ก่อการครู – Korkankru

Reading Time: 2 minutes วิธีการสื่อสารและประชุมงานของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง ที่จะช่วยให้คุณครูทุกช่วงวัยช่วยเหลือกันและกันได้มากขึ้น ภาระงานลดลง มีเวลาทุ่มเทให้การสอนได้อย่างเต็มที่ และขับเคลื่อนโรงเรียนด้วยความเข้าใจได้มากกว่าที่เคย Aug 6, 2024 2 min

ลดภาระงานครู ด้วยสกรัมบอร์ด

Reading Time: 2 minutes

เมื่อโรงเรียนศรีรักษ์ราฎร์บำรุง โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในจังหวัดปราจีนบุรี คิดการใหญ่ อยากจะเป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้ค้นพบความถนัดและศักยภาพในแบบของตัวเอง จึงจัดการเรียนการสอนวิชาเพิ่มเติมตามความสนใจของผู้เรียน แต่ความฝันในครั้งนี้ก็ไม่ง่าย เนื่องจากภาระงานของคุณครูไม่ได้มีแค่การสอน แต่ยังมีงานเอกสารและการจัดการต่างๆ ในโรงเรียนที่ต้องดูแล มิหนำซ้ำโรงเรียนก็กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายเรื่องช่องว่างระหว่างวัย เนื่องจากกว่าครึ่งเป็นครูรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะบรรจุเข้ามาได้ไม่นาน

โครงการโรงเรียนปล่อยแสงได้เข้าไปร่วมทำงานกับโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงตลอดระยะเวลา 1 ปี เพื่อหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรให้ภาระงานอื่นของคุณครูลดลง มีเวลาเต็มที่กับการสอนได้มากขึ้น รวมไปถึงก้าวข้ามความแตกต่างของช่วงวัย เพื่อทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขของทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อมกัน

โรงเรียนของชุมชน

“โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงเป็นโรงเรียนมัธยมฯ ประจำตำบลแห่งเดียวในจังหวัดปราจีนบุรีที่สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ได้สังกัดกับหน่วยงานการศึกษาส่วนกลาง เรามุ่งเน้นจัดการเรียนการสอนในลักษณะพิเศษที่ส่งเสริมความเป็นเลิศตามความถนัด ความสนใจ และอัจฉริยภาพของผู้เรียน ทั้งด้านวิชาการ ศิลปะ ดนตรี กีฬา และด้านวิชาชีพ ตามความตั้งใจของเราที่อยากจะเป็นโรงเรียนของชุมชนค่ะ”

สาลี่ เชิดชู ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง แนะนำโรงเรียนให้เรารู้จักด้วยแววตาสดใส พร้อมเล่าต่อว่าเด็กที่โรงเรียนนี้ส่วนมากเป็นลูกหลานของเกษตรกรและพนักงานโรงงานในพื้นที่ เมื่อ 5 ปีก่อนตอนที่เธอย้ายมาเป็น ผอ. โรงเรียนนี้ เธอเริ่มต้นวางแนวทางจัดการเรียนการสอนใหม่ เริ่มต้นด้วยการไปร่วมประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับฟังว่าคนในชุมชนอยากเห็นลูกหลานของตนเองเติบโตไปในทิศทางไหน หากเราไม่อยากให้ลูกหลานต้องเดินทางไกลไปเรียนในเมือง โรงเรียนมัธยมฯ ใกล้บ้านแบบใดที่เด็กของเราต้องการ 

“เราเริ่มเปิดวิชาเพิ่มเติมตามที่เด็กสนใจ เช่น วิชาดนตรีไทย วิชางานช่าง วิชางานประดิษฐ์ วิชาอาหารไทย วิชาไหนที่ไม่มีครู เราก็อาศัยการประสานพลังความร่วมมือของคนในชุมชน คุณครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้จัดการเรียนรู้ พาเด็กไปศึกษาดูงานกับคนที่ประกอบอาชีพนั้นในชุมชนได้ ทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนได้รับการอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดหลักสูตรพิเศษเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี่เองค่ะ”

เมื่อโรงเรียนไม่ได้จัดรายวิชาตามที่ครูถนัด ตัวครูเองก็เตรียมตัวสอนมากขึ้น ครูกรรณ-กรรณจนา แช่มสา ครูคณิตศาสตร์ผู้ต้องรับหน้าที่ครูประจำวิชาความเป็นเลิศด้านอาหารไทยเล่าว่า การสอนวิชาพิเศษเหล่านี้ไม่ได้เป็นภาระ แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่าวิชาเอกที่ตนเองถนัด เช่น การวางแผนและจัดหาอุปกรณ์ในแต่ละสัปดาห์ รวมไปถึงการติดต่อประสานงานกับตัวแทนชุมชนที่จะมาเป็นวิทยากรในคาบเรียนนั้น ซึ่ง “เวลา” นี่เองที่สำหรับคุณครูแล้วเป็นสิ่งที่มีเท่าไรก็เหมือนไม่เคยพอ

