ฟังอารมณ์ ถามความรู้สึก ทักษะการโค้ชเพื่อดูแลใจผู้เรียน โรงเรียนสุจิปุลิ
Reading Time: 2 minutesหลากหลายและกว้างใหญ่กว่าเนื้อหาที่ครูสอน คือชีวิตจริงในทุกวันของผู้เรียน ทำอย่างไรครูจะเท่าทันและมองเห็นมิติต่างๆ ในชีวิตของผู้เรียนได้มากขึ้น
เพื่อตอบคำถามนี้ โครงการโรงเรียนปล่อยแสงชวนอาจารย์ “เปิ้ล” – อธิษฐาน์ คงทรัพย์ และอาจารย์ “จ๊อย” – ปวีณา แช่มช้อย สองวิทยากรจากกิจกรรมพัฒนานิเวศการเรียนรู้ตามความสนใจของโรงเรียน มาคุยกันในหัวข้อ Coaching Skills For the teachers ที่โรงเรียนสุจิปุลิ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเข้าใจทักษะการฟังและการตั้งคำถามสะท้อนชีวิตพร้อมๆ กัน
การโค้ชเพื่อครู
“คำว่า ‘โค้ช’ ใช้ในสื่อออนไลน์เยอะ หลายบริบท หลายมิติ แต่ละคนมีภาพจำหรือเข้าใจคำนี้ต่างกันไป แต่คำว่า ‘โค้ช’ ในแบบของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง คือการไม่ได้มาบอกหรือมาสอน แต่มาชวนฟังและตั้งคำถาม”
อาจารย์เปิ้ลเกริ่นนำว่า “โค้ช” ของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงคือการฝึกฝนให้ครูเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังในระดับลึกถึงความรู้สึก ความต้องการ คุณค่าที่ซ่อนในพฤติกรรมและคำพูด ใช้การตั้งคำถามเพื่อช่วยให้ผู้พูดตระหนักรู้ในตนเอง
“จากที่มาด้วยความสับสน ความขัดแย้งบางอย่าง การคุยกับโค้ชจะช่วยให้เขาค่อยๆ จัดเรียงความคิดและประมวลผลภายในตัวเอง พบคำตอบที่ตอบสนองต่อคุณค่าเบื้องลึกในตัวเอง ปลดล็อกบางอย่างที่เป็นอุปสรรค เพราะอุปสรรคที่เจอส่วนใหญ่มาจากวิธีคิดของเราเอง
“โค้ชของเรา คือฟังเป็น ตั้งคำถามเป็น”
หนึ่งในกิจกรรมแรกของการอบรมที่โรงเรียนสุจิปุลิ คือกิจกรรมฝึกทักษะการฟัง การเล่า การทบทวนประเด็น ทบทวนความรู้สึก โดยให้ครูจับคู่ผลัดกันเล่าแรงบันดาลใจในการมาทำอาชีพนี้ ผู้ฟังต้องฟังอย่างตั้งใจ ไม่ขัดหรือแทรกและจับประเด็นสำคัญจากเรื่องเล่านั้นว่าผู้เล่าให้คุณค่ากับสิ่งไหน กำลังรู้สึกอะไร ก่อนจะพูดทวนเพื่อสะท้อนกลับ
“หลังจบกิจกรรมมีครูสะท้อนว่าเล่าได้ไม่ค่อยดี แต่พอเพื่อนที่ฟังทวนกลับมาก็รู้สึกว่าใช่ นั่นแหละคือเรื่องที่ฉันอยากเล่า แต่ตนเองเรียบเรียงไม่ถูก กลายเป็นส่งผลดีให้ผู้เล่าเข้าใจเรื่องของตนเองมากยิ่งขึ้น ช่วยให้คนที่กำลังสับสนเข้าใจตนเองได้” อาจารย์เปิ้ลเล่า
อาจารย์จ๊อยเสริมอีกมุมว่านอกจากในแง่ของเรื่องราวแล้ว การฟังและทวนประเด็นสำคัญยังช่วยให้ผู้เล่าเข้าใจในความรู้สึกของตนเองด้วย เพราะหลายครั้งผู้เล่าก็ไม่ชัดเจนว่าตนเองรู้สึกกับเรื่องราวนั้นอย่างไร แต่การมีใครสักคนฟังและนิยามความรู้สึกนั้นได้ตรงจุด ก็ช่วยให้เกิดความกระจ่างขึ้นได้
“ครูก็กำลังเจอประสบการณ์คล้ายๆ กันนี้กับเด็ก สมมติว่ามีเด็กมาโวยวายงอแงให้ครูฟัง แล้วครูลองสะท้อนถามกลับไปว่ากำลังโกรธอยู่ใช่ไหม หรือกำลังเสียใจอยู่ใช่ไหม เด็กก็อาจเบาลง กระจ่างขึ้น เพราะรับรู้ว่าครูรู้แล้วว่าเรากำลังโกรธ” อาจารย์จ๊อยยกตัวอย่าง
