Korkankru

Reading Time: 4 minutes ก่อการครูชวนทำภารกิจพิชิตดวงจันทร์กับมหา’ลัยไทบ้าน ปี 2 #Mission To The Moon การศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและปลดแอกการเรียนรู้จากรั้วโรงเรียนสู่การเรียนรู้จากชุมชน ผ่านอัลบั้มภาพชุด “Mission To The Moon : ภารกิจเที่ยว ทำ เล่น เรียน รู้ คู่กับชุมชน” รวมเรื่องราวให้ร่วมเรียนรู้เหมือนเข้าไปอยู่ด้วยกัน Nov 1, 2022 4 min

มหา’ลัยไทบ้าน ปี 2 #Mission To The Moon7 min read

Reading Time: 4 minutes

………….ก่อการครู ชวนทำภารกิจพิชิตดวงจันทร์กับมหา’ลัยไทบ้าน ปี 2 #Mission To The Moon การศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและปลดแอกการเรียนรู้จากรั้วโรงเรียนสู่การเรียนรู้จากชุมชน ผ่านอัลบั้มภาพชุด “Mission To The Moon : ภารกิจเที่ยว ทำ เล่น เรียน รู้ คู่กับชุมชน” รวมเรื่องราวให้ร่วมเรียนรู้เหมือนเข้าไปอยู่ด้วยกัน

…………รับน้องการศึกษาใหม่

…………..“มหา’ลัยไทบ้าน” ไม่ใช่มหาวิทยาลัยในความหมายที่เราคุ้นชิน แต่ที่แห่งนี้คือพื้นที่การเรียนรู้ที่ใช้แนวคิดการศึกษาบนฐานชุมชนมาเป็นหลักสูตรในการเรียนรู้ โดยมีจุดประสงค์ปลายทางคือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ณ อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ผ่านการออกแบบกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ไททอล์ค ชวนมาถอดรหัสและแชร์ประสบการณ์การขับเคลื่อนการเรียนรู้ ผ่านการพูดสร้างแรงบันดาลใจจากผู้มีประสบการณ์การสร้างการเรียนรู้ในสาขาต่าง ๆ ไททำ ห้องเรียนแห่งการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับเหล่าไทบ้านและเครือข่าย ไทตลาด ชวนมาช้อปสินค้าและอาหารจากชุมชน ไทมุง พาผู้เข้าร่วมล้อมวงสะท้อนบทเรียนที่จะได้การร่วมกิจกรรม ไททริป เที่ยวเรียนรู้กับหมู่มิตร ท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ผ่านการสำรวจเส้นทาง 3 ภู(พู) ได้แก่ เส้นทางสายสีชมพู เส้นทางสายภูผาม่าน และเส้นทางสายภูกระดึง