“จริงๆ แล้วอาชีพครูไม่ได้แค่สอนอย่างเดียว เรายังมีงานเอกสารอย่างอื่นที่ต้องรับผิดชอบ อย่างเช่นของครูกรรณเอง นอกจากงานสอนแล้วยังรับหน้าที่ฝ่ายงานบริหารบุคคลซึ่งต้องทำเอกสารเกี่ยวกับครูทุกคนในโรงเรียน เราก็ต้องแบ่งเวลาให้ส่วนนี้มากเป็นพิเศษ บางโรงเรียนที่เป็นเอกชนหรือโรงเรียนขนาดใหญ่ อาจมีเจ้าหน้าที่ดูแลส่วนนี้โดยเฉพาะ ครูก็สอนอย่างเดียว แต่ที่ศรีรักษ์ฯ ไม่ใช่ ต้องทำทั้งงานสอนหลักและงานที่ได้รับมอบหมายพิเศษด้วย”

ผอ.สาลี่ อธิบายถึงบริบทภาพรวมเพิ่มเติมว่าประจวบเหมาะกับที่โรงเรียนเริ่มเปิดการเรียนหลักสูตรพิเศษอย่างเป็นทางการ ในขณะที่คุณครูเก่าก็ยังลองผิดลองถูกกับการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ ก็ได้รับคุณครูจบใหม่เข้ามาพอดี ซึ่งคิดเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโรงเรียน สร้างความสับสนในหมู่คุณครูอยู่ไม่น้อย

“พอโครงการปล่อยแสงมาทำงานด้วยเราก็เห็นปัญหาชัดขึ้นว่าเราขาดการสื่อสาร ผู้บริหารคิดแบบหนึ่ง ครูรุ่นพี่คิดแบบหนึ่ง ครูรุ่นน้องคิดแบบหนึ่ง เป้าหมายก็เลยไม่ใช่หนึ่งเดียว การทำงานจึงดูหนักมาก ครูทุกคนบอกคล้ายๆ กันว่างานเยอะ แต่พอเห็นความสุขในแววตาของเด็ก เราก็ยังมั่นใจว่าจัดหลักสูตรมาถูกทางแล้ว โจทย์ของเราคือจะจัดหลักสูตรที่เด็กมีความสุขนี้ต่อไปได้ยังไง โดยที่ครูผู้สอนก็ไม่รู้สึกว่าหนักเกินไป และมีความสุขในการทำงานด้วย”

สกรัมบอร์ด ตารางงานที่เพื่อนครูช่วยได้

เมื่อหลายภาระงานยังไม่ได้มีระบบชัดเจน ก็พูดได้ยากว่าต้องใช้เวลาจัดการมากน้อยแค่ไหน และทำให้เพื่อนครูไม่รู้ว่างานกำลังกองทับถมอยู่ที่ใคร โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงแนะนำเครื่องมือการสื่อสารงานในรูปแบบต่างๆ ให้โรงเรียนได้ลองนำไปปรับใช้ 

“โครงการแนะนำให้เราใช้ ‘สกรัมบอร์ด’ คือเครื่องมือที่ทำงานให้เห็นงาน ให้ทีมงานมีโอกาสได้สื่อสารกันว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ คิดจะทำอะไร แล้วสิ่งที่คิดไว้เราทำหรือเริ่มลงมือไปแล้วหรือยัง ทำสำเร็จกี่อย่างแล้ว ปัญหาอุปสรรคมีอะไรไหม ภาระงานทุกอย่างทั้งที่เป็นทางการและงานพิเศษต่างๆ จะถูกเขียนออกมา ทำให้เห็นช่องทางที่เราจะไปสนับสนุนเกื้อกูลงานของเพื่อนครู หรืออย่างเราที่เป็นผู้บริหารก็จะเห็นว่าแต่ละคนกำลังทำอะไรอยู่ มีปัญหาอะไรไหม เราจะเข้าไปเติมเต็ม อำนวยความสะดวก หรือสนับสนุนปัจจัยอะไรได้บ้าง ทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น แล้วเราก็มีความภาคภูมิใจร่วมกัน” 

สกรัมบอร์ดเป็นเครื่องมือจัดการงานที่แพร่หลายในแวดวงธุรกิจ เน้นการทำงานที่ยืดหยุ่น อิสระ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ก็โปร่งใส ทำให้ทีมสามารถแยกไปทำงานส่วนของตัวเองโดยยังมองเห็นงานภาพรวมของกันและกัน ซึ่งทางโครงการโรงเรียนปล่อยแสงนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับรูปแบบงานของคุณครู โดยการเขียนเป้าหมายและรายการงานทั้งหมดของทีมลงในตารางขนาดใหญ่ เมื่อมีงานไหนคืบหน้า ผู้รับผิดชอบงานนั้นก็จะค่อยๆ เคลื่อนงานไปตามตาราง ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นไปจนงานสิ้นสุด เมื่องานไหนบนตารางนิ่งอยู่กับที่ ติดขัด หรือไม่ลุล่วงอย่างที่ควรเป็น ทุกคนในทีมก็จะเห็นและเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

