Korkankru

Reading Time: 2 minutes ไม้เรียวสัญลักษณ์ของห้องเรียนไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ความรุนแรงที่ถูกซ่อนอยู่ใต้พรมระบบการศึกษา ภัยร้ายที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ มณี อั่วหงวน หรือ “ครูน้อย” โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว จ.พิจิตร Dec 27, 2022 2 min

เด็กกลัวครู… ครูจะปกครองง่ายขึ้นจริงหรือ ?1 min read

Reading Time: 2 minutes

เธอต้องทำแบบนี้… เธอต้องเรียนตามที่ฉันบอก…หากเธอไม่ทำเธอจะต้องถูกลงโทษ

ไม้เรียวสัญลักษณ์ของห้องเรียนไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ไม้ชี้กระดานเครื่องมือที่ถูกประกอบสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูสามารถชี้จุดที่ตนต้องการให้ผู้เรียนสนใจในขณะนั้นได้ ทว่าไม้ชี้กระดานนั้นกลับถูกวัฒนธรรมการสร้างความกลัวเพื่อง่ายต่อการปกครองครอบงำจนมีวิวัฒนาการกลายเป็นไม้เรียวอาวุธคู่กาย หากใครกระทำผิดหรือไม่เข้าใจในเนื้อหา ไม้เรียวนี้จะถูกตีเข้าไปยังผู้เรียน จนกลายเป็นพฤติกรรมที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างช้านาน

ความรุนแรงที่ถูกซ่อนอยู่ใต้พรมระบบการศึกษา ภัยร้ายที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ มณี อั่วหงวน หรือ “ครูน้อย” โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว จ.พิจิตร บอกเล่าประสบการณ์การใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการควบคุมผู้เรียนตลอดชีวิตการเป็นครูร่วม 30 ปี จนได้รับฉายาลับหลังว่า “แม่เสือ” จากผู้เรียนที่เขารัก ผ่านเวทีช่วงครูทอล์ค งานเวทีเครือข่ายแสดงพลัง สื่อสารสังคม : ขยายพื้นที่การเรียนรู้ข้ามขอบรั้วโรงเรียน จ.พิจิตร

“เมื่อก่อนครูน้อยเป็นคนมีบุคลิกดูดุ เด็ก ๆ มักจะกลัว เวลาเดินไปไหนเด็กก็ลนลานจนมีฉายาลับหลัง แล้วถูกกล่าวขานกันประมาณว่า ก่อนที่จะเข้าไปหาเราต้องดูอารมณ์เราด้วยนะ หัวคิ้วเราขมวดหรือเปล่าระวังจะโดน”

บุคลิกเคร่งขรึม อันน่าเกรงขามของครูน้อยกลายเป็นสิ่งที่ช่วยควบคุมพฤติกรรมของผู้เรียน ผ่านการสร้างความกลัวที่เป็นแรงเสียดทานชั้นยอดของความดื้อรั้น หากความกลัวนี้ถูกใช้งานในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งผู้อยู่ภายใต้การควบคุมจะประพฤติตามกรอบกำหนดของผู้มีอำนาจเสมอเพื่อรอดพ้นจากภัยความกลัว จนกลายเป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนจดจำเพียงแต่ความโหดร้าย บุคลิกที่ใช้อารมณ์ และจะเข้าหาก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น ส่งผลให้ความกลัวมาบดบังความดีงามในหน้าที่ครูที่ครูน้อยตั้งใจปฏิบัติ

“เราก็คิดว่าสิ่งที่เราทำมาตลอดชีวิตของการเป็นครู เราใส่ใจดูแลและเตรียมการสอนเขา เขาไม่ได้เห็นความดี เห็นความจริงใจของเราเลยเพราะเส้นทางที่เราเคยใช้ เช่น ความเข้มงวด ความเจ้าระเบียบ และการลงโทษ เรารู้สึกว่าเด็กเขากลัวเรานะ เขายอมเรา แต่ลึก ๆ เราแทบจะยังเข้าไปแตะใจเขาไม่ถึง เราจึงคิดว่ามันน่าจะมีวิธีการอะไรที่มันดีกว่าการทำโทษ แล้วเราสามารถได้ใจ และเข้าไปแตะความรู้สึกจริง ๆ ของเด็กได้”

