Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา บัวหลวงก่อการครู

‘ห้องเรียนแห่งรัก’ รู้จักตัวตน รู้จักนักเรียน ควบคู่กับพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้1 min read

Reading Time: 2 minutes หากครูกลับมาทำงานกับโลกภายในของตัวเอง เริ่มมีความรัก ความกรุณา และตระหนักต่อตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อชุดภาษาที่เขาพูด การดูแลเด็ก ๆ รอบตัวของเขา และพื้นที่ห้องเรียนของเขาจะเปลี่ยนไป Dec 21, 2023 2 min

‘ห้องเรียนแห่งรัก’ รู้จักตัวตน รู้จักนักเรียน ควบคู่กับพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้1 min read

Reading Time: 2 minutes

‘ความรัก’ อาจเป็นของแสลงสำหรับผู้ที่พยายามจะนิยาม บางครั้งยังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ เพราะในนามของความปรารถนาดี ครูอาจเป็นคนใจร้ายในสายตาของนักเรียนโดยไม่รู้ตัว

ครั้นจะแยกขาดความรักออกจากห้องเรียน ก็อาจทำให้บรรยากาศในรั้วโรงเรียนไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ แต่ความรักจะเบ่งบานขึ้นได้จำเป็นต้องเริ่มจากการทบทวนใคร่ครวญตนเองของผู้สอน เพื่อนำไปสู่การสร้างบทสนทนาเชิงบวกในห้องเรียน พร้อมกับดูแลและโอบอุ้มผู้เรียนทุกคนอย่างทั่วถึง

‘น้อง’ ธนัญธร เปรมใจชื่น ผู้อำนวยการสถาบัน Seven Presents และหนึ่งในทีมกระบวนกร ‘โครงการบัวหลวงก่อการครู’ ชวนครูแต่ละคนมาเปิดใจเรียนรู้วิชา ‘ห้องเรียนแห่งรัก’ เครื่องมือสะท้อนตัวตนและสร้างสรรค์พื้นที่ของความสุข

“หากครูกลับมาทำงานกับโลกภายในของตัวเอง เริ่มมีความรัก ความกรุณา และตระหนักต่อตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อชุดภาษาที่เขาพูด การดูแลเด็ก ๆ รอบตัวของเขา และพื้นที่ห้องเรียนของเขาจะเปลี่ยนไป”

หัวใจสำคัญของห้องเรียนแห่งรัก จึงเริ่มจากการเข้าใจตัวเองผ่านการสะท้อนตัวตน (Self-Reflection) สัมผัสความรู้สึกของผู้อื่นด้วยสุนทรียสนทนา (Dialogue) เพื่อเกิดเป็น Dialogue Happy Classroom เครื่องมือที่ครูจะนำไปใช้สร้างห้องเรียนที่มีชีวิตชีวาและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เรียน

Book of Shadow เข้าใจตัวเองผ่านการสะท้อนตัวตน

หนึ่งในหลักกิจกรรมของห้องเรียนแห่งรัก คือ สมุดเงา (Book of Shadow) โดยมีการแจกสมุดให้ผู้เข้าร่วม ไม่ใช่ไว้บันทึกความรู้ แต่เป็นการทำงานกับภายในของตัวเอง ใคร่ครวญ มองเห็น และยอมรับตัวเองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านที่สวยงามหรือด้านที่ไม่เคยเผยให้คนอื่นเห็น เพื่อกลับมาสู่การเคารพเสียงแท้จริงของตัวเอง

“ฟังเสียงที่แท้จริงของคุณ อนุญาตให้สิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ความน้อยใจ ความโกรธ ความขุ่นมัวของคุณได้รับการรับฟัง และไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องลบเท่านั้น กระทั่งเรื่องดี ๆ คนจำนวนมากก็ไม่กล้ายอมรับตัวเอง คุณอาจไม่เห็นเงานี้ แต่มันเดินซ้อนไปกับคุณ และแสดงออกผ่านพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว เช่น ท่าทาง สายตา ซึ่งคนทั่วไปอ่านออก

“ถ้าเราไม่อยากให้ใครเห็นเงาของเรา เราต้องฝึกมองด้วยตัวเอง ลองอนุญาตให้เงาของเราปรากฏ เริ่มจากการมีเวลาอยู่กับตัวเอง ซื่อสัตย์กับตัวเอง เขียนถึงสิ่งที่คุณจริงแท้กับตัวเองสั้น ๆ 1-2 หน้า ทั้งความงามและด้านมืดของคุณ เหมือนได้เล่าว่าคุณคือใครในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น จุดที่คุณคิดว่าเห็นเงาของตัวเองชัด ๆ”

การเขียนสมุดเงาครั้งแรกมีโจทย์ว่า คุณคือใคร เป็นคนแบบไหน ความงามที่สุดของตัวเองคืออะไร สิ่งที่น่าเป็นห่วง สิ่งที่น่ากังวล ไปจนถึงสิ่งที่คนไม่ค่อยรู้ในตัวเองคืออะไร

