Korkankru

e-learning learning tools บัวหลวงก่อการครู

ถอดรหัส ADDIE Model: ออกแบบสื่ออย่างไรให้โดนใจผู้เรียน1 min read

Reading Time: 2 minutes สื่อสำหรับการเรียนการสอนที่จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อต่อการเรียนในวิชาต่าง ๆ กลับยังไม่สามารถดึงดูดความสนใจได้มากพอ คุณครูหลายคนจึงมีความคิดที่จะปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนให้ ‘โดนใจ’ มากขึ้น Dec 21, 2023 2 min

ถอดรหัส ADDIE Model: ออกแบบสื่ออย่างไรให้โดนใจผู้เรียน1 min read

Reading Time: 2 minutes

“โครงการบัวหลวงก่อการครู” ได้มีโอกาสลงพื้นที่จัดการอบรม ‘การผลิตสื่อเพื่อการเรียนรู้’ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ให้กับครูในหลายระดับชั้นและจากหลากหลายภาควิชา 

การอบรมในครั้งเริ่มต้นจากการแบ่งปันประสบการณ์ ปัญหาที่พบในการเรียนการสอน และรูปแบบการเรียนการสอนที่ตนเองสนใจ โดยหลังจากการแบ่งปันประสบการณ์กันแล้ว คุณครูจำนวนมากพบปัญหาสำคัญร่วมกันคือ การออกแบบสื่อการเรียนการสอน ถึงแม้ว่านักเรียนสมัยนี้จะมีความชื่นชอบการใช้สื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ตาม ทว่าสื่อสำหรับการเรียนการสอนที่จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิจดจ่อต่อการเรียนในวิชาต่าง ๆ กลับยังไม่สามารถดึงดูดความสนใจได้มากพอ คุณครูหลายคนจึงมีความคิดที่จะปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนให้ ‘โดนใจ’ มากขึ้น เพื่อให้นักเรียนมีสมาธิ สามารถจับต้องเนื้อหาในบทเรียนได้ เข้าใจง่าย และสนุกสนานกับการเรียนรู้ไปด้วย

ดังนั้นวิทยากรของ “โครงการบัวหลวงก่อการครู” คือ ผศ. ดร.ธิดา ทับพันธุ์ และ ผศ. ดร.ญาดา อรรถอนันต์ จึงได้บรรยายแนะนำวิธีการทำสื่อการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ผ่านการถอดรหัสแนวคิดและทฤษฏี รวมไปถึงกระบวนการทำสื่อที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ

ถอดรหัสสื่อการเรียนการสอน: แนวคิดและทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง

ผศ. ดร.ญาดา ได้แนะนำแนวคิดและรูปแบบของสื่อการเรียนการสอนแบบ ADDIE Model เนื่องจากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสื่อได้ในหลากหลายระดับชั้นและหลายประเภทวิชา โดยโมเดลนี้ครูผู้สอนจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ

ขั้นตอนที่ 1: A (Analysis) การวิเคราะห์ 

ก่อนการออกแบบสื่อการเรียนการสอน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนต้องทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์เนื้อหาที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญคือ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรในการสร้างสื่อการเรียนการสอนขึ้นมา รวมไปถึงทรัพยากรบุคคลด้วย 

ขั้นตอนที่ 2: D (Design) การออกแบบ

เมื่อทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายแล้ว จึงเป็นขั้นตอนการออกแบบวัตถุประสงค์การเรียนรู้ รวมถึงการประเมินผู้เรียนให้สอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องร่างภาพสื่อคร่าว ๆ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการสร้างสื่อจริง ซึ่งอาจร่างขึ้นเป็น Storyboard หรือเค้าโครงคร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพเป็นขั้นตอนก่อนเริ่มสร้างสรรค์สื่อที่ชัดเจนขึ้น

ขั้นตอนที่ 3: D (Development) การพัฒนา

นำสิ่งที่เราออกแบบมาพัฒนาสร้างสรรค์ให้เป็นรูปเป็นร่าง และจำเป็นต้องทำการประเมินเนื้อหาของสื่อโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อก่อนการนำไปใช้จริง รวมถึงการทดลองใช้งานในกลุ่มเล็ก ๆ

ขั้นตอนที่ 4: I (Implement) การนำมาใช้จริง 

การนำไปใช้จริง ควรมีคู่มือการใช้งานหรือแผนการสอน ร่วมกับวิธีการใช้สื่อและจัดเตรียมสื่อให้พร้อมสำหรับการใช้งาน

