รู้จักตัวเอง ชื่นชมคนอื่น เติบโตอย่างมั่นใจ ทั้งเด็ก ครูและผู้ปกครอง
Reading Time: 2 minutes“โรงเรียนสุจิปุลิเป็นโรงเรียน Leader in Me ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กมีภาวะผู้นำในตัวเอง เพราะในโลกอนาคตเด็กอาจจะต้องเจอสิ่งหลากหลาย เราจึงพยายามทำให้เขามีสมรรถนะในการจัดการตัวเอง เพื่อพร้อมรับมือกับอนาคตที่แปรผันอยู่ตลอดเวลา และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขครับ” ครูแบงค์ – ธนาคาร มะลิทอง คุณครูประจำชั้น ม.3 แนะนำโรงเรียนให้เรารู้จัก
โรงเรียนสุจิปุลิ เป็นโรงเรียนเอกชนแนวคิดใหม่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่นำหลักสูตรฐานสมรรถนะของโรงเรียนมาผนวกกับหลักสูตรแกนกลางปกติ โดยสอนทักษะชีวิตและทัศนคติที่ดีให้ผู้เรียนไปพร้อมกับด้านวิชาการ ทั้งการจัดการตนเองและการร่วมงานกับผู้อื่น เพื่อให้ผู้เรียนค้นพบตัวเองและเติบโตไปประกอบอาชีพที่รักได้อย่างมีความสุข ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนสุจิปุลิและโครงการโรงเรียนปล่อยแสงในครั้งนี้ คุณครูมีความตั้งใจจะส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนให้มากขึ้น โดยมีกลุ่ม “เด็กเฉย” เป็นโจทย์สำคัญ
“เด็กเฉย คือเด็กที่มีความรู้ความสามารถเหมือนเด็กทั่วไป ทำได้ทุกอย่างแต่เลือกจะไม่ทำ เราเลยเริ่มต้นด้วยความอยากรู้ว่าปัญหาแท้จริงที่ทำให้เขาเฉยคืออะไร เขาไม่มั่นใจในตัวเองไหม หรือมีอาการซึมเศร้าหรือเปล่า แล้วเราจะช่วยเด็กของเราได้ยังไง”
ความรู้สึกไม่มั่นใจในทักษะของตัวเอง หรือความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะร่วมงานกับผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีต้นตอแตกต่างกันไปในแต่ละคน แทนที่การใช้วิธีอื่น ๆ ซึ่งจะสร้างแรงบีบคั้นกับเด็ก โรงเรียนสุจิปุลิจึงเลือกจะปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัว พร้อมเติมจิตวิทยาเชิงบวกเข้าไป แล้วค่อย ๆ รอดูวันที่เด็กเฉยเหล่านั้นจะผลิบานได้ด้วยตัวเอง
จุดเด่นของเธอที่ทุกคนมองเห็น
โดยปกติเด็กโรงเรียนนี้มักจะมาล้อมวงกันในห้องก่อนเลิกเรียน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและสะท้อนสิ่งที่ตนเองทำในวันนี้ให้เพื่อนฟัง เช่น สิ่งไหนที่ทำได้ดีแล้ว หรือสิ่งไหนที่ครั้งหน้าอยากพัฒนาให้ดีขึ้นอีก แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้คือ เด็กจะได้เลือกชื่นชมเพื่อนหนึ่งคนในห้อง ให้เจ้าตัวรับรู้ว่ามีคนมองเห็นสิ่งที่เขาทำอยู่ว่าโดดเด่นและสมควรจะได้รับคำชมจากคนรอบข้าง
“เราเชื่อว่าทุกคนมีลักษณะเด่นในตัวเองและเป็นจุดแข็ง ซึ่งเขาอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ แต่เขามีสิ่งนั้นอยู่ เราเรียกว่า Character Strengths” ครูพิมพ์ – พิมพ์ชนก ราชีวงศ์ คุณครูประจำชั้นระดับมัธยมฯ อธิบายกิจกรรมที่เกิดขึ้นให้เราฟัง
Character Strengths หรือ จุดแข็งเชิงบวก คือคุณค่าภายในแต่ละบุคคลตามหลักจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งแบ่งออกได้ 6 หมวดหมู่ รวม 24 ด้าน เช่น หมวดหมู่ปัญญาและความรู้ บางคนอาจมีจุดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่บางคนอาจมีจุดเด่นด้านการตัดสินใจ หรือหมวดหมู่การรู้จักยับยั้งชั่งใจ บางคนอาจเด่นด้านความถ่อมตน ในขณะที่อีกคนอาจเด่นด้านการให้อภัย
