Korkankru

ก่อการครู กิจกรรมที่ผ่านมา โรงเรียนปล่อยแสง

นพลักษณ์ รู้ลักษณ์ รู้ตน โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม2 min read

Reading Time: 2 minutes นพลักษณ์คืออะไร เรากำลังดำเนินชีวิตด้วยแรงขับเคลื่อนแบบไหน อะไรที่ใช่-ไม่ใช่ ในความเป็นเรา โครงการโรงเรียนปล่อยแสงชวนมาทำความเข้าใจนพลักษณ์ไปพร้อมๆ กับครูโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่นให้ลึกซึ้งกว่าเดิม Oct 25, 2023 2 min

นพลักษณ์ รู้ลักษณ์ รู้ตน โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม2 min read

Reading Time: 2 minutes

“บนโต๊ะข้างๆ มีภาพที่วางเรียงไว้ ในรอบแรกขอเชิญอาจารย์ทุกคนเลือกภาพที่แทนความเป็นตัวเรามากที่สุดมา 1 ใบ เลือกภาพที่สะท้อนถึงบุคลิกภาพหรือนิสัย ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเป็น แล้วเราจะให้เล่าทีละคนว่าทำไมถึงเลือกรูปภาพนั้นมาแทนความเป็นตัวเอง”

ครูผู้เข้าร่วมค่อยๆ เพ่งพินิจรูปภาพหลากหลายบนโต๊ะ ก่อนจะเลือกหยิบภาพที่ตรงใจที่สุด 

บางคนเลือกภาพที่เหมือนมองจากมุมสูง สะท้อนความเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ บางคนเลือกภาพวิวทิวทัศน์เพราะให้ความสำคัญกับความสบายใจ บางคนเลือกภาพเด็กหน้าตาสดใส เพราะอยากให้ทุกคนมีรอยยิ้มและความสุขร่วมกัน

กิจกรรมรอบที่ 2 เปลี่ยนจากรูปภาพ เป็นการ์ดคำที่สื่อถึงตนเอง บางคนเลือกคำว่า “เบิกบาน” บางคนเลือกคำว่า “การให้” บางคนเลือกคำว่า “ซื่อตรง”

กิจกรรมในรอบสุดท้ายให้ครูเลือกภาพและการ์ดคำอย่างละใบ แต่โจทย์คือสิ่งที่ “ไม่ใช่” ตนเองมากที่สุด แล้วนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

กิจกรรมนี้ต้องการสื่อสารกับครูโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมในเรื่องอะไร และเราเรียนรู้อะไรได้จากเรื่องนี้

มาติดตามกันต่อไปดีกว่า

นพลักษณ์ทั้ง 9 แบบ

ครูโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด เลือก “นพลักษณ์ รู้ลักษณ์ รู้ตน Basic Enneagram” เป็นหัวข้อที่สนใจให้โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจัดอบรมให้

กิจกรรมการเลือกภาพและคำศัพท์นั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ให้นำไปใช้ในการเรียนการสอน แต่เป็นการชวนครูย้อนกลับมามองตัวเองในฐานะ “มนุษย์” ซึ่งไม่ได้เป็น “คุณครู” อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่นมากขึ้นว่าแต่ละคนมีลักษณะ แรงขับเคลื่อน และความต้องการภายในอย่างไร

นพลักษณ์ (Enneagram) คือภูมิปัญญาโบราณของศาสนาซูฟีในการศึกษาบุคลิกลักษณะของบุคคล เพื่อพัฒนาตนเอง เข้าใจในความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน 

หลังจากที่ครูได้กลับมาทบทวนตนเองผ่านการ์ดคำและรูปภาพ วิทยากรก็เริ่มบรรยายลักษณะของนพลักษณ์ทั้ง 9 แบบ ให้ครูฟังและคิดตาม ว่าตนเองนั้นมีลักษณะตรงกับลักษณ์ไหน  ซึ่งนพลักษณ์แบ่งคนออกเป็น 9 ประเภท แยกเป็น 3 ศูนย์ คือ ศูนย์กาย ศูนย์ใจ และศูนย์หัว ซึ่งแต่ละประเภทมีความกลัวและความกังวลใจที่แตกต่างกัน

