กิจกรรม Empowerment เรียนรู้เสริมพลังใจแก่กันที่โรงเรียนสุจิปุลิ
Reading Time: 3 minutesเราจะใช้ลมหายใจของตัวเราเองในการเล่นเกมนี้ เมื่อคุณยืนอยู่ประจำจุดคุณจะหายใจเท่าไหร่ก็ได้ เพราะนี่เป็นบ้านแห่งลมหายใจของคุณ ภารกิจคือการออกไปคว้าจับเทพีแห่งสุขภาพ ความสําเร็จ และความรัก ที่เดินวนอยู่นอกบ้าน เมื่อออกจากบ้านทุกคนจะต้องกลั้นลมหายใจ ใครไม่ไหวก็ให้รีบกลับมา ลองทบทวนตัวเองว่าในบรรดาเทพีทั้งสาม ตอนนี้เรากำลังต้องการสิ่งไหนมากที่สุด เริ่มค่ะ!
อาจารย์น้อง – ธนัญธร เปรมใจชื่น วิทยากรประจำกิจกรรมของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ให้สัญญาเริ่มต้นเกมแรกของวัน
นี่คือกิจกรรมเกม “บ้านแห่งสายลม” ในกิจกรรมการอบรม Empowerment สร้างนิเวศการเรียนรู้และความสัมพันธ์คนทํางานแต่ละระดับที่โรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา
จากโจทย์ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา สะท้อนว่าโรงเรียนนี้ไม่ห่วงเรื่องทักษะวิชาการ แต่ห่วงเรื่องพลังใจของครูที่เริ่มเหนื่อยล้าหลังจากการทำงานมาตลอดทั้งเทอม เกิดเป็นกิจกรรมเติมพลังใจให้กับครูตลอด 2 วันที่วิทยากรจะค่อยๆ พาครูไปสำรวจความสัมพันธ์ด้วยกันใหม่ผ่านกิจกรรมเกมที่คัดสรรมาสำหรับโรงเรียนสุจิปุลิโดยเฉพาะ
กิจกรรมเกมบ้านแห่งสายลมจะเล่นทั้งหมด 3 รอบ
รอบแรกนั้นให้ครูแต่ละคนบินเดี่ยว ไล่คว้าจับสิ่งที่ต้องการด้วยตัวคนเดียว รอบที่สองจะเล่นเป็นคู่ ช่วยกันสลับผลัดเปลี่ยนกลั้นหายใจเวลาอยู่นอกบ้านได้นานขึ้น รอบสุดท้ายเล่นเป็นกลุ่ม 5 คน ไม่ต้องมีใครกลั้นหายใจแล้ว แต่ต้องเดินล้อมวงจับมือกันไปเป็นกลุ่มใหญ่ อาจจะเชื่องช้าเมื่อเทียบกับสองรอบแรก แต่ก็เดินไล่ตามเทพีทั้งสามได้ตลอด ปิดท้ายด้วยการแลกเปลี่ยนกันว่าใครชอบเล่นกิจกรรมเกมรอบไหนมากที่สุด
“รอบแรกสบายดี ไม่ต้องคิดเยอะ ถ้าเราไม่ไหวก็กลับบ้าน เอาตัวเราเป็นหลัก มันคล่องแคล่วกว่า จัดการง่ายกว่า” ครูที่ชอบเล่นกิจกรรมเกมรอบแรกกล่าว
“เราชอบตอนรอบที่สอง ที่ให้จับคู่ พอไม่ไหวแล้วเราเปลี่ยนลมหายใจกันได้ ช่วยกันไปช่วยกันมา” ครูอีกคนหนึ่งสะท้อน
“ส่วนเราชอบรอบสุดท้าย หายใจได้สะดวก ทําอะไรก็ได้ มีความมั่นใจมากกว่า เพราะเราอยู่กันเป็นทีม” ครูอีกคนยกมือขึ้นเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง
อาจารย์น้องและทีมวิทยากรบอกกับครูผู้เข้าร่วมทุกคนว่า จะชอบรอบใดนั้นไม่มีถูกผิด สิ่งสำคัญคือการกลับมามองเห็นและเข้าใจคุณภาพบางอย่างภายในตนเอง เห็นว่าขีดจำกัดของตัวเราคนเดียวอยู่ที่จุดไหน เห็นว่าการได้เปิดพื้นที่ให้เพื่อนอีกคนมาช่วยกันเป็นอย่างไร รวมถึงได้มองเห็นว่าการเป็นตัวของตัวเองนั้นส่งผลต่อผู้อื่นและต่อระบบที่ใหญ่กว่าอย่างไร
เหล่านี้คือสิ่งที่ครูผู้เข้าร่วมจะได้ค่อยๆ ค้นหาคำตอบร่วมกัน
เรียนรู้ความเหมือน เข้าใจความต่าง จากบรรดาเพื่อนร่วมงาน 4 ทิศ
ในชีวิตจริงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้พบผู้คนหลากหลายบุคลิก ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ รวมถึงยึดถือในคุณค่าที่แตกต่างกันไป เพราะแต่ละคนมีที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ เติบโตหล่อหลอมจากเงื่อนไขและชุดประสบการณ์ที่แตกต่าง แม้จะเป็นเพื่อนร่วมงาน สอนวิชาเดียวกัน ครูโรงเรียนเดียวกัน แต่ก็อาจแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย
เพื่อเรียนรู้และเข้าใจตนเองและผู้อื่น อาจารย์น้องจึงนำกิจกรรม “ผู้นำ 4 ทิศ” เข้ามาให้ครูแต่ละคนตอบตัวเองว่าตัวเรานั้นมีลักษณะเหมือนสัตว์ประจำทิศใด
กระทิง-ทิศเหนือ ผู้มุ่งสู่เป้าหมายด้วยการกระทำ ให้คุณค่ากับความชัดเจนที่จับต้องได้
หนู-ทิศใต้ ผู้หล่อเลี้ยงเยียวยาความสัมพันธ์ คอยดูแลใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น
อินทรี-ทิศตะวันออก ผู้สร้างสรรค์และรักอิสระ ให้ความสำคัญกับความคิดและไอเดียใหม่ๆ และ
หมี-ทิศตะวันตก ผู้รอบคอบ ถี่ถ้วน ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง
ทุกคนอาจมีลักษณะของสัตว์มากกว่าหนึ่งทิศอยู่ในตัว แต่ในกิจกรรมนี้อาจารย์น้องให้เลือกเพียงหนึ่งทิศที่เป็นตัวเองมากที่สุด ก่อนจะล้อมวงคนที่เป็นสัตว์ทิศเดียวกัน ระดมความคิดว่าในการทำงานกับผู้อื่น ข้อเด่นข้อด้อยของกลุ่มตนเองนั้นเป็นอย่างไร และหากจะร้องขอบางอย่างจากเพื่อนร่วมงานทิศอื่นๆ จะร้องขออะไร
ครูกลุ่มกระทิงสะท้อนว่า บางครั้งตนเองอาจคิดเร็วทําเร็วเกินไป อยากขอโทษเพื่อนร่วมงานทุกทิศที่ทําให้เกิดข้อผิดพลาดหรือเกิดความรุนแรงในบางครั้ง ไม่ว่าทางความคิดหรือการกระทํา และขอทิศอื่นๆ ว่า หากสื่อสารกับตนเอง อยากให้สื่อสารเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น
ครูกลุ่มอินทรีแลกเปลี่ยนว่า เข้าใจแล้วว่าหลายครั้งที่ตนเองคิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาแล้วเพื่อนร่วมงานไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้สื่อสารรายละเอียดของการลงมือทำมากพอ เน้นมองภาพกว้างมากเกินไป แต่ก็อยากเชิญชวนให้เพื่อนร่วมงานทุกคนได้ลองคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ และออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปด้วยกัน
ครูกลุ่มหมีตระหนักว่าคนประเภทตนเองนั้นหวงแหนพื้นที่ปลอดภัยและใช้เวลาตัดสินใจค่อนข้างนาน ขี้กังวล ทำให้เหมือนมีกำแพงต่อผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา และขอกับเพื่อนร่วมงานทิศอื่นๆ ว่าอยากให้ค่อยเป็นค่อยไปกันมากขึ้น ทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ในขณะที่ครูกลุ่มหนูตกผลึกว่า แม้ครูทิศหนูพร้อมจะช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้อื่นทุกเรื่อง แต่ตนเองขี้เกรงใจ ไม่ค่อยกล้าปฏิเสธหรือเปิดเผยความรู้สึก หลายครั้งก็แอบไปกลุ้มใจเงียบๆ จึงอยากขอให้เพื่อนร่วมงานทิศอื่นๆ เห็นอกเห็นใจ ดูแลใจพวกเขามากขึ้นเช่นกัน
