไม่มีการส่งต่อความรุนแรง แต่เขาใช้พื้นที่ตรงนั้นในการระบายความทุกข์ร่วมกัน
ยกตัวอย่างได้ไหมคะ
ก่อนหน้านี้พี่เพิ่งไปประชุมที่ออสเตรเลีย แล้วมีผู้ชายคนหนึ่งที่พ่อของเขาเป็นเหยื่อในเหตุการณ์นั้น เขามาเป็น speaker ในเวทีประชุมที่ว่าด้วยเรื่องของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (6th Public Heath Palliative Care International Conference) ในธีมเรื่องของความสูญเสีย (Compassionate Community in Action) เขามาแบ่งปันให้ฟังว่าเขาผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียนั้นมาได้อย่างไร
ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่แตกต่างจากเราเลย ผู้ชายคนนี้บอกว่า เขาช็อกมากๆ ซึ่งเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น มันเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงและสะเทือนข้างในมากๆ แต่ว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกค่อยๆ ดีขึ้นก็คือ การที่คนรอบข้างอยู่เคียงข้างเขาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แม้ว่าทุกคนก็อยู่ในโมเมนต์ของความสูญเสียเหมือนกัน แต่เขาบอกว่า ทุกคนเข้ามาสวมกอดเขา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงหรือคนที่อยู่ในชุมชนก็เข้ามากอดเขา ให้กำลังใจเขา ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ทำให้เขาไม่ได้รู้สึกว่าต้องเผชิญความสูญเสียโดยลำพัง และมีคนที่รับรู้การสูญเสียของเขา
ซึ่งการรับรู้การสูญเสียของเขามันไม่ใช่การไปถามว่าคุณรู้สึกอย่างไร แต่คือการเข้าไปโอบอุ้มความรู้สึกอันนั้น แม้จะไม่มีคำพูดอะไร แต่สายตา สัมผัส และการโอบกอดอย่างจริงใจ มันช่วยเขามาก แม้แต่คนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ก็มาร่วมรับรู้และโอบอุ้มดูแลความสูญเสียร่วมกัน
มันคือการเยียวยาทั้งชุมชนจริงๆ และเราไม่ค่อยได้เห็นภาพนี้ในสังคมไทย
พี่รู้สึกว่าสังคมไทยแทบจะไม่มีเลย น่าเสียดายมาก แล้วก็ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ จากวิดีโอที่พี่เห็น นายกฯ นิวซีแลนด์ก็ไปร่วมกิจกรรมเหมือนกัน เพราะคนที่อยู่ในสภาวะตระหนกและสูญเสีย เขากำลังเสียขวัญ เราต้องค่อยๆ เรียกขวัญกลับมา แล้วโมเมนต์แบบนี้มันต้องการพลังของคนที่อยู่รอบข้างที่เป็นพลังบวกเข้ามาเยียวยา พี่รู้สึกว่าเราไม่ค่อยมีตรงนี้ แล้วมันจะยิ่งทำให้เราหลุดจากตรงนี้ยาก เหมือนกับว่าเราจะกอดบาดแผลของตัวเองเอาไว้ แล้วมันจะฝังแน่นอยู่ในใจ ดังนั้น นอกจากการให้กำลังใจตัวเองแล้วการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เราเยียวยาซึ่งกันและกัน มันจำเป็น
คนที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนทั่วไปเขาเหล่านั้นควรมีบทบาทอย่างไร เช่นสื่อ, influencer, นายกรัฐมนตรี
ต้องให้เกียรติกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ใช่พยายามที่จะลบมันไปอย่างรวดเร็ว ในกระบวนการเยียวยานั้นมันต้องค่อยเป็นค่อยไป มันเป็นเรื่องของชุมชนและสังคมมากๆ ที่ต้องเข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งพี่คิดว่าการที่เราพูดถึงวินมอเตอร์ไซค์ที่เข้ามาช่วยโดยไม่ได้คิดเรื่องเงินเลย ในมุมหนึ่งเรื่องราวเหล่านี้มันช่วยชโลมใจให้เราดีขึ้นในขณะที่เรารู้สึกแย่ รู้สึกกลัว รู้สึกสูญเสีย รู้สึกสิ้นหวัง มันก็ยังมีเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้น
และการที่เราไม่ซ้ำเติมความทุกข์ของผู้สูญเสียก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การไม่ซ้ำเติมหมายความว่า บางครั้งเราเจตนาดีนะ แต่ก็อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่า ‘จะรู้ไหมว่ามันจะเกิดขึ้น’ นึกออกไหม เพราะไปบอกว่าเวลาไปห้างแล้วต้องหัดระแวดระวังนะ! คือคำพูดบางอย่างมันมาเร็วไป เหมือนเราโดนบอกว่า เราไม่ระวังตัวเอง ซึ่งบางอย่างมันต้องมาในจังหวะที่เหมาะสม
เหมือนเราพยายามจะมองไปข้างหน้าและแก้ปัญหาในอนาคตเร็วเกินไป มัน skip moment ที่กำลังสูญเสีย skip ไปว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งสำหรับบางคนเขากำลังอยู่ในอารมณ์เศร้าโศก สูญเสีย ถ้าเขาได้ยินอย่างนั้นปุ๊บ มันอาจทำให้เขารู้สึกไปอีกอย่าง เหมือนกับที่พี่บอกว่าข้างในมันสั่นสะเทือน
เขาจึงต้องการพื้นที่มากพอที่จะให้เขาได้เยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่รับฟัง ให้เขาได้พูดมันออกมา การได้ทำอะไรบางอย่าง หรือการลุกขึ้นมาครีเอทกิจกรรมที่มันเป็นการเยียวยาคนในสังคมร่วมกัน
สามารถเข้าร่วมกิจกรรม ‘สนทนาเยียวยาใจ’ ศิลปะบำบัดผ่านการสนทนา จัดขึ้นในวันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ 2563 ณ Terminal 21