“หลายครั้งเด็กบอกความรู้สึกไม่เก่ง การอธิบายหรือจับอารมณ์ออกมาเป็นคำอาจยากไปสำหรับเขา จึงแสดงอาการออกทางกาย การที่เราเข้าใจและจับความรู้สึกเขาได้ จะทำให้เราดูแลเขาได้ดีขึ้น” อาจารย์เปิ้ลเสริม
เก้าอี้ 4 ตัว กับการให้คำปรึกษา 3 แบบ
กิจกรรมสาธิตกึ่งแสดงละคร ให้ผู้มาขอคำปรึกษานั่งเก้าอี้ตัวแรก ส่วนอีกสามตัวเป็นของผู้ให้คำปรึกษาสามแบบ ผู้ขอคำปรึกษาบอกเล่าความกังวลใจว่า “จะเลิกดื่มน้ำอัดลมที่ชอบอย่างไรดี”
ผู้ให้คำปรึกษาคนแรกแสดงแบบสอนสั่ง บอกว่าน้ำอัดลมไม่ดี ให้เลิกเลย ซึ่งเป็นวิธีที่เรามักได้รับจากคนใกล้ตัว เช่น พ่อแม่ เพื่อนสนิท
คนที่สองเสนอทางเลือก เริ่มจากการช่วยหาสาเหตุว่าเพราะเหตุใดจึงชอบดื่มน้ำอัดลม เมื่อรู้ว่าเจ้าตัวชอบดื่มเพราะความสดชื่น ก็ช่วยแนะนำทางเลือกเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ที่สดชื่นเหมือนกัน เป็นบทบาทที่เรามักได้รับจากครู และเจ้านายในที่ทำงาน
คนสุดท้ายไม่พยายามช่วยหาทางออก แต่มุ่งเน้นตั้งคำถามชวนให้เจ้าตัวคิดว่าเพราะอะไรจึงอยากเลิกดื่มน้ำอัดลมที่ชอบ จนคลี่คลายเหตุผลเบื้องหลังว่าไม่ได้แค่อยากเลิกดื่มน้ำอัดลม แต่อยากลดน้ำหนัก อยากหุ่นดี บทบาทแบบสุดท้ายนี้เองคือ “โค้ช” ของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ซึ่งแตกต่างจากการโค้ชกีฬาที่เน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมและมุ่งสู่เป้าหมาย
“ถ้าเป็นโค้ชกีฬา เขาอาจสั่งให้คุณไปวิ่ง งดอาหารนั่นนี่ เพื่อให้เราเข้มงวดกับการลดน้ำหนัก แต่การโค้ชแบบโครงการโรงเรียนปล่อยแสง สุดท้ายผู้เล่าต้องเป็นคนเลือกเองว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ทำหรือไม่ทำ ถ้าทำจะทำอย่างไร อย่างกรณีสาธิตเรื่องน้ำอัดลม สิ่งสำคัญไม่ใช่การไม่ดื่ม หรือจะเลือกดื่มต่อเพราะเป็นพลังใจ แต่คือการเป็นตัวของตัวเอง คลี่คลายและตัดสินใจเรื่องภายในด้วนตนเอง” อาจารย์จ๊อยอธิบาย
“การตั้งคำถามแบบโค้ช คือไม่ถามเรื่องนอกตัว แต่ถามเรื่องราวภายในว่ามีผลกระทบอะไรกับเขาบ้าง เพราะมนุษย์ไม่สามารถแก้ไขปัจจัยภายนอกหรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง สิ่งที่เราดูแลและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คือข้างในตัวเรา หน้าที่ของโค้ชคือการช่วยถามให้เขาเห็นความเชื่อมโยงและความเป็นไปได้ ว่าจากตัวตนที่เขาเป็น ศักยภาพที่เขามี จะพาเขาไปถึงเป้าหมายที่ปรารถนาอย่างไรได้บ้าง” อาจารย์เปิ้ลสรุปบทบาทของโค้ช
ครูผู้ดูแลจิตใจ
ในบริบทของโรงเรียน การให้คำปรึกษาช่วยหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ของผู้เรียน หรือช่วยเด็กพัฒนาก้าวหน้าด้านการเรียนก็จำเป็นในหลายๆ กรณี แต่การเป็นโค้ชที่ช่วยดูแลจิตใจข้างใน ช่วยให้นักเรียนเติบโตด้วยตัวเองก็มีความสำคัญและจำเป็น
“การโค้ชแบบนี้จะทำให้ระบบการศึกษาสนใจมนุษย์เป็นองค์รวมมากขึ้น คือไม่ได้สนใจแค่เนื้อหาที่จะสอน หรือแค่การปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แต่ว่าสนใจเด็กของเราอย่างเป็นองค์รวมทั้งหมดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง” อาจารย์เปิ้ลเล่า