การสะท้อนตัวตนครั้งนั้นได้ขยายภาพกำแพงจากความกลัวที่สร้างระยะห่างระหว่างครูกับผู้เรียน ระยะห่างที่จุกอกของคนเป็นครู เกิดการกระตุ้นให้ครูน้อยออกเดินทางเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพภายในของตน จนกระทั่งทางมูลนิธิใจกระทิง ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ก่อตั้งโครงการนิเวศการเรียนรู้แห่งความสุขและความหมาย :  การพัฒนาศักยภาพโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.พิจิตร ขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร ครู นักเรียน ชุมชน รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาจากเดิมไปสู่การศึกษาที่เป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมายให้แก่ผู้เรียน โดยมีโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวเป็นหนึ่งในเครือข่ายการพัฒนา

จากห้องเรียนที่หม่นหมองด้วยความกลัว…ถูกส่องสว่างด้วยพลังห้องเรียนแห่งรัก

หลังจากที่ครูน้อยได้เข้าร่วมกิจกรรมตลาดวิชา : เติมเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง การอบรมที่เน้นให้ครูได้ลองปฏิบัติจริงจนสามารถนำทักษะไปปรับใช้กับห้องเรียนได้ ครูน้อยได้ค้นพบสิ่งใหม่ที่ตนต้องการ พกเครื่องมือที่เปิดกว้างทำความเข้าใจความหลากหลายของผู้เรียนไปปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ และเติมกำลังพร้อมจะถ่ายทอดแนวคิดนี้สู่คนรอบข้าง

ครูน้อยย้ำชัดว่ามีการนำทักษะมาปรับใช้จริงในชีวิตของตน “วิชาที่เอามาใช้ในห้องเรียนก็มีวิชาห้องเรียนแห่งรัก และวิชา Coaching”

‘ห้องเรียนแห่งรัก’ คือวิชาที่ว่าด้วยการสร้างพื้นที่แห่งความสุข ครูมีหน้าที่สร้างบรรยากาศ พื้นที่ในห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและสร้างความเข้าใจแก่ผู้เรียน

“เด็กของครูน้อยมีดื้อ ๆ หลายคน ที่เขาชอบทำอะไรแปลก ๆ แต่ก่อนครูน้อยก็จะใช้วิธีการลงโทษด้วยการตี ทว่าปัจจุบันหลังจากเข้าร่วมห้องเรียนแห่งรัก ใช้วิธีการให้เด็กเข้ามาพูดคุย มาทำความใจกัน เด็กก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม”

วิชาถัดมาที่ลองปรับใช้กับผู้เรียน ครูน้อยเลือกวิชา Coaching วิชาที่ว่าด้วยการทำความเข้าใจผ่านการรับฟัง สัมผัสและดึงศักยภาพของอีกฝ่าย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของเขาเอง

“โรงเรียนมีเด็กที่ชอบทะเลาะกันบ่อย ๆ พี่ม. 6 จะชอบรังแกน้อง เมื่อก่อนเราก็ตีเหมือนกัน ตอนนี้เราก็จะเรียกพวกเขามาที่ห้องสมุด มาพูดคุยกันระหว่างน้องกับพี่ ให้ต่างคนต่างแสดงความรู้สึกของแต่ละคนออกมา บางทีไม่ใช่แค่การทะเลาะกัน แต่พยายามถามเขาว่าเหตุผลมันเกิดจากอะไร เพื่อทำความเข้าใจระหว่างกัน”

การเปิดกว้างรับฟังคงเป็นเรื่องยากต่อห้วงความรู้สึก ทั้งเสียใจ ทุกข์ใจกับสิ่งที่ตนเองได้พลั้งไป แต่การจมปลักไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงเท่านั้นผลักดันให้เดินหน้าต่อไป

“เราก็ทบทวนในใจ และเริ่มเปลี่ยนตัวเอง จากคนที่หน้านิ่ง ๆ เฉย ๆ เด็กเห็นก็ต่างกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย เราเริ่มไม่ทักท้วงเด็กเมื่อเขาไม่สวัสดีหรือเคารพเรา เราเริ่มยิ้มแล้วทักทายพวกเขาก่อน”

ครูน้อยเปลี่ยนแล้ว คนอื่นก็เปลี่ยนด้วย

อาณาเขตแห่งความเข้าใจเป็นพลังสำคัญของการเรียนรู้

“เบื่อจริง ๆ เลย อยู่บ้านก็โดนตี มาโรงเรียนครูจะเรียกมาตีอีกใช่ไหม” คำบ่นของเด็กที่ครูน้อยมักได้ยินพื้นที่ห้องเรียนยังแคบไปสำหรับการทำความเข้าใจเด็กคนหนึ่ง เด็กโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวมีทั้งคนที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่น และครอบครัวที่มีปัญหา ครูกลายเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งในชีวิต หากครูเข้าใจแต่สถาบันครอบครัวยังซ้ำเติมเด็กคนนั้นจะได้รับพลังความเข้าใจได้อย่างไร 

