Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา คลังความรู้ คลังความรู้ บทความ บทความ / บทสัมภาษณ์

แนวคิด Learning Organization: ขยายการเรียนรู้ข้ามขอบรั้วโรงเรียน2 min read

Reading Time: 2 minutes บทสะท้อนการเรียนรู้ผ่านงานเวทีเครือข่ายแสดงพลังสื่อสารสังคม โรงเรียนร่วมพัฒนา จังหวัดพิจิตร โดยศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช Dec 28, 2022 2 min

แนวคิด Learning Organization: ขยายการเรียนรู้ข้ามขอบรั้วโรงเรียน2 min read

Reading Time: 2 minutes

บทสะท้อนการเรียนรู้ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

เวทีเครือข่ายแสดงพลังสื่อสารสังคม โรงเรียนร่วมพัฒนา จังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเครือข่าย และภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันพัฒนา นิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและความหมาย ให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนในพื้นที่จังหวัดพิจิตร โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิใจกระทิง ดำเนินโครงการ “นิเวศการเรียนรู้แห่งความสุข และความหมาย: การพัฒนาศักยภาพโรงเรียนร่วมพัฒนา จังหวัดพิจิตร” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นการสนับสนุนการจัดการศึกษาของ 4 โรงเรียนในจังหวัดพิจิตรที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ได้แก่ โรงเรียนบางมูลนาก (ราษฎร์อุทิศ) โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ และโรงเรียนบ้านน้อย “ปรึกอุทิศ” โดยมีวัตถุประสงค์ในการ พัฒนาศักยภาพครู ผู้บริหาร นักเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาจากเดิมไปสู่การศึกษาที่เป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุข และมีความหมาย

ภายในงานมีกิจกรรมละครสั้นของนักเรียน และเรื่องเล่าของครู เพื่อสะท้อนการเรียนรู้ข้ามรั้วโรงเรียน และการที่ครูก้าวข้ามใจตนเองสู่ใจนักเรียน ทำให้ครูได้ใจนักเรียน ปลุกความกระตือรือร้น และความสุขต่อการเรียนของนักเรียนที่หากเกิดขึ้นกับครูส่วนใหญ่ของโรงเรียนก็จะมีคุณค่ามหาศาลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดย เว็บไซต์ The Active เขียนเล่าเหตุการณ์ในวันนั้น ลงรายละเอียดดีเยี่ยม อ่านได้ที่ https://theactive.net/news/learning-20221212/

 ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช  ยังให้ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนโครงการ “นิเวศการเรียนรู้แห่งความสุข และความหมาย: การพัฒนาศักยภาพโรงเรียนร่วมพัฒนา จังหวัดพิจิตร” ไว้ 3 ข้อ ดังนี้

  1. ต้องหาทางหนุนให้โรงเรียนสร้างข้อมูลหลักฐานพิสูจน์ผลงานตามเป้าหมายที่แท้จริงให้ได้ โดยการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่วัดครบทั้ง V-A-S-K ซึ่ง V-A-S-K ในที่นี้หมายถึง
  • V คือ Values หรือค่านิยม ซึ่งการศึกษาต้องสร้างค่านิยมให้เด็กด้วย เช่น การเป็นคนดี เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เห็นแก่ผู้อื่น
  • A คือ attitude เจตคติในทางที่ดี หมายถึงวิธีคิด คิดอย่างมีคุณธรรม คิดเชิงบวก คิดอย่างเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นเจตคติเชิงบวก การศึกษาต้องฝึกให้เด็กมีเจตคติเชิงบวก ลดละเจตคติเชิงลบ ที่อาจติดมาจากทางบ้าน  หรือจากสังคมแวดล้อม
  • S คือ skills ทักษะในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางด้านร่างกาย ทักษะทางด้านการคิด ทักษะทางด้านวิชาชีพ หรือที่เราเรียกว่า ทักษะในศตวรรษที่ 21
  • K คือ knowledge  ความรู้ ซึ่งการเรียนรู้สมัยนี้ต้องไม่ใช่แค่ให้มีความรู้ แต่ต้องเพื่อเอาความรู้ไปใช้เป็น หรือมีทักษะในการใช้ความรู้   

โดยการวัดครบทั้ง V-A-S-K ใช้วัดตอนเปิดปีการศึกษา และตอนจบปีการศึกษา คำนวณออกมาเป็น Effect Size ของนักเรียนทั้งชั้น และของนักเรียนเป็นรายคน เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการเรียนรู้นั้น ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้จริง

2. การขยายการเรียนรู้ข้ามขอบรั้วโรงเรียนเป็น “เครื่องมือ” (means หรือ tools) ไม่ใช่ “เป้าหมาย” (end) เป้าหมายสุดท้ายคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome) ของนักเรียน ที่เราต้องร่วมกันพิสูจน์ให้ได้ว่า intervention ที่โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จังหวัดพิจิตร หนุนให้ ๔ โรงเรียนดำเนินการนั้น ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเรียนรู้ข้ามขอบรั้วโรงเรียน และระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและความหมาย แต่ไปจนถึงเป้าหมายสุดท้าย คือผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กที่ครบถ้วน และมีคุณภาพสูง รวมทั้งอย่างมีความเสมอภาคหรือถ้วนหน้าต่อนักเรียน คือไม่ทิ้งนักเรียนคนใดไว้ข้างหลัง หัวข้อของเป้าหมายโครงการจึงไม่ควรหยุดอยู่แค่ “ขยายการเรียนรู้ข้ามขอบรั้วโรงเรียน” ต้องต่อด้วย “เพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่ ทั้ง high quality  และ high equity” โดยหนุนให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้แบบ active learning เพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งเสนอให้พิจารณาแนะนำแนวทาง proactive learning ให้แก่โรงเรียนในโครงการ เพื่อเป็นต้นแบบโรงเรียน ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (transform) ระบบการศึกษาไทย ให้เป็นระบบการศึกษาที่สูงทั้งด้านคุณภาพ และความเสมอภาค

3. การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องหนุนให้โรงเรียนมีทักษะหมุนวงจรการเรียนรู้ของตน วงจรนี้ชื่อว่า Kolb’s Experiential Learning Cycle โดยต้องเน้นที่การเรียนรู้ระดับหลักการหรือทฤษฎี จากการปฏิบัติ และโรงเรียนต้องใช้ข้อมูลการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน เป็นข้อมูล “ป้อนไปข้างหน้า” (feed forward) เพื่อปรับปรุงไม่เพียงวิธีการทำงาน แต่เกิดการเรียนรู้ความเข้าใจในมิติที่ลึกในเชิงเปลี่ยนหลักการตามแนวทางของ double-loop learning

อย่างไรก็ตาม หากบรรลุทั้ง 3 หัวข้อที่กล่าวมาข้างต้น จะเรียกได้ว่าเป็น Learning Organization คือเป็นโรงเรียนที่เรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง สู่การทำหน้าที่โรงเรียนที่ส่งมอบผลลัพธ์ได้ตามที่สังคมคาดหวัง คือนักเรียนเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ครบด้าน คุณภาพสูง เสมอภาค และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน (relevance) หมายความว่า บางโรงเรียนอาจไม่เน้นวิชาการเด่น แต่เน้นปฏิบัติเก่ง เพื่อไปเรียนต่อสาขาอาชีวศึกษา แต่ก็ยังต้องฝึกให้นักเรียนมีทักษะเรียนรู้ระดับหลักการจากการปฏิบัติ (ไม่หยุดอยู่แค่เรียนรู้วิธีการ) เอาไว้ใช้ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning)

Your email address will not be published.