“ในช่วงแรกเราก็ทำเป็นตัวอย่างให้ดูก่อนค่ะ เช่นบอกเขาว่าวันนี้ครูเห็นหนูช่วยเหลือเพื่อนมากกว่าที่เคยทำ ครูภูมิใจมากเลยนะ วันนี้ครูให้จุดแข็งด้านความมุมานะแก่หนู ถือเป็นการเติมเต็มจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง ในวันนี้ที่เขาตั้งใจทำบางอย่างมาทั้งวัน เราอยากให้รู้ว่ามีคนมองเห็นสิ่งที่เขาทำ”
ครูพิมพ์เล่าว่าเด็กวัยมัธยมฯ นั้นจะมีความเป็นตัวเองค่อนข้างสูง ต้องการสังคมและการยอมรับจากเพื่อนมากกว่าคุณพ่อคุณแม่หรือสังคมทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ ถูกถาโถมด้วยความไม่มั่นใจ ความกังวล และการค้นหาตัวเอง
การชื่นชมและมอบจุดแข็งแบบที่ครูพิมพ์ทำนั้นจึงไม่ได้เป็นการชมเปล่า ๆ แต่จะเลือกชมจากพฤติกรรมที่มองเห็น เช่น เด็กกล้าหาญมากที่ออกไปทำงานหน้าห้อง หรือเด็กมีน้ำใจมากที่แบ่งขนมให้เพื่อน สิ่งสำคัญคือการบอกให้เขารับรู้ว่าพฤติกรรมไหนน่าชื่นชมและเขาทำได้ดีในเรื่องใด ทุกวันก่อนเลิกเรียน ซึ่งเด็กจะได้ฝึกฝนการมองเห็นข้อดีในตัวผู้อื่น ได้รับพลังจากเพื่อนรอบข้างด้วยการรับรู้ข้อดีของตัวเองที่คนอื่นมองเห็น เพื่อเป็นพลังใจช่วยคลายความรู้สึกไม่มั่นใจและความรู้สึกกังวล อีกทั้งยังสร้างความกล้าขึ้นในตัวทีละน้อย
“วันนี้เขาอาจจะยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองมีจุดแข็งด้านไหน แต่ในระยะยาวเขาอาจจะมีลักษณะบางอย่างในตัวที่รู้สึกภูมิใจและมั่นใจได้ ในอนาคตเมื่อเขาได้ทำงานกับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงเดียวกัน หรือไม่ใช่เพื่อนของเขา เขาก็ยังรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งนั้น จากทุกคำชื่นชมที่เพื่อนให้เขาไว้ในวันนี้ค่ะ”
ลดพลังลบในบ้านผ่านทีมผู้ปกครองพร้อมบวก
แม้คุณครูจะพยายามสร้างบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยพลังบวกขนาดไหน แต่เด็กก็อยู่ที่โรงเรียนเฉพาะตอนกลางวัน และต้องกลับไปใช้เวลาที่เหลือกับผู้ปกครองในเวลาอื่น ครูแบงค์จึงต้องการขยายผลกิจกรรมจิตวิทยาเชิงบวกที่โรงเรียนทำอยู่ไปสู่กลุ่มผู้ปกครองเพื่อการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง
“มีแนวคิดที่ว่าถ้าเราลดพื้นที่เชิงลบได้ พื้นที่เชิงบวกจะมากขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เราก็เลยจัดกิจกรรม ‘ผู้ปกครองพร้อมบวก’ เพื่อชวนผู้ปกครองที่สนใจมาเรียนรู้เรื่องจิตวิทยาเชิงบวกกับเรา โดยมีโครงการโรงเรียนปล่อยแสงให้การช่วยเหลือ หลัก ๆ ก็จะเป็นการส่งต่อเครื่องมือเรื่อง Character Strengths แบบเดียวกับที่คุณครูทำอยู่ แล้วก็มีอีกเรื่องที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับผู้ปกครองโดยเฉพาะคือการจัดการอารมณ์ของตัวเองครับ”
การลดพื้นที่เชิงลบในบ้านที่ครูแบงค์พูดถึงไม่ใช่การห้ามตำหนิหรือห้ามตักเตือนเด็ก แต่ชวนผู้ปกครองมารับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่างรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง เช่น เรากำลังโมโหอยู่ไหม เรากำลังตัดสินลูกไปก่อนหรือเปล่า สีหน้าท่าทาง น้ำเสียง และภาษากายกำลังส่งพลังลบไปหาลูกโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ เพื่อเรียนรู้จะสื่อสารกับลูกให้มากขึ้น และรับมือเรื่องต่าง ๆ โดยปราศจากอารมณ์เชิงลบที่ไม่จำเป็น