………….บทที่ 1 ไททอล์ค

………….‘มหาลัย’ไทบ้าน’ เปิดพื้นที่ให้มิตร 12 คน เพื่อสร้างการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาล และประสบการณ์ที่หลากหลายผ่าน 12 เรื่องเล่า ได้แก่
ไททอล์คที่ 1 “ปลุกความเป็นมนุษย์ ด้วยงานไม้” โดย คุณประพันธ์ สีอิ่น
ไททอล์คที่ 2 “Farm Hoo DIY” โดย คุณณฤต เลิศอุตสาหกุล และคุณธารนิธิ พยัคราชศักดิ์
ไททอล์คที่ 3 “แบบสื่อๆ ก็สุขได้ ” โดย คุณวรวัตน์ สมวงษา
ไททอล์คที่ 4 “นก คุณค่า ความสัมพันธ์ ระบบนิเวศน์” โดย คุณวิชัย นาพัว
ไททอล์คที่ 5 ” เรื่องราว แถวบ้าน เล่าผ่าน เพลง กวี” โดย คุณภักดี ไชยหัด
ไททอล์คที่ 6 “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดย คุณปิยะพงษ์ คลังทอง นายอำเภอสีชมพู
ไททอล์คที่ 7 “เสียงพาไป” โดย คุณใจแจ่ม วรรณพันธ์
ไททอล์คที่ 8 “เปลี่ยนป่าอ้อย เป็นโฮมสเตย์วิวร้อยล้าน” โดยคุณทรงฤทธิ์ แก้วพรม
ไททอล์คที่ 9 “ศิลปะ ท้อง ถนน” โดยคุณขวัญยืน เกตุหนู
ไททอล์คที่ 10 “ภารกิจพิชิตมง” โดยคุณประกายดาว คันธะวงศ์
ไททอล์คที่ 11 “คน กับ ป่า” โดยคุณฉลามศักดิ์ อินตะโคตร
ไททอล์คที่ 12 “Think…Do…Tourism Project with PINK Style ” โดยผศ.ดร.พรณรงค์ ชาญนุวงศ์ และคณะนักศึกษา
รับชมย้อนหลังได้ที่ลิงก์ live ไททอล์ค วันที่ 14 ตุลาคม 2565: https://fb.watch/gvf_7O1Y_Q/
รับชมย้อนหลังได้ที่ลิงก์ live ไททอล์ค วันที่ 15 ตุลาคม 2565: https://fb.watch/gvgI9hM1ab/

บทที่ 2 ไททำ

………….กิจกรรมไททำของ มหา’ลัยไทบ้าน ปี 2 แตกต่างออกไปจากปีแรก โดยกิจกรรมไททำจะแบ่งออกเป็น 2 วัน คือวันที่ 13 – 14 ตุลาคม 2565 ภายในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 กิจกรรมไททำเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ที่รวบรวมเครือข่ายของมหา’ลัยไทบ้านที่นำกิจกรรมมาให้เหล่าไทบ้านเรียนรู้ทั้งหมด 4 ห้องเรียน และกิจกรรมภายในวันที่ 14 ตุลาคม จะเป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้จากเหล่าไทบ้านในพื้นที่อำเภอสีชมพูอีก 4 ห้องเรียน รวมมีห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด 8 ห้องเรียน ได้แก่

………….ห้องเรียนที่ 1 วิชาบันทึกธรรมชาติ โดย คุณวิชัย นาพัว (พี่วิชัย) จากชมรมเด็กรักนก ไทบ้านจากท่ามะไฟหวาน อ.แก้งค้อ จ.ชัยภูมิ ผู้เรียนในระบบการศึกษาเพียงชั้น ป.6 แต่มีความชัดเจนกับความรักและความสนใจ ด้านงานศิลปะและธรรมชาติเป็นอย่างมาก ในห้องเรียนของพี่วิชัยได้ชวนเรียนรู้วิธีการใช้กล้องส่องทางไกล และได้พาผู้เข้าร่วมไปสำรวจธรรมชาติและสำรวจพันธุ์นก ในพื้นที่อำเภอสีชมพู ระหว่างส่องนกพี่วิชัยชวนให้จดจำรายละเอียดของนก พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับนกที่อาศัยอยู่ในอำเภอสีชมพู และชวนวาดรูปนกที่พบ ทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำนกตัวนั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

………….ห้องเรียนที่ 2 วิชาแกะไม้แกะใจ โดย คุณประพันธ์ สีอิ่น (พี่แม็ค) ช่างแกะสลักไม้ ผู้ก่อตั้งขอนแก่นแกลเลอร์รี่ ไทบ้านกุดกว้าง อ.เมืองขอนแก่น ภายในห้องเรียนพี่แม็คชวนให้เรารู้จักใช้สิ่วและค้อน ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการแกะสลักไม้ พี่แม็คค่อย ๆ ให้พวกเรา แกะเปลือกไม้ เนื้อไม้ จนถึงแก่นไม้เป็นรูปที่เราร่างไว้ ซึ่งคล้ายจะเป็นสิ่งเดียวกับการค่อย ๆ แกะ ขัด เกลา แก่นไม้ในใจของเราไปด้วย

