Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

การโค้ชเพื่อครู เติมความฟิตให้ชีวิตการสอน1 min read

Reading Time: 2 minutes ห้องเรียนวิชาทักษะการโค้ชเพื่อครู (Coaching Skills for Teachers) ‘โครงการบัวหลวงก่อการครู’ โมดูล 2 ชุดวิชาทักษะและเครื่องมือการเรียนรู้ โดย อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ไพลิน จิรสกุลชัย Internal Coach Dec 21, 2023 2 min

การโค้ชเพื่อครู เติมความฟิตให้ชีวิตการสอน1 min read

Reading Time: 2 minutes

หากพูดถึงผู้ฝึกสอนหรือ ‘โค้ช’ เรามักนึกถึงบุคคลที่ยืนอยู่ข้างสนาม ขมวดคิ้ว กอดอก ติวเข้มนักกีฬาในช่วงพักเบรก และเชื่อมั่นว่า โค้ชย่อมต้องเป็นคนที่มองเกมขาด เข้าใจสถานการณ์ และรู้จักลูกทีมของตัวเองดีที่สุด

แต่คุณสมบัติเหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ภายในวงการกีฬา เพราะหากวิชาชีพอื่นมีทักษะของการเป็นโค้ช การขับเคลื่อนองค์กรหรือกระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลก็จะดำเนินไปในทิศทางบวก

ดังนั้น หากครูในรั้วโรงเรียนเปรียบเสมือนโค้ชคนหนึ่งที่เข้าใจนักเรียนและมีกลวิธีดึงศักยภาพของเด็กออกมาอย่างตรงจุด ผู้เรียนย่อมได้รับแรงบันดาลใจหรือแนวทางที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตให้กับตนเองได้

ห้องเรียนวิชาทักษะการโค้ชเพื่อครู (Coaching Skills for Teachers) ‘โครงการบัวหลวงก่อการครู’ โมดูล 2 ชุดวิชาทักษะและเครื่องมือการเรียนรู้ โดย อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ไพลิน จิรสกุลชัย Internal Coach 

“โจทย์คือ ทําอย่างไรก็ได้เพื่อนำนักเรียนก้าวไปสู่อนาคต โดยไม่ต้องให้คําตอบ” ไพลินกล่าวกับครูผู้เข้าร่วมโครงการ

คนส่วนใหญ่จะสับสนระหว่างการเป็นโค้ช (Coach) กับการเป็นครูพี่เลี้ยง (Mentor)เพราะเรามักคิดว่า โค้ชต้องรู้มากกว่าเรา เป็นคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นและสามารถแนะนำเราได้ แต่ที่จริงแล้วโค้ชจะไม่แนะนำ หากแต่จะตั้งคำถามเพื่อให้เราค้นพบคำตอบหรือทางออกด้วยตนเอง

“ทักษะการโค้ช จะใช้การถามเป็นหลัก เราจะถาม แต่เราไม่บอก โดยมีหลักสำคัญคือการฟัง ไม่ว่าจะแบบไหนก็ต้องฟัง จากนั้นคือการฝึกตั้งคําถาม เพื่อนำเขาไปสู่คำตอบหรือเป้าหมายที่ต้องการ”

การโค้ชไม่ใช่การแนะนำสั่งสอน

เดวิด ร็อค (David Rock) จาก Neuro Leadership Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พัฒนาความเป็นผู้นำ ได้จัดทำ TAPS Model หรือแบบจำลองแสดงความแตกต่างของวิธีการพัฒนาบุคคลรูปแบบต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อชี้ว่า อาชีพโค้ชชิ่ง (Coaching) แตกต่างจากอาชีพอื่นอย่างไร โดย TAPS Model (Tell+Ask+Problem+Solution) แบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

  • การจัดการและการเป็นที่ปรึกษา (Managing Consulting) คนกลุ่มนี้สามารถมองเห็นปัญหา วิเคราะห์ และแจกแจง เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขต่อไป
  • การฝึกอบรม การสอน การเป็นพี่เลี้ยง และการเป็นผู้แนะนำ (Training Teaching Mentoring Advising) คนกลุ่มนี้ใช้องค์ความรู้หรือชุดข้อมูลมาถ่ายทอดบอกต่อ  เพื่อให้เกิดผลลัพธ์หรือทางออก
  • การให้คำปรึกษา (Counseling) คนกลุ่มนี้ใช้วิธีการถามถึงสาเหตุที่เกิดปัญหา เพื่อเข้าสู่การช่วยเหลือเยียวยา
  • การโค้ช (Coaching) ใช้กระบวนการถามคำถาม ไม่ชี้นำ เชื่อในศักยภาพของผู้ที่ได้รับการโค้ช คำถามจึงเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการ เป็นคำถามที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้และหาคำตอบ หรือค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดได้ด้วยตัวเอง 

ทักษะพื้นฐานที่เป็นหัวใจของการโค้ช 

“ทักษะพื้นฐานอย่างแรกของการเรียนเรื่องการโค้ช คือการฟัง”

อธิษฐาน์อธิบายถึงทักษะพื้นฐานประการแรก ว่าเมื่อเราฟังอย่างใส่ใจในบทสนทนา ก็จะช่วยให้อีกฝ่ายเกิดการคลี่คลายภายในไปได้ระดับหนึ่งแล้ว 

