Korkankru

learning tools ก่อการครู กิจกรรม คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ โรงเรียนปล่อยแสง

“เกม” เปลี่ยนห้องเรียน ชั่วโมงความสุขของนักเรียนและครูเก๋ โรงเรียนมักกะสันพิทยา2 min read

May 19, 2023 3 min

“เกม” เปลี่ยนห้องเรียน ชั่วโมงความสุขของนักเรียนและครูเก๋ โรงเรียนมักกะสันพิทยา2 min read

Reading Time: 3 minutes

ร่วมเรียน ร่วมเล่น ในห้องเรียนวิชาเคมีของ ‘ครูเก๋’ สุดารัตน์ ประกอบมัย โรงเรียนมักกะสันพิทยา ที่เธอพัฒนาสื่อการสอนมาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนกระบวนการในคาบเรียน เปิดพื้นที่ให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างมีความสุข ได้ทั้งความรู้ ความสนุก ความเข้าใจในตนเองและผู้อื่น

“เดินสามช่อง ไป H ไฮโดรเจน!”
“ติ๊ง~” เสียงกดกระดิ่งดังขึ้น

นักเรียนนั่งล้อมวงเป็นกลุ่มเล็กๆ ทอยลูกเต๋า เดินหมาก จั่วการ์ดสีสันสดใส พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน นี่คือห้องเรียนวิชาเคมีของครูเก๋ สุดารัตน์ ประกอบมัย จากโรงเรียนมักกะสันพิทยา ผู้ใช้บอร์ดเกม “ธาตุและสารประกอบ” ที่เธอออกแบบและผลิตขึ้นมาเองเป็นสื่อในการเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนเคมีมากขึ้น

“พอพูดถึงเคมี ทุกคนจะยี้… ไม่ชอบเลยเคมี ต้องมาท่องจำตารางธาตุเยอะแยะ เราเลยอยากให้มีสื่อการเรียนรู้ที่เป็นมิตร เพื่อช่วยเสริมพื้นฐานการเรียนวิชาเคมีสำหรับเด็กที่เพิ่งขึ้นมา ม.ปลาย ได้สนุกกับเคมี เปิดใจให้กับเคมี”

ครูเก๋ค่อยๆ เล่าถึงการผลิตสื่อที่ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือ แต่ทำให้เด็กๆ เริ่มเปิดใจ ทั้งกับวิชาเรียน และกับครูผู้สอน ช่วยสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้สนุกสนาน มีความสุข จนกลายเป็นห้องเรียนที่ปลอดภัย สัมผัสถึงหัวใจ และมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม

สื่อการสอนเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เรื่องราวการสร้างห้องเรียนที่สนุกสนานของเธอเป็นแบบไหน มานั่งฟังครูเก๋เล่าไปพร้อมๆ กัน

‘ครูเก๋’ สุดารัตน์ ประกอบมัย

ครูผลิตสื่อ

“เราเป็นครูในโครงการ ‘ก่อการครู รุ่นที่ 2’ นับแต่บรรจุมา ปีนี้เป็นปีที่ 6 แล้ว เราชอบออกแบบการสอนให้สนุก สดใหม่กับนักเรียนอยู่เสมอ หาเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในห้องเรียนอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้มีสื่อของตัวเองเป็นชิ้นเป็นอัน พอทางโครงการก่อการครูเปิดวิชาการผลิตสื่อเพื่อใช้ในห้องเรียนที่สามารถทำเป็นผลงานทางวิชาการได้ด้วย ก็เลยสนใจ ลองเข้าร่วมกับทางโครงการฯ ดู”

ครูเก๋เล่าว่า ตอนเข้าอบรมการผลิตสื่อมีการยกตัวอย่างสื่อหลายแบบให้เราเลือกว่าจะใช้สื่อนั้นช่วงไหน โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน ครูแต่ละคนก็เลือกช่วงและประเภทสื่อไม่เหมือนกัน บางคนเลือกใช้บัตรคำศัพท์ บางคนทำเกมคอมพิวเตอร์ บางคนก็เลือกทำบอร์ดเกม 

“โครงการฯ ให้เริ่มจากการลองสำรวจผู้เรียนในบทเรียนที่เราเลือกมา ว่ามีลักษณะพื้นฐานยังไง ลองเขียนเป็นเป้าประสงค์ของการเรียนรู้ว่าสื่อของเราจะช่วยพาผู้เรียนไปถึงเป้าหมายอย่างไรบ้าง เราเลยมานึกว่าในวิชาเคมี ธาตุและสารประกอบเป็นเรื่องแรกที่จะต้องเรียน เป็นเรื่องที่เหมือนจะง่าย แต่เด็กก็มักจะลืมเลือนและไม่ค่อยใส่ใจ แล้วถ้าเขาไม่แม่นเรื่องนี้ ก็ส่งผลให้เรียนเรื่องต่อๆ ไปของวิชาเคมีไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าเด็กแม่นในเรื่องนี้ เรื่องอื่นๆ มันก็จะง่ายไปหมดเลย เราเลยเลือกที่จะผลิตสื่อเรื่องนี้ขึ้นมา”