ผอ. สาลี่เล่าว่าทางโรงเรียนนำเครื่องมือนี้ไปใช้กับภาระงานที่เหมือนเป็นยาขมของการจัดการศึกษา อย่างงานการเงินและงานพัสดุ ซึ่งมีรายการงานที่ต้องทำค่อนข้างมาก มีตารางขั้นตอนละเอียดยิบย่อยเยอะ สกรัมบอร์ดช่วยให้คุณครูจัดการงานเอกสารได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

“ในการคุยงานกันจะไม่ใช้คำว่า ‘งานของฉัน’ แต่เป็นภารกิจของพวกเรา เป็นงานของโรงเรียนเรา ความรู้สึกในการรับผิดชอบงานก็เปลี่ยนไป เราเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เดิมทีเป็นการแก้ปัญหาเพียงลำพัง แต่พอทุกคนมีโอกาสเข้าไปช่วยเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นว่าทางออกที่เหมาะสมในมุมมองของเราจะเป็นแบบไหน เพื่อให้เพื่อนของเรามีช่องทางที่จะเลือกนำไปพัฒนาตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาสมรรถนะในตัวไปด้วย”

ครูกรรณเล่าเสริมว่าการสื่อสารกันนี้ยังช่วยให้กำแพงระหว่างวัยของคุณครูรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ลดลงด้วย จากเดิมที่ไม่ค่อยกล้าถามกัน ทั้งสองฝ่ายก็ปรับตัวที่จะคุยกันมากขึ้นทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ

“เมื่อก่อนเราจะรอให้ถึงเวลาประชุมก่อนถึงจะคุยกัน ประชุมใหญ่ครูทั้งโรงเรียนเดือนละครั้ง ประชุมฝ่ายย่อยสัปดาห์ละครั้ง แต่ตอนนี้เราไม่ต้องรอเวลาประชุมแล้ว เราถามไถ่กันเลยในทุกโอกาส วันนี้สอนวิชาอะไร เป็นยังไงบ้าง หรือการทำงานมีติดขัดตรงไหนไหม สร้างความเป็นครอบครัวศรีรักษ์ฯ ให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน”

เมื่อภาระงานต่างๆ ถูกนำมากางให้ทุกคนเห็นร่วมกัน บางเรื่องครูรุ่นน้องอาจมีวิธีการทันสมัยช่วยแนะนำครูรุ่นพี่ บางเรื่องครูรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มากกว่าอาจช่วยสอนครูรุ่นน้อง งานเดิมที่เคยต้องใช้เวลาจัดการมากก็ลุล่วงได้รวดเร็วขึ้น ได้กลับมาทั้งเวลางานและพลังใจที่จะนำไปทุ่มเทให้เด็กในห้องเรียน

ห้องเรียนแห่งความสุขของเรา

“การเข้าร่วมโครงการปล่อยแสงในครั้งนี้ เราได้มีโอกาสสื่อสารกันมากขึ้น เรียนรู้ที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน เห็นทิศทางที่เราจะเดินไปด้วยกันชัดเจนขึ้น เป้าหมายของโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงในวันนี้คือการทำให้ห้องเรียนไม่ใช่ของคุณครูคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นห้องเรียนของพวกเราทุกคน ของคุณครูทั้งโรงเรียน ของครอบครัว ของหมู่บ้าน และของทั้งชุมชนนี้” 

ผอ.สาลี่ เล่าย้อนกลับไปในวันที่เธอย้ายมาเป็น ผอ. ที่โรงเรียนนี้ช่วงแรก ในวันนั้นมีเด็กเพียง 142 คน มีจำนวนไม่น้อยที่มาโรงเรียนบ้าง ไม่มาบ้าง แต่เมื่อเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนการสอน เพิ่มวิชาตามความสนใจ จำนวนเด็กก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ในช่วง 2 ปีที่หลักสูตรความเป็นเลิศชัดเจนมากขึ้นจำนวนนักเรียนก็เพิ่มจาก 160 เป็น 190 จนปีล่าสุดเพิ่มมาเป็น 225 คนแล้ว 

“ในวันนั้นเราออกแบบหลักสูตรใหม่ให้เด็กมีความสุขในการมาโรงเรียน พอเด็กมีความสุข เขาก็ไปบอกพ่อแม่ พอพ่อแม่เข้าใจ เขาก็ให้การสนับสนุน และไปบอกกันปากต่อปากว่าลูกฉันเรียนที่นี่แล้วมีความสุข จนเรากลายเป็นโรงเรียนที่ชุมชนไว้วางใจ”

โรงเรียนแห่งนี้เติบโตเพราะคุณครูเปิดพื้นที่ในการรับฟังเสียงของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกได้ทำในสิ่งที่ตนเองถนัด เปิดพื้นที่รับฟังเสียงของชุมชนที่อยากได้โรงเรียนที่จะทำให้เด็กมีความสุข ได้ต่อยอดในสิ่งที่สนใจ

ในวันนี้โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงได้เปิดพื้นที่รับฟังอีกครั้ง รับฟังคุณครูด้วยกันเองมากกว่าครั้งไหนๆ ซึ่งจะทำให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจ และพร้อมจะเป็นโรงเรียนของชุมชนที่มีความสุขกว่าเดิม

Array