Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ บทความ / บทสัมภาษณ์ บันทึกเวทีการเรียนรู้ ร่วมพัฒนาธนาคารกรุงเทพ

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง : สร้าง “นิเวศการเรียนรู้” สู่ห้องเรียนที่มีความสุขและมีความหมาย5 min read

Reading Time: 4 minutes หากต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่ใคร? เราลองไปฟังเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านผู้อำนวยการโครงการและคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ รวมถึงครูและผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง Dec 1, 2023 4 min

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง : สร้าง “นิเวศการเรียนรู้” สู่ห้องเรียนที่มีความสุขและมีความหมาย5 min read

Reading Time: 4 minutes

หากต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่ใคร?

คำตอบแรกที่ขึ้นมาในหัวของแต่ละท่านอาจแตกต่างกัน บ้างอาจตอบว่าต้องเริ่มต้นที่ครู บ้างอาจตอบว่าคงต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจากระบบก่อน ทุกท่านอาจลองเก็บคำตอบนั้นไว้ในใจ เพราะในบทความนี้จะพาไปชมนิทรรศการจากโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง ณ งาน บัวหลวงก่อการครู: เวทีเบิ่งแงงการศึกษาอุดรบ้านเฮา จ.อุดรธานี ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566

นิทรรศการสะท้อนเสียงของ “ผู้ร่วมพัฒนาการศึกษา” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพัฒนาโดยใครคนใดคนหนึ่ง แต่หมายถึงการพัฒนา “นิเวศการเรียนรู้” ซึ่งเป็นการพัฒนาการศึกษาให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ องค์ประกอบใดบ้างที่มีผลต่อการสร้างการเรียนรู้ “ที่มีความสุขและมีความหมาย” ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันผ่านการทำความรู้จัก “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” พร้อมทั้งบุคลากรและผู้ร่วมสนับสนุนที่มีส่วนผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น

นิทรรศการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง ในงาน “เบิ่งแงงการศึกษาอุดรบ้านเฮา” 
โครงการบัวหลวงก่อการครู จ.อุดรธานี
นิทรรศการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง ในงาน “เบิ่งแงงการศึกษาอุดรบ้านเฮา”
โครงการบัวหลวงก่อการครู จ.อุดรธานี

โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เป็นแนวคิดที่มุ่งสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท มูลนิธิ องค์กร หรือสถาบันต่าง ๆ  ที่สนับสนุนทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษา โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

  1. การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 
  2. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา
  3. การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา
  4. การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการโรงเรียน

ในส่วนของโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง เป็นโรงเรียนภายใต้โครงการความร่วมมือของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาโรงเรียน เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีการเรียนรู้ใหม่ให้กับการศึกษาไทย

ภาพถ่ายคณะครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง คณะทำงานโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา
และ คณะผู้บริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ภาพถ่ายคณะครูและผู้บริหารโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์
คณะทำงานโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา และ คณะผู้บริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ภาพถ่ายคณะครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง
คณะทำงานโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา 
และ คณะผู้บริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ภาพถ่ายคณะครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง
คณะทำงานโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา และ คณะผู้บริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

การร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาระบบการศึกษา ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

เราทุกคนต่างมีความเกี่ยวข้องในการผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้นได้ ทุกองค์ประกอบล้วนสัมพันธ์กันเป็นระบบนิเวศ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับองค์ประกอบหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่นไปด้วยความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ของระบบทั้งหมดจึงนำมาสู่การขับเคลื่อน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” โดยคำนึงถึง “การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ภายใต้บริบทชุมชน”

“การพัฒนานิเวศการเรียนรู้ภายใต้บริบทชุมชน” คือการกำหนดทิศทางการดำเนินโครงการในปีที่ 2- 3 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางภายใต้บริบทชุมชน จัดกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องไปกับความสัมพันธ์และบริบทแวดล้อมของโรงเรียนแต่ละแห่ง ซึ่งการดำเนินงานรูปแบบนี้เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างครู ผู้เรียน สถานศึกษา ครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น

เมื่อทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง “การเรียนรู้ที่มีความหมาย” ก็จะเกิดขึ้น ไม่ใช่มีความหมายกับผู้เรียนเท่านั้นแต่มีความหมายและมีคุณค่าต่อทุกคนที่ได้ร่วมกันผลักดัน สนับสนุน ทุกความสัมพันธ์ทั้งหมดที่อยู่รายล้อมล้วนสร้างพัฒนาการให้กับผู้เรียนได้ นอกจากนี้ภายในโครงการยังมีแนวทางการทำงานที่มุ่งยกระดับทั้งระบบโรงเรียน (School – based Approach) ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือไปยังระดับกระทรวง เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ และเครือข่ายโรงเรียนต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นองคาพยพเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้สู่ความยั่งยืน