สุดารัตน์เป็นครูเคมีคนเดียวของโรงเรียน สอนตั้งแต่ระดับชั้น ม.4 ถึง ม.6 เธอจึงมองว่าอยากทำเกมให้ปรับใช้ได้ทุกช่วงการเรียนรู้ ปรับใช้ได้กับเด็กในทุกระดับชั้น

“ในวิชาเคมีพื้นฐานของเด็ก ม.4 เราอยากใช้เกมสำรวจเร็วๆ ว่าเขามีความรู้พื้นฐานไหม ถ้าเขารู้มากรู้เยอะ เขาก็จะเล่นเกมได้ไว เล่นเกมได้ดี เราก็จะประเมินได้ ต่อมาคือการใช้สื่อระหว่างเรียน คือเราใช้เกมนี้เป็นคาบเรียนเลย ให้เกมทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน เขาจะก็เล่นแล้วก็ถกเถียงกัน แล้วก็มาสะท้อนบทเรียนตอนท้ายคาบ ส่วนหลังเรียนคือหลังจากสอนผ่านเนื้อหาเรื่องนี้ไปแล้ว เราก็อยากให้พี่ ม.5 ม.6 กลับมาเล่นเกมนี้เพื่อทบทวนความจำได้ด้วย”

เธอจึงค่อยๆ นำเนื้อหาต่างๆ ของวิชาเคมีมาปรับให้เป็นกลไกในเกม โดยขั้นแรกเริ่มจากการให้ผู้เล่นคุ้นชินกับธาตุ รู้ว่าสัญลักษณ์ธาตุตัวไหนคือชื่อธาตุอะไร มีเลขอะตอมเท่าไหร่ เลขมวลเท่าไหร่ เป็นโลหะหรืออโลหะ ขั้นต่อมาจึงเพิ่มกลไกการผสมธาตุให้เกิดเป็นสารประกอบ และสมการเคมีต่อไป เพิ่มความเป็นเกมด้วยการค่อยๆ เพิ่มกลไกการแข่งขันกับตัวเอง ใส่ภารกิจต่างๆ ที่ท้าทายให้ผู้เล่นทำ 

หลังจากการผ่านกระบวนการ Design Thinking กับทางโครงการก่อการครู ผลิต ทดลองใช้ ปรับแก้ จนเป็นบอร์ดเกม ‘ธาตุและสารประกอบ’ เกมสะสมคะแนนผ่านการรวบรวมการ์ดธาตุและผสมธาตุเป็นสารประกอบต่างๆ

“เราจะใช้เกมนี้เวลาเริ่มเทอมใหม่ คาบแรกเราก็จะชวนเด็กๆ มาเล่นเกมกัน สร้างแรงจูงใจ สร้างความสนุกสนาน  ตอนเรียนแบบบรรยาย เขาบอกว่ามันเข้าใจนะครู แต่พอออกไปจากห้อง มันลืม ถ้าเรียนผ่านเกมเขาไม่ลืมเลย เพราะว่ามันสนุก ความสนุกช่วยทำให้เขาจำได้ เด็กๆ สะท้อนเอาไว้แบบนั้น”

เกมเสริมทักษะชีวิต

ครูเก๋อาจดูเป็นครูที่คุ้นเคยกับการเล่นเกมเป็นอย่างดี แต่เธอเล่าว่าจริงๆ แล้ว ในอดีตเธอเป็นคนหนึ่งที่มีอคติกับเกมอย่างมาก

“เราเคยรู้สึกว่าคนที่เอาเวลามาเล่นเกมเหมือนกับใช้เวลาว่างไม่เกิดประโยชน์เลย ไปอ่านหนังสือดีกว่าไหม ไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหม แต่ตอนที่เพื่อนมาชวนไปเล่นบอร์ดเกมครั้งแรก ผลที่ออกมามันทำให้เราเห็นว่าตัวเองน่ะโง่แค่ไหน เราเห็นว่าเพื่อนฉลาดแค่ไหน เราได้เห็นข้อดีของการเล่นเกมว่ามันไม่ได้ไร้สาระเลย แต่มันฝึกทักษะบางอย่าง การเล่นเกมฝึกให้เราเก่งขึ้น ฉลาด มีไหวพริบขึ้น มันมีกติกาบางอย่างที่ตอนจบเกมเพื่อนผ่านได้ แต่เราทำไม่ได้ เลยอยากรู้ว่าเขามีวิธีคิดยังไง มันต้องมีวิธีคิดบางอย่างที่ทำให้บางคนแพ้ บางคนชนะ เลยจุดประกายเราว่าเกมน่าจะพัฒนาทักษะให้กับคนได้นะ” 