การกลับมาทบทวนตนเองในความเคยชินของการให้และรับที่แตกต่างกันนั้น นับเป็นก้าวสำคัญในการเข้าใจผู้อื่น
ครูบางคนได้รู้แล้วว่าทำไมเพื่อนร่วมงานมักรู้สึกกดดันเวลาทำงานด้วยกัน ทำไมถึงสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ทำไมถึงตัดสินใจบางอย่างไม่เหมือนกัน
ทั้งหมดเริ่มจากการเข้าใจว่าตนเองเป็นคนแบบไหน เหมือนและต่างกับคนอื่นอย่างไร ส่วนตัวตนที่เราเป็นนั้นจะสนับสนุน เสริมแรง เติมใจ ให้เพื่อนร่วมงานได้อย่างไร คือก้าวต่อไปที่แต่ละคนจะมีคำตอบในแบบฉบับของตนเอง
คนเห็น คนบอก คนวาด คนตรวจ
“กิจกรรมเกมต่อไปที่เราจะเล่นกันมีชื่อว่า ‘สร้างภาพต้นแบบ’ เล่นกันเป็นทีม 4 คน โดยแต่ละทีมต้องช่วยกันจำลองภาพที่เราติดไว้ด้านนอกให้เหมือนต้นแบบที่สุด ทั้งสี ขนาด รูปทรง ต้องใกล้เคียงที่สุด ซึ่งแต่ละคนในทีมจะมีบทบาทและเงื่อนไขในการเล่นต่างกันไป” วิทยากรเริ่มอธิบายกติกาของเกม
ครูแต่ละคนในทีมจะต้องเลือกบทบาทของตนเอง
บทบาทแรกคือ “คนเห็น” มีสิทธิ์ไปดูภาพต้นแบบที่ติดไว้อีกห้องหนึ่ง แต่ไม่สามารถเข้ามาในห้องกิจกรรมหลักได้อีก
บทบาทที่สองคือ “คนบอก” สามารถเดินออกไปคุยกับ “คนเห็น” ที่หน้าประตู เพื่อนำกลับมาบอกคนในห้อง แต่จะไม่ได้เห็นภาพต้นแบบและไม่สามารถจับดินสอ
บทบาทที่สามคือ “คนวาด” จะลุกไปไหนไม่ได้ แต่จะเป็นคนเดียวที่ได้จับดินสอวาดภาพ
บทบาทสุดท้ายคือ “คนตรวจ” สามารถเดินไปห้องไหนก็ได้ ดูภาพต้นแบบได้ เดินมาดูภาพที่ทีมตนเองวาดก็ได้ แต่จะไม่สามารถพูดหรือใช้มือชี้สื่อสารใดๆ ได้เลย
เมื่อวิทยากรให้สัญญาณเริ่มเกม คุณครูผู้รับบท “คนเห็น” จากแต่ละทีมรีบวิ่งปรี่ไปดูภาพต้นแบบที่อีกห้อง มันคือภาพวาดโรงเรียนสุจิปุลิเอง ประกอบด้วยตึกเรียน ต้นไม้ และสนามหญ้า “คนเห็น” สื่อสารกับ “คนบอก” ผ่านทุกกลยุทธ์ที่พอจะนึกออก บางทีมใช้ร่างกาย ทั้งมือ นิ้ว แขนขา ทำท่าทางประกอบกับคำพูดเพื่อสื่อสารสิ่งที่ตนเองเห็นมาให้ชัดเจนที่สุด “คนบอก” นำสารที่รับมาส่งต่อให้ “คนวาด” ที่กำลังเริ่มบรรจงวาดเส้น ข้างๆ กันคือ “คนตรวจ” ที่ไปเห็นภาพต้นแบบของจริงมาและรู้ว่าภาพที่วาดนั้นคลาดเคลื่อน ต้องใช้ภาษากายเท่าที่กติกาอนุโลมเพื่อบอกทีมว่ากำลังผิดพลาดในส่วนไหน
บรรยากาศตลอดทั้งชั่วโมงนั้นโกลาหลปนสนุก เรียกเสียงหัวเราะจนน้ำตาเล็ดจากครูผู้เข้าร่วมได้ไม่น้อย
เมื่อหมดเวลาแต่ละทีมก็นำภาพของตัวเองมาดูพร้อมๆ กัน ซึ่งออกมาเหมือนบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง
สาระสำคัญของกิจกรรมเกมนี้ไม่ใช่ภาพในตอนสุดท้าย แต่เป็นการได้แลกเปลี่ยนความรู้สึกกันว่าเมื่อต้องรับบทบาทต่างๆ เหล่านี้ แต่ละคนรู้สึกอย่างไร
“พูดไม่ได้แล้วอึดอัด เราเห็นเพื่อนวาด เราอยากบอกว่าไม่ใช่ แต่พูดไม่ได้” ครูผู้รับบทคนตรวจเริ่มก่อน
“เราไม่รู้จะฟัง ‘คนบอก’ หรือ ‘คนตรวจ’ ดี เขารุมบอกเราพร้อมๆ กัน เราวาดไม่ถูก คนหนึ่งบอกแบบหนึ่ง อีกคนบอกอีก แบบหนึ่ง เราไม่รู้ว่าควรจะเชื่อใครดี” ครูผู้รับบทคนวาดเผยความในใจ