“ศูนย์กาย” ประกอบด้วยลักษณ์ 1 8 และ 9 คนศูนย์กายให้ความสำคัญกับเรื่องขอบเขต เมื่อโดนรุกล้ำจะรู้สึกไม่พอใจและแสดงออกความโกรธในรูปแบบต่างๆ

คนลักษณ์ 1 คือผู้ชอบความสมบูรณ์แบบ มองว่าตนเองและโลกนี้ยังไม่ดีพออย่างที่ควรจะเป็น มักมีมาตรฐานต่อสิ่งต่างๆ สูง และจะโกรธหรือไม่สบายใจเมื่อถูกผู้อื่นตำหนิ

คนลักษณ์ 8 คือผู้ปกป้อง มีโลกทัศน์ว่าถ้าเราเป็นคนอ่อนแอก็จะถูกเอาเปรียบ จึงทำตนเองให้เข้มแข็ง มีอำนาจ สามารถควบคุมทุกอย่าง และมักปกปิดความเปราะบางอ่อนแอของตนเองไว้

คนลักษณ์ 9 คือผู้ประสานไมตรี มีโลกทัศน์และความเชื่อลึกๆ ในใจว่าตนเองไม่สำคัญ จึงต้องทำตัวให้กลมกลืนกับผู้อื่น มุ่งหาความสงบสุข ไม่ชอบการทะเลาะเบาะแว้ง

“ศูนย์ใจ” ประกอบด้วยลักษณ์ 2 3 และ 4 ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความรู้สึกอยากได้รับการยอมรับจากผู้อื่น กังวลว่าคนอื่นมองตนเองอย่างไร และละอายว่าผู้อื่นจะมองตนเองไม่ดี

คนลักษณ์ 2 คือผู้ให้การช่วยเหลือ ต้องการความยอมรับจากคนพิเศษของตนเอง เช่น ครอบครัว คนรัก เพื่อนสนิท โดยคอยดูแลเอาใจใส่ พยายามรักษาบทบาทผู้ให้และไม่ค่อยขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

คนลักษณ์ 3 คือผู้ใฝ่ความสำเร็จ เป็นคนทำงานที่ต้องการความยอมรับจากหลายๆ คนในเวลาเดียวกัน ให้ความสำคัญกับความสำเร็จ เป็นที่ประจักษ์ทั้งในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว

คนลักษณ์ 4 คือผู้มีอารมณ์ศิลปิน  มองว่าโลกนี้ไม่ได้เปิดรับเขาตั้งแต่แรก จึงต้องแสวงหาความเป็นเอกลักษณ์ สิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น เพื่อให้ผู้อื่นมองเห็นและยอมรับในตัวเขา 

ศูนย์สุดท้ายคือ “ศูนย์หัว” ประกอบด้วยลักษณ์ 5 6 และ 7 คนศูนย์หัวใช้การคิดวิเคราะห์เพื่อจัดการกับความกลัวจากความไม่แน่นอน และปัจจัยภายในตนเอง 

คนลักษณ์ 5 คือนักสังเกต มองว่าทรัพยากรและเวลาของตนเองมีอยู่จำกัด จึงกลัวการถูกรุกราน กลัวควบคุมสิ่งต่างๆ ไม่ได้ มักแสวงหาข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้ตนเองอุ่นใจ 

คนลักษณ์ 6 คือผู้จงรักภักดี มองว่าโลกไม่ปลอดภัย เป็นอันตราย จึงระมัดระวังความเสี่ยงและความไม่มั่นคงต่างๆ  ชอบการวางแผนที่ชัดเจน แน่นอน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

