Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

ห้องเรียนที่ (หัวใจ) ปลอดภัย  สำคัญแค่ไหนต่อการเรียนรู้1 min read

Reading Time: 2 minutes พื้นที่ปลอดภัยที่เพียงพอ จะทำให้บรรยากาศการเรียนรู้งอกงาม ผู้เรียนและผู้สอนเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ สามารถแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น แนวคิดต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวถูกตัดสินผิดถูกดีเลว Mar 27, 2023 2 min

ห้องเรียนที่ (หัวใจ) ปลอดภัย  สำคัญแค่ไหนต่อการเรียนรู้1 min read

Reading Time: 2 minutes

“ห้องเรียนปลอดภัยคือพื้นที่ที่เด็กกล้าพูด มีความไว้ใจซึ่งกันและกันค่ะ”

“พื้นที่ปลอดภัยเหรอ น่าจะเป็นพื้นที่ที่เป็นตัวเองได้แบบไม่ต้องกังวล จะทำอะไรก็มีความรู้สึกอิสระ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกหรือจะผิดนะ”

“น่าจะเป็นการยอมรับความแตกต่าง ความคิดเห็นที่แตกต่าง”

“เป็นพื้นที่ที่ถ้าทำผิดไปแล้วจะมีคนให้อภัย ถ้าทำถูกก็จะรู้สึกว่าทุกคนยอมรับ”

“ที่ๆ แสดงออกโดยไม่ถูกคุกคาม”

“นักเรียนมีความสบายใจที่จะอยู่พื้นที่นั้น อยากจะพูดอยากจะปรึกษาอะไรก็ทำได้เลย โดยไม่รู้สึกว่าติดขัดอะไร”

“พื้นที่ที่มีแสงแห่งความรักและมีความสุขให้กับเรา”

เราสามารถนิยามได้ว่า พื้นที่ปลอดภัยคือ พื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยจากการกล่าวโทษต่อว่าตัวเอง และเป็นพื้นที่ ๆ สามารถรับฟังตัวเองและเป็นตัวเองได้โดยปราศจากการตัดสินจากคนอื่น

พื้นที่ปลอดภัยที่เพียงพอ จะทำให้บรรยากาศการเรียนรู้งอกงาม ผู้เรียนและผู้สอนเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ สามารถแสดงความรู้สึก ความคิดเห็น แนวคิดต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวถูกตัดสินผิดถูกดีเลว

ขณะเดียวกัน พื้นที่ปลอดภัยคือความท้าทายที่สำคัญ เพราะเมื่อผู้คนจับต้องได้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ ในการเป็นตัวเอง และแสดงความเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา ย่อมเกิดเป็นสังคมแห่งความแตกต่างหลากหลาย พื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากพอ จะท้าทายและผลักดันให้เรากล้าเผชิญหน้าเพื่อแลกเปลี่ยน ถกเถียง และปะทะกันทางความคิด และเมื่อเกิดความขัดแย้ง ความปลอดภัยในเชิงพื้นที่และจิตใจ ทำสร้างความเข้าใจแบบไม่มีอคติใดๆ และเกิดกระบวนการที่นำไปสู่การเติบโตภายในต่อไป

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ ‘ครู’ ที่มีอำนาจสูงสุดในห้องเรียน มองเห็นโครงสร้างอำนาจ และทลายความสัมพันธ์เดิม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใหม่ที่ปราศจากผู้คุมกฎ แห่งความถูกต้อง โดยใช้หัวใจรับฟัง เคารพความคิดเห็นและความต้องการ และไม่ตัดสินว่า เด็กตรงหน้าเป็นเพียงลูกศิษย์ในโอวาท หรือแค่เด็กน้อยด้อยประสบการณ์ที่ยังไม่เคยอาบน้ำร้อน

ห้องที่ 1: Learn to listen

ห้องเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในจังหวัดหนองบัวลำภู ครูกัปตัน (ชื่อจริง นามสกุล) กำลังเผชิญเผชิญหน้ากับภาวะ Learning loss ของนักเรียน เด็กๆ ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ ซึ่งสะท้อนผ่านผลการเรียน และห้องเรียนที่ไร้ชีวิตชีวา ราวกับว่า เด็กๆ กำลังเดินไกลออกไป ขณะที่ครูกัปตัน ก็พยายามคว้าดึงความสัมพันธ์กับผู้เรียนอย่างสุดความสามารถ

“ช่วงปิดเทอม นักเรียนขอผมต้องกลับมาที่โรงเรียน เพื่อมาดำเนินการแก้ 0, ร, มส เราก็เลยว่า วิธีการที่ผมใช้กับเด็กนักเรียนตอนนั้นก็คือสร้างพื้นที่ปลอดภัยส่วนตัว เราเจอนักเรียนที่ไหน เราลุกจากทุกอย่างแล้วชวนเขามานั่ง เจอเขาอยู่โรงอาหารก็ซื้อน้ำซื้ออะไรมานั่งกินกับเขา แล้วเราก็ให้เขาเล่าเรื่องอะไรก็ได้ที่อยากเล่า”