………….ห้องเรียนที่ 3 วิชามากกว่าโกโก้ มากกว่าเบาหวาน โดยคุณจักรกฤษณ์ โภคเจริญ (พี่ยุ่ง) และคุณศิริพร ทุมสิงห์ (พี่แจง) ชวนแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโกโก้ และวิธีการแปรรูปโกโก้ตามวิถีไทบ้าน ไม่ว่าจะเป็นไวน์โกโก้ ชาโกโก้ และชวนทำช็อคโกแลตจากโกโก้

………….ห้องเรียนที่ 4 วิชา Farm Hoo DIY โดย คุณณฤต เลิศอุตสาหกูล (พี่เต้าหู้) นักออกแบบ นักพัฒนาชุมชน และคุณธารนิธิ พยัคราชศักดิ์ (พี่เดียร์) ครูนักพัฒนาชุมชนผู้ก่อตั้งโปรเจ็ค Farm Hoo DIY (ฟาม ฮู้ พึ่งพาตนเอง) ไทบ้านขี้เหล็กใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพี่เต้าหู้และพี่เดียร์ชวนทำกิจกรรมวิเคราะห์และแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการเริ่มต้นงานขับเคลื่อนชุมชนให้กลายพื้นที่แห่งการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเน้นให้ชุมชนขับเคลื่อนไปได้ด้วยตนเอง

………….ห้องเรียนที่ 5 วิชาศิลปะจากหินสี โดย คุณขวัญยืน เกตุหนู (พี่ทอม) ศิลปินอิสระ แกนนำกลุ่มเที่ยววิถีสีชมพู ไทบ้านอ่างทอง อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น อดีตครูโรงเรียนปริยัติธรรม จากจังหวัดระยอง ก่อนหน้าที่จะลงมือวาดรูปพี่ทอมจะมีการให้โจทย์ในการวาดรูป โดยโจทย์ที่เราได้วันนี้คือโจทย์ ‘Mission To The Moon’ หลังจากที่พวกเราได้โจทย์แล้วพี่ทอมก็ชวนเราสร้างสีจากการหาหินที่น้ำตกนางคอยและนำมาขูดเป็นสีต่าง ๆ ซึ่งสีที่ได้จะเป็นสีตามธรรมชาติของหินก้อนนั้น ๆ โดยจะมีสีที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศ เมื่อได้สีที่พอใจเราก็เริ่มลงมือวาดรูปตามโจทย์ที่ได้มา ระหว่างวาดทุกอย่างรอบข้างเงียบสงบ ได้ยินเพียงเสียงตามไหลกระทบก้อนหินและเสียงจากธรรมชาติ เหมือนได้ใช้เวลาอยู่กับตนเองและฝึกสมาธิมากขึ้น หลังจากพวกเราวาดรูปเสร็จ พี่ทอมก็ชวนถอดบทเรียนเกี่ยวกับรูปที่เราวาด เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการตกตะกอนความคิดของแต่ละคนก่อนจะจากลากันไปทำกิจกรรมต่อไป

………….ห้องเรียนที่ 6 วิชาไทโท โดยพี่นุ หนึ่งในทีมมหาลัย’ไทบ้าน ได้พาพวกเราไปเจอกับพ่อสนั่น วัย 68 ปี ทั้งสองชวนทำสาโทแบบคนโบราณตามวิถีไทบ้าน โดยหวังว่าจะเห็นคนรุ่นใหม่เรียนรู้ สานต่อ และประยุกต์กับยุคปัจจุบัน โดยพ่อสนั่นเริ่มการทำสาโทจากการหม่าข้าวเหนียวครึ่งถัง 1 คืน (เป็นการแช่ข้าวเหนียวเพื่อให้นิ่ม) ก่อไฟนึ่งประมาณ 30 นาที ผึ่งให้ข้าวเย็น จากนั้นกะปริมาณข้าว 2 ลิตร ต่อแป้งหัวเชื้อ 1 เม็ด ค่อย ๆ เทน้ำ 2-3 ลิตรผสมซาวข้าวกับแป้ง บรรจุลงโอ่งหรือไหทิ้งไว้ 3-4 คืน ค่อยเติมน้ำไปใส่อีก 2-3 ลิตร หมักต่อ 7-15 วันก็สามารถนำมาดื่มได้