ขณะเดียวกัน น้องอธิบายใจความสำคัญของการทำสมุดเงา ว่าเป็นมากกว่าการทบทวนตัวเอง คือการเรียนรู้ที่จะยอมรับตัวเอง เพื่อควบคุมภายนอกและพยายามกลับมาควบคุมภายใน หากกล่าวให้ชัดเจนกว่านั้น บางครั้งการเป็นครูอาจจะเจอนักเรียนที่ไม่น่ารัก นักเรียนที่ไม่อยู่ในระเบียบ และรู้สึกเชิงลบต่อการกระทำของนักเรียนเหล่านั้น ถ้าครูยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตัวเอง จะทำให้มองสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะการหาแนวทางรับมือและสอนนักเรียนที่มีความหลากหลาย 

“ด้วยประสบการณ์และวัยที่ผ่านการเรียนรู้ที่จะจัดวางตัวเองได้ดีแม้จะรู้สึกโกรธ เพราะสังคมคาดหวังต่อวิชาชีพครู แต่เราบอกได้ว่า ‘ตอนนี้โกรธ เมื่อครู่ครูไม่สบายใจที่นักเรียนพูดประโยคนั้น’ เวลาที่ผู้ใหญ่สามารถบอกตรง ๆ ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร จะช่วยให้เด็ก ๆ ตรงหน้าเข้าถึงบางอย่างได้ดีขึ้น เพราะถ้าเด็กไม่ได้รับการสื่อสาร ไม่ได้รับการแสดงออกเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่ชัดเจน เขาจะไม่ค่อยเข้าใจ เขาไม่รู้ว่าควรจะแสดงออกแบบไหน”

การเรียนรู้ที่จะเข้าใจและยอมรับตัวเองจึงเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน สู่บรรยากาศการเรียนรู้ที่วางใจกันและกัน

บ่มเพาะความรักให้เติบโตในใจ สู่ความรักที่เบ่งบานในห้องเรียน

หลังจากการสะท้อนตัวตน อีกหนึ่งเทคนิคที่จะชวนครูสำรวจพื้นที่ห้องเรียนและพื้นที่ชีวิตของตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจความรัก ก่อนที่จะก้าวข้ามกำแพงและเปิดใจต่อการแสดงออกถึงความรัก ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน นั่นคือ 5 ภาษารัก

  • การสื่อสาร เป็นการเลือกใช้คำพูดสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ อาทิ การให้กำลังใจ การชื่นชม
  • การสัมผัส เป็นภาษารักแรก ๆ ที่ทุกคนได้รับตั้งแต่เด็ก เช่น การกอด การโอบรับ 
  • การทำให้ เป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจต่อผู้เรียน อย่างการสังเกตระหว่างการสอนว่ามีนักเรียนคนไหนต้องการความช่วยเหลือ หรืออยากให้เน้นย้ำเนื้อหาตรงไหนเป็นพิเศษหรือไม่
  • การให้ของขวัญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องราคาแพงหรือหรูหรา แต่เป็นการให้ที่เปี่ยมด้วยความหมาย เช่น เมื่อเด็ก ๆ เข้าร่วมกิจกรรม หรือตอบคำถามของครู
  • การมีเวลาคุณภาพ อย่างการทำกิจกรรมร่วมกัน การพูดคุย หรือการให้คำแนะนำ เป็นต้น

“ภาษารักเป็นเรื่องง่ายที่หลายคนพลาดกันเยอะ โดยเฉพาะการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพราะเมื่อครูแสดงออกอย่างซับซ้อน เด็ก ๆ ก็จะมีความซับซ้อนในการตอบรับด้วยเช่นกัน และเรื่องเหล่านี้ยังส่งผลต่อพฤติกรรมอื่น ๆ

“นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราต้องเข้าใจความรัก เรียนรู้ที่จะสื่อสารอย่างมีคุณภาพ รวมถึงสร้างพื้นที่ของความรักความกรุณาในห้องเรียนมากขึ้น เพราะถ้าภายในตัวครูเปลี่ยน ห้องเรียนของเขาก็จะเปลี่ยน เป็นการก่อการในพื้นที่เล็ก ๆ และเริ่มมีความหมายในพื้นที่ใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นความหมายระยะยาวและยั่งยืน”

สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับการเรียนรู้

ชีวิตของผู้คนเหมือนไข่แดงกับไข่ขาว หากไข่แดงเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหารและฟูมฟักการเจริญเติบโต ไข่แดงสำหรับคนก็เป็นพื้นที่ปลอดภัยในชีวิตของแต่ละคน ส่วนไข่ขาวที่ทำหน้าที่พยุงก็เป็นพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่การเรียนรู้

ทว่าบ่อยครั้งที่การออกแบบการเรียนรู้ เป็นการกระชากคนให้ออกมาเรียนรู้ จนพวกเขาไม่เหลือพื้นที่ปลอดภัย ทั้งที่การมีพื้นที่ปลอดภัยก็จำเป็นเช่นเดียวกัน นำไปสู่การชวนจินตนาการต่อว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งมีพื้นที่ไข่แดงเล็กเกินไปจะเกิดอะไรขึ้น