ครูเก๋ยังสอดแทรกกลไกที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ และพัฒนาทักษะต่างๆ ทั้งการต่อรอง ไหวพริบ ทำให้เด็กๆ มีความสุขในการเรียน และที่สำคัญคือ ต้องได้ใจด้วย คือมีความรู้สึก มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อน เข้าใจผู้อื่น

“ในเกม แต่ละคนนอกจากจะมีภารกิจหลักเป็นการจัดการคะแนนของตนเอง เขาสามารถชวนเพื่อนมารวมการ์ดกัน ผสมธาตุกัน แล้วแบ่งคะแนนกันไป เป็นการต่อรองเพื่อได้คะแนนที่มากขึ้น เป็นเรื่องการสื่อสารด้วย ได้เรียนรู้ว่าเพื่อนคนนี้มีนิสัยเป็นยังไง รวมถึงได้สร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน”

กระบวนการที่เธอใช้บอร์ดเกมมาเป็นสื่อการเรียนรู้ในวิชาจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เขาจะเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ได้หยิบ ได้จับ ได้พูดคุยกับเพื่อน ความรู้จะเกิดขึ้นตรงนั้น พร้อมกับทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม การเข้าใจผู้อื่น ผ่านการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในกลุ่ม

“เกมช่วยให้พวกเขาเปิดใจมากขึ้น ช่วยให้เขาอยากรู้จักธาตุต่างๆ มากขึ้น เด็กชอบมาขอยืมเกมไปเล่นซ้ำในเวลาพัก เขารู้สึกว่าถ้าได้เล่นอีกรอบแล้วเขาจะเล่นได้ดีขึ้น ทำคะแนนได้สูงขึ้น เคยมีเด็กมาขอให้เราทำการ์ดสูตรสารประกอบเพิ่มอีก เพราะเขาเล่นแล้วเจอแต่การ์ดเดิมๆ ที่จำได้แล้ว เราก็เห็นว่าบรรยากาศในห้องเรียนมันเปลี่ยนไป”

ครูเก๋จะปิดคาบเรียนด้วยการล้อมวงแลกเปลี่ยนเสมอ ใครรู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรในการเล่นเกมครั้งนี้ ใครอยากรู้อะไรเพิ่ม แล้วเธอก็จะนำความต้องการและสิ่งที่เด็กๆ อยากเรียนรู้ไปเพิ่มไว้ในการสอนครั้งถัดๆ ไป

“จะดียิ่งขึ้นถ้ามีการถามคำถามถอดบทเรียน เด็กจะเห็นความเชื่อมโยงวิชากับชีวิตเขามากขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่าการเรียนมีความหมาย”

ครูผู้อำนวยการเรียนรู้

สื่อการเรียนรู้ช่วยให้บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป ทั้งครูและนักเรียนมีความสุขมากขึ้น ได้พูดคุยกันอย่างเป็นกันเองมากขึ้น พร้อมๆ กันนั้น ตัวครูเก๋เองก็เริ่มมองบทบาทในการเป็น “ครู” ของตนเองเปลี่ยนไป

“เด็กสะท้อนว่า ที่มาโรงเรียน เขาไม่ได้อยากมาเจอครูนะ เขาไม่ได้สนใจบทเรียน เด็กๆ อยากมาเล่นกับเพื่อน เขาอยากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนต่างหาก มันเป็นวัยของเขา  ดังนั้นเราเลยคิดว่าทำยังไงที่จะไม่แยกเนื้อหาการเรียนการสอนออกจากตัวเขาและเพื่อน คำตอบคือการเปลี่ยนบทบาทจากครูเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ปล่อยให้เขาได้พูดคุยกัน สร้างองค์ความรู้ของเขาเอง บทบาทของเราคือการอำนวยความสะดวกให้เขา”

การปล่อยให้เด็กสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง และครูขยับออกมามองห้องเรียนในมุมที่กว้างขึ้นในฐานะผู้อำนวยการเรียนรู้ ทำให้เธอสังเกตเห็นคุณลักษณะและทักษะของผู้เรียนมากขึ้น  เด็กคนไหนเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ค่อนข้างเร็ว เด็กคนไหนมีน้ำใจต่อผู้อื่น เด็กคนไหนชอบการเอาชนะ  ทำให้เธอเข้าใจตัวตนของเด็กแต่ละคนมากขึ้น นอกเหนือจากคะแนนตัวเลขในการสอบวัดผล