“ของทีมเรา ‘คนเห็น’ อธิบายดีมาก ค่อยๆ บอกสัดส่วนของภาพว่าตึกยาวเท่าไหร่ ต้นไม้สูงแค่ไหน เราก็จำตามนั้นเป๊ะๆ มาบอกต่อ แต่พอมาถึงก็เจอว่า ‘คนตรวจ’ กำลังสื่อสารให้คนวาดวาดอะไรก็ไม่รู้” ครูผู้รับบทคนบอกสะท้อน
“เราเข้าไปในห้องไม่ได้ ก็พยายามทำในส่วนของตัวเองเต็มที่ สักพัก ‘คนบอก’ วิ่งหน้าตาตื่นมาพร้อมกับ ‘คนตรวจ’ เราก็พยายามสื่อสารใหม่ รีเช็คกันหลายครั้ง ถามเขาว่าวาดออกมาเป็นแบบนี้ มีอันนี้ใช่ไหม เขาก็บอกว่าใช่ แต่ตอนสุดท้าย ภาพก็ไม่ได้ออกมาตามที่เราคุยกันไว้” ครูผู้รับบทคนเห็นแลกเปลี่ยน
วิทยากรถามต่อไปว่า บทบาททั้ง 4 เหมือนหรือต่างจากชีวิตจริงของคุณครูอย่างไร ตามตำแหน่งหน้าที่การงาน มักได้เล่นบทบาทไหน เช่น บางคนเป็นฝ่ายบริหารผู้คิดฝันสร้างโครงการใหญ่ พยายามสร้างสิ่งที่ตัวเองมองเห็นอยู่คนเดียว บางคนอาจกำลังรับบทเป็นคนกลาง ต้องอธิบายส่งต่องานให้ผู้อื่น บางคนเป็นครูระดับปฏิบัติการที่กำลังง่วนกับงานสอนตรงหน้า หรือบางคนไม่ได้ทำงานชิ้นนั้นแต่ดันต้องมาตรวจสอบวัดผล
สิ่งสำคัญในกิจกรรมนี้คือการที่ครูได้มองเห็นว่างานที่องค์กรทำอยู่นั้นมากกว่างานบนหน้าตักของใครคนใดคนหนึ่ง ได้เริ่มคิดว่าจะจัดการดูแลงานของตนเองอย่างไรให้งานของเพื่อนราบรื่นขึ้นด้วย มองเห็นเงื่อนไขข้อจำกัดตลอดจนความกดดันที่เพื่อนร่วมงานกำลังแบกรับ และจะขับเคลื่อนทั้งกลุ่มไปข้างหน้า ควบคู่กับการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างไร
เพื่อนร่วมงานผู้คอยเสริมพลังใจแก่กัน
ปัญหาครูหมดพลังใจนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะที่โรงเรียนสุจิปุลิ แต่แทบจะทุกโรงเรียน ทุกระดับชั้น โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่มีอัตราการหมุนเวียนพนักงานสูงเป็นประวัติการณ์
ทำอย่างไรครูถึงจะก้าวข้ามช่วงพลังใจใกล้มอดดับ กลับมามองเห็นคุณค่าของตนเองได้แจ่มชัด ทั้งในฐานะมนุษย์ และคุณครู
สำหรับโครงการโรงเรียนปล่อยแสง คำตอบคือเพื่อนร่วมงาน ผู้คอยเสริมพลังใจแก่กัน
“การเข้าใจตนเองและกลุ่มที่เราอยู่เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก เมื่อใดที่ครูไม่ลืมว่าการมาสอนไม่ใช่แค่เพื่อเด็กตรงหน้าในห้องเรียน แต่มีความหมายกับทั้งระบบของโรงเรียน เราจะรู้สึกว่ามีพลังใจเหลือล้น และในเวลาที่หมดพลัง รู้สึกแย่ ท้อ ถ้ามีพื้นที่ที่พร้อมจะโอบอุ้ม มีสายใยเพื่อนร่วมงานที่แข็งแรง ก็จะช่วยพยุงให้หัวใจครูแข็งแรงได้” อาจารย์น้องสรุปขณะถอดบทเรียน
กิจกรรมสุดท้ายของโรงเรียนสุจิปุลิดำเนินไปอย่างเรียบง่าย นั่นคือการกล่าวชื่นชมขอบคุณสำหรับทุกการสนับสนุนที่มีให้กันเรื่อยมา และกล่าวขอโทษ หากเผลอทำตัวเป็นเพื่อนที่ไม่น่ารักบ้างในเวลาที่ยาก
ขอโอกาสให้กลับมาร่วมมือกันอย่างเต็มกำลัง สร้างพื้นที่การทำงานที่เปี่ยมด้วยรักและมีความหมาย
ตั้งแต่วันนี้ไปเราจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ส่งพลังบวกให้กันได้มากกว่าที่เคย…..