ขั้นตอนที่ 5: (Evaluation) การประเมิน

หลังจากนำสื่อไปใช้จริงแล้ว ควรมีการประเมินทั้งระหว่างเรียน (Formative Assessment) และการประเมินหลังเรียน (Summative Assessment) ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การออกแบบวิธีวัดและประเมินผลจะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ 

กระบวนการออกแบบสื่อการเรียนการสอนจะสำเร็จครบถ้วนและสมบูรณ์ตามโมเดลนี้ ผศ. ดร.ธิดา เน้นยํ้าว่า ขั้นตอนการประเมินมีความสำคัญมากที่สุด คุณครูจำต้องประเมินตั้งแต่ก่อนการนำสื่อมาใช้ในการเรียนรู้ (Pretest) เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าผู้เรียนมีพื้นฐานความรู้นั้นมากน้อยเพียงใด ก่อนจะใช้เนื้อหาในสื่อมาเป็นตัวประเมินการเรียนการสอนในตอนจบ

ปัจจุบันรูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควร ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่สื่อการเรียนการสอนแบบมัลติมีเดียและการผนวกเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนได้เป็นอย่างดี ไม่น่าเบื่อ สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ได้มากขึ้น ผ่านข้อความ รูปภาพ และภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น การออกแบบสื่อมัลติมีเดียบนแนวคิดแบบ ADDIE จึงควรได้รับการออกแบบ พัฒนา และประเมิน เช่นเดียวกับสื่อการเรียนการสอนโดยทั่วไป

การออกแบบสื่อการเรียนการสอนบนแนวคิด ADDIE ควรมีลักษณะและข้อพึงระวังดังนี้

  1. การใช้ข้อความ (Text) ข้อความต้องมีความชัดเจน ทั้งขนาด สีสัน และรูปแบบของตัวอักษรไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป สามารถมองเห็นได้ง่าย 
  2. การใช้ภาพนิ่งและกราฟิก (Photo and Graphic) ช่วยสื่อความหมายให้ผู้เรียนมีความเข้าใจง่ายหรือมากยิ่งขึ้น ความสวยงามของภาพสามารถดึงดูดผู้เรียนให้มีสมาธิจดจ่อมากยิ่งขึ้น ภาพต้องชัดเจน ไม่ตกแต่งมากจนเกินไป 
  3. การใช้ภาพเคลื่อนไหว (Motion) สามารถนำมาใช้กับเนื้อหาที่มีความซับซ้อนเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายขึ้น แต่จำเป็นต้องออกแบบให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ภาพเคลื่อนไหวต้องมีความเหมาะสม ไม่ดูน่ารำคาญเกินไป 
  4. การใช้วีดิทัศน์ (Video) หากผู้สอนต้องการนำเสนอหรืออธิบายเนื้อหาที่ยาก หรือไม่สามารถอธิบายได้หมด สามารถนำวีดิทัศน์มาใช้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงประเด็นทางเทคนิคด้วย เช่น ขนาดของไฟล์ การดาวน์โหลด คุณภาพของไฟล์ เป็นต้น 
  5. การใช้เสียง (Sound and Sound Effect) การใช้เสียงประกอบการเรียนการสอนจะช่วยให้การนำเสนอมีความสนใจมากยิ่งขึ้น ช่วยสร้างบรรยากาศในการนำเสนอเนื้อหา ไม่ใช้เสียงเพื่อการบรรยาย แต่อาจเน้นไปที่ข้อความ หรือหัวเรื่อง เป็นต้น

ในกระบวนการผลิตสื่อเช่นนี้ ผู้สอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำ Storyboard โดยสามารถสร้างเค้าโครงเนื้อหาสำหรับการใช้ในสื่อมัลติมีเดียในลักษณะต่าง ๆ เช่น โครงสร้างแบบเส้นตรง โครงสร้างแบบสาขา เป็นต้น เพื่อจัดลำดับของเนื้อหาทั้งหมด 

ขณะที่ขั้นตอนการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนควรคำนึงถึงความสามารถในการใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียว่า ผู้สอนนั้นมีความถนัดอย่างไร บนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้การพัฒนาได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด 

เมื่อนำไปใช้แล้ว ผู้สอนจะต้องทดลองกับผู้เรียนว่าเป็นไปตามจุดประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ เหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ ก่อนนำมาประเมินผลในขั้นตอนสุดท้ายตามแนวคิด ADDIE

อ้างอิง

สุไม บิลไบ. (2557). นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา. https://drsumaibinbai.files.wordpress.com/2014/12/addie_design_sumai.pdf

Your email address will not be published.