เส้นทางกว่าจะมาถึงการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ได้ มีการเริ่มต้นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างและผลลัพธ์เป็นอย่างไร

ภายในนิทรรศการนอกจากการเล่าที่มาและวิสัยทัศน์โครงการแล้ว ยังจัดแสดงผลงานนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งถือได้ว่าเป็นไฮไลท์สำคัญ ไม่ว่าใครก็ตามที่เดินผ่านล้วนให้ความสนใจ  แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างทางกว่าจะมาเป็นผลงานนวัตกรรมทางการศึกษาต่าง ๆ ที่จัดแสดงอยู่นั้นก็น่าสนใจและสำคัญไม่แพ้กัน เส้นทางกว่าที่โรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง จะมาถึงการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้ได้ มีการเริ่มต้นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้างและผลลัพธ์เป็นอย่างไร เราลองไปฟังเสียงสะท้อนจากผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านผู้อำนวยการโครงการและคณะทำงาน ซึ่งนำทีมโดย ผศ. ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ และ ผศ. ดร.กิตติ คงตุก จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเสียงสะท้อนอีกด้านจากครูและผู้อำนวยการทั้ง 2 โรงเรียน

ผศ. ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ (กลาง) ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง
และคณะครูและผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนิเวศวุฒนาราม จ.นครสวรรค์
ผศ. ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ (กลาง) ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง
และคณะครูและผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์
ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ (ซ้าย) และ ผศ. ดร.กิตติ คงตุก (ขวา)
คณะทำงานและนักวิจัยโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง
ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ (ซ้าย) และ ผศ. ดร.กิตติ คงตุก (ขวา)
คณะทำงานและนักวิจัยโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง

ภาพฝัน กับ โลกความเป็นจริง: เสียงสะท้อนจากคณะทำงาน

ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ และ ผศ. ดร.กิตติ คงตุก เล่าถึงการเข้าไปเริ่มต้นทำโครงการไม่ใช่เข้าไปแล้วไปบอกว่า ต้องทำอย่างนั้นสิ ทำอย่างนี้สิ แต่ทีมของเราคือการทำงานร่วมกัน เพราะโครงการเริ่มต้นตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อสำรวจว่าภายในชุมชนมีฐานทุนอะไรบ้าง ทั้งทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่มีโดยมีจุดมุ่งหมายคือ ใช้ทุนเหล่านั้นเป็นจุดตั้งต้นในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียน เชื่อมโยงเนื้อหาภายในห้องเรียนกับชีวิตจริงของผู้เรียน

นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปคือ การพัฒนาครูและบุคลากร โดยส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา ให้ครูใน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” เข้าร่วมอบรมร่วมกับครูจาก “โครงการบัวหลวงก่อการครู” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์คือ พัฒนาศักยภาพครูเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการและเข้าร่วม Workshop พร้อมทั้งเรียนรู้เครื่องมือในการทำงาน ให้ครูสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงห้องเรียนของตนเองได้ ซึ่งสามารถเห็นได้จากกระบวนการขับเคลื่อนโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Timeline ที่จัดแสดงภายในนิทรรศการ

กระบวนการขับเคลื่อนโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Timeline โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา 
จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง
กระบวนการขับเคลื่อนโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Timeline โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา
จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญในฐานะทีมงานที่ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนคือ การเผชิญกับความท้าทายในมิติต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ ทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลาย มีทั้งแรงสนับสนุนและแรงต้าน เห็นบริบทความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาระงานของครูที่นอกเหนือจากการสอน ความไม่ต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายของระบบผู้บริหาร  ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ กล่าวว่า

“ในโครงการมีทั้งจุดที่ขึ้น ๆ ลง ๆ มีจุดที่คุณครูมีไฟจากการได้เข้าร่วม Workshop แต่เมื่อกลับไปที่โรงเรียนเจอสภาพความเป็นจริงไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ลดลง ดังนั้นหน้าที่ของทีมวิจัยที่ลงพื้นที่จึงเป็นการคอยกระตุ้น คอยย้ำเตือน ปลุกไฟนั้นให้ยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ”

ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ นักวิจัยโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง

อีกความท้าทายจากมุมมองของ ผศ. ดร.กิตติ คงตุก คือ ทุกเครื่องมือไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่ (One Size Does Not Fit All) ทั้งโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง มีบริบทที่แตกต่างกัน

