การดูแลเด็ก Dyslexia จากห้องเรียนสู่พื้นที่ในสังคม
Reading Time: 2 minutesภาษา ถือเป็น เครื่องมือการเรียนรู้ ที่ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งกลายเป็น เด็กเรียนรู้ช้า ไม่สามารถเข้าใจวิธีการอ่านและการเขียน เรียกว่า เด็กที่มีความบกพร่องด้านการอ่าน “dyslexia”
Dyslexia (ดิสเล็กเซีย) ชื่อเรียกแทนความบกพร่องด้านการเรียนรู้ด้านการอ่านและการเขียน อันเกิดจากความผิดปกติของสมองที่ใช้ในการเรียนรู้ ทำให้ไม่สามารถสะกดคำหรือเข้าใจวิธีการอ่านเขียน เพราะไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างตัวอักษร เสียง และภาษาได้ เมื่อก้าวเข้าสู่ระบบการศึกษา จึงทำให้ห้องแห่งการเรียนรู้ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ที่หลากหลาย วันนี้ก่อการครูชวนทุกท่านมาพบกับเพื่อนร่วมก่อการ ครูโอ๊ค (รณกฤต ไชยทอง) ครูแกนนำจากก่อการครูรุ่น 2
และครูพอลล่า (พิมพร พุทไธสง) ครูแกนนำจากโครงการบัวหลวงก่อการครู ที่จะมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวการจัดการเรียนรู้ และสร้างพื้นที่ปลอดภัย ด้วยการฟังอย่างไม่ตัดสิน อยู่เคียงข้าง และสร้างการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมาย
การจัดการในห้องเรียน เมื่อต้องกลายเป็นห้องเรียนรวม
ครูโอ๊คเล่าถึงวิธีการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม “อย่างแรกเลยเนอะ ครูต้องมีสื่อ ที่ผมใช้หลัก ๆ เลย จะเป็นเรื่องของ visual ที่เรียนกับพี่มะโหนก” หากแบ่งความถนัดในการเรียนรู้ตามทฤษฎี VARK Model จะสามารถแบ่งการเรียนรู้ได้เป็น 4 ประเภท การเรียนรู้ด้วยภาพ (Visual) การเรียนรู้ด้วยเสียง (Aural/ Auditory) เรียนรู้ผ่านการอ่านและการเขียน (Read/Write) และเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Kinesthetic)
เมื่อจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ก็จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าที่เคย ประกอบกับแผนการเรียนรู้ที่ช่วยเน้นศักยภาพรายบุคคลของครูพอลล่า เพื่อดึงจุดเด่นและพัฒนาให้ตรงจุด
แต่สิ่งที่ทั้งคู่ต่างให้คำแนะนำไปในแนวทางเดียวกัน คือการจับกลุ่มช่วยเรียนระหว่างเพื่อนในห้อง โดยไม่ทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษรู้สึกแย่ หรือเป็นจุดอ่อนของห้อง และนำไปสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ครูทั้งสองจึงแก้ปัญหาด้วยการรวมกลุ่ม คละระดับความสามารถในการเรียนรู้ที่แตกต่าง เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เด็กที่ได้รับการช่วยเหลือจะรู้สึกว่ามีคนดูแล และอีกฝ่ายจะเกิดความภาคภูมิใจ มั่นใจ และครูทั้งสองยังเสริมอีกว่า ยิ่งสร้างความกดดัน หรือภาวะเครียด เด็กจะยิ่งพัฒนาและเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่
สิ่งที่เพิ่มมาไม่ใช่ภาระ
เมื่อทักษะด้านการอ่านเขียนมีปัญหา สื่อการสอนจึงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้
“ไม่อยากให้ครูมองเป็นภาระ” ครูโอ๊คหยุดคิดสักครู่พร้อมหัวเราะขึ้นมา “หรือจะมองเป็นภาระก็ได้นะ” พูดด้วยความเข้าใจเพื่อนร่วมวิชาชีพ ด้วยภาระงานที่มากกว่าการสอน
ภาพจำของ “สื่อการสอน” คืออุปกรณ์ที่มีลักษณะสวยงาม ต้องใช้เงินหรือเวลาในการทำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ควรให้ความสนใจมากที่สุดคือการสื่อสาร “ใช้สื่อธรรมดาทั่วไป แต่เราใช้อย่างเต็มที่ อันนี้คือสิ่งที่อยากให้โฟกัส”
ทักษะสำคัญ
จากเรื่องราวข้างต้น ครูโอ๊คช่วยสรุปมาเป็นทักษะสำคัญที่ครูควรมี ได้แก่
- การมองเป็นภาพ (Visual)
- การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain-based learning) จะใช้การทำงานสลับฝั่งสมองและตา โดยจะวาดรูปไว้ทางซ้าย และตัวหนังสือไว้ด้านขวา
- การสร้างห้องเรียนที่มีความสุข หนึ่งในองค์ความรู้จากห้องเรียนที่มีความหลากหลาย ของโครงการก่อการครู โดยหมอพนม เพื่อสร้างความพร้อมในการเรียนรู้ ทำให้ห้องเรียนอบอวลไปด้วยความสุข
และอีกทักษะสำคัญที่ครูพอลล่า ชี้ให้เห็น คือ “การสื่อสาร” กับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน เพื่อนร่วมห้อง และผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจในทุกภาคส่วน และร่วมเดินทางเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างเข้าใจ