“ยิ่งถ้าเราใส่ใจ ความสบายใจที่เกิดขึ้นคือพื้นที่ที่จะช่วยดูแลอีกฝั่งหนึ่งได้”

“ทักษะพื้นฐานที่สำคัญอีกประการ คือ การตั้งคำถาม” 

คำถามเปรียบเหมือนการส่องไฟฉาย เข้าไปสำรวจค้นหาขุมทรัพย์หรือคำตอบที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้รับการโค้ช การตั้งคำถามในจังหวะที่ใช่ จะนำไปสู่การปลดล็อคและค้นพบคำตอบที่ใช่ในใจของผู้รับการโค้ช 

หลักการพื้นฐานของการโค้ช 5 ประการ

ห้องเรียนวิชาทักษะการโค้ชเพื่อครู มีหลักการพื้นฐานของการโค้ช (Coaching Principles) 5 ประการ ได้แก่

1. Wholeness ความสมบูรณ์พร้อม ความเป็นองค์รวม หรือการมองเห็นความเป็นองค์รวมของคนที่มาขอรับคำปรึกษา  ยอมรับเขาในแบบที่เขาเป็น

2. Resourceful เต็มเปี่ยมด้วยทรัพยากรและปัญญาภายใน คือการมองว่าทุกคนมีทรัพยากรภายในเพียงพอต่อการจัดการปัญหา เพราะท้ายสุด หากทุกคนมีปัญหาข้างใน ย่อมมีคําตอบหรือทางออกอยู่ในใจ ผู้ที่เป็นโค้ชจึงต้องฝึกถาม เพื่อให้คู่สนทนาชัดเจนในคําตอบของตัวเองมากขึ้น

3. Diversity เคารพในความแตกต่างหลากหลาย เปิดพื้นที่ยอมรับความคิดความเชื่อ วัฒนธรรมหรือภูมิหลังที่แตกต่างหลากหลายของผู้ที่มาขอคำปรึกษา ไม่ด่วนสรุปหรือด่วนตัดสิน

4. Freedom ความมีอิสระและทางเลือกด้วยตัวเอง หลังจากพูดคุยปรึกษา ผู้ที่รับการโค้ชต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง มีอิสระในการเลือกคำตอบหรือทางออกให้ตนเองและรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเลือก ซึ่งจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจในตัวเอง

5. Possibility มีความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด การโค้ชสามารถทําให้ผู้รับการโค้ชเกิดความคิดสร้างสรรค์และเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุด ถือเป็นหัวใจหลักอีกประการหนึ่งของผู้ที่เป็นโค้ช

ครู ทักษะการโค้ช และนักเรียน

ทักษะการโค้ชในแวดวงการศึกษา ไม่จำเป็นต้องผูกติดกับคุณครูเท่านั้น เพราะการพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้สามารถเดินตามทางของตนเองอย่างมั่นคงได้ จำเป็นต้องมีการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ครูฝึกสอน ฯลฯ

เอมี แมคครินเดิล (Amy MacCrindle) และแจ็กกี้ ดูกินสกี้ (Jacquie Duginske) นักการศึกษาจาก Association for Supervision and Curriculum Development (ASCD) ซึ่งเป็นองค์กรด้านการศึกษาที่มีสมาชิกกว่า 125,000 คน จาก 128 ประเทศ ระบุว่า หากบุคลากรด้านการศึกษาได้รับการปลูกฝังทักษะการโค้ชจนช่ำชอง ก็จะสามารถสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ทั้งสองได้ชี้ว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี มีความไว้วางใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงการมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือการตั้งคำถามว่า “เราจะเปลี่ยนแปลงการสอนของเราเพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนดีขึ้นได้อย่างไร” เหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่นักการศึกษาควรมี เพราะปลายทางคือการทำให้แน่ใจว่า ผู้เรียนจะสามารถตัดสินใจและเลือกทางเดินที่เหมาะสมกับตัวเอง 

งานศึกษาหัวข้อ Teaching and Coaching Skills (2018) ของ มาจานา เพนกา เพาซิช (Marjana Penca Palčič) ระบุว่า ทักษะการโค้ชสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่คู่สนทนารู้สึกว่าเราใส่ใจเขา ฉะนั้น อาจารย์ใหญ่จึงสามารถสร้างเงื่อนไขให้ครูเต็มใจในการเปลี่ยนแปลงการสอน กระบวนการโค้ชยังช่วยให้ครูใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ทีมครูให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำงานได้ง่ายขึ้นและมีแรงจูงใจมากขึ้น นักเรียนก็จะรู้สึกว่าครูยอมรับ พร้อมถูกกระตุ้น ชี้นำ อดทนต่อข้อผิดพลาด สามารถแก้ปัญหาของตนเอง และบรรลุเป้าหมายของตนได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทักษะการโค้ชไม่ใช่การแก้ไขทุกปัญหา เพราะท้ายสุด สิ่งสำคัญคือการตระหนักรู้ว่า เมื่อใดควรใช้วิธีนี้แก้ปัญหา และเมื่อใดควรใช้วิธีอื่น

ที่มา

Your email address will not be published.