“แม้เราจะอยากท้าทายให้คนออกมาเรียนรู้ แต่เมื่อไข่แดงเล็ก พื้นที่ปลอดภัยน้อย คนคนนั้นจะรู้สึกโดดเดี่ยว กังวล กลัว หรือหวาดระแวง น้อยครั้งมากที่จะรู้สึกท้าทาย ส่วนใหญ่จะรู้สึกไม่มั่นคง ข้างในจะโหวง ไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากท้าทาย และยิ่งดึงตัวเองกลับสู่พื้นที่ปลอดภัย”

นอกเหนือจากการสำรวจตัวตนของตนเองด้วยสมุดเงาแล้ว มากกว่านั้นคือ การทำความรู้จักและสังเกตสภาวะของมนุษย์ ซึ่งมี 2 สภาวะ 

สภาวะปกติ

  • เติบโต
  • ซ่อมแซมตัวเอง เมื่อเกิดความรู้สึกเศร้า ผิดหวัง
  • สื่อสารได้
  • เรียนรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าสังคมหรือเพื่อมีชีวิตอยู่รอด

สภาวะปกป้องตัวเอง

  • เติบโตไม่ดี
  • ซ่อมแซมตัวเองไม่ได้
  • สื่อสารไม่ได้
  • เรียนรู้ไม่ได้

“การปกป้องตัวเองเป็นภาวะธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของเราทุกคน ซึ่งแต่ละคนมีการปกป้องตัวเองและการจัดการไม่เหมือนกัน บางคนสู้ บางคนหลบ บางทีเราไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นระบบอัตโนมัติของร่างกาย เช่น การหยิบของแหลม ของร้อน ก็จะมีปฏิกิริยาทันที สภาวะปกป้องตัวเองจึงต่างกับสภาวะผิดปกติ ถ้าผิดปกติหนักมาก จะไปต่อไม่ได้ เหมือนป่วย ชำรุด หรือเสีย”

นอกจากการสังเกตแล้ว อีกสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กันนั่นคือ ความพยายามทำความเข้าใจผู้เรียน โดยเฉพาะเด็กไปจนถึงวัยรุ่นตอนต้น ถ้ายิ่งเขามีตัวตนเล็ก เขายิ่งรู้สึกต้องปกป้องข้างในของตัวเอง เพราะเขายังตอบตัวเองไม่ได้หรือยังไม่เข้าใจภาวะที่ตัวเองเป็น บ้างโกรธ บ้างฉุนเฉียวไว้ก่อน เพื่อไม่ให้คนอื่นเข้ามา หรือบ้างหวานใส่ แสดงความน่ารักอย่างที่ไม่เคยเป็น เพราะไปทำผิดมา 

ขณะเดียวกัน น้องก็ชวนผู้เข้าร่วมอบรมจับกลุ่มผู้หญิง 2 คน และผู้ชาย 1 คน เพื่อให้แต่ละคนกลับมาถามตัวเองว่า คุณมักจะปกป้องตัวเองเมื่อไร สถานการณ์ไหน หรือกับใคร และเวลาที่คุณปกป้องตัวเองแสดงออกด้วยพฤติกรรมอย่างไร ก่อนที่จะแบ่งปันกับเพื่อนในกลุ่มให้เป็นพื้นที่ของการรับฟัง สิ่งสำคัญคือการกลับมาทบทวนตัวเอง จดจำความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อนำเรื่องสมุดเงา ไข่แดง ไข่ขาว และสภาวะของสิ่งมีชีวิตมาพิจารณาร่วมกัน จะนำมาสู่แนวทางการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ ควบคู่กับการมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้เรียน

“ลองชวนเด็กออกมาในพื้นที่เล็ก ๆ ที่ไม่ไกลจากพื้นที่ปลอดภัยของเขา ทำให้พื้นที่นั้นเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อทำซ้ำ ๆ เขาจะมีความคุ้นชิน รู้สึกมั่นคงจากภายใน นั่นจะทำให้พื้นที่ปลอดภัยของเด็กกว้างขึ้น เล่นได้เยอะขึ้น เรียนรู้ได้มากขึ้น”

ที่มา

  • บันทึกโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โรงเรียนนำร่องการศึกษาฐานสมรรถนะ ‘บัวหลวงก่อการครู’ โมดูล 1 Wake Up! ครูคือมนุษย์ วันที่ 25-27 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมบ้านเชียง อ.เมือง จ.อุดรธานี
  • บันทึกโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โรงเรียนนำร่องการศึกษาฐานสมรรถนะ ‘บัวหลวงก่อการครู’ โมดูล 2 ชุดวิชาทักษะและเครื่องมือการเรียนรู้ วิชาห้องเรียนแห่งรัก: เครื่องมือสะท้อนตนและสร้างสรรค์พื้นที่ของความสุข วันที่ 23-24 เมษายน 2565 ณ โรงแรมประจักตรา ดีไซน์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
  • บัวหลวงก่อการครู EP.2 ห้องเรียนแห่งรัก

Your email address will not be published.