การเรียนรู้ควบคู่ไปกับการสื่อสารกับคนรอบข้าง และการพัฒนาที่ไม่หยุดแค่ผู้เรียน
ความพิเศษที่เกิดขึ้นในตัวเด็กคนหนึ่ง ย่อมตามมาด้วยความสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่บุคคลรอบข้าง ส่งผลต่อการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการ ที่ครูพอลล่าเริ่มต้นจากในห้องเรียนไปจนถึงผู้ปกครอง
“ถ้าครอบครัวมีภาษาที่เข้าใจซึ่งกันและกันก็จะสามารถพัฒนาเด็กได้เช่นกัน” หรือการไม่ยอมรับ และไม่เข้าใจความพิเศษนั้น ๆ เพราะความแตกต่างที่เห็นได้ชัด กลายเป็นอุปสรรคที่คุณครูจะออกแบบการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ผู้เรียน
“บางทีในเรื่องของการสื่อสารและภาษา เขายังไม่เข้าใจ บางทีเด็กก็ไม่อยากแสดงพฤติกรรมแบบนั้นออกมานะคะ แต่ว่าเขาไม่สามารถที่จะควบคุมและกำกับอารมณ์ของตัวเองได้” เพราะไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง
ภาพฝันที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงการศึกษา แต่เป็นการให้ชีวิตในอนาคต
ครูพอลล่ากล่าวถึงภาพในอนาคตด้วยตาเป็นประกาย เมื่อเราถามถึงนโยบายที่เชื่อมกับภาพฝัน กลายเป็นข้อเสนอแนะที่อยากให้เกิดขึ้นในชีวิตจริง
1. มีสถานศึกษาที่รองรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่มีอายุเกิน 18 ปีแล้ว
การศึกษาในระดับปริญญาตรีกลายเป็นเรื่องยาก เมื่อผู้เรียนมีความต้องการพิเศษ แม้จะมีทุนการศึกษาที่เฉพาะเจาะจง แต่โอกาสการเข้าถึงการศึกษาดังกล่าวก็มีน้อยมากจนแทบจะไม่มี ครูพอลล่าจึงฝากความหวังที่จะสร้างการเรียนรู้ทักษะด้านอาชีพ เพื่อเลี้ยงดูตัวเองไว้ในสถานที่นี้ “สุดท้ายแล้วทุกคนก็อยากมีอาชีพและมีงานทำ เพื่อที่จะล่อเลี้ยงชีวิตให้ได้”
“อยากให้เขาอยู่ในสังคมได้ มีงานทำ เกิดอาชีพ มีความยั่งยืนในชีวิตและครอบครัว”
และเสนออีกหนึ่งแนวทาง ที่มองกว้างไปถึงครอบครัว ให้มีสถานศึกษาที่พาเด็กติดเตียง อายุเกิน 18 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ได้ฝึกทักษะ สร้างอาชีพ ร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อหากำลังทรัพย์ในการเลี้ยงดูบุตรหลาน และเป็นการลดความเครียดที่เกิดขึ้นจากปัญหาปากท้องที่ไม่สามารถทำงานได้
2. มีสถานที่ทำงาน
ครูพอลล่ายกตัวอย่างการจัดสถานที่ฝากผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เกิดจากการฝึกอาชีพนั้น ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้ในการหาเลี้ยงตัวเอง “ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ดูแลแบบครบองค์ประกอบค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้ว อยากให้เขาสามารถที่จะอยู่ในสังคมของเรา ร่วมกับคนปกติ ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข และเกิดความยั่งยืนในชีวิต”
เรื่องที่อยากฝาก
ในประเด็นทิ้งท้ายก่อนจบการสัมภาษณ์ คุณครูทั้งสองท่านได้ฝากข้อความถึงผู้อ่าน ผู้ดูแลบุตรหลานที่มีความต้องการพิเศษด้านการอ่านและการเขียน
ครูทั้งสองกล่าวถึงความสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในบ้าน เพื่อให้เด็กสามารถเปิดใจและกล้าคุยกับเราในทุก ๆ เรื่อง รับฟังโดยไม่ตัดสิน ประกอบกับความเข้าใจและไม่กดดันจนกลายเป็นสิ่งที่กดทับสำหรับตัวเด็ก ค่อย ๆ ประคับประคองให้ถึงฝั่ง หากพื้นที่นี้ไม่ปลอดภัยพอที่เด็กจะกล้าแสดงความรู้สึก จะทำให้หันกลับไปหาเพื่อน หรือคนที่ไม่หวังดียุโยงให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี
ขอฝากข้อความถึงผู้อ่าน ผู้สร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านการอ่านและเขียน (Dyslexia)
ขอให้พื้นที่ในการเรียนรู้นี้เป็นโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กคนอื่นๆ ได้ร่วมเรียนรู้ระหว่างกันและกัน เข้าใจเรื่องการดูแลความรู้สึกของกันและกัน เท่าทันอารมณ์ของตนเอง โดยเฉพาะเด็กพิเศษเนื่องจากสามารถจับอารมณ์ความรู้สึกของคนรอบข้างได้มากกว่าเด็กปกติ หน้าที่ของคนเป็นครูคือ การสอดส่องพฤติกรรม สังเกตความต้องการ และดูแลห้องเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมายสำหรับเด็กทุกคน