“มิติด้านอารมณ์ความรู้สึกสำคัญต่อการเรียนรู้มาก ถ้ามองข้ามจุดนี้ไปเราก็จะได้เด็กหัวโต เป็นเด็กที่เรียนได้ ขยัน ผลลัพธ์ดี แต่จิตใจข้างในไม่ได้รับการดูแล” อาจารย์จ๊อยกล่าว
ทักษะการโค้ชสำคัญอย่างมากต่อเด็กวัยรุ่น โดยเฉพาะระดับมัธยมฯ ซึ่งเริ่มตามหาตัวตนและเป้าหมายของตนเอง เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ ฮอร์โมน และความไม่สอดคล้องในตนเอง จะเป็นเด็กก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง
“สิ่งที่วัยรุ่นต้องการคือการได้รู้ว่าตนเองได้รับการยอมรับ เสียงของเขาได้รับการได้ยิน การโค้ชคือการถามเพื่อให้เสียงนั้นได้เผยออกมา ดึงศักยภาพด้านบวกขึ้นมาแล้วขับเคลื่อนจากตรงนั้น ในวันที่ตัวชี้วัดภายนอกไม่เป็นอย่างที่เขาหวัง ทักษะการโค้ชจะช่วยย้ำให้เด็กไม่ลืมจุดแข็งของตนเองว่าคืออะไร ช่วยเสริมพลังความมั่นใจให้เขา ความรู้สึกว่ามีผู้ใหญ่คอยฟังเขาอยู่ เชื่อมั่นในตัวเขาว่าจะตัดสินใจเลือกชีวิตได้เอง มันทรงพลังมากเลยนะ” อาจารย์เปิ้ลอธิบาย
ทักษะการโค้ชที่เน้นการดูแลจิตใจนั้นไม่ได้ใช้เฉพาะครูกับเด็ก แต่สามารถนำมาช่วยให้เราทุกคนรู้จักฟังกันมากขึ้น สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสาร เสริมพลังให้ทุกคนในนิเวศการเรียนรู้กล้าส่งเสียง กล้าพูดคุย และสร้างความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การวางเป้าหมายร่วมกันของโรงเรียน ชุมชน และพื้นที่การเรียนรู้ ก่อนก้าวต่อด้วยศักยภาพของตนเอง
ทุกอารมณ์ล้วนมีความหมาย
“ตอนแรกหนักใจอยู่เหมือนกัน เพราะโรงเรียนสุจิปุลิเป็นโรงเรียนเด็กเล็ก ครูที่มาเข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่อยู่ระดับชั้นอนุบาล ก็นึกภาพยากนิดหนึ่งว่าเวลาเด็กเล็กๆ มีปัญหามาขอคำปรึกษาจะเป็นอย่างไร” อาจารย์จ๊อยเล่าถึงการทำหน้าที่วิทยากรครั้งนี้
“แต่ความกังวลก็คลี่คลายในวงสะท้อนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลังเข้าร่วมกิจกรรม มีครูบอกว่าที่ผ่านมานึกว่าเราฟังเด็ก แต่จริงๆ ไม่ได้ฟังเขาเลย เป็นการฟังแบบผ่านๆ คิดว่าตั้งใจจะช่วยเหลือเด็ก แต่เราไม่ได้ใส่ใจความรู้สึกของเด็กเลย มุ่งที่เนื้อหา พยายามแก้ปัญหาให้ แต่ลืมดูว่าตอนนี้เขากำลังอยู่ในภาวะอารมณ์แบบไหน กำลังรู้สึกอะไร หลังจากนี้จะตั้งใจฟังความรู้สึกของเด็กควบคู่กับเนื้อหาที่เขาเล่าด้วย”
ครูหลายคนก้าวสู่อาชีพนี้เพราะแรงบันดาลใจอยากดูแลเด็กๆ อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการเติบโตของหลายๆ ชีวิต แต่หลายครั้งหลายหน เรามักหลงไปกับตัวชี้วัดต่างๆ ที่คนอื่นกำหนดขึ้น แก้ไขปัญหาที่มองเห็นจับต้องได้ แต่มองข้ามเรื่องอารมณ์ความรู้สึกภายในของผู้เรียน ซึ่งบางครั้งก็สำคัญยิ่งกว่า
ในโรงเรียนหรือชั้นเรียน ทักษะการโค้ชอาจไม่มีโอกาสใช้ได้เต็มรูปแบบ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อครูมีทักษะพื้นฐานการโค้ช ทั้งการฟังจับประเด็นภายใน และการถามเพื่อให้ผู้พูดตกผลึกความคิดด้วยตนเอง ก็สามารถปรับใช้ในการพูดคุยปกติในชั้นเรียน
บางครั้งเด็กต้องการแค่ผู้ใหญ่ที่รับฟังว่า เขากำลังรู้สึกอย่างไร
ทุกอารมณ์ล้วนมีความหมาย ในฐานะส่วนประกอบเล็กๆ ที่สร้างให้คนเติบโต