“เด็กทุกคนต่างต้องการความเข้าใจจากคนรอบข้าง ทั้งเพื่อน ครู และครอบครัว ก็เลยเริ่มเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับคนเหล่านั้น ขณะเดียวกันผู้ปกครองมักจะบอกเราเสมอว่าถ้าลูกฉันดื้อ ครูตีได้เลยนะ ตอนนี้ผู้ปกครองเริ่มเปลี่ยนที่จะฟัง และเข้าไปสัมผัสผ่านหัวใจของเด็ก”

ครูน้อยแสดงจุดยืนชัดเจนผ่านการสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น อย่างเพิ่งทำโทษด้วยการตี ลองฟังเขาว่าเขาคิดอะไร ทำไมถึงทำอย่างนั้น ถ่ายทอดวิธีการทำความเข้าใจอย่างไม่ตัดสิน หวังพึ่งพาความแข็งแรงจากสถาบันครอบครัว

เมื่ออาณาเขตชีวิตไม่ได้อยู่แค่รั้วโรงเรียน

บ้าน ชุมชน และโรงเรียนล้วนเป็นหัวใจหลักสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพชีวิตเด็กคนหนึ่งให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของสังคมต่อไปในอนาคต ดังนั้นขอบเขตการเรียนรู้และการสร้างความเข้าใจไม่ควรมีพื้นที่ปลอดภัยแค่ในโรงเรียนเท่านั้น สังคมควรหันกลับมาใส่ใจถึงความรุนแรงที่แฝงอยู่ใต้พรมการศึกษาไม่ว่าจะเป็น การทำโทษด้วยการตี หรือการใช้ความรุนแรงผ่านวาจาต่าง ๆ ที่สร้างให้เกิดความกลัว เพราะความกลัวจะเป็นกรอบรัดเด็กจนส่งผลให้เด็กไม่กล้าแม้แต่จะหาสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือไม่กล้าแม้แต่จะเป็นตัวของตัวเอง จริงอยู่ที่สิ่งมีชีวิตเมื่อเกิดความกลัวจะไม่กล้าปฏิบัตินอกกรอบสิ่งนั้น การควบคุมพฤติกรรมให้มนุษย์เป็นไปในทิศทางเดียวกันจะช่วยให้ง่ายต่อการปกครอง  ทว่าสังคมกลับลืมตั้งคำถามถึงความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ที่มีความถนัด ความสนใจแบบจำเพาะในตัวบุคคล เมื่อความหลากหลายถูกเพิกเฉย การสร้างสรรค์สังคมก็หยุดชะงักตาม

ครูน้อยจึงทิ้งท้ายในฐานะที่ตนเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง อยากสะท้อนให้วงกว้างได้ตระหนักถึงระบบการศึกษาที่ผิดแปลกและสร้างภาพฝันในอนาคตที่เปี่ยมด้วยความเข้าใจที่หลากหลายร่วมกัน

“ครูอยากให้เด็กของครู พัฒนาตัวเอง และสามารถเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ มีทางเลือกทางการศึกษาที่เหมาะกับตัวเขาเอง และประสบผลสำเร็จในชีวิตในแบบของเขา ไม่อยากให้โรงเรียนกำหนดกรอบหรือหลักสูตรที่ตัดสินไปในทิศทางเดียว หลักสูตรมันน่าจะเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้กับเด็กมากกว่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่ามองแค่ว่าคุณต้องทำงานตามนโยบาย มันไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเด็กจริง”

หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายที่มีอำนาจอย่างฝ่ายบริหารการศึกษาผลิตหลักสูตรผ่านการใช้ความเข้าใจ เปิดกว้างรับฟังความหลากหลายของบริบทสังคมไทยมากขึ้น การพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ และบรรยากาศที่ทำงานด้วยความเข้าใจคงจะสร้างการเรียนรู้อันเปี่ยมพลังให้แก่เด็กได้ในที่สุด การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยกรอบความกลัวคงยังไม่ตอบโจทย์ต่อพัฒนาการอันหลากหลายของความเป็นมนุษย์ ความกลัวจะพรากเสน่ห์สำคัญของมนุษย์ไป 

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/PartnershipschoolAgency

Your email address will not be published.