“แม้ครูจะเข้าร่วม Workshop และได้เรียนรู้เครื่องมือต่าง ๆ จาก โครงการ แต่ทีมลงพื้นที่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นตัวกลาง ปรับใช้เครื่องมือเหล่านั้นที่ได้ไปเรียนรู้มาให้เหมาะกับห้องเรียน เหมาะกับบริบทของชุมชนของตนเองมากยิ่งขึ้น”

ผศ. ดร.กิตติ คงตุก นักวิจัยโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง

เสียงที่อยากให้ได้ยินจากครูและผู้อำนวยการในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง

ในด้านของครูผู้ร่วมพัฒนาจากทั้ง 2 โรงเรียนใน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการว่า การเรียนรู้เริ่มตั้งแต่ให้ครูได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้กลับมาย้อนคิดอีกครั้งว่าการเป็นครูของเราคืออะไร การเข้าร่วมอบรมหนึ่งครั้งทำให้ได้เครื่องมือกลับไปและคิดว่าจะนำไปปรับใช้กับเด็กได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น วิธีการสื่อสารกับผู้เรียน ควรใช้น้ำเสียง คำพูด หรือทำความเข้าใจผู้เรียนมากขึ้นได้อย่างไร และเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในห้องเรียน การใช้เกม ใช้กิจกรรม Active Learning และการใช้สื่อประกอบการเรียนรู้

“กิจกรรมส่งเสริมการมีงานทำ มีอาชีพ” ผลงานของโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์
และ “การศึกษาผลิตภัณฑ์ลบรอยเปื้อนแบบพกพา โดยใช้สารสกัดจากลูกลำแพน” 
ผลงานของโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง
“กิจกรรมส่งเสริมการมีงานทำ มีอาชีพ” ผลงานของโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์
และ “การศึกษาผลิตภัณฑ์ลบรอยเปื้อนแบบพกพา โดยใช้สารสกัดจากลูกลำแพน”
ผลงานของโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง

“มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ ความแตกต่างตอนสอนแบบมีสื่อและมีเกม กับตอนที่ไม่มีสื่อ เด็กให้ความสนใจแตกต่างกันมาก เด็กสนใจอยากที่จะเรียนรู้มากขึ้นเรียกร้องให้มีแบบนี้ในห้องเรียนบ่อย ๆ”

โศภิษฐกุล ลาลี ครูโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ สะท้อนมุมมองบรรยากาศในชั้นเรียน

นอกจากนี้ วราภรณ์ ไชยเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ภายในโรงเรียนจะจัดกิจกรรม Active Learning อยู่เสมอทั้งภายในชั้นเรียนและในรูปแบบรวมทั้งโรงเรียน เพื่อสร้างทักษะให้กับผู้เรียนผ่านการเล่น ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ที่ผ่านมา โรงเรียนและครูมีการปรับตัว สร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เนื่องจากชุมชนเป็นชุมชนเกษตรกรรมจึงจัดกิจกรรมการทำปุ๋ยชีวภาพและการปลูกผักในตะกร้า เพื่อให้ชุมชนมีพืชผักปลอดสารพิษกินภายในครัวเรือนจากเดิมที่เคยใช้ยาและสารเคมีในการปลูกผัก รวมถึงการแปรรูปฝรั่งเป็นชาใบฝรั่ง ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นร่วมกันภายในชุมชนที่ยังคงดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบันและสามารถต่อยอดสู่การประกอบอาชีพต่อไป

บอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ “มาขายช่ะ (ชา)”
ผลงานของโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์
บอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ “มาขายช่ะ (ชา)”
ผลงานของโรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์

เสียงสะท้อนจากอีกหนึ่งโรงเรียนใน “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” กานดา เหมือนพรรณราย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง กล่าวว่า ให้ความสำคัญกับการร่วมพัฒนาร่วมสร้างวิถีเรียนรู้ใหม่ โดยเข้าร่วมอบรมพร้อม ๆ กับคุณครูในโรงเรียน และเข้าอบรมในหลักสูตรการใช้นิเวศการเรียนรู้เพื่อจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน เมื่อผู้นำให้ความสำคัญย่อมเสริมพลังให้ครูกล้าเปลี่ยนแปลง ครูโรงเรียนบ้านบางหมากจึงได้ร่วมกับโครงการออกแบบการเรียนรู้โดยนำ “ลูกลำแพน” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีในชุมชนบางหมาก เข้ามาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ลบรอยเปื้อนแบบพกพาโดยใช้สารสกัดจากลูกลำแพน ภาพที่เกิดขึ้นในโรงเรียนจึงเปลี่ยนแปลงไป

“ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ อย่างน้อยที่สุดผู้ปกครองได้รู้จักลูก ๆ ของตนเอง ผู้ปกครองได้เข้ามารู้จักครูเกิดการเชื่อมโยงกับโรงเรียนมากขึ้น”