………….ห้องเรียนที่ 7 วิชาขี้เกียจ โดยคุณไผ่ ชวนถอดรหัสและคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ผ่านความขี้เกียจของตัวเราเอง เปลี่ยนมายาคติของคนที่คิดว่า การขี้เกียจเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นด้านลบให้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ถือได้ว่าเป็นห้องเรียนที่น่าสนใจอีกหนึ่งห้องเรียน เพราะเป็นการคิดหาเครื่องทุ่นแรงที่จะนำมาทุนแรงแบบบ้าน ๆ ในชีวิตประจำวันของเหล่าไทบ้าน

………….ห้องเรียนที่ 8 วิชาหาอยู่หากิน โดย คุณต้น พร้อมพรานแมนอีแต๋นซิ่ง ชวนเราแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการหาและทำอาหารที่ลานสเก็ตตามวิถีไทบ้าน นอกจากนี้ยังนำวัตถุดิบที่หาได้จากกิจกรรมมาทำ ‘หลามปลา’ อาหารเมนูหลักของเหล่าไทบ้าน
………….อย่างไรก็ตามห้องเรียนทั้ง 8 ห้องนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทีมมหาลัย’ไทบ้านในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่มุ่งเพียงแต่เผยแพร่การเรียนรู้จากชุมชนของตนเองเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ให้ทั้งคนในชุมชนเองและผู้เข้าร่วมจากภายนอก ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่อยู่นอกพื้นที่หรือประสบการณ์เดิมของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ได้รวมรวบเครือข่ายการเรียนรู้อื่น ๆ ไว้อีกด้วย

บทที่ 3 ไทตลาด

………….ไทตลาดเป็นกิจกรรมในช่วงเย็น โดยทีมไทบ้านได้ชักชวนชาวบ้านในชุมชนมามีส่วนร่วมในการนำสินค้าพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรืออาหารมาจำหน่ายภายในงาน ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกิจกรรม และยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านสินค้าที่นำมาขาย พร้อมทั้งมีนิทรรศการศิลปะและการแสดงจากไทบ้านอีกด้วย

บทที่ 4 ไทมุง

………….กิจกรรมไทมุงจะจัดทุกวันในช่วงเย็น ก่อนเราจะแยกย้ายกลับที่พัก เป็นวงถอดบทเรียนขนาดย่อมเกี่ยวกับการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งภายในวงถอดบทเรียนจะไม่มีการแบ่งอายุหรืออาชีพ ทุกคนได้ตกตะกอนสิ่งที่ได้เรียนรู้ของแต่ละวันและถ่ายถอดออกมา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

บทที่ 5 ไททริป

………….ไททริป: ทริป เที่ยว เรียนรู้กับหมู่มิตร ‘ก่อการครู 3ภูพลัส’ อีกหนึ่งห้องเรียนนอกตำรา ชวนทุกคนพาตัวเองออกไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ‘มหาลัย’ไทบ้าน’ พาเราออกเดินทาง เพื่อเรียนรู้นอกตำราผ่านเส้นทางการเรียนรู้ทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่

เส้นทางที่ 1 เส้นทางสายภูผาม่าน

– ฟาร์มคิดส์ Tech ไทบ้าน, ฮุปแต้ม, ไทบ้าน ไทเท่, วัดสว่างอารมณ์, บ้านไทภู

เส้นทางที่ 2 เส้นทางสายภูกระดึง

– ห้วยยาง โก๋ริมชล, เจ้าป่าแคมป์ แอนด์ คาเฟ่,  เฮือนฮักฮูก

เส้นทางที่ 3 เส้นทางสายสีชมพู

– วังน้ำดำ, ไร่ภูป่าหิน

Your email address will not be published.