Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

‘เรียนในโลกแห่งความจริง’ ชุมชนคือโรงเรียน ส่วนนักเรียนคือทุกคน1 min read

Reading Time: 2 minutes การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากการหาความรู้และความหมายด้วยตนเอง โดยมี ‘ครู’ ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความใคร่รู้ และเป็นผู้ชี้แนะในระหว่างเรียน ซึ่งต่างจากครูในคราบของการศึกษาแบบเดิม ที่ครอบงำและถ่ายทอดความรู้ทางเดียว ด้วยอำนาจและวาทกรรมของการเป็น ‘ผู้ให้’ Mar 13, 2023 2 min

‘เรียนในโลกแห่งความจริง’ ชุมชนคือโรงเรียน ส่วนนักเรียนคือทุกคน1 min read

Reading Time: 2 minutes

การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากการหาความรู้และความหมายด้วยตนเอง โดยมี ‘ครู’ ทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความใคร่รู้ และเป็นผู้ชี้แนะในระหว่างเรียน ซึ่งต่างจากครูในคราบของการศึกษาแบบเดิม ที่ครอบงำและถ่ายทอดความรู้ทางเดียว ด้วยอำนาจและวาทกรรมของการเป็น ‘ผู้ให้’

วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับห้องเรียนที่ต่างออกไปจากความคุ้นชิน นั่นคือ ‘การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน’ หรือการเรียนจาก ‘โลกแห่งความจริง’ เป็นกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงเนื้อหาสาระในบทเรียนให้สัมพันธ์กับชุมชน ผ่านการบูรณาการความรู้ในหลายศาสตร์ เน้นทักษะการคิด การแก้ปัญหา เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และเชื่อมโยงเข้ากับบริบทชีวิต

กระบวนการสำคัญของการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าว คือการสะท้อนความคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและความเข้าใจในชุมชนมากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจสภาพปัญหา ความต้องการ หรือลักษณะชุมชนของตน และพัฒนาผู้เรียนด้านความรู้และทักษะอย่างหลากหลาย เช่น วิเคราะห์สังเคราะห์ความคิดเชิงวิพากษ์ ตระหนักในความรับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รวมทั้งเพื่อตอบสนอง ความต้องการที่แท้จริงของชุมชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวก เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน

คำถามสำคัญคือ ในระบบการศึกษาที่ยึดโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานที่ว่า จะเป็นจริงได้หรือไม่ และอย่างไร

ถัดจากนี้ คือเรื่องราวของกลุ่มคุณครูและนักการศึกษา ที่นิยามตนเองว่า ‘นักพัฒนา’ โดยการถอดรื้อบทบาทครูตามขนบ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน ทั้งในแง่การเรียนรู้ ต่อยอดวิชาท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาชุมชน ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนา

ทั้งสามตัวอย่าง คือ ก่อการครูอีสานใต้, ก่อการครูภาคใต้, และก่อการครูกาฬสินธุ์ ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นไปได้หลายรูปแบบ และสามารถสัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียน เพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายและนำไปใช้ได้จริง และยังตอบคลาสสิกได้ว่า ‘เราเรียนสิ่งนี้ไปทำไม มันมีประโยชน์อย่างไร’

ศิลปะ กลับ บ้าน: บนฐานของชุมชน

ก่อการครู 3 ภูพลัส คือเครือข่ายที่ประกอบด้วยกลุ่มภูกระดึง, อำเภอสีชมพู และภูผาม่าน ทั้งสามพื้นที่อยู่แถบตะเข็บชายแดน หรือพื้นที่ชายของของจังหวัดเลยและขอนแก่น มีต้นทุนสำคัญคือ ทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งภูเขา แม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสาขา และความหลากหลายทางชีวภาพ แน่นอนว่า ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ หมายถึงเรื่องราวชีวิตของผู้คน และประวัติศาสตร์การดิ้นรนของสรรพชีวิต