ครูกัปตัน เริ่มจากการถอดบทบาทครู แล้วพูดคุยกับนักเรียนในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ความสัมพันธ์นี้ใช้เวลาไม่น้อยในการก่อรูป และเมื่อนักเรียนรู้สึกปลอดภัยและอนุญาตให้คุณครูเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ของเขา ที่สุดแล้ว เขาจะสื่อสารถึงความรู้สึกภายใน ปัญหาที่กำลังเผชิญ ตรงนี้เองที่ครูต้องทำหน้าที่ในการโอบความรู้สึกนานัปการของเด็กๆ เพื่อเสริมสร้าง Self-Esteem (การเห็นคุณค่าในตัวเอง ให้เขากล้าที่จะออกแบบทางเลือก เส้นทางในอนาคตที่เหมาะสมกับตัวเองและบริบทแวดล้อมได้

“เด็กๆ เริ่มระบายๆ พอเริ่มระบายมาหลาย ๆ อย่างเขาเกิดความรู้สึกว่าฉันจะเศร้า ตันก็เลยใช้วิธีการต่อไปว่าอดีตที่หนูทำผิดพลาดมาหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ครูไม่เคยโกรธ ไม่มีใครเคยโกรธหนู ไม่มีใครรู้สึกแย่กับหนูเลย สิ่งที่ครูหวังในการตามมาตลอดคืออยากให้หนูรู้จักหน้าที่ รู้จักอนาคต”

ครูกัปตัน ใช้วิธีการค่อยๆ ตั้งคำถามเพื่อให้ผู้เรียนได้ Self-awareness (การเท่าทันตัวเอง) และ Critical Thinking (การคิดอย่างมีวิจารณญาณ) ตรงนี้เอง ครูอาจใช้กระบวนการโค้ช (Coaching) โดยการกระตุ้นให้ผู้เรียน (Coachee) เกิดการเรียนรู้จากภายใน เพื่อพัฒนาและแสดงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ผ่านการเรียนรู้ หาคำตอบ และตัดสินใจด้วยตนเอง

ประกอบกับทักษะสำคัญที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัย การฟังอย่างตั้งใจและเปิดรับ การถามเพื่อความเข้าใจและการเติบโต การให้เวลา ไม่กดดัน การใช้อำนาจอย่างเหมาะสม การเท่าทันตัวเองทั้งความรู้สึก ความคิด การทำข้อตกลงร่วมกัน

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่ผมพบได้ คือมือถือชักจะเริ่มเด้ง แชทนี้ไม่ใช่จากใครที่ไหนครับ คือแชทจากนักเรียนที่เขาเริ่มแชร์โมเม้นต์ บางวันเขาจะทักมาเรื่อย ๆ ว่า ครูครับวันนี้ผมได้เกรดมาหนึ่งตัวนะ แล้วถ่ายรูปมาให้เราว่านี่ผมได้แล้วหนึ่งตัวนะ หรือว่าจะเป็นโมเม้นต์ที่เหมือนว่า ครูครับผมแก้ได้แล้วหลายตัว ครูครับวิชานี้ทำอย่างไร ครูครับติดต่อครูคนนี้ได้ไหม มันเป็นเหมือนการที่เราเข้าไปหาเข้าแล้วเขาเปิดช่องทางให้เรายอมเข้าถึงตัวเขาจากปกติที่ไม่เคยครับ”

ห้องที่ 2: Learning how to learn

ไม่ต่างกันนัก ห้องเรียนของครูเสก ประสบกับผู้เรียนที่แบกรับสภาวะทางใจอันหนักอึ้ง สะท้อนผ่านบุคลิกภาพของผู้เรียนที่นิ่งเงียบ ไม่กระตือรือร้น และไม่สนใจในการเรียนรู้ในห้อง ที่สุดแล้ว ผู้เรียนไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในรายวิชาของครูเสกได้

“โมเม้นต์หนึ่งในห้องเรียนที่ทำเสมอเราอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยเขาคงจะเริ่มต้นกับที่ถนัด คือเริ่มต้นกับตัวเขาเอง อาจจะชวนเขาแค่หลับตา นิ่ง ๆ แล้วฟังสิ่งที่อยู่รอบ ๆ บางทีก็ใช้วิธีการให้เขาฟังและฟัง แล้วก็ทำ sound map วาดภาพหรือวาดเสียงที่อยู่รอบ ๆ ตัวเขาลงไป เราใช้กิจกรรมประมาณแค่ 10-15 นาที แล้วก็ฟังสะท้อนสัก 3-4 คนขึ้นมา ซึ่งโมเม้นต์นั้นก็ทำให้ห้องเรียนเงียบลง ทำให้รู้สึกเขาได้ฟัง”

อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแสดงออกที่แตกต่างกัน วิธีการเรียนรู้อันหลากหลายนั้น คือ learning differently (การเรียนรู้ที่แตกต่าง) ไม่ใช่ learning disabilities (ความบกพร่องทางการเรียนรู้) เพราะในความจริงนั้น ไม่ใช่ผู้เรียนบกพร่องหรือเรียนรู้ไม่ได้ แต่วิธีการเรียนรู้นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน หลายครั้งที่การศึกษามักมุ่งไปสู่ Learning outcomes ที่วางไว้ เมื่อถึงที่สุดแล้ว เราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามว่า ‘อะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนเรียนรู้ได้เอง’ เพราะสิ่งนี้ตั้งอยู่บนความชอบของผู้เรียน และเขาจะทำได้ดี ทว่าเรากลับไม่เคยค้นหาและส่งเสริมสิ่งนี้ให้พัฒนาต่อไปได้

กล่าวได้ว่า หากการศึกษาไม่เปลี่ยน กระบวนทัศน์ (paradigm) ด้านการเรียนรู้เสียใหม่ พื้นที่ปลอดภัยอาจไม่บรรลุได้อย่างสมบูรณ์ แม้ครูจะเป็นตัวแปรสำคัญ แต่ระบบก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ในการเอื้อรากฐานที่สำคัญต่อการสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่ดี

ห้องเรียนปลอดภัย สำคัญอย่างไร

ห้องเรียนปลอดภัยจะทำให้เด็กๆ กล้าแสดงออกถึงความคิดของเขาให้มากขึ้น เราจะได้รู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาคิดอย่างไร แล้วก็จะไม่ปิดกั้นความคิด การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกว่าปลอดภัย ผ่อนคลาย เขาก็กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น

“นักเรียนมีความสุข อยากเรียนรู้ ทำให้นักเรียนเปิดใจที่จะเรียนรู้ นักเรียนจะกล้าคุยกล้าคิด กล้าแลกเปลี่ยน นักเรียนถ้ารู้สึกปลอดภัยก็จะไม่มีสิ่งมา บล็อคการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่ เปิดใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ 

“มันทำให้เด็กสบายใจ อย่างน้อยเขารู้สึกว่าเขามีใคร มีใครสักคนหนึ่งที่เข้าใจ เพราะว่าจากที่เห็นบางทีเขาไม่ได้มองถึงเรื่องของวิชาการอย่างเดียว เมื่อเขามีใครเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนและมีคุณค่า วิชาการเราอาจจะให้ไปร้อย มันอาจจะไม่ได้เต็มที่หรอกแต่ว่ารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มันจะทำให้เขาอยากจะมีชีวิตหรืออยากจะใช้ชีวิตต่อๆ ไป

“เป็นอะไรที่เจ๋งมากเนอะ คำว่ามีคุณค่า ซึ่งเด็ก ๆ สมัยนี้อาจจะยังไม่ค่อยให้คุณค่ากับสิ่งตรงหน้ามากกว่าคุณค่าของตัวเอง

เพราะว่าเราจะเจอว่าเด็กยุคนี้เขาจะมีการมองว่านี่ซึมเศร้าหรือเปล่า เขารู้สึกว่าเขาตัวคนเดียวหรือเปล่า ก็รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยมันยังให้เรื่องของความรู้สึกอื่นนอกจากการเรียนด้วย 

 “นักเรียนก็จะกล้าที่จะปรึกษาปัญหาที่ไม่สามารถบอกใครได้ ทำให้เด็กมีตัวตน เหมือนกันดิน น้ำ และปุ๋ย ที่มีประโยชน์กับเด็ก ทำให้พวกเขามีความสุขในอนาคต อย่างน้อยเราก็เป็นปุ๋ยให้เขาได้หนึ่งอย่างจากสิบอย่าง ก็อาจจะเป็นปุ๋ยที่มีค่า เป็นปุ๋ยหลักเลยก็ได้นะครับ”

นักเรียนไทยใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน ในพื้นที่โรงเรียน และหมายถึง 1 ใน 3 ของช่วงชีวิตในวัยเยาวชน แวดล้อมของสถานศึกษาจึงสำคัญมากในการให้ความมั่นคงปลอดภัย ณ ช่วงเวลานั้นๆ ทั้งในมิติทางกายภาพ และด้านหัวจิตใจ และในทางกลับกัน โรงเรียนที่ไม่มีพื้นที่ปลอดภัย สร้างผลกระทบที่รุนแรง

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับครูจำนวนมากที่อาจยังไม่คุ้นชิน แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า มนุษย์เราต่างมองหาพื้นที่ปลอดภัยเป็นแรงหนุนในการเติบโตที่มั่นคง สังคมไทยเริ่มตระหนักในความจริงข้อนี้ พร้อมๆ กับครูไทย ที่นอกจากจะพยายามสร้างห้องเรียน โรงเรียน เป็นพื้นที่ปลอดภัย ครูเองก็ต้องการพื้นที่ปลอดภัยของตนเช่นกัน 

Your email address will not be published.