ครูเก๋มองว่าครูก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่จะเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับเด็ก ทำให้เขาเห็นว่าวันนี้เขาขาดอะไร ต้องเติมอะไรเพิ่ม บางทีเขาอยากหาคำตอบด้วยตัวเอง ครูก็ต้องขยับมาเป็นโค้ช อาศัยการตั้งคำถาม ช่วยให้เขาได้ใคร่ครวญ ได้สะท้อน และไปถึงเป้าหมายด้วยตัวเอง ซึ่งมุมมองแบบนี้ต่างกันอย่างมากกับครูเก๋ตอนมาเป็นครูใหม่ๆ 

“ปีสองปีแรกที่มาเป็นครู เราให้เวลากับงานเอกสารเยอะมาก เคยบอกนักเรียนว่า อยู่ในห้องเงียบๆ นะ ครูขอไปทำเอกสารก่อน หรือไม่ได้เตรียมการสอนอะไรมาก คิดเอาเองว่าเด็กรู้น้อยกว่าเรา ก็จะพูดบรรยายจากความรู้เก่าที่มี ผ่านไปสองปีจนเด็กเข้ามาทัก เราถึงรู้ตัวว่าเราไม่ได้เป็นครูที่ดีเลย”

ครูเก๋อธิบายว่า การสอนที่ง่ายที่สุดคือการสอนแบบบรรยาย แล้วให้เด็กนั่งฟังเฉยๆ เพราะครูไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องออกแบบอะไรใหม่ แต่เธอเองก็รู้สึกว่าห้องเรียนแบบนั้นไม่มีความสุข ส่วนเด็กก็คงรู้สึกว่าเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีความหมายเช่นกัน

“พอครูเปลี่ยน นักเรียนก็เปลี่ยน ประโยคนี้ใช้ได้จริงๆ แค่เราสดใสขึ้น นักเรียนก็สดใสขึ้น สนุกขึ้น เราเริ่มพยายามถามไถ่ เปิดใจคุยกับนักเรียนมากขึ้น  ไม่ใช่แค่เช็กชื่อ แล้วก็แยกย้ายกันไปอย่างเคร่งเครียดเหมือนเก่า”

ครูเก๋ยังแนะนำเราด้วยว่า หากเรากำลังอยากเปลี่ยนแปลงบรรยากาศในห้องเรียนของตนเองให้มีความสุขมากขึ้น กำลังมองหาสื่อที่ไม่ซับซ้อนและใช้ได้กับทุกช่วงวัย  ตัวครูเก๋เองแนะนำให้เราใช้ “เกมเช็กอิน” ซึ่งใช้สื่อที่เป็นการ์ดรูปภาพเข้ามาช่วย โดยให้นักเรียนเลือกภาพที่สะท้อนตัวเขาในขณะนั้น แล้วล้อมวงคุยกันก่อนเริ่มเรียน ให้เขาได้ตกตะกอน สะท้อนความรู้สึกของตนเอง

หรือหากไม่มีสื่อใดๆ เลย เราเองก็สามารถใช้เวลาสั้นๆ ก่อนเริ่มคาบเรียนในการถามเด็กๆ ว่าเช้าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดูก่อนว่าเขาพร้อมเรียนไหม บางทีเขาอาจจะทะเลาะกับโต๊ะข้างๆ อยู่ อาจจะอกหักมา อาจจะกำลังมีปัญหาที่บ้าน หรืออาจจะกำลังรู้สึกแย่อยู่ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ครูจะได้ถามไถ่ ให้เขาได้พูด ได้ระบาย โอบอุ้มความรู้สึก ณ ขณะนั้น ผ่านการส่งพลังบวกให้กัน ดูแลใจกัน ก่อนจะเริ่มต้นคาบเรียน  

“เขาก็ตกใจนะ บอกว่าไม่เคยมีใครถามความรู้สึกเขาเลย แต่มีครูคนนี้เริ่มถาม ทำให้เราสนิทกันมากขึ้น คุยกันได้มากขึ้น บางทีแค่เราถามว่าวันนี้เป็นยังไง เขาก็ร้องไห้ เราก็ยังตกใจว่ามันทรงพลังขนาดนี้เลยนะ คำถามแค่ว่า เช้านี้เป็นยังไงบ้าง…” 

ทุกคาบเรียนย่อมมีวันจบ เมื่อเสียงระฆังหมดเวลาเรียนดังขึ้น เด็กๆ พร้อมใจมารวมตัวกันที่หน้าห้อง ช่วยกันเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ใส่กล่องให้เรียบร้อย พลางพูดคุยเล่นกันอย่างสนุกสนาน ตรงกลางวงคือครูเก๋ พร้อมกับรอยยิ้มที่สดใส เป็นครูเคมีที่อยากจะช่วยดูแลใจ และมุ่งมั่นจะพัฒนาสื่อใหม่ๆ มาใช้ในห้องเรียนต่อ

Your email address will not be published.