ก่อการครู 3 ภูพลัส รวมตัวกันเพื่อสร้างการเรียนรู้บนฐานของชุมชนด้วยแนวคิด ‘การเรียนรู้แบบองค์รวม’ (hand heart and head) พวกเขาใช้ ‘ศิลปะ’ เป็นเครื่องมือหลักในการให้ผู้เรียนสื่อสารและสร้างสรรค์ระหว่างกัน มากกว่านั้น พวกเขานิยามบทบาทของ ‘ครู’ ด้วยคำว่า ‘นักพัฒนา’ เพื่อขยายกรอบการทำงาน จากห้องเรียนสู่พื้นที่ของชุมชน

พวกเขาออกแบบกิจกรรมผ่านการนำทางผู้เรียนลงสนามชุมชน เช่น ห้องเรียนประติมากรรมผ่าน street art และสถาปัตยกรรมของเมือง หรือห้องเรียนเกษตรกรรม โดยมีปัญหาของเกษตรกรเป็นโจทย์

“พื้นที่ของสามภูนี้ก็เป็นเกษตรกรที่ปลูกอ้อยเป็นหลัก การเผา การจัดการป่าเชิงเดี่ยวอย่างป่าอ้อยก็มีการเผาแบบเต็มที่มาก หรือแม้กระทั่งพื้นที่ทางถนนที่มีปัญหาลมพายุ หน้าฝนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ส่วนหน้าแล้งก็เป็นฝุ่น และยังมีปัญหาอีกเยอะมากเลย” สัญญา มัครินทร์กล่าว

ทั้งแง่งามและสภาพปัญหา คือบทเรียนสำคัญในการพาผู้เรียนสู่กระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ และตระหนักในความรับผิดชอบในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่ครั้นจะพาผู้เรียนไปตะลุยแก้ปัญหาชุมชนก็ดูจะเคร่งเครียดเกินวัย สิ่งที่กลุ่มก่อการครู 3 ภูพลัส ออกแบบคือการใช้ ‘การท่องเที่ยว’ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเรียนรู้ และสภาพปัญหาของผู้คน

พวกเขาไม่ได้ทำงานลำพัง แต่แสวงหาเครือข่ายเท่าที่จะหาได้ เช่นหนุ่มสาวที่กลับบ้านเพื่อสร้างอาชีพในชุมชน เกษตรกรรุ่นใหม่ นักเรียน และการเมืองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ สร้างห้องเรียนนอกรั้วโรงเรียน ชวนศิลปินเอาหินในชุมชนมาทำเป็นงานศิลปะ ชวนคนทำกาแฟมาต่อยอดกาแฟในชุมชน ชักชวนผู้สูงวัยมาเป็นครูภูมิปัญญา และสร้างนิเวศการเรียนรู้ ที่ทุกคนเป็นทั้งครูและนักเรียนในเวลาเดียวกัน

ถึงที่สุด ก่อการครู 3 ภูพลัส ได้สร้าง มหา’ลัย ไทบ้าน ห้องเรียนชุมชนและธรรมชาติ ที่สามารถขับเคลื่อนปัญหาเชิงพื้นที่ ต่อยอดการเรียนรู้ของเยาวชน และสร้างรายได้ให้ชุมชนในเวลาเดียวกัน

การเรียนรู้ในชุมชนจากโจทย์ในชุมชน สามารถตั้งโจทย์และดำเนินการได้หลากหลายแนวทางบริบทพื้นที่และความสนใจ เช่น การจัดการขยะ การจัดการแม่น้ำลำคลอง การฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หรือกระทั่งการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรจากการรุกคืบของทุนสามานย์ เหล่านี้คือกระบวนการออกจากการเรียนในที่แคบสู่โลกกว้าง

หรอยเรียนที่เรินเรา: ห้องเรียนฐานสมรรถนะชุมชน

พื้นที่การทำงานของกลุ่ม ‘ก่อการครูภาคใต้’ ประกอบด้วย 1. ชุมชนท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 2. ชุมชนสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการติดตั้งเครื่องมือให้คุณครูในกลุ่ม คือ หนึ่ง – สามเหลี่ยมภูมินิเวศกับการออกแบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโลกจริง ประกอบด้วย ภูมินิเวศของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ของทรัพยากร ผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน และประเด็นในการศึกษา รวมทั้งติดตั้งเรียนรู้ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) และสุนทรียสนทนา (Dialogue) คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ เครื่องมือนี้สำคัญมากในการทำงานเป็นทีม เพราะหลายครั้ง ‘การฟังไม่เป็น’ มักนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด

สอง-การออกแบบห้องเรียนแบบ Authentic Learning หรือการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง ซึ่งเหมาะกับการเรียนที่เน้นสมรรถนะของผู้เรียน โดยการลงมือทำ นำไปใช้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงได้ องค์ประกอบสำคัญของเครื่องมือนี้คือ

  • การออกแบบกระบวนการให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงของผู้เรียนและทักษะที่ต้องการจะสอน
  • มีโจทย์คำถามที่เป็นปลายเปิด เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากประเด็นที่ตั้งไว้และสามารถนำไปปรับใช้ได้
  • ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกัน (Collaboration) เพราะเป็นทักษะสำคัญของชีวิต

ตัวอย่างกิจกรรมของกลุ่มก่อการครูภาคใต้ เช่น การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยการเพาะเห็ด การศึกษาห่วงโซ่อาหารผ่าน ‘ท้องนา’ ของชุมชน การเรียนศิลปะ เราขาคณิต พีชคณิต ผ่านการออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ

กาฬสินธุ์ศึกษา ห้องเรียน ‘ดินดำ น้ำชุ่ม’

‘ดินดำ น้ำชุ่ม’ คือคำขนานนานดินแดนกาฬสินธุ์ พื้นที่อันความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตที่เกาะเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรมและการประมงพื้นบ้าน

ปกติเด็กๆ ในชุมชน ตำบลหัวหิน อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์มักเรียนรู้ผ่านกระบวนการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ ทว่าต้นปี 2563 พื้นที่เสี่ยงภัยจากการระบาดโควิด-19 โรงเรียนถูกปิด เพื่อเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ เกิดภาวะ Learning Loss หรือ ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เหตุเพราะการเรียนออนไลน์ในสภาวะจำเป็น สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี พื้นที่ และโอกาส

เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘กลุ่มก่อการครูกาฬสินธุ์’ จึงย้ายห้องเรียนสู้ฐานชุมชนบนแนวคิดที่ว่า ‘เมื่อเด็กไปโรงเรียนไม่ได้ เราก็พาการเรียนรู้มาหาผู้เรียน’ ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ โดยมีชุมชนเป็นต้นทุนสำคัญ

กิจกรรมที่ 1 คือ Nature Mandala หาวัสดุริมเขื่อนมาสื่อสาร เชื่อมโยงตัวเด็กเข้ากับวัสดุธรรมชาติ แล้วพาไปถ่ายภาพ ให้เลือกมุมหรือฉากที่ประทับใจ เชื่อมตัวเด็กให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

กิจกรรมที่ 2 พาเด็กปั่นจักรยานสำรวจภูมินิเวศของชุมชนว่าเป็นอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรบ้างจากสิ่งแวดล้อม ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน และตามมาด้วยประเด็นที่เด็กสนใจ จะได้ประเด็นที่แตกต่างหลากหลายมาก และท้ายที่สุด เด็กๆ จะได้เป็นเจ้าของประเด็นการเรียนรู้เอง

กิจกรรมที่ 3 การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เมื่อเด็กได้ประเด็นแล้ว ก็ชวนคิดชวนคุยต่อว่าอยากสื่อสารในรูปแบบไหน เช่น เล่าเรื่อง ถ่ายภาพ ทำคลิป เขียนบทกวี แต่งเพลง แล้วแต่ความชอบของเด็ก

หลังการใช้การเรียนรู้โดยมีชุมชนเป็นฐาน พวกเขาเห็นตรงกันว่า รูปแบบการเรียนรู้เช่นนี้สามารถเชื่อมชีวิตจริงกับการเรียนของผู้เรียนได้ พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าของชุมชน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย ขณะเดียวกัน คุณครูก็ตระหนักได้ว่า การเรียนรู้เป็นไปได้หลายรูปแบบที่นอกเหนือจากมายาคติของสังคม ผู้เรียนมีศักยภาพที่หลากหลาย และที่สำคัญ ไม่มีเด็กโง่ในนิเวศการเรียนรู้

Your email address will not be published.