ชุติมา เชี่ยเท่า ครูโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง

และในส่วนปาริชา ชูสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการว่านอกจากจะเป็นการจุดประกายความคิดครูแล้ว การมองผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้นเป็นการเริ่มต้นให้เด็กสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

“การจัดการห้องเรียนแบบ Active Learning ทำให้เด็กมีความสุข กระตือรือร้น มีความกล้าแสดงออก มั่นใจในตนเอง เด็กได้ลงมือปฏิบัติ และครูเองก็ต้อง Active ไปด้วยในการจัดการเรียนรู้ และครูก็มีความสุขเมื่อเด็กตอบโต้กับเรา”

ปาริชา ชูสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง
“การศึกษาผลิตภัณฑ์ลบรอยเปื้อนแบบพกพา โดยใช้สารสกัดจากลูกลำแพน” 
ผลงานของโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง
“การศึกษาผลิตภัณฑ์ลบรอยเปื้อนแบบพกพา โดยใช้สารสกัดจากลูกลำแพน”
ผลงานของโรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง

ภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 โรงเรียนในวันนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” ที่มุ่งเน้นสร้างนิเวศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น แต่เรื่องราวระหว่างทางนั้นสำคัญยิ่งกว่าเพราะจากเสียงสะท้อนของทุกคน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ผู้เรียน” เมื่อคุณครูปรับ ห้องเรียนเปลี่ยน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดคือ “ความสุขของผู้เรียน” เริ่มต้นจากครูสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ในโรงเรียนที่ดีขึ้น และขยับคำว่าห้องเรียนให้ไปได้ไกลกว่าห้องสี่เหลี่ยม นั่นคือการคืนพื้นที่การสร้างการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน สร้างเครือข่ายจากครอบครัวและคนในท้องถิ่นเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน

เสียงสะท้อนจากครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และนักวิจัยภายในนิเวศการเรียนรู้
ของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง
เสียงสะท้อนจากครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และนักวิจัยภายในนิเวศการเรียนรู้
ของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง

ก้าวต่อไปของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง

การดำเนินการขั้นต่อไปของโครงการจึงเป็นการคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทีมลงพื้นที่ของโครงการกล่าวว่า ความยั่งยืนที่อยากเห็นคือ ต่อให้โครงการถอนตัวออกมาแล้วแต่โรงเรียนจะยังสามารถใช้เครื่องมือเหล่านั้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนต่อไป และขยายผลสู่โรงเรียนรอบ ๆ เป็นเครือข่ายการเรียนรู้ที่แข็งแรงร่วมกัน อีกทั้งครูและผู้อำนวยการที่เข้าร่วมโครงการยังให้ความคิดเห็นว่า ความยั่งยืนในการพัฒนาการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อสังคมให้โอกาสและให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่แค่พัฒนานักเรียนหรือครู แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาระดับโครงสร้างและนโยบายให้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อร่วมกันสร้างการเรียนรู้ พัฒนาอย่างเป็นองค์รวมและคืนครูให้กับห้องเรียนอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดนี้ “หากต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่ใคร?” ทางโครงการขอฝากคำถามให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองตกตะกอนความคิดอีกครั้ง ส่วนเส้นทางของ “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” ยังคงก้าวเดินต่อไปทั้ง โรงเรียนวัดนิเวศวุฒาราม จ.นครสวรรค์ และ โรงเรียนบ้านบางหมาก จ.ตรัง พร้อมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาถึงตรงนี้เราไม่ได้เดินทางอย่างโดดเดี่ยว ยังมีภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาอีกมากมายที่มุ่งมั่นขับเคลื่อน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาของประเทศไทย

การเดินทางนี้คงไม่อาจสิ้นสุดลงอย่างง่าย ๆ ระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนนั้นยาวนาน ทว่าหากเราเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่วันนี้ ผลผลิตย่อมเติบโตผลิบานในวันหน้า พวกเราชาว “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” อยากให้ทุกท่านติดตามเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และร่วมลงมือทำไปด้วยกัน เพื่อภาพของระบบการศึกษาในอนาคต “ที่มีความสุขและมีความหมาย” แด่พวกเราทุกคน

ติดตามผลงานของทั้ง 2 โรงเรียนที่จัดแสดงในงานได้ที่: https://www.facebook.com/PartnershipschoolTU/posts
/pfbid0nfArkt9bKEQKkPAcBz6t2irS59S186xgT7ZC3v4Qy4w5PogsVwLQU6KYGongTcnLl

Facebook โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.นครสวรรค์ และ จ.ตรัง: https://www.facebook.com/PartnershipschoolTU

Your email address will not be published.