“อีกสิ่งที่ชอบมากจากโครงการนี้คือได้รู้ว่าทำยังไงลูกจะมีอารมณ์เชิงบวก เช่น การตั้งเป้าหมาย ถ้าเราให้ลูกได้ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในระยะสั้นที่เขาทำได้ อย่างการทำงานบ้านง่ายๆ เขาจะมีอารมณ์เชิงบวกขึ้นในใจ หรืออย่างการเล่าเรื่อง ถ้าเขาได้เล่าและมีคนรับฟังโดยไม่ตัดสิน เขาก็จะรู้สึกดี ซึ่งเราสร้างความรู้สึกดีนี้ให้เขาได้ทุกวันที่ไปรับเขากลับบ้าน ถามเขาว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง เล่นกับใคร แค่นี้ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ ประจำวันแล้ว” ตัวแทนผู้ปกครองที่ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้สึกให้เราฟัง
เมื่อที่โรงเรียนและที่บ้านขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน การเรียนรู้ของเด็กจะดำเนินไปได้เร็วขึ้น การเริ่มต้นจับมือสร้างบรรยากาศเชิงบวกร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียนจึงเป็นหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญเพื่อนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่เป็นมิตรต่อตัวผู้เรียน แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ปกครองที่เข้าร่วมการอบรมจิตวิทยาเชิงบวกจะยังมีไม่มาก แต่ทางทีมแกนนำผู้ปกครองพร้อมบวกก็มั่นใจว่าจะนำแนวคิดนี้ไปส่งต่อกันในเครือข่ายสมาคมผู้ปกครองของโรงเรียน จากผู้ปกครองสู่ผู้ปกครองด้วยกันเอง ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เชิงบวกได้มากขึ้นแน่นอน
ตัวตนของเด็กที่เริ่มผลิบาน
“เราจะเห็นว่าเด็กบางคนที่เมื่อก่อนเคยเฉย วันนี้เริ่มทำบางสิ่งบางอย่างโดยที่เราไม่ต้องร้องขอค่ะ”
ครูพิมพ์เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่ตนเองสังเกตเห็น จากเดิมที่ครูต้องเป็นฝ่ายบอกและร้องขออยู่เสมอ วันนี้เด็กคนนั้นลุกขึ้นมารับผิดชอบงานด้วยตัวเอง จากที่ทำเฉพาะงานส่วนของตัวเอง ก็ได้เห็นเขาอาสาจะช่วยผู้อื่นเป็นครั้งแรก
แม้ครูแบงค์และครูพิมพ์จะบอกว่าการชวนเด็กที่ปิดกั้นตัวเองให้ออกมาแสดงความกล้านั้นไม่ใช่เรื่องที่เร่งรัดได้ ต้องอาศัยเวลา และค่อยเป็นค่อยไปเสมือนน้ำหยดลงหิน ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะได้เห็นผลการลงแรงของทั้งคู่บ้างแล้วไม่มากก็น้อย
การชื่นชมและแสดงความยินดีให้กันนั้นเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนรู้ว่าดี แต่เรามักจะมีพื้นที่สำหรับการเติมพลังบวกนี้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้อยู่เสมอ ในวันนี้โรงเรียนสุจิปุลิกำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่ในโรงเรียน ที่ทั้งเด็ก คุณครู และผู้ปกครอง จะส่งมอบพลังบวกให้กันเป็นกิจวัตรประจำวัน
“ถ้าเราได้รับคำชมบ่อย ๆ เราก็จะเต็มใจทำบางสิ่งบางอย่าง มากกว่าโดนบังคับให้ทำ เพราะฉะนั้นถ้ามีสภาพแวดล้อมอย่างนี้ในสังคมภายนอก ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนนี้ ก็น่าจะทำให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้นอีกนิด”