คนลักษณ์ 7 คือนักผจญภัย เป็นนักเสพความสุข ความสนุกสนาน มองว่าโลกนี้เต็มไปด้วยโอกาสและทางเลือก จึงกลัวการถูกบังคับ การไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะสิ่งที่เขามองว่าไม่สนุก

หลังจากฟังลักษณะของนพลักษณ์ทั้ง 9 รูปแบบแล้ว วิทยากรให้ครูเลือก 1-2 ลักษณ์ ที่เข้าใจว่าตรงกับตนเอง แล้วเปิดวงให้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน

เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น

ชีวิตประจำวันของครูต้องดูแลผู้คนมากมายหลายชีวิต มีเอกสารกองโตต้องจัดการให้แล้วเสร็จ ไม่นับภาระอื่นๆ ที่ถาโถมจนแทบไม่มีเวลาพัก ไม่บ่อยนักที่ครูจะได้มีเวลาทบทวนทำความเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง สะท้อนคิดกับตนเองว่าเราเป็นคนแบบไหน อะไรที่ใช่ – ไม่ใช่ ในความเป็นเรา

กิจกรรมตลอดสองวันนี้คุณครูโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมได้กลับมาสังเกตและมองเห็นตนเองอย่างแท้จริง ได้ฝึกที่จะรู้เท่าทันความคิดที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ของตนเอง โดยมีนพลักษณ์เป็นแผนที่ในการสำรวจและมองเห็นแบบแผนความคิดที่เกิดขึ้นโดยที่เรามักไม่รู้ตัว แต่กลับส่งผลกับความคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง และความรู้สึกภายในของเราอยู่ตลอดเวลา

นพลักษณ์ช่วยให้เราไม่ลืมว่ามนุษย์แต่ละคนรับรู้โลกตรงหน้าผ่านโลกทัศน์ที่แตกต่าง 

ต่างศูนย์ ต่างมุมมอง ต่างสิ่งเร้าที่ให้คุณค่าความหมาย แต่เราอยู่ร่วมกันได้หากเท่าทันวิธีคิดและวิธีมองโลกของตนเอง นพลักษณ์จะพาคุณครูไปสู่การมองผู้คนที่แวดล้อมตนเองใหม่ ทั้งนักเรียน ทั้งเพื่อนครู ซึ่งทุกคนล้วนแต่มีชุดคุณค่าและวิธีการในการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน ได้มองเห็นความหลากหลายและซับซ้อนในห้องเรียนมากขึ้น ช่วยให้คุณครูมองความเป็นมนุษย์อย่างเปิดกว้าง และมองเห็นศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่ได้มากกว่าที่เคย

การตลอดกิจกรรมครูโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมได้กลับมาสำรวจทั้งศักยภาพและข้อจำกัดของตนเองใหม่ ทำให้ครูเข้าใจแรงจูงใจและความคิดยึดติดที่คอยขับเคลื่อนชีวิตจากภายใน 

ทั้งความคาดหวัง ความโกรธ ความกลัว ความกังวลของตนเอง

ขณะเดียวกันก็ได้เข้าใจผู้อื่น ได้เห็นว่าเราทุกคนล้วนกำลังเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงภายในใจ ไม่ต่างกัน

เมื่อเข้าใจนพลักษณ์แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยึดติดกับลักษณ์นั้นๆ  แต่สิ่งสำคัญคือการได้มองเห็นความหลากหลายของลักษณะอื่นๆ ที่เป็นไปได้ มองเห็นว่าผู้เรียนบางคนอาจจะถนัดการเรียนรู้ผ่านศูนย์กาย ผู้เรียนบางคนอาจจะชอบการครุ่นคิด ผู้เรียนบางคนอาจอ่อนไหวในบางสิ่งเป็นพิเศษ และนำความเข้าใจของตนเองไปปรับใช้ ทั้งกับห้องเรียน และตัวของคุณครูเอง

ทั้งหมดอยู่ที่เราเป็นผู้เลือกและผู้สร้าง เพื่อจะพัฒนาตนเองต่อไปอย่างที่เราต้องการ

Your email address will not be published.